นายอับดุลลาเย เซค (Abdoulaye Seck) ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำบังกลาเทศและภูฏาน แถลงข่าวที่กรุงธากา เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2566 ว่าธนาคารโลกคาดการณ์ การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในบังกลาเทศจะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 5.6 ในปีงบประมาณปัจจุบัน เทียบกับการเติบโตร้อยละ 6.3 ในปีงบประมาณก่อนหน้า
ในรายงานล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ธนาคารโลกคาดการณ์โดยอาศัยข้อมูลจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงสูงและข้อจำกัดทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างต่อเนื่องเป็นหนึ่งในความท้าทายที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจ และคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะยังคงที่หรือลดลงไม่นากนักในอนาคตอันใกล้
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะขึ้นอยู่กับราคาสินค้าในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากทางการสามารถบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและทำให้การนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติ นอกจากนั้น แรงกดดันด้านเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลก
ที่สูงขึ้นและการอ่อนค่าของสกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งในที่สุดจะส่งแรงกดดันต่อการบริโภค การเติบโตของ GDP อาจจะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเป็นร้อยละ 5.8 ในปีงบประมาณปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายการเติบโต
ที่ค่อนข้างท้าทายที่ร้อยละ 7.5
เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกได้แนะนำให้รัฐบาลค่อยๆ ปรับขึ้นเพดานอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และจริงจังกับการลดความเสี่ยงในภาคการเงินโดยการกำกับดูแลธนาคารให้ดีขึ้น รวมทั้งเสนอแนะให้มี
การปฏิรูปเศรษฐกิจ การยกเลิกการตรึงอัตราแลกเปลี่ยน การปรับนโยบายการเงินให้ทันสมัย และการปรับโครงสร้างภาคการคลัง
สถานการณ์เศรษฐกิจโดยทั่วไป โดยเฉพาะอัตราเงินเฟ้อ ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคในตลาดท้องถิ่นทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นเกือบทุกรายการ ในส่วนของตลาดระดับบน โดยเฉพาะราคาสินค้านำเข้าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ส่วนใหญ่ราคาสินค้ายังคงที่ ตัวอย่าง ราคาสินค้าผลไม้สดนำเข้าจากไทย สำรวจตลาด ณ วันที่ 2 ตุลาคม 2566 (อัตราแลกเปลี่ยน 1 บาท= 2.96 ตากา) ราคามะละกอ กิโลกรัมละ 1,350 ตากา (455 บาท) เมล่อน 1,695 ตากา (571 บาท) ลำไย 1,795 ตากา (605 บาท) เงาะ 1,995 ตากา (672 บาท) มังคุด 1,995 ตากา (672 บาท) แก้วมังกร 1,550 ตากา (522 บาท) พลับ 1,850 ตากา (623 บาท) อะโวคาโด 1,650 ตากา (556 บาท) โดยราคาสินค้านำเข้าที่สูงเนื่องมาจากค่าขนส่งสินค้าทางเครื่องบิน อัตราภาษีนำเข้า ค่าวางสินค้าในห้าง กำไรของผู้นำเข้ารวมทั้งค่าความเสี่ยงจากสินค้ามีอายุการวางจำหน่ายสั้น ทั้งนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ เป็นผู้มีรายได้สูงและคนต่างชาติที่อาศัยในบังกลาเทศ
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)