หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ธนาคารโลกปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจของชิลี

ธนาคารโลกปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์เศรษฐกิจของชิลี

สำนักข่าวท้องถิ่นของประเทศชิลีได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจของชิลีว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยระบุว่าที่ผ่านมาเศรษฐกิจของประเทศหดตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย เช่น ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ราคาทองแดงในตลาดโลกมีการปรับตัวลดลง ซึ่งทองแดงเป็นสินค้าที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ การอ่อนตัวของค่าเงินเปโซ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงสถานการณ์ไฟป่าครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมที่สำคัญถูกทำลายจำนวนมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจของชิลีจึงมีการขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางชิลีได้คาดการณ์ไว้ และเริ่มหดตัวจนถึงติดลบนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2565 จนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ล่าสุดผู้ว่าธนาคารกลางชิลีได้ออกมาแถลงเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ และในปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับรายงานของธนาคารโลกฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ที่ได้มีการปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของชิลีจากเดิมที่คาดว่าน่าจะหดตัวลงที่ -0.7% ในปีนี้ มาอยู่ที่ -0.4% และในปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจน่าจะมีการขยายตัวระหว่าง 1.8% – 2.1%
ในบทความฯ ได้ระบุว่า แม้ว่าชิลีได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ยังถือว่าเป็นประเทศที่มีการรับมือจากผลกระทบด้านลบได้ดี ทำให้ยังคงครองตำแหน่งอันดับต้น ๆ ประจำภูมิภาคลาตินอเมริกาในด้านความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน ทั้งนี้ ตัวเลขเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศหรือ Foreign Direct Investment (FDI) ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2565 อยู่ที่ 7.286 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 34% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
บทวิเคราะห์ / ความเห็นของ สคต.
แม้ว่าชิลีจะเป็นประเทศขนาดเล็กและอยู่ห่างไกลจากประเทศไทย ทำให้เป็นประเทศที่คนไทยจำนวนมากอาจไม่คุ้นเคยและมองข้าม อย่างไรก็ดี จากการที่ชิลีเป็นประเทศที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจประจำภูมิภาคลาตินอเมริกา ผู้บริโภคชาวชิลีมีกำลังซื้อสูง ประกอบกับการที่ชิลีและไทยมีความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกัน ทำให้ชิลีเป็นตลาดที่น่าจับตามอง ทั้งนี้ จากการสืบค้นและเก็บข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงซันติอาโก พบว่ากลุ่มสินค้าที่ไทยส่งออกมายังชิลี และกลุ่มสินค้าที่มีแนวโน้มว่าจะขยายตัวได้ดีในชิลี ได้แก่
กลุ่มสินค้ายานยนต์
สินค้าที่ชิลีมีการนำเข้าจากไทยมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ “รถปิ๊กอัพ” (HS Code 8704) โดยเป็นการนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นหลัก ซึ่งมูลค่าการนำเข้าจากไทยในปี 2565 อยู่ที่ 306 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นอกจากนี้ยังพบว่า ชิลีเริ่มมีการนำเข้ารถจักรยานยนต์ (HS Code 8711) และจักรยาน (HS Code 8712) จากไทยนับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา โดยมูลค่าการนำเข้าจากไทยในปี 2565 อยู่ที่ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 62,000 เหรียญสหรัฐ ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่ 69.54% และ 41.73%
จากการที่ธนาคารกลางชิลีคาดว่าเศรษฐกิจของชิลีจะขยายตัวดีขึ้น ประกอบกับความต้องการในการใช้งานรถจักรยานยนต์และรถจักรยานเพื่อใช้รับส่งสินค้ามีมากขึ้น สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากไทยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
กลุ่มสินค้าอาหารเกษตรแปรรูป
ชิลีมีการนำเข้าสินค้าผักและผลไม้แปรรูป (HS Code 20) จากไทยในปี 2565 ที่ 17.96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.29% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า โดยสินค้าที่นำเข้าสูงที่สุด คือ ผักและผลไม้กระป๋อง (สับปะรดกระป๋อง ข้าวโพดฝักอ่อนกระป๋อง) และเริ่มมีการนำเข้าผักและผลไม้อบแห้ง (HS Code 081340) จากไทยเพิ่มขึ้นเนื่องจากกระแสรักสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้น
สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าชิลีจะมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้า Plant-Based Food โดยที่ผ่านมา สคต.ฯ ได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจออนไลน์หรือ Online Business Matching (OBM) ในสินค้ากลุ่มนี้ให้กับผู้ประกอบการไทย-ชิลี จำนวนหลายราย ซึ่งสินค้าไทยได้รับความสนใจจากผู้นำเข้าชิลีเป็นอย่างมาก
กลุ่มผลิตภัณฑ์จากยางพารา
สินค้าที่ชิลีมีการนำเข้าจากไทยในกลุ่มนี้มากที่สุดเรียงตามลำดับได้แก่ ถุงมือเพื่อใช้ในการแพทย์ (HS Code 4015) ยางรถยนต์ (HS Code 4011) และถุงยางอนามัย (HS Code 4014) โดยมูลค่าการนำเข้าประจำปี 2565 อยู่ที่ 12.65 ล้านเหรียญสหรัฐ 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 3.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ
โดย สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าชิลีจะมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้จากไทยในภาพรวมในทิศทางที่ดี แต่สำหรับถุงมือเพื่อใช้ในการแพทย์ สคต.ฯ คาดว่าอาจได้รับผลกระทบจากการนำเข้าที่ลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสในชิลีดีขึ้น ประกอบกับชิลีมีการนำเข้าจากจีนและมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น
กลุ่มสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ
ไทยเป็นประเทศที่ชิลีมีการนำเข้าสินค้าเครื่องประดับและอัญมณีมากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยมูลค่าการนำเข้าในปี 2565 อยู่ที่ 38.38 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 0.51% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งแม้ว่าจะเป็นตัวเลขการขยายตัวที่ไม่สูงนัก แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัสซึ่งประชาชนจำเป็นต้องประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และสินค้าเครี่องประดับอยู่ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย จึงถือว่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จากไทยมายังชิลีทำได้ดี
สคต. ณ กรุงซันติอาโก คาดว่าจากการที่ทิศทางเศรษฐกิจของชิลีมีแนวโน้มดีขึ้น จะทำให้การส่งออกของไทยในสินค้ากลุ่มนี้มายังชิลีมีการขยายตัวที่ดีขึ้น
—————————————–

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login