การที่มีบริษัทต่างชาติมาลงทุนในภาคการค้าปลีกในเวียดนาม ทำให้การแข่งขันในธุรกิจการค้าปลีกในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้ธุรกิจค้าปลีกในประเทศมีประสบการณ์และพัฒนา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พัฒนาคุณภาพของสินค้า บริการ และความสามารถในการทำตลาดมากขึ้น เวียดนามเป็นตลาดค้าปลีกที่มีศักยภาพสูงและคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 350,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 และจะมีสัดส่วนร้อยละ 59 ของยอดขายผลิตภัณฑ์ในประเทศทั้งหมด เมื่อบริษัทต่างชาติลงทุนในเวียดนาม ผู้ประกอบการการค้าปลีกในประเทศจำเป็นต้องปรับเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าในประเทศและปรับปรุง เพื่อการส่งออก ในปัจจุบันช่องทางค้าปลีกหลัก ได้แก่ห้างสรรพสินค้า AEON , Big C และ MM Mega Market ไม่เพียงแต่ขายสินค้าเวียดนามในซุเปอร์มาร์เก็ตเท่านั้น แต่ยังมีการส่งออกสินค้าเวียดนามอีกด้วย
ประเทศเวียดนามมีประชากรประมาณ 100 ล้านคน โดยมีประชากรวัยหนุ่มสาวประมาณร้อยละ 50 จึงทำให้บริษัทผู้ค้าปลีกต่างๆ มองเห็นโอกาสในการลงทุนในทั้งรูปแบบการค้าทั่วไปและอีคอมเมิร์ซในเวียดนาม
ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระบุว่า ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการจากประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผู้ประกอบการค้าปลีกจากต่างประเทศและธุรกิจในประเทศอื่นๆ ด้วย อาทิ Saigon Co.op และ Wincommerce ที่มีการขยายธุรกิจในตลาดเวียดนามเช่นกัน ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของตลาดค้าปลีกและผู้ประกอบการในประเทศดีขึ้น
โดยทั่วไป บริษัทค้าปลีกต่างชาติมีศักยภาพที่แข็งแกร่งในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงิน ทรัพยากรบุคคล ความสามารถทางธุรกิจ และเทคโนโลยีการจัดการและยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทแม่หรือรัฐบาลผ่านโครงการเชิงกลยุทธ์ เพื่อพัฒนาเครือข่ายการกระจายสินค้าด้วยระบบปิดที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิตจนถึงการบริโภค
ผู้ประกอบการการค้าปลีก จำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการค้าจากแบบดั้งเดิมไปสู่รูปแบบสมัยใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนในร้านค้าแบบเครือข่ายและซูเปอร์มาร์เก็ต และความร่วมมือเพื่อพัฒนารูปแบบการค้าปลีกใหม่ๆ เพื่อสร้างเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยต่อผู้ประกอบการค้าปลีก ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า นอกจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว การสร้างช่องทางค้าปลีกของเวียดนามโดยชาวเวียดนามก็มีความสำคัญเช่นกัน นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีนโยบายในการพัฒนาการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และมุ่งสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและฉลากเขียว
ผู้ประกอบการเวียดนามจำเป็นต้องสร้างแบรนด์ให้กับร้านค้าปลีกของเวียดนามมากขึ้น ด้วยการให้บริการที่ดี เช่น นโยบายหลังการขาย และการดูแลลูกค้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกของเวียดนามควรร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศเพื่อเรียนรู้ประสบการณ์และเทคโนโลยีการค้าปลีกขั้นสูง และส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างระบบการผลิตและจำหน่ายในประเทศ และสร้างความสัมพันธ์ที่กับผู้ประกอบการชาวเวียดนาม
(จาก https://vietnamnews.vn/)
ข้อคิดเห็น สคต
จากรายงานตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจเวียดนามในปี 2565 ของสำนักงานสถิติทั่วไป กระทรวงการวางแผนและการลงทุนของเวียดนามระบุว่า GDP ในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 9,513 ล้านล้านด่ง (409 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งแสดงให้เห็นได้ว่าขนาดเศรษฐกิจของเวียดนามเพิ่มขึ้นมากกว่า 10 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2543 ด้วยขนาด GDP ที่เพิ่มขึ้น GDP ต่อหัวในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 95.6 ล้านด่ง/ ต่อคน (4,110 เหรียญสหรัฐฯ) เพิ่มขึ้น 393 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2564 เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและอัตราการเติบโตสูงสุดในช่วงปี 2554-2565 โดยธุรกิจค้าปลีกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว (ร้อยละ 10.15) การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกมีส่วนอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม และการฟื้นตัวในทุกด้าน ความต้องการของผู้บริโภคก็ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งเช่นกัน นอกจากนี้ นโยบายลดภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 8 ช่วงที่เกิดโรคระบาดของ Covid-19 และโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับอนุมัติจากสมัชชาแห่งชาติสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามยังส่งผลดีต่อธุรกิจค้าปลีกของเวียดนามอีกด้วย แนวโน้มการเติบโตของช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่ในเวียดนาม โดยขายผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซ ทำให้ช่องทางการค้าออนไลน์เป็นเทรนด์ที่มาแรงในเวียดนาม โดยเฉพาะการขายผ่านช่องทาง SocialMedia ได้แก่ Facebook Live และ Tiktok เป็นการเพิ่มช่องทางการกระจายสินค้าเข้าถึงผู้บริโภคเวียดนามได้มากยิ่งขึ้น ช่องทางอีคอมเมิร์ชเป็นช่องทางที่น่าสนใจของผู้ประกอบการที่ต้องการขยายการค้ามายังตลาดเวียดนาม เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำกว่าการเปิดหน้าร้าน และสามารถเข้าผู้บริโภคเป้าหมายได้ดี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าออนไลน์ ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้ามาทำตลาดในรูปแบบออนไลน์ในเวียดนาม ควรศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าออนไลน์ของเวียดนาม
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)