วิสาหกิจขนาดย่อมและขนาดเล็ก (SMEs) จำนวน 6 ใน 10 แห่ง เริ่มมีการผิดนัดชำระหนี้ที่มีกำหนดชำระคืนภายในเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา การผิดนัดชำระหนี้นี้ สะท้อนถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความยากลำบากของเคนยาในปัจจุบัน อย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยสูง ราคาสินค้าและบริการที่พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นต้น
อ้างอิงจากรายงานการสำรวจ MSE Tracker ที่เผยแพร่โดย ธนาคารกลางเคนยา (Central Bank of Kenya) และพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งคอยติดตามความเคลื่อนไหวทางการเงิน การลงทุนของธุรกิจ MSE เพื่อการศึกษาและประมวลผลของผู้ประกอบการในเคนยา แสดงให้เห็นว่าร้อยละ 60.7 ของธุรกิจขนาดเล็ก เริ่มมีการผิดชำระหนี้ในรอบเดือนมิถุนายน 2566 เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 42.8 ในเดือนตุลาคม 2565 โดยอัตราการผิดชำระหนี้ในธุรกิจขนาดเล็กในเคนยานี้ มีอัตราสูงกว่าการผิดนัดชำระหนี้สินเชื่อประเภทอื่น ส่งผลให้ภาพรวมตัวเลขหนี้เสียทั้งจากภาคธุรกิจและการกู้ยืมอื่นๆ ในระบบธนาคาร เพิ่มเป็นร้อยละ 14.7
ธุรกิจที่เจ้าของธุรกิจเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากที่สุด กล่าวคือ ผู้ประกอบอาชีพอิสระในลักษณะของการจ้างงานด้วยตัวเอง (Self-employment) โดยกำไรที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจรูปแบบนี้ เรียกว่าเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจในระบบ และเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจในประเทศเคนยา
โดยผลสำรวจพบว่า กลุ่มเจ้าของกิจการประเภทนี้มีอัตราการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุดจากร้อยละ 35 ในเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา (2565) เพิ่มเป็นร้อยละ 63 ในเดือนมิถุนายน 2566 ปีนี้ ทำให้สะท้อนปัญหาได้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่กำลังต่อสู้กับปัญหาทางเศรษฐกิจมากมาย อาทิเช่น ยอดขายที่ลดลง อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นอย่างมาก ทำให้กระแสเงินสดลดลง และทำให้สินเชื่อเพื่อการบริการเหล่านั้นเข้าสู่ภาวะการผิดนัดชำระหนี้หรือชำระได้น้อยกว่าที่คาดไว้ ในท้ายที่สุดนอกจากนี้ ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้ค้ารายย่อยต้องพึ่งพาเงินกู้เพื่อต่อสู้กับปัญหาเศรษฐกิจหลายประการ รวมถึงกระแสเงินสดที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนการทำธุรกิจที่เพิ่มขึ้น เงินกู้จึงเป็นทางออกที่เหล่า MSE พึ่งพาเพื่อให้คงอยู่ต่อไปได้
จากปัญหาการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มจะเกิดการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือด้านการเงิน การธนาคาร โดยต้องการให้มีการจัดลำดับความสำคัญในการเสริมศักยผู้ประกอบการ จัดลำดับความสำคัญในการเสริมศักยภาพของบุคลลและธุรกิจขนาดเล็กเป็นลำดับแรกในระบบเศรษฐกิจ โดยช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อที่เหมาะสมผ่านกองทุนทางการเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อกองทุน “Hustler” เนื่องจากกลุ่ม MSE ส่วนใหญ่นี้ จะไม่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์อย่างเป็นทางการ จึงต้องพพึ่งพาผู้ให้บริการสินเชื่อในรูปแบบ Digital credit หรือ ผู้ให้กู้นอกระบบธนาคารปกติ (บัตรเครดิตดิจิทัล หรือสินเชื่อดิจิทัล ดำเนินการผ่านทางสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่มีการเชื่อมต่อเข้ากับอินเทอร์เน็ตแล้วสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกรวดเร็วเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของระบบธนาคารได้) ซึ่งสินเชื่อประเภทนี้จะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงมาก อีกหนึ่งข้อมูลที่ได้รับก็คือ จากผู้ตอบแบบสอบถามคือ ประมาณร้อยละ 45 ได้รับเงินกู้ยืมจาก Hustler Fund ร้อยละ 28 ได้มาจากการกู้ยืมผ่านแพลตฟอร์มธนาคารบนมือถือ และอีกร้อยละ 23.7 กู้ยืมจากกลุ่ม Chamas Group หรือรู้จักกันในชื่อ “กลุ่มออมทรัพย์รายย่อย” เป็นที่นิยมในแอฟริกาตะวันออกโดยเฉพาะในประเทศเคนยา
