หน้าแรกTrade insight > นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.พาณิชย์)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.พาณิชย์)

จุรินทร์ ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ VDO conference

จุรินทร์ นำ กรอ.พาณิชย์ เคาะ 6 เรื่อง  เอกชนพอใจ "ตู้คอนเทนเนอร์พอใช้" สั่ง SME ส่งออก รวมตัว ทำสัญญา "ลดค่าระวางเรือ" พร้อมช่วยผ่อนปรน เงื่อนไข "จับคู่กู้เงิน" มั่นใจ "ส่งออกมิถุนายนโต เลข 2 หลัก"

                    วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เวลา 13.00 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ครั้งที่ 2/2564 ผ่านระบบ VDO conference ณ ห้องประชุมกิติยากรวรลักษณ์ชั้น 4 สํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยนายจุรินทร์เป็นประธาน

                    หลังการหารือ นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์และภาคเอกชนเห็นตรงกันว่าการส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาวะปัจจุบันตัวเลขการส่งออกจนถึงปัจจุบันถือว่าดีมากล่าสุดเดือนพฤษภาคมตัวเลขการส่งออกขยายตัวถึง 41.59% และคาดว่าในเดือนมิถุนายนจะยังบวกอยู่ด้วยตัวเลขสองหลัก ซึ่งการที่ตัวเลขการส่งออกของไทยยังขยายตัวในอัตราดีกว่าหลายประเทศส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันอย่างหนัก ต่อเนื่อง ทันท่วงทีระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับหน่วยงานราชการอื่นที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนภายใต้การขับเคลื่อนโดยใช้กลไก กรอ.พาณิชย์ วันนี้มี 6 ประเด็นที่สำคัญ

                    ประเด็นที่หนึ่ง เรื่องตู้คอนเทนเนอร์กับค่าระวางเรือ ตู้คอนเทนเนอร์ได้ข้อสรุปร่วมกันโดยการท่าเรือแจ้งให้ทราบถึงตัวเลขว่าขณะนี้ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งนำเข้าและส่งออก เข้าสู่สภาวะสมดุลแล้ว ตัวเลขนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงพฤษภาคมมีจำนวน 2,200,000 TEU ส่งออก 2,000,000 TEU ยังมีตู้เหลืออยู่ประมาณ 200,000 TEU ที่สามารถใช้ได้ แต่เนื่องจากในภาคปฏิบัติจริงจำนวนหนึ่งต้องรอขั้นตอนในการนำสินค้าออกทำให้ตู้ไม่ว่าง และภาคเอกชนบางส่วนเคลียร์ตู้ ทำให้บางช่วงตู้ขาดแคลนในบางช่วงเวลา วันนี้เห็นสอดคล้องว่าควรร่วมกันสร้างแรงจูงใจให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาเทียบท่าที่แหลมฉบังมากขึ้น โดยมาตรการจูงใจประการหนึ่งคือเร่งขจัดปัญหาในเรื่องการที่เรือใหญ่ ถ้ามีเป้าหมายเพื่อนำสินค้ามาส่งประเทศไทยอย่างเดียวอาจไม่จูงใจ ควรเปิดโอกาสให้สามารถถ่ายลำระหว่างทางไปยังประเทศอื่นได้ด้วยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงคมนาคมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนหารือร่วมกันเพื่อกำหนดมาตรการ เรื่องค่าระวางเรือ ภาคเอกชนยอมรับว่าเป็นไปตามกลไกราคาในตลาด อยากให้มีการลดค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ได้มอบให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์หารือกับภาคเอกชนต่อไปว่ามีส่วนใดสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้กับภาคเอกชน และที่ประชุมสนับสนุนให้ SMEs ส่งออกซึ่งมีอยู่ 30,000 รายทั่วประเทศ บางส่วนรวมตัวกันทำสัญญาล่วงหน้ากับสายการเดินเรือเพื่อมีหลักประกันในเรื่องค่าระวางและจะได้มีตู้แน่นอน จะทำให้ได้เงื่อนไขที่ดีขึ้นมีหลักประกันว่าราคาจะไม่แพงและมีตู้ให้ส่งออกรวมกันได้เรียกว่า service contract

