สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยตลาด GfK ระบุว่า ตลาดผลิตภัณฑ์นมทางเลือก (นมพืช) ในเยอรมนีเติบโตในทุกกลุ่มอายุผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีอายุน้อย โดยราคาเฉลี่ยของนมทางเลือกอยู่ที่ 2.50 ยูโรต่อลิตร สูงกว่าราคาเฉลี่ยของนมทั่วไปซึ่งจำหน่ายอยู่ที่ 1.50 ยูโรต่อลิตร นอกจากนี้ ข้อมูลจาก NielsenIQ ชี้ให้เห็นว่า ผู้ผลิตนมได้หันมาขยายขอบเขตไปสู่การผลิตผลิตภัณฑ์นมทางเลือกที่มาจากพืชมากขึ้น
การบริโภคเนื้อสัตว์และนมในเยอรมนีลดลง ในปี 2022 ชาวเยอรมันบริโภคเนื้อสัตว์โดยเฉลี่ย 52 กิโลกรัมต่อคน ปรับตัวลดลงร้อยละ 17 เมื่อเทียบปี 2012 ซึ่งอยู่ที่ 60.9 กิโลกรัมต่อคน ทั้งนี้ ในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา อัตราการบริโภคเนื้อสัตว์ปรับตัวลดลงต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การบริโภคนมก็ลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2010 ตามข้อมูลของกระทรวงอาหารและการเกษตรระบุว่า ในปี 2022 มีการดื่มนมเพียง 49 ลิตรต่อคน นมทางเลือกที่ทำจากถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ฯลฯ ได้กลายผลิตภัณฑ์ที่ขาดไม่ได้บนชั้นวางสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ตของเยอรมัน โดยนมทุก ๆ 10 ลิตรที่จำหน่ายในเยอรมนีไม่ใช่นมวัว แต่เป็นนมที่มาจากพืช ซึ่งประกอบด้วยน้ำ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช หรือถั่ว อย่างไรก็ตาม ตามระเบียบข้อบังคับของสหภาพยุโรปไม่อนุญาตให้โฆษณาเครื่องดื่มจากพืชเหล่านี้ว่าเป็นนม เนื่องจากคำว่า “นม” หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์เท่านั้น ทั้งนี้ ในอดีตเครื่องดื่มจากถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต อัลมอนด์ มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ ถั่วลันเตา หรือพิสตาชิโอ เป็นผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดเฉพาะกลุ่มเท่านั้น แต่ปัจจุบันเครื่องดื่มทางเลือกจากพืชเหล่านี้ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก
ในเยอรมนีมีผู้บริโภควีแกนประมาณร้อยละ 1.5 ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่นิยามตนเองว่าเป็น flexitarian หรือ flexigan จำนวนมากที่มีพฤติกรรมจำกัดหรือลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ด้วยเหตุนี้ จำนวนผู้บริโภคที่ดื่มนมวัวแบบคลาสสิกจึงน้อยลงอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของสำนักงานกลางเพื่อการเกษตรและอาหาร (BLE) ระบุว่า ตลาดเครื่องดื่มทดแทนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีขนาดใหญ่กว่าตลาดเนื้อสัตว์ทดแทน ผลิตภัณฑ์นมจากพืช เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต หรืออัลมอนด์มีส่วนแบ่งตลาดถึงร้อยละ 10 ในส่วนของผลิตภัณฑ์นมออร์แกนิกนั้น เกือบทุก 1 ใน 3 ที่จำหน่ายผลิตมาจากพืช
จากการศึกษาของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ทดแทนนมถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพและยั่งยืน โดยนักวิจัยได้ประเมินข้อมูลจากฟาร์มเกือบ 40,000 แห่งทั่วโลก เมื่อเทียบกับเครื่องดื่มจากถั่วเหลือง ข้าวโอ๊ต ข้าว หรืออัลมอนด์แล้ว การผลิตนมวัวได้รับการประเมินให้อยู่ในลำดับสุดท้าย (แย่) ในแง่ของการปล่อย CO2 และการใช้น้ำและดิน การผลิตนมวัว 1 ลิตร จะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3 กิโลกรัม ในขณะที่การผลิตนมถั่วเหลืองหรือนมอัลมอนด์ 1 ลิตรมีปริมาณเพียง 1 ใน 3 หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น
นมจากพืชมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากกว่านมจากสัตว์หรือไม่นั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ ผู้บริโภคบางรายเห็นว่าผลิตภัณฑ์นมเป็นอาหารหลักและไม่สามารถถูกแทนที่ได้เนื่องจากมีโปรตีน แคลเซียม และวิตามินบีที่จำเป็น ในทางกลับกัน ผู้บริโภคบางรายเห็นว่าผลิตภัณฑ์นมทางเลือกมีแคลอรี่ต่ำและมีปริมาณไขมันต่ำกว่า นอกจากนี้มักไม่มีคอเลสเตอรอล ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต อย่างไรก็ตามส่วนผสมอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ผลิต
นาย Paul Bremer นักจิตวิทยาการบริโภคและผู้เชี่ยวชาญจากสถาบัน Rheingold กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของความตระหนักของผู้บริโภคเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนหนุ่มสาวที่ต้องการเริ่มต้นด้วยการเห็นมาสำรวจการบริโภคของตนเอง พวกเขามองว่าการเกษตรแบบดั้งเดิมมีความเข้มข้นมากเกินไป เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่มีการกักขังสัตว์ไว้ในคอกเป็นจำนวนมาก “นมไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นภาพลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตนมต่างหาก”
ที่มา: Verbraucherzentrale NRW, vegconomist
อ่านข่าวฉบับเต็ม : นมพืชได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในเยอรมนี