หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > ธุรกิจเครื่องดื่มชาของจีนเข้าสู่ยุคอัจฉริยะ

ธุรกิจเครื่องดื่มชาของจีนเข้าสู่ยุคอัจฉริยะ

เมื่อไม่นานมานี้ สํานักงานคณะกรรมการความปลอดภัยด้านอาหารของคณะกรรมการสำนักรัฐมนตรีแห่งชาติจีนได้จัดกิจกรรม China Food Safety Publicity Week ขึ้นในประเทศจีน ซึ่งตั้งแต่ปี 2554 ได้มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนของทุกปี โดยเป็นกิจกรรมประชาสัมพันธ์ความปลอดภัยด้านอาหารที่สำคัญมากที่สุดในจีนกิจกรรมในปีนี้ประกอบด้วยการสัมมนา 3 เฟส ได้แก่ แฟสแรกภายใต้หัวข้อ “Green Road – Exploring Double Carbon Development in the Food Industry” เฟสที่สองภายใต้หัวข้อ “The Road to Popularization of Science – Seeking Rational Scientific Communication of Food Safety” และเฟสที่สามภายใต้หัวข้อ “The Road to Innovation – A New Way Out for New Tea Drinking” ซึ่งในการสัมมนาเฟสที่ 3 นายหวัง หงถาว (Mr. Wang Hongtao) รองเลขาธิการสมาคมร้านค้าแฟรนไชส์แห่งประเทศจีน ให้ข้อมูลว่า นวัตกรรมเป็นแรงขับเคลื่อนการพัฒนาธุรกิจเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมสินค้า นวัตกรรมการจัดจำหน่าย หรือนวัตกรรมการผลิต ปัจจุบัน ได้มีการนำอุปกรณ์อัจฉริยะมาใช้ในแวดวงธุรกิจเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ ทำให้ธุรกิจดังกล่าวเข้าสู่ยุคอัจฉริยะ

เมื่อต้นปี 2566 สมาคมร้านค้าแฟรนไชส์แห่งประเทศจีนได้เผยแพร่รายงานการวิเคราะห์เครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ปี 2565 ว่า ตลาดเครื่อมดื่มชารูปแบบใหม่ของจีนจากเดิม 42,200 ล้านหยวนในปี 2560 เติบโตขึ้นเป็น 100,300 ล้านหยวนในปี 2564 ซึ่งอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 20% ในปี 2565 ธุรกิจเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่เริ่มเข้าสู่ช่วงการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นช่วงการพัฒนาด้วยดิจิทัล มีการสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ ยังมีการนำอุปกรณ์อัจฉริยะมาใช้ในการผลิตอย่างกว้างขวางอีกด้วย

เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2566 แบรนด์ Heytea ประกาศว่า บริษัทได้วิจัยอุปกรณ์อัจฉริยะเพื่อใช้ในการผลิตเครื่องดื่มชาในร้านขาย ซึ่งสามารถนำมาใช้งานในทั้งกระบวนการการทำเครื่องดื่มชาได้ ได้แก่ การเตรียมวัตถุดิบ การจัดการวัตถุดิบ และการผสมรสชาติชา อุปกรณ์อัจฉริยะดังกล่าวประกอบด้วยเครื่องชั่งอัจฉริยะ เครื่องให้น้ำชาอัจฉริยะ เครื่องปอกเปลือกอัตโนมัติ เครื่องปอกเมล็ดอัตโนมัติ เครื่องทุบมะนาวอัตโนมัติ เครื่องหั่นอัตโนมัติ และเครื่อต้มอัจฉริยะ ซึ่งได้นำมาใช้ในร้าน Heytea มาตั้งแต่ต้นปี 2565 แล้ว ซึ่งหลังจากการนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ ส่งผลให้การผลิตเครื่องดื่มชาของร้านมีความแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ประสิทธิภาพในการผลิตเครื่องดื่มชาผลไม้เพิ่มขึ้น 15 เท่าตัว ปัจจุบัน บริษัท Heytea ได้ยื่นขอสิทธิบัตรเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องมากกว่า 70 รายการ บริษัท Heytea นับเป็นบริษัทแรกที่นำอุปกรณ์อัจฉริยะมาใช้ในร้านขายเครื่องดื่มชาในทุกกระบวนการ

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2566 แบรนด์ NAIXUE ให้ข้อมูลว่า ได้นำเครื่องทำชานมอัตโนมัติมาใช้กับร้านสาขาต่างๆ ทั่วจีนแล้ว ซึ่งช่วยให้การทำชาหนึ่งแก้วใช้เวลาเพียง 10 วินาที ช่วยลดการจ้างงานบุคลากรและเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น 40%

ในมุมมองของนายหวัง หงถาว (Mr.Wang Hongtao) ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอุปกรณ์อัจฉริยะที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้จะส่งผลต่อการรักษาความปลอดภัยของอาหารด้วย

ความเห็น สคต. นวัตกรรมอัจฉริยะกำลังเป็นแนวโน้มการพัฒนาธุรกิจเครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ในขณะนี้ โดยเฉพาะแบรนด์เครื่องดื่มชาที่มีแฟรนไชส์ ซึ่งการนำอุปกรณ์อัจฉริยะมาใช้จะช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น นอกจากแบรนด์ข้างต้นยกระดับ ยังมีแบรนด์เครื่องดื่มชารูปแบบใหม่ที่เริ่มเข้าสู่แนวทางนี้เช่นกัน อาทิ COCO Chabaidao Bawangchaji เป็นต้น

สำหรับแบรนด์เครื่องดื่มรูปแบบใหม่ของประเทศไทยก็มีบางแบรนด์เข้ามาบุกตลาดจีนได้สำเร็จ เช่น Cafe Amazon ที่เริ่มต้นจากตลาดในเมืองหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ปัจจุบัน ได้ขยายสาขาเป็น 12 แห่งทั่วเมืองหนานหนิงแล้ว และได้มีการขยายไปยังมณฑลหูเป่ยด้วย ซึ่งเป็นแบรนด์ที่หน้าจับตามองว่าจะมีการยกระดับธุรกิจเป็นอัจฉริยะหรือไม่ อย่างไร

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

http://www.jnbw.org.cn/caijing/2023/0630/150573.html

http://www.bbrtv.com/2023/0710/859197.html

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login