จากรายงาน Gulf Economic Update (GEU) ของธนาคารโลก แสดงข้อมูลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสภาความร่วมมืออ่าวอาหรับ (GCC) ปี 2566 จะเติบโตร้อยละ 1 ก่อนที่จะฟื้นตัวในอีกสองปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 3.6 ในปี 2567 และร้อยละ 3.7 ในปี 2568 ตามลําดับ ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มประเทศ GCC จะต้องดำเนินการจัดการเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบต่อไป
รายงานกล่าวว่าผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในปีนี้มีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของกิจกรรมในอุตสาหกรรมน้ำมัน ซึ่งคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.9 ซึ่งสะท้อนการลดลงอย่างต่อเนื่องของรายได้น้ำมันขององค์การของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC+) และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม การลดลงของกิจกรรมในภาคน้ำมันจะชดเชยจากภาคธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะขยายตัวร้อยละ 3.9 และระยะกลางจะขยายตัวร้อยละ 3.4 โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง การลงทุนคงที่เชิงกลยุทธ์ และนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย
นาง Safaa El Tayeb El Kogali ผู้อำนวยดูแลกลุ่มประเทศ GCC ของธนาคารโลกกล่าวว่า “เพื่อรักษาการขยายตัวในทิศทางบวกนี้ไว้ ประเทศ GCC จะต้องดำเนินการจัดการเศรษฐกิจมหภาคอย่างรอบคอบ ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างและมุ่งเน้นไปที่การส่งออกที่ไม่ใช่น้ำมันให้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญจะต้องตระหนักถึงความเสี่ยงด้านลบที่ยังคงมีอยู่ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางในปัจจุบันก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มของภูมิภาค และ GCC โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากความขัดแย้งขยายหรือเกี่ยวข้องกับผู้เล่นในภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้ตลาดน้ำมันทั่วโลกมีความผันผวนมากขึ้น”
ในรายงาน GEU ฉบับนี้ภายใต้หัวข้อ “การปฏิรูปโครงสร้างและบรรทัดฐานทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานสตรี” ระบุว่าความพยายามในการกระจายความหลากหลายการจ้างงานในภูมิภาค GCC กำลังได้ผลดี แต่ยังจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเพิ่มเติม
นาย Khaled Al-Hmoud นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกให้ความเห็นว่า ภูมิภาคนี้แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงดำเนินงานภาคส่วนที่ไม่ใช่น้ำมันที่โดดเด่น แม้ว่าการผลิตน้ำมันจะชะลอตัวในช่วงปี 2566 ก็ตาม
รายงานยังได้ระบุว่าแรงงานในภาคเอกชนของประเทศซาอุดีอาระเบียเติบโตอย่างต่อเนื่องถึง 2.6 ล้านคนในช่วงต้นปี 2566 อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานหญิงในซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในรอบ 6 ปี จากร้อยละ 17.4 ในช่วงต้นปี 2560 เป็นร้อยละ 36 ในไตรมาสแรกของปี 2566
คาดว่ากลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันในซาอุดิอาระเบียจะสามารถรองรับการหดตัวได้ ด้วยอัตราการเติบโต 4.3% คาดการณ์ว่าในปี 2566 อุตสาหกรรมน้ำมันจะหดตัวร้อยละ 8.4 สะท้อนข้อตกลงจำกัดการผลิตน้ำมันภายในกลุ่มพันธมิตร OPEC+ ส่งผลให้จีดีพีโดยรวมของซาอุดีอาระเบียจะหดตัวร้อยละ 0.5 ในปี 2566 ก่อนจะฟื้นตัวร้อยละ 4.1 ในปี 2567
สำหรับประเทศบาห์เรนในรายงานคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงเหลือ 2.8% ในปี 2566 ในขณะที่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่น้ำมันยังคงเป็นแรงผลักดันสําคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ คาดว่าภาคไฮโดรคาร์บอนจะเติบโตร้อยละ 0.1 ในช่วงปี 2566-2567 ในขณะที่ภาคส่วนที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอนจะยังคงขยายตัวเกือบร้อยละ 4 โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและบริการ และการดำเนินโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง
