นำเข้า-ส่งออกเขตฯ กว่างซีและอาเซียนขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566
สำนักงานศุลกากรเมืองหนานหนิงเปิดเผยข้อมูลการนำเข้าและส่งออกของเขตฯ กว่างซีว่า ในช่วงเดือนแรกปี 2566 การค้าระหว่างประเทศกว่างซีได้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 612,020 ล้านหยวน (ประมาณ 3,060,100 ล้านบาท) ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 ที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในบรรดาคู่ค้าสำคัญ การค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีและอาเซียน คิดเป็นมูลค่า 293,060 ล้านหยวน (ประมาณ 1,465,300 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 21.8 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47.9 ของมูลค่าโดยรวม ในจำนวนดังกล่าว มูลค่าการค้าเขตฯ กว่างซีและเวียดนามได้ติดอันดับแรก คิดเป็นมูลค่า 222,970 ล้านหยวน (ประมาณ 1,114,850 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 31 รองลงมาคือการค้าเขตฯ กว่างซีและไทย คิดเป็นมูลค่า 31,430 ล้านหยวน (ประมาณ 157,150 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 19.7 และต่อมาคือเขตฯ กว่างซีค้ากับสิงคโปร์ กัมพูชา และลาว ซึ่งมีมูลค่าการค้า 6,460 ล้านหยวน(ประมาณ 32,300 ล้านบาท) 3,570 ล้านหยวน (ประมาณ 17,850 ล้านบาท) และ 1,090 ล้านหยวน(ประมาณ 5,450 ล้านบาท) ตามลำดับ หรือขยายตัวร้อยละ 10.8, 121.2, และ 117.7 ตามลำดับ ทั้งนี้ 5 ประเทศที่กล่าวข้างต้นมีสัดส่วนร้อยละ 90.6 ของการค้าระหว่างเขตฯ กว่างซีและอาเซียนโดยรวม
จากการวิเคราะห์จากสำนักงานศุลกากรหนานหนิง ขณะนี้ เขตฯ กว่างซีและอาเซียนมีความร่วมมือในสาขาผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้าสิ่งอมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในห่วงโซ่การผลิตของสาขามีความต้องการสูงขึ้น โดยในช่วง 11 เดือนแรก กว่างซีนำเข้า-ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตดังกล่าวมีมูลค่า 143,000 ล้านหยวน (ประมาณ 715,000 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 15.7 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.8 ของการค้าโดยรวมของทั้ง 2 ฝ่าย อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในขั้นตอนการผลิตสิ่งทอ และอุปกรณ์ประกอบ Tablet มีมูลค่า 17,080 ล้านหยวน (ประมาณ 85,400 ล้านบาท) และ 10,720 ล้านหยวน (ประมาณ 53,600 ล้านบาท) หรือขยายตัวร้อยละ 57.7 และ 130.5 ตามลำดับ ในขณะเดียวกัน เนื่องจากกว่างซีเป็นฐานการผลิตรถยนต์ทางภาคใต้ของจีน ในช่วงเวลาดังกล่าว กว่างซีฯ มีการส่งออกอุปกรณ์และชิ้นส่วนรถยนต์ยังอาเซียนมูลค่า 2,590 ล้านหยวน (ประมาณ 12,950 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ที่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สิ่งที่น่าสนใจคือ ด้วยการพัฒนาของอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ที่รวดเร็ว โรงงานและบริษัทในกว่างซีต่างให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนมากยิ่งขึ้น โดยกว่างซีส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียม แบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ และรถยนต์ผู้โดยสารไฟฟ้ามีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นจุดเด่นใหม่ของการค้าระหว่างประเทศกว่างซี โดยในช่วง 11 เดือนแรก ผลิตภัณฑ์ 3 ประเภทดังกล่าวมีมูลค่าการส่งออก 13,760 ล้านหยวน (ประมาณ 68,800 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 205.4
นอกจากนี้ ภายใต้แผนการส่งเสริมสินค้ากว่างซีสู่ต่างประเทศที่มีการดำเนินการมาโดยตลาด สินค้าที่มีเอกลักษณ์ของกว่างซีก็ได้สร้างผลที่ดีในการส่งออก เช่น ส้ม ชาลิ่วป่าว ก๋วยเตี๋ยวหลัวซือเฝิ่น หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 1,110 ล้านหยวน (ประมาณ 5,550 ล้านบาท) 9.371 ล้านหยวน(ประมาณ 46.855 ล้านบาท) และ 3.461 ล้านหยวน (ประมาณ 17.305 ล้านบาท) ตามลำดับ
