นายฮุน มาเนต (Hun Manet) นายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาเดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 11 – 12 ธันวาคม 2566 ตามคำเชิญของนายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ ฉิงห์ (Pham Minh Chinh) ซึ่งเป็นการเยือนเวียดนามครั้งแรกของนายฮุน มาเนต นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ในกรอบการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศมีการเจรจาเพื่อขยายความร่วมมือ ทวิภาคีในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การค้า การลงทุน การเชื่อมโยง การท่องเที่ยว และความมั่นคงทางกลาโหม เป็นต้น
นายฮุน มาเนต ย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์กับเวียดนาม และใช้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของตำแหน่งเพื่อนบ้านของทั้งสองฝ่าย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการพัฒนาเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรี ฝ่าม มิงห์ ฉิงห์ ย้ำว่า นโยบายของเวียดนามคือ การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ที่เป็น “เพื่อนบ้านที่ดี มิตรภาพแบบดั้งเดิม ความร่วมมือที่ครอบคลุม และความยั่งยืนในระยะยาว” ระหว่างเวียดนามและกัมพูชา
ผู้นำทั้งสองแสดงความพึงพอใจต่อความสัมพันธ์เวียดนาม-กัมพูชาที่มีการพัฒนาเชิงบวกในช่วงเวลาที่ผ่านมา การค้าทวิภาคีในปี 2565 มีมูลค่าสูงถึง 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยช่วง 10 เดือนของปี 2566 มีมูลค่ามากกว่า 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเวียดนามส่งออกสินค้าไปยังกัมพูชา 4,120 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้า 2,980 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เวียดนามยังคงรักษาตำแหน่งคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของกัมพูชาและเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกัมพูชา นอกจากนี้ กัมพูชาอยู่อันดับที่ 2 จาก 79 ประเทศที่เวียดนามเข้าไปลงทุนมากที่สุด โดยมีจำนวนกว่า 200 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ครองอันดับหนึ่งในอาเซียน และอยู่ในกลุ่ม 5 ประเทศที่มีขนาดที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการลงทุนโดยตรงในประเทศกัมพูชา
นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้หารือถึงแนวทางสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือรอบด้านระหว่างเวียดนามและกัมพูชาในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องที่จะเพิ่มการแลกเปลี่ยนและการติดต่อผู้นำระดับสูง ส่งเสริมกลไกความร่วมมือที่สำคัญอย่างมีประสิทธิผลระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ รวมถึงกลไก “คณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และด้านเทคนิคของเวียดนาม – กัมพูชา” และ “ความร่วมมือการประชุมและการพัฒนาจังหวัดชายแดน” กระชับความสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชนของทั้งสองประเทศ นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องที่จะส่งเสริมการจัดทำข้อตกลงการเชื่อมต่อทางด่วนกัมพูชา (พนมเปญ- บาเวต) กับทางด่วนเวียดนาม (ม็อกไบ-โฮจิมินห์) อำนวยความสะดวกด้านกิจกรรมการขนส่ง การค้า และการท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศ รวมทั้งความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวไตรภาคีระหว่างกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ด้วยสโลแกน “สามประเทศ หนึ่งจุดหมายปลายทาง”
ในด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน นายกรัฐมนตรีทั้งสองเห็นพ้องที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันใน การสร้างเศรษฐกิจที่เป็นอิสระและพึ่งพาตนเองได้ เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสองเศรษฐกิจ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและในแง่ของสถาบันและนโยบาย รวมถึงส่งเสริมการค้าทวิภาคี โดยเฉพาะการค้าชายแดนและความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน มุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายมูลค่าการค้าทวิภาคีที่ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในอนาคต
สำหรับความร่วมมือด้านชายแดน นายกรัฐมนตรีทั้งสองยินดีต่อการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายเพื่อรักษาและเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพโดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งผลักดันการแบ่งเขตสำหรับแนวชายแดนที่เหลืออีกร้อยละ 16 ของชายแดนทางบกระหว่างสองประเทศ
หลังจากการหารือ นายกรัฐมนตรีทั้งสองได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามเอกสารความร่วมมือ 3 ฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเวียดนาม และกระทรวงอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศกัมพูชา (2) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสหพันธ์การค้าและอุตสาหกรรมเวียดนามและหอการค้ากัมพูชา และ (3) บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสถาบันการทูตเวียดนามและสถาบันการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกัมพูชา
ในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายกรัฐมนตรีทั้งสองเข้าร่วมการประชุม Vietnam-Cambodian Business Forum นายกรัฐมนตรีกัมพูชาสนับสนุนและเชิญชวนนักลงทุนเวียดนามมายังกัมพูชามากขึ้นโดยเฉพาะในสาขาที่มีศักยภาพสูงและความสามารถในการเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมที่ได้เปรียบของเวียดนาม เช่น เกษตรกรรมที่มีเทคโนโลยีสูง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีดิจิทัล การเงิน และการผลิตรถยนต์ นายกรัฐมนตรีเวียดนามเสนอให้ผู้ประกอบการของทั้งสองส่งเสริมการเชื่อมโยงและมุ่งเน้นไปที่ด้านการเงิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง พลังงานไฟฟ้า โทรคมนาคม และการท่องเที่ยว
เวียดนามสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยสูงสุดเสมอในการส่งเสริมผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศให้ร่วมมือกันในการลงทุนและการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ
(จาก https://baochinhphu.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
กัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมาช้านาน การเยือนเวียดนามครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศของผู้นำกัมพูชา ซึ่งจะช่วยยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศทั้งในระดับรัฐบาล และระดับประชาชนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว การขนส่ง และความร่วมมือด้านกลาโหมและความมั่นคง และอื่นๆ ให้มีการเติบโตมากขึ้น คาดว่า หากการเชื่อมต่อทางด่วนกัมพูชา (พนมเปญ- บาเวต) กับทางด่วนเวียดนาม (ม็อกไบ-โฮจิมินห์) แล้วเสร็จ การค้าผ่านแดนรวมถึงการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวระหว่างเวียดนามและกัมพูชาจะขยายตัวมากขึ้น และจะส่งผลให้การค้าผ่านแดนจากไทยไปยังเวียดนามตอนใต้จะเติบโตมากขึ้นด้วยเช่นกัน
อ่านข่าวฉบับเต็ม : นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เดินทางเยือนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม