หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ธุรกิจการส่งออกของเยอรมันกำลังเจอภัยคุกคามจากสินค้าของจีน

ธุรกิจการส่งออกของเยอรมันกำลังเจอภัยคุกคามจากสินค้าของจีน

จากรายงานของสถาบันเศรษฐศาสตร์เยอรมนี (IW – das Institut der deutschen Wirtschaft) เปิดเผยว่า “ผู้ส่งออกสินค้าที่มีคุณภาพสูงของเยอรมันต้องแข่งขันกับคู่แข่งจากจีนมากขึ้น”  โดยจากการวิเคราะห์ของ IW พบว่า ส่วนแบ่งตลาดสินค้าคุณภาพสูงจำพวกเครื่องจักรกล หรือรถยนต์ของจีนในตลาดสหภาพยุโรป (EU) ขยายตัวขึ้น ในขณะส่วนแบ่งตลาดของสินค้าเยอรมันกลับลดลงจนน่าตกใจ เมื่อย้อนกลับไปในปี 2000 จะเห็นว่า EU นำเข้าสินค้าคุณภาพสูงจากจีนเพียง 2.5% เท่านั้น แต่พอมาในปี 2022 ส่วนแบ่งตลาดของจีนขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 13% ในทางตรงกันข้าม ในปี 2000 สัดส่วนสินค้าของเยอรมนีครองส่วนแบ่งที่ 17.7% พอมาในปี 2022 ลดลงเหลือ 15.5% เท่านั้น ซึ่งในรายงานเขียนถึงประเด็นดังกล่าวไว้ว่า “ส่วนแบ่งตลาดของสินค้าจีนที่เพิ่มขึ้นมีผลต่อการลดลงของส่วนแบ่งตลาดสินค้าของเยอรมัน” ไม่เฉพาะ IW เท่านั้น ที่ได้ออกมารายงานเรื่องดังกล่าว แต่พบว่า Germany Trade and Invest (สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศของเยอรมัน) ก็ได้ออกมายืนยันเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมา พบว่า คู่แข่งจากจีนได้ทยอยเข้ามาแข่งขันกับผู้ผลิตชาวเยอรมันมากขึ้น

ด้านนาย Jürgen Matthes ผู้เชี่ยวชาญของ IW ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดทำรายงานข้างต้น ให้ข้อมูลว่า การส่งออกของเยอรมนีในตลาด EU ลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ภาคเอกชนเองก็ได้ออกมาร้องเรียน (ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา) ว่า ค่าไฟฟ้าในเยอรมนีสูงมากจนทำให้ศักยภาพในการแข่งขันลดลง ซึ่งนาย Matthes ชี้แจงว่า “ปัญหานี้เป็นเรื่องเรื้อรังที่เอกชนของเยอรมนีต้องกัดฟันสู้มาโดยตลอด ในขณะที่จีนได้ใช้นโยบายสนับสนุนภาคเอกชนของตนเองทั้งห่วงโซ่อุปทาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่แรงงาน ทุน ที่ดิน และวัตถุดิบ ครอบคลุมไปจนถึงเรื่องการชำระเงิน การลดหย่อนภาษี และนโยบายเงินอุดหนุนด้านสินเชื่อเพื่อการส่งออก” แม้ว่าในช่วงต้นปี 2023 ปริมาณการส่งออกสินค้าจากจีนเข้ามาในตลาด EU จะลดลงไปบ้าง แต่ผู้เชี่ยวชาญโดยส่วนใหญ่ต่างก็เห็นว่า จะลดลงเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น อย่างไรก็ดี ผู้ส่งออกเยอรมันจะต้องความพร้อมเพื่อรองรับกับปัญหาข้างต้น จากการวิจัยของบริษัทให้คำปรึกษา PwC ให้ข้อมูลว่า สัดส่วนการบริโภคเมื่อเทียบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมาลดตัวลง 1 ใน 3 ซึ่งนาย Michael Pettis ศาสตราจารย์ด้านการเงินจากมหาวิทยาลัยปักกิ่งชี้แจงว่า “จากการที่จีนมีนโยบายให้การอุดหนุนเอกชนดังกล่าว ทำให้สัดส่วนการส่งออกของจีนขยายตัวขึ้น ในขณะที่ สัดส่วนการส่งออกของเยอรมนีกลับลดลง” นาย Pettis เชื่อว่า ผู้ส่งออกชาวเยอรมันจะยังได้รับแรงกดดันนี้ต่อไปในช่วง 2 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้น

