หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > นโยบายการค้าของกมลารองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

นโยบายการค้าของกมลารองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

Ms. Kamala Harris เป็นสมาชิกพรรคเดโมแครตที่ไม่สนับสนุนให้มีการค้าเสรี Ms. Harris เคยคัดค้านข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (North American Free Trade Agreement) ปี 2535 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ประธานาธิบดีไบเดนลงคะแนนเสียงสนับสนุนขณะดำรงตำแหน่งวุฒิสภา และ Ms. Harris เคยคัดค้านข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership) ที่สนับสนุนโดยฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโอบามา และในปี 2563 Ms. Harris เป็น 1 ใน 10 วุฒิสมาชิกที่ลงคะแนนไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงการค้าแถบอเมริกาเหนือฉบับใหม่ (United States-Mexico-Canada Agreement: U.S.M.C.A)

 

มุมมองทางการค้าและเศรษฐกิจของ Ms. Harris มีแนวโน้มจะกลายเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เนื่องจากประเด็นทางการค้าไม่ได้เป็นนโยบายสำคัญของ Ms. Harris ซึ่งแตกต่างจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนาย J.D. Vance จึงทำให้จุดยืนในเรื่องการค้าและเศรษฐกิจของ Ms. Harris มีความไม่ชัดเจน

 

นาย William A. Reinsch สถาบันวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ Center for Strategic and International Studies มองว่า Ms. Harris ยังไม่มีมุมมองเกี่ยวกับการค้าที่ชัดเจน การที่ Ms. Harris ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงการค้า U.S.M.C.A ชี้ให้เห็นว่า Ms. Harris อาจจะสนับสนุนฝ่ายก้าวหน้าของพรรคเดโมแครต จึงทำให้มุมมองของข้อตกลงทางการค้ายังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องการเข้าถึงตลาด

 

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ Ms. Harris ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐแคลิฟอร์เนียและตำแหน่งรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ Ms. Harris ได้แสดงจุดยืนในเรื่องนโยบายทางการค้าบ่อยครั้งหากได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่น Ms. Harris มักจะคัดค้านข้อตกลงทางการค้าโดยเฉพาะข้อตกลงทางการค้าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและข้อตกลงที่ไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

แม้ว่าฝ่ายบริหารของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์จะเป็นผู้เสนอร่างข้อตกลงการค้า U.S.M.C.A ซึ่งสมาชิกพรรคเดโมแครตหลายคนเห็นด้วยกับการปกป้องแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่มากขึ้น แต่ Ms. Harris กลับมองว่าบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมนั้นไม่เพียงพอ โดยยังไม่ได้พูดถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ข้อตกลงการค้า U.S.M.C.A ล้มเหลวในการจัดการกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

 

ส่วนหนึ่งที่ Ms. Harris ข้องใจกับข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแปซิฟิกคือประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม Ms. Harris ได้แสดงความกังวลต่อข้อตกลงดังกล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่าอาจส่งผลกระทบต่อกฎหมายสิ่งแวดล้อมของรัฐแคลิฟอร์เนีย ในขณะที่ Ms. Harris ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาได้สนับสนุนนโยบาย  Green New Deal ซึ่งเป็นนโยบายที่มุ่งเน้นเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

กลุ่มนักลงทุนคาดการณ์ว่า หาก Ms. Harris ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ Ms. Harris มีแนวโน้มจะใช้นโยบายทางการค้าเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การเสนอข้อตกลงทางการค้าที่ส่งเสริมให้มีการซื้อขายสินค้าที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม และเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้าที่เป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

 

นาย Todd Tucker ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและเผยแพร่แนวคิดแบบก้าวหน้า Roosevelt Forward มองว่า Ms. Harris จะยังคงดำเนินนโยบายทางการค้าของประธานาธิบดีไบเดนต่อไป และคาดหวังว่านโยบายของ Ms. Harris จะไปไกลมากกว่าไบเดนเนื่องจาก Ms. Harris จะบูรณาการนโยบายทางการค้าและนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน

 

นักการเมืองเพิ่งหันมาใช้นโยบายทางการค้ามาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก แต่แนวทางนี้ได้กำลังได้รับการสนับสนุนมากขึ้น

 

การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรปนั้น ฝ่ายบริหารของไบเดนได้ผลักดันมาตรการทางการค้าเพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิตเหล็กกล้าและผู้ผลิตอะลูมิเนียมในยุโรปและสหรัฐฯ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้น แม้ว่านักวิเคราะห์ด้านการค้ามองว่าการเจรจาดังกล่าวไม่มีความคืบหน้า แต่การเจรจาดังกล่าวอาจเป็นตัวอย่างในการดำเนินนโยบายภของรัฐบาล Ms. Harris

 

Ms. Greta Peisch อดีตเจ้าหน้าที่ทางการค้าภายใต้รัฐบาลไบเดนกล่าวว่าฝ่ายบริหารของไบเดนกำลังจะผลักดันให้สหรัฐฯ ใช้นโยบายทางการค้าเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง Ms. Peisch คาดการณ์ว่าฝ่ายบริหารของ Ms. Harris จะดำเนินการเช่นเดียวกัน และ Ms. Peisch เสริมว่าสหรัฐฯ ควรร่วมมือกับต่างประเทศในการควบคุมการค้าสินค้าดิจิทัล ประกอบกับ Ms. Harris มีความคุ้นเคยกับธุรกิจเทคโนโลยีอยู่แล้วจากการดำรงตำแหน่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้ Ms. Harris สามารถกำหนดนโยบายด้านเทคโนโลยีได้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การกำกับดูแลข้อมูลส่วนบุคคลที่จะส่งผลต่อการเจรจาทางการค้า เป็นต้น

 

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันต่างมีจุดยืนเพื่อปกป้องทางการค้ามากขึ้น ทำให้เห็นว่านักการเมืองให้ความสำคัญเรื่องการค้ามากขึ้น

ข้อเสนอแนะของสคต. นิวยอร์ก

นายทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2567 นี้มีนโยบายหลัก คือ การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยได้เสนอมาตรการลดภาษีเงินได้ประกอบกับการเพิ่มภาษีนำเข้าของสินค้าจากต่างประเทศเพื่อส่งเสริมให้มีการผลิตในประเทศมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี หากมีการดำเนินมาตรการทางภาษีดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยในการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย สินค้านำเข้าจากต่างประเทศจะมีราคาสูงขึ้นส่งผลให้ชาวอเมริกันมีการบริโภคน้อยลง และหากภาระด้านภาษีได้ส่งต่อมายังผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยจะทำให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการทำกำไรน้อยลง

ข้อมูลอ้างอิง: NYTimes

อ่านข่าวฉบับเต็ม : นโยบายการค้าของกมลารองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

Login