หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > ธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-border E-commerce) ในจีน

ธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-border E-commerce) ในจีน

                                                                                  (รูปจาก https://medium.com/@pandaily)

        ธุรกิจข้ามพรมแดน (Cross-border E-commerce) คือ การซื้อขายระหว่างประเทศผ่านช่องทางอินเตอร์เนต ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายไม่ได้อยู่ในประเทศเดียวกัน โดยซื้อขายสินค้าผ่านทางช่องทาง    ออนไลน์ และขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศ (Cross-border logistics) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-commerce) ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดบ่อยครั้ง เนื่องจากได้รับความนิยมและมีพัฒนาการในทิศทางที่ดี มีการขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน  (Cross Border E-commerce) เป็นกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศอย่างหนึ่งที่อยู่ในขอบเขตศุลกากรที่แตกต่างกัน ซึ่งวิธีการซื้อขายและชำระเงินจะผ่านแพลตฟอร์ม E-commerce รวมถึงใช้โลจิสติกส์ข้ามประเทศจัดส่งสินค้าจนทำให้การซื้อขายประสบความสำเร็จ  ปัจจุบันธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน  (Cross Border E-commerce) สามารถแบ่งรูปแบบการค้าออกเป็น (1) Business-to-Business: B2B (2) Business to Customer: B2C และ (3) Consumer to Consumer: C2C ซึ่งสรุปได้ ดังนี้

1. ประเภทธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน 

        1.1 รูปแบบการค้าแบบ B2B  เป็นการค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ/เอกชนกับเอกชน โดยมีจุดประสงค์เพื่อตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นด้านวัตถุดิบ การผลิตสินค้า การบริการ หรือการพัฒนาธุรกิจขององค์กร โดยแพลตฟอร์มของรูปแบบการค้าแบบ B2B ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากนักธุรกิจจีนเป็นอย่างมาก อาทิ Dhgate.com (เว็บไซต์: http://seller. dhgate.com/), Made-in-china (เว็บไซต์: https://www.made-in-china.com/), Alibaba.com (เว็บไซต์: https://supplier.alibaba.com/?join Source=mkt_gw_sem_132), Globalsources.com (เว็บไซต์: https://www.globalsources.com/)  เป็นต้น

        1.2 รูปแบบการค้าแบบ B2C คือ การค้าระหว่างเจ้าของธุรกิจ (จำหน่ายสินค้าและบริการ) และผู้บริโภค โดยที่ธุรกิจการค้าออนไลน์ข้าพรมแดน (Cross Border E-commerce) นับเป็นการติดต่อ/ความสัมพันธ์ระยะสั้นๆ ระหว่างผู้ขาย/เจ้าของธุรกิจและผู้ซื้อ/ผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งปัจจุบันธุรกิจประเภทนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างมาก โดยแพลตฟอร์มของรูปแบบการค้าแบบ B2C ที่มีชื่อเสียงและได้รับความนิยมจากนักธุรกิจ/ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมาก เช่น AliExpress.com (เว็บไซต์: https://www.aliexpress.com/), LightInTheBox.com (เว็บไซต์: https://www.lightinthebox.com/), Milanoo.com (เว็บไซต์: http://www.milanoo.cn/), Osell.com (เว็บไซต์: http:// www.18985.com/) เป็นต้น

        1.3 รูปแบบการค้าแบบ C2C หรือ Consumer to Consumer เป็นกิจกรรมการค้าปลีกในระดับบุคคลต่อบุคคล โดยธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-commerce) แบบ C2C ที่เกิด   การซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศของบุคคลกับบุคคล และได้รับความนิยมในประเทศจีน ได้แก่ การซื้อขายสินค้าผ่าน Tmall Global (เว็บไซต์:https://www.tmall.hk/), JD Worldwide (เว็บไซต์: https://www.jd. hk/), Koala Bay (https://www.kaola.com/)

2. โครงสร้างการนำเข้า-ส่งออกผ่านธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน

        ในปี 2565 ที่ผ่านมา ธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-commerce) ได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยการนำเข้าและส่งออกของธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross Border E-commerce) ของจีนรวมแล้วมีมูลค่าสูงถึง 15.7 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.56 เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็น มูลค่าการส่งออก 12.3 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.81 และมูลค่าการนำเข้า 3.4 ล้านล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.25 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ขนาดตลาด Cross-border E-commerce ของจีนและอัตราการเติบโต (หน่วย : ร้อยล้านหยวน)

(ข้อมูลมาจาก WWW.100EC.CN)

        ทั้งนี้ หากพิจารณาตามรูปแบบการค้า พบว่า รูปแบบการค้าแบบ B2B สัดส่วนมูลค่าการนำเข้าและ   ส่งออกของธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.6 รองมาคือ รูปแบบการค้าแบบ B2C  คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.4

3. พฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีน (Consumer Behaviors)

      3.1 ผู้บริโภคชาวจีนเป็นกลุ่มผู้ซื้อสินค้าที่มากที่สุดในโลก โดยเฉพาะสินค้าประเภทแบรนด์เนมต่างๆ เช่น กระเป๋า เครื่องสำอาง นอกจากนี้ยังมีผู้บริโภคในจีนกว่าร้อยละ 50 ให้ความสนใจสินค้าที่เน้นความประณีตและงานฝีมือ สินค้าที่มีการออกแบบโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีบรรจุภัณฑ์มีความทันสมัย และถูกต้องตาม กฎระเบียบการนำเข้า รวมทั้งสินค้าที่ต้องมีคุณภาพ และน่าเชื่อถือ

        3.2 ในเมืองขนาดใหญ่นั้นมีนวัตกรรมทางการเงินที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคชาวจีนเป็นอย่างมาก เช่น สังคมไร้เงินสด (Cashless Payment)  การทำธุรกิจการค้าออนไลน์ (Online Shopping)  นอกจากนี้ เศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) ยังมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในประเทศจีนและที่ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ หลายรายการ

ข้อมูลเพิ่มเติม/ผลกระทบ/ความเห็นของ สคต. 

        เพื่อส่งเสริมธุรกิจการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน จีนได้จัดตั้งเขตนำร่องธุรกิจการค้าออนไลน์ ข้ามพรมแดนจำนวน 165 แห่ง (จนถึงปลายปี 2565) และกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ และศุลกากรของจีนได้ร่วมมือกันในการปรับปรุงนโยบายการเก็บภาษีนำเข้าผ่านการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนของจีน โดยปัจจุบันได้กำหนดว่าผู้บริโภคชาวจีนสามารถสั่งซื้อสินค้านำเข้าผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนมีมูลค่าไม่เกิน 5,000 หยวน/ครั้ง (หรือไม่เกิน 25,000 บาท/ครั้ง) และมีมูลค่าไม่เกิน 26,000 หยวนต่อปี  (หรือไม่เกิน 130,000 บาท/ปี) และมีการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าชั่วคราวลดลงเหลือร้อยละ 0 และเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงร้อยละ 70 ของภาษีที่เรียกเก็บปกติ ตลอดจนลดอัตราภาษีอื่นๆ อาทิ Personal postal articles tax นอกจากนี้ ยังมีการผ่อนปรนการขอรับใบอนุญาตทางสุขอนามัยสำหรับสินค้าบางประเภทด้วย  จึงนับเป็นโอกาสของสินค้าไทยหลายรายการที่มีศักยภาพในตลาดจีนที่จะเข้าสู่ตลาดผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-border E-commerce)

————————————————–

ที่มา :

http://news.sohu.com/a/673588784_121255906

http://taoxiaopukaidian.com/post/240760.html

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login