ล่าสุด ผู้นำของจีนมีนโยบายที่จะผลักดันการบริโภคในจีนให้สูงขึ้น โดยช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมารัฐบาลจีน ได้เปิดเผยแผนผลักดันการบริโภคในประเทศ 20 ข้อ ออกมา ซึ่งกว่านโยบายนี้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม จีนก็จำเป็นต้องพึ่งพิงการส่งออกต่อไปก่อน ซึ่งนาย Pettis กล่าวว่า “ผู้ส่งออกเยอรมันจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับการที่จีนผลักดัน/เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจส่งออก” นาย Matthes ผู้เชี่ยวชาญของ IW เห็นว่า “แม้จีนจะตามหลังเราในด้านเทคโนโลยี แต่ก็จะพัฒนา/ปรับตัวทันเยอรมันได้ทันจนกลายเป็นคู่แข่งที่สำคัญด้านสินค้านวัตกรรมมากขึ้น” ที่ผ่านมารัฐบาลจีนใช้ยุทธศาสตร์ Made-in-China-2025 เพื่อผลักดันให้จีนกลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีสำคัญ (Key Technologies) ให้ได้ ด้านหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า “จำนวนสิทธิบัตรที่สถาบันวิจัยและบริษัทของเยอรมันได้มอบให้กับจีนเพื่ออนุญาตให้พวกเขาใช้เทคโนโลยีของเยอรมันได้ เพิ่มขึ้นมาก” และจากข้อมูลพบว่า ในปี 2010 สัดส่วนการนำเข้าเครื่องจักรกลของจีนในตลาด EU อยู่ที่ 6.8% แต่ในปีที่ผ่านมา มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11.4% ในช่วงเวลาเดียวกัน สัดส่วนการนำเข้าเครื่องจักรกลจากเยอรมันมายัง EU ลดลงจาก 22.6% เหลือ 20.5%

ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์อีกว่า ในไม่ช้าตลาดรถยนต์จะกลายเป็นตลาดต่อไป ที่ผู้ผลิตของจีนจะเข้ามาบุกตลาด ด้านนาง Eunice Lee จากบริษัทวิเคราะห์ข้อมูล Bernstein คาดการณ์ว่า ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ของจีนมีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 40 ล้านคันต่อปี ซึ่งความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในจีนอยู่ที่ 20 – 25 ล้านคันต่อปี เท่านั้น โดยตั้งแต่ปี 2020 การส่งออกรถยนต์จากจีนขยายตัวขึ้นมาก แม้ว่ารถยนต์ส่วนหนึ่งที่ผลิตในจีนไม่ได้ผลิตโดยผู้ผลิตชาวจีนเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่าง Tesla ที่ผลิตในเซี่ยงไฮ้เพื่อป้อนไปยังตลาดต่าง ๆ ทั่วโลก ในปี 2022 จีนได้ก้าวขึ้นเป็นผู้นำด้านการส่งออกรถยนต์ของโลกแล้ว ในขณะที่เยอรมนีเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับที่ 2 โดย IW รายงานว่า ในปี 2000 EU นำเข้ารถยนต์จากจีนที่ 0.1% ในปี 2022 สัดส่วนดังกล่าวขยายตัวขึ้นเป็น 3.5%

Handelsblatt 8 กันยายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login