สำหรับการนำเข้า กว่างซีมีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนเพิ่มมากขึ้น โดยใน 11 เดือนแรก กว่างซีนำเข้าสินค้าเกษตรจากอาเซียนมีมูลค่า 15,910 ล้านหยวน (ประมาณ 79,550 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.5 เนื่องจากจีนมีการเพิ่มรายการสินค้าเกษตรดีเด่นของอาเซียนที่อนุญาติให้นำเข้าเข้าสู่ตลาดจีน เช่น ทุเรียนเวียดนาม พร้อมกับกว่างซีมีการมุ่งพัฒนาช่องทางใหม่ทางการค้าที่เชื่อมทางบกและทางทะเล สมบูรณ์ระบบโลจิสติกส์ที่เชื่อมต่อในประเทศ สินค้าเกษตร โดยเฉพาะผลไม้อาเซียนได้เข้าสู่ตลาดจีนอย่างสะดวกและรวดเร็วมากกว่าเดิม ในช่วง 11 เดือนแรก กว่างซีนำเข้าผลไม้จากอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 9,420 ล้านหยวน (ประมาณ 47,100 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 134.2 ในจำนวนดังกล่าว การนำเข้าทุเรียนมีมูลค่า 8,540 ล้านหยวน (ประมาณ 42,700 ล้านบาท) ขยายตัว ร้อยละ 217.7 โดยแบ่งเป็นทุเรียนไทยมีสัดส่วนร้อยละ 51.3 และทุเรียนเวียดนาม 48.7
ข้อมูลเพิ่มเติม สินค้า 10 อันดับแรกที่ไทยส่งออกยังกว่างซีในช่วง 11 เดือนแรก
ความคิดเห็นสคต.:
เขตฯ กว่างซีตั้งอยู่ภาคใต้ของประเทศและถูกกำหนดเป็นประตูสู่อาเซียน ซึ่งมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งที่ใกล้กับประเทศอาเซียน โดยมีแนวชายแดนติดกับเวียดนาม และมีโลจิสติกส์การขนส่งกับอาเซียนทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศอย่างสะดวกรวดเร็ว กล่าวได้ว่า เขตฯ กว่างซีมีบทบาทสำคัญในการค้าระหว่างประเทศจีน-อาเซียน รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 ไทยส่งออกยังเขตฯ กว่างซีมีมูลค่า 1,821.79 ล้านเหรียญฯ ซึ่งสินค้าส่งออก 2 อันดับแรกได้แก่ ฮาร์ดไดรฟ์ และทุเรียนสด ซึ่งมีมูลค่า 663.18 ล้านเหรียญฯ และ 626.78 ล้านเหรียญฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 36.40% และ 34.40% ตามลำดับ
จากข้อมูลที่กล่าวข้างต้นเห็นได้ว่า ทุเรียนยังคงเป็นสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญของไทยยังกว่างซีและสร้างรายได้การส่งออกให้กับประเทศ ประเด็นที่มองข้ามไม่ได้คือ ตั้งแต่วันที่ 11 กรกฏาคม 2565 จีนอนุญาตทุเรียนเวียดนามเข้ามาในตลาดจีนจึงเป็นคู่แข่งที่สำคัญของไทย จากการเข้าพบหารือกับ ผู้นำเข้าทุเรียนรายสำคัญในพื้นที่พบว่า อุตสาหกรรมทุเรียนในเวียดนามมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ รวมทั้งการเพาะปลูก การเก็บผลผลิต การบรรจุ และระบบการขนส่ง กล่าวได้ว่า ทุเรียนเวียดนามกำลังมาแรงในตลาดจีน แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความต้องการของตลาดจีนที่มีปริมาณมหาศาลอย่างต่อเนื่อง และภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทย ขณะนี้ผู้บริโภคยังคงชื่นชอบทุเรียนไทยมากกว่าด้วยเพราะรสชาติ และคุณภาพ จึงทำให้ราคาทุเรียนไทยยังคงมีราคาสูง แต่หากมองการในระยะยาว การแข่งขันของตลาดมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น รวมทั้งเวียดนามมีการขยายพื้นที่การเพาะปลูก โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดนติดกับกว่างซี ทั้งนี้ การที่รักษาคุณภาพ การพัฒนาสายพันธุ์ และภาพลักษณ์ของทุเรียนไทยจะเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ส่งออกไทยต้องคำนึงถึงเป็นอย่างมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง เพื่อรักษาและขยายส่วนแบ่งตลาดทุเรียนไทยในจีนต่อไปอย่างยั่งยืน
………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………..
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง
แหล่งที่มา
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1785329671160696036&wfr=spider&for=pc
อ่านข่าวฉบับเต็ม : นำเข้า-ส่งออกเขตฯ กว่างซีและอาเซียนขยายตัวมากกว่าร้อยละ 20 ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566