ประเทศคูเวตมีการเติบโตทางเศรษฐกิจคาดว่าจะลดลงร้อยละ 0.8 ในปี 2566 เนื่องจากผลผลิตน้ำมันที่ลดลง การเติบโตของ GDP น้ำมันคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 3.8 ในปี 2566 แต่คาดว่าจะฟื้นตัวในปี 2567 ภาคที่ไม่ใช่น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 โดยได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและนโยบายการคลังที่ผ่อนคลาย
เศรษฐกิจของโอมานคาดว่าจะชะลอตัวในปี 2566 แต่ว่าจะแข็งแกร่งขึ้นในระยะกลาง ความก้าวหน้าโดยรวมคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ร้อยละ 1.4 ในปี 2566 ตามการผลิตน้ำมันที่ลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมนอกจากน้ำมันคาดว่าจะรองรับการขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 2%
ประเทศกาตาร์มีแนวโน้มการเติบโตของ GDP ที่แท้จริง ชะลอตัวลงเหลือ 2.8 % ในปี 2566 โดยจะคงอัตรานี้ไว้ในระยะกลาง แม้ว่าภาคการก่อสร้างจะอ่อนตัวลงและนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น แต่ภาคที่ไม่ใช่ไฮโดรคาร์บอนคาดว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยสูงถึงร้อยละ 3.6 โดยได้แรงหนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นและกิจกรรมสำคัญๆ และในปี 2566 กาตาร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬารายการใหญ่ถึง 14 รายการ เพื่อตอกย้ำการเป็นศูนย์กลางกีฬาระดับโลก
ในขณะเดียวกัน ภาคไฮโดรคาร์บอนคาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1.3 ในปี 2566 กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะชะลอตัวลงในปี 2566 เหลือร้อยละ 3.4 การเติบโตของ GDP น้ำมันคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 0.7 ในปี 2566 แต่มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2567 ในทางกลับกัน ผลผลิตที่ไม่ใช่น้ำมันคาดว่าจะสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2566 โดยเติบโตที่ร้อยละ 4.5
ความเห็นของ สคต.ดูไบ
กลุ่มประเทศ GCC เป็นตลาดที่มีศักยภาพและเป็นโอกาสสำหรับไทยในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยประเทศเศรษฐกิจหลักในกลุ่มได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) และซาอุดิอาระเบียการค้าระหว่างไทยกับกลุ่ม GCC 6 ประเทศในปี 2566 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่ารวม 26,791 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 13.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
โดยไทยส่งออกไป GCC มีมูลค่า 5,222 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.7 ประเทศที่ส่งออกมีสัดส่วนมากน้อย ได้แก่ ยูเออี (สัดส่วน 45%) ซาอุดิอาระเบีย (สัดส่วน 37%) คูเวต (6%) โอมาน (6%) กาตาร์ (4% ) และบาห์เรน (2% ) สินค้าไทยสำคัญที่ส่งออก ได้แก่ รถยนต์และอะไหล่ ไม้ไฟเบอร์บอร์ด เครื่องปรับอากาศ เครื่องประดับอัญมณี ยางรถยนต์ ปลากระป๋อง เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และโทรศัพท์มือถือ
ส่วนไทยนำเข้ามูลค่า 21,569 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 16.3 สินค้าหลัก(รวมร้อยละ 90) ที่นำเข้า ได้แก่ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติ และน้ำมันสำเร็จรูป
แม้ว่า เศรษฐกิจ GCC คาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะเติบโต 3.6% ในปี 2567 ส่งผลให้จะมีการนำเข้าสินค้าจากไทยและประเทศอื่นเพิ่มขึ้นโดยเปรียบเทียบ แต่เสถียรภาพภายในภูมิภาคนับความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา ที่ภาคการส่งออกสินค้าของไทยยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจ GCC จะเติบโต 3.7% ในปี 2568