หน้าแรกTrade insight > ธุรกิจค้าปลีกเวียดนามยังคงเติบโต

ธุรกิจค้าปลีกเวียดนามยังคงเติบโต

ถึงแม้จะเผชิญกับผลกระทบด้านลบจากภาวะเศรษฐกิจมหภาคที่ทําให้ความเชื่อมั่นของ ทั้งผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวลดลง แต่ตลาดค้าปลีกเวียดนามยังคงมีการเติบโตโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ Modern Trade ที่กำลังขยายตัว ทั้งนี้ ผู้ค้าปลีกภายในประเทศมีข้อได้เปรียบในเรื่องของราคาที่ดึงดูดความเข้าใจในความต้องการของผู้บริโภค และการบริการหลังการขาย

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท Ho Chi Minh City Union of Trading Co-operatives (Saigon Co.op) ได้เปิดร้าน Co.op Food ใหม่ 4 แห่งใน 3 เมือง ได้แก่ นครโฮจิมินห์ (Ho Chi Minh) เมืองเบียนหว่า (Bien Hoa) และเมืองทัญฮว้า (Thanh Hoa) โดยในเดือนกรกฎาคม 2566 เพียงเดือนเดียว ร้าน Co.op Food  เปิดใหม่ 13 แห่ง รวมมีจำนวนร้านทั่วประเทศ 571 แห่ง นอกจากระบบซุปเปอร์มาร์เก็ต Co.opmart แล้ว ไฮเปอร์มาร์เก็ต Co.opXtra และร้านค้าปลีกอื่นๆ ภายใต้บริษัท Saigon Co.op เช่น ร้าน Co.op Food ยังมองหาสถานที่เปิดใหม่ทั้งที่ตั้งในใจกลางเมืองและพื้นที่ชานเมืองอีกด้วย และปัจจุบันบริษัท Saigon Co.op กําลังมุ่งเน้นไปที่การเร่งพัฒนาเครือข่ายร้านสะดวกซื้อ เช่น ร้าน Co.op Food ร้าน Co.op Smile และร้าน Cheers ในพื้นที่ที่อยู่อาศัยใหม่เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น

ศักยภาพของตลาดค้าปลีกของเวียดนามยังมีพื้นที่สำหรับการพัฒนาต่อไป เนื่องจากปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคม 2566 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ซึ่งยังคงต่ำกว่าระดับสูงสุดที่ร้อยละ 4.5 ที่กําหนดโดยธนาคารรัฐแห่งเวียดนาม รวมทั้งเวียดนามยังคงมีปัจจัยที่เอื้ออํานวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และ 4 ของปี 2566 โดยนาย Nguyen Anh Duc ประธานสมาคมค้าปลีกเวียดนามได้กล่าวว่า นี่เป็นโอกาสสําหรับผู้ค้าปลีกในประเทศเวียดนาม ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความหลากหลายในรูปแบบร้านค้าปลีก เพื่อรองรับผู้บริโภคกลุ่มต่างๆ แต่ยังเป็นการจัดการอุปทานสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่อีกด้วย ทั้งนี้ ซุเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก แต่มีความ “โลคัลไลซ์” (localised) ที่สูง เป็นแนวโน้มของตลาดค้าปลีกสมัยใหม่ ที่ลูกค้ามาจับจ่ายเพื่อความรู้สึกใกล้ชิดกับร้าน และมีความสะดวกสบายเหมือนที่เคยได้รับจากร้านขายของชําแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 นิสัยและพฤติกรรมการจับจ่ายของลูกค้าได้เปลี่ยนไปเช่นกัน พวกเขามักจะเลือกร้านค้าที่อยู่ใกล้บ้านและเน้นที่ผลิตภัณฑ์ที่จําเป็นสําหรับชีวิตประจําวัน

นาย Nguyen Nguyen Phuong รองผู้อํานวยการกรมอุตสาหกรรมและการค้านครโฮจิมินห์ กล่าวว่า แม้ว่ากําลังซื้อยังคงมีแนวโน้มลดลง แต่ผู้บริโภคก็เต็มใจที่จะซื้อสินค้า หากผู้ค้าปลีกมีวิธีกระตุ้นอุปสงค์ในสินค้าต่างๆ

วิเคราะห์ผลกระทบ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ตลาดค้าปลีกของเวียดนามมีการฟื้นตัวที่ชัดเจนด้วยการแข่งขัน เพื่อขยายส่วนแบ่งการตลาดหลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 ของบริษัททั้งในและต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น บริษัท MUJI เปิดร้านแห่งที่ 5 ในนครโฮจิมินห์ในไตรมาสที่ 1 และแห่งที่ 6 ในกรุงฮานอยในไตรมาสที่ 2นอกจากนี้ บริษัท WinCommerce ยังเปิดร้าน Winmart+ เพิ่ม 152 แห่ง และซุปเปอร์มาร์เก็ต Winmart เพิ่ม 2 แห่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2566 ทำให้จำนวนซุปเปอร์มาร์เก็ตและมินิมาร์ททั่วประเทศมีทั้งหมด 3,511 แห่ง ในเดือนกรกฎาคม 2566 ร้าน Co.op Food เปิด 13 แห่ง ทำให้จำนวนร้าน Co.op Food ทั่วประเทศมีทั้งหมด 571 แห่ง จากผลการสำรวจธุรกิจค้าปลีกที่จัดทำโดยบริษัท Vietnam Report พบว่ากว่าร้อยละ 53.8 ของธุรกิจค้าปลีกมีผลการดำเนินงานเท่ากับและสูงกว่าระดับก่อนการระบาดของโควิด 19 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดค้าปลีกเวียดนามที่ยังสามารถเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากเวียดนามมีประชากร 100 ล้านคน และมีสัดส่วนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ

นำเสนอโอกาส/แนวทาง

การพัฒนาตลาดค้าปลีกของเวียดนามหลังการระบาดของโควิด 19 ไม่เพียงจากการเติบโตของรายได้เฉลี่ยของคนเวียดนามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมการจับจ่ายที่เปลี่ยนไป และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและเวียดนามอีกด้วย ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยากลำบาก ผู้บริโภคเวียดนามเข้มงวดกับการใช้จ่ายแต่ผู้บริโภคเวียดนามก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่จําเป็นสําหรับชีวิตประจําวัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 รายได้จากยอดขายปลีกสินค้าและบริการ (รวมถึงธุรกิจบริการที่พักและอาหาร การท่องเที่ยว และบริการอื่นๆ) คิดเป็นร้อยละ 21.2 ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและเครื่องดื่ม ยา และสินค้าแฟชั่น โดยเฉพาะช่วงปลายปีเป็นช่วงที่ผู้บริโภคเวียดนามมักจะใช้จ่ายและซื้อของเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในสินค้า เช่น In-Store Promotion ยังคงเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ได้ผลสำหรับการเพิ่มยอดขายสินค้าในธุรกิจค้าปลีกในเวียดนาม

จัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login