หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > นักวิเคราะห์กังวล จีนอาจยกเลิกข้อตกลงทางการค้าที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับสินค้าไต้หวัน

นักวิเคราะห์กังวล จีนอาจยกเลิกข้อตกลงทางการค้าที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับสินค้าไต้หวัน

ไต้หวันและจีนได้ทำความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจช่องแคบจีน-ไต้หวัน (Cross-Strait Economic Cooperation Framework Agreement: ECFA) ตั้งแต่ปี 2553 เพื่อให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและอื่นๆ ต่อสินค้าและบริการของแต่ละฝ่าย โดยหลังจากปี 2553 ทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาอย่างต่อเนื่องจนมีการจัดทำ Early Harvest List ซึ่งจีนเปิดตลาด/ลดภาษีนำเข้าให้สินค้าไต้หวันรวม 1,149 รายการ ในขณะที่ไต้หวันเปิดตลาดให้สินค้าจีนรวม 594 รายการ และจีนเปิดให้ธุรกิจบริการของไต้หวัน เช่น สถานพยาบาล สำนักงานบัญชี สถาบันการเงิน สามารถเปิดดำเนินการในจีนได้ และภาพยนตร์ไต้หวันสามารถเข้าฉายในประเทศจีนได้โดยไม่มีการจำกัดโควต้า ซึ่งความตกลงฯ ดังกล่าวสร้างประโยชน์ให้กับไต้หวันเป็นอย่างมาก จนทำให้ไต้หวันได้ดุลการค้าจากจีนสูงมากในแต่ละปี โดยในปี 2565 ไต้หวันได้ดุลการค้าจากจีนคิดเป็นมูลค่า 37,152 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี หลังจากเกิดความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างสองฝ่าย จีนได้ใช้มาตรการทางการค้าต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไต้หวันไปยังประเทศจีน ล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา จีนได้เข้าสู่การเริ่มกระบวนการ Trade Barrier Investigation เพื่อตรวจสอบอุปสรรคทางการค้าที่ไต้หวันมีกับจีน ก่อให้เกิดกระแสวิตกกังวลว่า การตรวจสอบอุปสรรคทางการค้าของไต้หวันในครั้งนี้อาจส่งผลไห้จีนยกเลิกข้อตกลงกรอบความร่วมมือดังกล่าว

นักวิเคราะห์ในไต้หวันชี้ว่า จีนเริ่มกระบวนการตรวจสอบในวันที่ 12 เมษายน 2566 โดยมีแผนจะประกาศผลการตรวจสอบในวันที่ 12 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ จีนอาจขยายเวลาในการประกาศผลการตรวจสอบไปจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2567 ก่อนวันเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของไต้หวันเพียงหนึ่งวัน ทำให้นักวิเคราะห์ในไต้หวันส่วนใหญ่เห็นว่า ช่วงเวลาการประกาศตรวจสอบในครั้งนี้ของจีนมีนัยสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเมืองในไต้หวัน โดยนิตยสาร Business Today ของไต้หวันวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของผลที่จะเกิดขึ้นไว้ 3 แนวทาง หากการเจรจาระหว่างจีนและไต้หวัน ไม่ประสบความสำเร็จ คือ

แนวทางแรก จีนอาจตอบโต้โดยการประกาศห้ามการนำเข้าสินค้าในจำนวนที่เทียบเท่ากับที่ไต้หวันห้ามการนำเข้าจากจีนกว่า 2,000 รายการ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไต้หวันจะอยู่ในวงจำกัด

แนวทางที่ 2 จีนอาจประกาศห้ามการนำเข้าสินค้าที่ไต้หวันมีศักยภาพในตลาดจีน เช่น ปิโตรเคมี เครื่องจักรกล สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก รวมถึงยานยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งเป็นรายการที่รวมอยู่ใน Early Harvest List ถือเป็น Scenario ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่ผู้ประกอบการในไต้หวันกังวลมากที่สุดว่า อาจเป็นการยกเลิกข้อตกลงกรอบความร่วมมือฯ แบบบางส่วนหรือทั้งหมด แน่นอนว่าหากเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นจริง จะทำให้ดุลการค้าต่างประเทศของไต้หวันลดลงทันที 1 ใน 3 ของปัจจุบัน เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของไต้หวัน

แนวทางที่ 3 หากไต้หวันยอมยืดหยุ่นโดยเปิดตลาดให้กับสินค้าจีนบางรายการที่ปัจจุบันไต้หวันห้ามการนำเข้า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการในสินค้ากลุ่มสิ่งทอและเครื่องจักรกล ที่ต่างก็อยู่ใน Early Harvest List ก็จะลดความกดดันไปได้มาก เพราะจะยังคงสามารถได้รับประโยชน์จากการส่งออกไปยังจีนอยู่ แต่ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 43 ของรายการสินค้าที่ไต้หวันห้ามการนำเข้าจากจีน จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากการที่ไต้หวันจะต้องเปิดให้นำเข้าสินค้าเกษตรจากจีน

โดย กระทรวงเกษตรไต้หวันคาดการณ์ไว้ในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ในสินค้าเกษตรจำนวน 1,066 รายการที่ปัจจุบันไต้หวันห้ามการนำเข้าจากจีนนั้น หากมีการเปิดตลาดให้นำเข้าสินค้าจีนได้ในอนาคต จะมีสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดให้นำเข้าสินค้าจีนจะมีประมาณ 200 กว่ารายการ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 30 ของจำนวนสินค้าเกษตรที่ปัจจุบันไต้หวันห้ามการนำเข้าจากจีน

ทั้งนี้ ดร. หลี่ต้าเหนียน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคแห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจจงหัวชี้แนะว่า หากรัฐบาลไต้หวันตัดสินใจเปิดให้มีการนำเข้าสินค้าเกษตรจากจีนจริง อาจสามารถเริ่มต้นจากสินค้าที่ไต้หวันไม่ได้ผลิตเอง หรือผลิตเป็นจำนวนไม่มาก เช่น แอปเปิลหรือข้าวสาลี ซึ่งไต้หวันแทบไม่ได้ผลิตเองเลย ก็จะสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้มาก โดยรัฐบาลเองก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ปัญหาทางการค้าที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ลุกลามจนกลายเป็นอุปสรรคในการขยายโอกาสการทำข้อตกลงทางการค้าของไต้หวันในอนาคตต่อไป

ที่มา : United Daily News / Business Today (September 13, 2023)

ข้อเสนอแนะ/ความคิดเห็นของ สคต.

จีนและไต้หวันล้วนเป็นคู่ค้าที่สำคัญของไทย โดยไทยมีการส่งออกสินค้าที่อยู่ในเครือข่ายการผลิตของทั้งคู่ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามความคืบหน้าในการเจรจาระหว่างทั้งสองฝ่าย เพื่อได้เตรียมการรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการส่งออกของไทยทั้งในเชิงบวกและเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้น

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login