                    ประเด็นที่สอง เรื่องการเปิดด่าน  ปัจจุบันเรามีด่านรอบประเทศทั้งหมด 97 ด่านเปิดให้ส่งสินค้าเข้าออกได้ 46 ด่าน ภาคเอกชนอยากเห็นการเปิดเพิ่มอีก 11 ด่าน ล่าสุดด่านปากแซง อ.นาตาล ตนได้ประชุมเร่งรัดด้วยตนเองแล้ว หลังจากนั้นวันที่ 15 กรกฎาคมผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลประชุมร่วมกับเจ้าแขวงสะหวันนะเขตได้ลงนาม MOU ร่วมกันว่าจะทำการเปิดด่านโดยเร็ว อนุญาตเฉพาะสินค้าข้ามแดน จะเร่งกำหนดรายการสินค้าและปริมาณสินค้าเข้าส่งออกระหว่างชายแดน จากนั้นจะนำสู่ภาคปฏิบัติต่อไป ด่านที่เหลือได้มอบหมายให้กรมการค้าต่างประเทศเชิญผู้เกี่ยวข้องมาประชุมที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อเร่งรัดการเปิดด่านต่อไป

                    ประเด็นที่สาม การทำ FTA ใหม่ ไทยกับอียูและกลุ่ม EFTA ขณะนี้คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบได้ในช่วงไตรมาสที่ 3 ตามที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศแจ้งไว้ส่วน FTA อาเซียน-แคนาดา จะทำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้

                    ประเด็นที่สี่ ภาคเอกชนเสนอขอให้ SMEs ส่งออกสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้เงื่อนไขพิเศษหรือที่เรียกว่า soft loan ได้แจ้งว่าขณะนี้กระทรวงพาณิชย์จับมือกับ EXIM Bank และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม  ( บสย.) จัดโครงการ”จับคู่กู้เงิน”สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคมและสิ้นสุดวันที่ 7 เดือนกันยายนโดยมีเงื่อนไขผ่อนปรนหลายประการช่วยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ในวงเงินไม่ต่ำกว่า 2,500 ล้านบาท ภาคเอกชนเสนอเพิ่มเติมขอเงื่อนไขผ่อนปรนอีก 2 ข้อ คือ 1.ขอให้สามารถใช้สต๊อกสินค้าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ 2.ขอให้ขยายวงเงินสำหรับผู้ใช้วงเงินเต็มแล้ว เอาสัญญาสั่งซื้อมาเป็นตัวค้ำประกันเงินกู้ จะช่วยรับออเดอร์ได้มากขึ้นส่งออกสินค้าได้มากขึ้น   ได้มอบให้กรมการค้าต่างประเทศเจรจากับ EXIM Bank ต่อไป

                    ประเด็นที่ห้า เรื่องแรงงานต่างด้าวที่ขาดแคลนสำหรับภาคการผลิตทั้งภาคการเกษตรอุตสาหกรรม ตนรับไปรายงานให้คณะรัฐมนตรีรับทราบปัญหาและดำเนินการแก้ไขต่อไป รวมทั้งการใช้แรงงานข้ามเขตในบางกรณี เช่น ช่วยเก็บผลไม้หรือตามความจำเป็น ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจอนุมัติในแต่ละจังหวัด

                    ประเด็นที่หก เรื่องอุตสาหกรรมไม้ยางพาราซึ่งภาคเอกชนสนับสนุนนโยบายของการยางแห่งประเทศไทยกระทรวงเกษตรฯที่สนับสนุนให้มีการโค่นยางให้ได้ตามเป้า 400,000 ไร่ต่อปีเพื่อปลูกแทน โดยปี 2563 สามารถทำได้ 340,000 ไร่ ส่วนปี 2564 จะเร่งรัดดำเนินการต่อไปซึ่งตัวเลขยังไม่มากเพราะขาดแคลนแรงงานในการดำเนินการ และการรับรองมาตรฐานไม้ยางพาราเพื่อการส่งออกมี 2 มาตรฐาน มาตรฐานสากลทั่วไป ที่รู้จักคือ FSC กับของสภาอุตสาหกรรมที่กลายเป็นมาตรฐานสากลแล้ว คือ TFCC สำหรับ FSC ต้องให้ตัวแทนจากต่างประเทศมาให้การรับรองแต่ละกรณี แต่ต่อไปนี้เห็นชอบด้วยกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ให้มาตั้งสำนักงานในประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมกับการยางแห่งประเทศไทยรับเรื่องไปประสานงานเพื่อให้เกิดความสะดวกในการส่งไม้ยางส่งออกไปยังต่างประเทศ

                    ทั้งนี้ ต่อไปจะมีการจัดประชุม กรอ. เป็นระยะระยะเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสถานการณ์เศษฐกิจไทย-โลกให้ได้เร็วที่สุด เพื่อทำตัวเลขส่งออกไปต่างประเทศให้ได้มากที่สุดต่อไป

——————————————————————-

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า
กระทรวงพาณิชย์

 

ที่มา : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.)

Login