ผู้ประกอบการที่กู้ยืมเงินจาก Hustler Fund ผิดนัดการชำระเงินในอัตราที่สูงกว่า การชำระเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ สหกรณ์ขนาดเล็กเพื่อการกู้ยืม และธนาคารที่ให้บริการไมโครไฟแนนซ์ การผิดนัดชำระหนี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องปกติของการให้บริการทางการเงินที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล
นอกจากนั้น มีข้อสังเกตประการหนึ่งคือ ที่ร้อยละ 62.3 อัตราการผิดนัดชำระหนี้อยู่ในระดับสูงในกลุ่มธุรกิจกลุ่มนี้มีที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้หญิงได้รับผลกระทบหนักที่สุดโดยมีกระแสเงินสดลดลงมากกว่าเจ้าของกิจการที่เป็นผู้ชาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารจัดการด้านการเงินและการเข้าถึงสินเชื่อที่เหมาะสมได้น้อยกว่า และอาจสะท้อนถึงความไม่เท่าเที่ยมกันในเรื่องเพศที่อาจมีผลต่อการพิจารณาให้สินเชื่อในระบบธนาคารในเคนยาอีกนัยหนึ่งด้วย ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2565) ผู้กู้ยืมหญิงร้อยละ 55 ผิดนัดชำระหนี้ อัตราการผิดนัดในผู้ชายลดลงจากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 58.6 ในช่วงระยะเวลาที่จัดทำข้อมูลนี้
แม้ว่าอัตราการผิดนัดชำระหนี้จะเพิ่มขึ้นในกลุ่มธุรกิจที่ไม่มีพนักงาน แต่อัตราการผิดนัดกลับลดลงในกลุ่มธุรกิจที่มีพนักงานระหว่าง 1-9 อัตรา ธุรกิจขนาดเล็กเป็นหนึ่งในกลุ่มแรกๆ ที่ได้ผลกระทบมากที่สุดต่อวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างผลกระทบอันเนื่องมาจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เนื่องจากมีเงินทุนที่น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่
อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในช่วง 12 เดือน แตะระดับสูงสุดในรอบห้าปี อยู่ที่ร้อยละ 9.6 เมื่อเดือนตุลาคม 2565 ส่งผลให้ธนาคารกลางเคนยาต้องประกาศเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จนอยู่ที่ระดับ 10.5% ในปัจจุบัน ซึ่งดอกเบี้ยที่มีการเรียกเก็บจริงจะอยู่ที่ระดับ 14-16% ทำให้ธนาคารต่างๆ ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เมื่อผู้กู้ยืมต้องประสบกับความผันแปรของดอกเบี้ย การผิดนัดชำระหนี้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะคลายตัวลงหลังจากช่วงปีที่ผ่านมา (2566) จนถึงระดับที่ธนาคารกลางตั้งเป้าไว้คือระหว่างร้อยละ 7.5 แต่ความท้าทายทางเศรษฐกิจยังไม่หมดไป ผู้กู้ยืมจึงได้เรียกร้องให้มีการปรับโครงสร้างเงินกู้เพื่อให้สามารถชำระเงินกู้ได้ตามกำหนดได้
ความเห็นของ สคต.
การที่เคนยาเริ่มมีปัญหาเรื่องหนี้เสียหรือการผิดชำระหนี้มากขึ้นนั้น แสดงให้เห็นถึงปัญหาเศรษฐกิจของเคนยาที่เริ่มเข้าสู่ภาวะทดถอย จนอาจมีผลมากขึ้นในอนาคต ซึ่งจะต้องจับตาตัวเลขเหล่านี้ให้มากขึ้น เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาในระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้
ในส่วนของไทยนั้น การพิจารณาถึงเงื่อนไขชำระเงินที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น อาจมีความสำคัญมากเพื่อให้ทำการค้ากับผู้นำเข้าในเคนยาได้อย่างเหมาะสม โดยหากเป็นลูกค้าที่มีการชำระเงินดี อาจพิจารณาช่วยเหลือให้ชำระค่าสินค้าในแบบให้เครคิตได้มากขึ้น หรือ ช่วยเหลือกันมากขึ้น อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงในด้านการเงินนี้ เป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกไทยควรพิจารณาให้ความสำคัญ เพราะในมุมหนึ่งเราอาจมีความเสี่ยงในการทำการค้ามากขึ้น แต่หากเขิมงวดจนเกินไป อาจทำให้เสียคู่ค้าที่อาจหันไปค้าขายกับผู้ผลิตประเทศอื่นที่เป็นคู่แข่งด้วยก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่ผู้ส่งออกไทยควรพิจารณาและหาความสมดุลให้ได้ในปัจจุบันที่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวยดังกล่าว
ผู้ส่งออกที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมด้านการค้าและการลงทุนต่าง ๆ เกี่ยวประเทศเคนยา และประเทศในแอฟริกาตะวันออก ท่านสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ E-mail: ของสำนักงานฯ ที่ info@ocanairobi.co.ke
Business Daily
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)