หน้าแรกTrade insightข้าว > ท่าเรืออัลเฆซิราส ครองที่ 1 ประสิทธิภาพสูงสุดในยุโรป ทางเลือกโลจิสติกส์ไทยสู่อียูและแอฟริกา

ท่าเรืออัลเฆซิราส ครองที่ 1 ประสิทธิภาพสูงสุดในยุโรป ทางเลือกโลจิสติกส์ไทยสู่อียูและแอฟริกา

ธนาคารโลกและ Standard & Poor เผยผลการประเมินประสิทธิภาพที่เปรียบเทียบได้ตามเวลาเรือในพอร์ต (CPPI) ล่าสุด ระบุท่าเรืออัลเฆซิราสยังคงเป็นท่าเรือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในยุโรป โดยในการจัดอันดับล่าสุด ท่าเรือ Algeciras อยู่ที่อันดับ 10 ของโลก และอันดับสูงสุดของยุโรป

 

รายงาน ดัชนีประสิทธิภาพพอร์ตคอนเทนเนอร์ปี หรือ CPPI ได้รับการเผยแพร่เป็นประจำทุกปีโดย World Bank และ S&P Global Market Intelligence ตั้งแต่ปี 2020 โดยใช้ตัวชี้วัดต่างๆ เช่น ประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน เวลาตอบสนองของเรือ และความเร็วในการขนถ่ายสินค้า และอื่นๆ ซึ่งนับตั้งแต่ก่อตั้ง ท่าเรือ Algeciras ถือเป็นหนึ่งในผู้นำตารางการจัดหมวดหมู่ของยุโรปมาโดยตลอด

 

นาย  Gerardo Landaluce ประธานท่าเรือ Algeciras กล่าวว่าการคงอันดับอยู่ในระดับสูงสุด “…ไม่ใช่เรื่องง่าย: มันเน้นย้ำถึงระดับความเป็นเลิศในการปฏิบัติงานของเรา พร้อมทั้งให้แรงจูงใจแก่เราที่พิสูจน์ว่าเราอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้อง”  Landaluce ยังเน้นย้ำอีกว่าข้อมูลดังกล่าวช่วยให้ความพยายามหลายปีบรรลุผลสำเร็จ ต้องขอบคุณความพยายามของพนักงานทุกคนที่ทำงานที่อาคารผู้โดยสาร บริษัทจัดเก็บสินค้า และบริการด้านเทคนิคและการเดินเรือที่ท่าเรือ Algeciras และทั่วทั้งชุมชนท่าเรือโดยทั่วไป

 

ท่าเรือ Algeciras เป็นท่าเรือพาณิชย์ที่หนาแน่นที่สุดในสเปน และเป็นอันดับ 4 ของยุโรป รองจาก Rotterdam Antwerp Hamburg มีข้อได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่เป็นอ่าวปิด ลมสงบ และทะเลลึก รองรับเรือขนาดใหญ่ทั้งเชิงพาณิชย์และผู้โดยสารได้ อีกทั้งเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมทวีปยุโรปและแอฟริกา ห่างจากชายฝั่งแอฟริกาเพียง 14 กิโลเมตร ทำให้เป็นจุดเชื่อมโยงที่สำคัญสำหรับยุโรปตอนใต้ แอฟริกา และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อีกทั้งยังอยู่ในช่องแคบยิบรอลตาร์ ซึ่งทำให้ท่าเรืออัลเจซีรัสมีความสำคัญอย่างมากในเครือข่ายการขนส่งทางเรือระดับโลก

 

ด้านประสิทธิภาพธนาคารโลกได้จัดอันดับท่าเรือแห่งนี้อยู่ในลำดับที่ 10 จากทั่วโลก โดยเป็นลำดับที่ 1 ของยุโรป Algeciras เป็นศูนย์กลางหลักสำหรับพันธมิตรการเดินเรือที่สำคัญ เช่น 2M Alliance, Ocean Alliance และ THE Alliance ท่าเรือยังมีการเชื่อมต่อโดยตรงกับสายการเดินเรือ 23 สาย ให้บริการ 142 เส้นทางปกติ และเชื่อมต่อกับ 200 ท่าเรือใน 70 ประเทศทั่วโลก เป็นจุดตัดในแผนเครือข่ายโลจิสติกส์ TEN-T ที่สำคัญ 2 สายของสหภาพยุโรป คือ เมดิเตอเรเนียน และ แอตแลนติก

 

ปัจจุบันขีดความสามารถในการจัดการสินค้าอยู่ที่ 5.5 ล้าน TEUs และมีแผนที่จะขยายขีดความสามารถเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้าน TEUs ในอนาคต ท่าเรือแห่งนี้มีเทอร์มินัลหลักสองแห่ง ได้แก่ TTI Algeciras และ APM Terminals Algeciras ซึ่งทั้งสองแห่งนี้รวมกันแล้วมีปลั๊กไฟ  สำหรับตู้เย็น (Reefer Plug) จำนวน 5,376 จุด สำหรับจ่ายไฟให้กับตู้คอนเทนเนอร์ประเภทควบคุมอุณหภูมิได้ (Reefer Container) ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าที่ต้องการควบคุมอุณหภูมิ เช่น อาหารแช่แข็ง ผลไม้ เนื้อสัตว์ และยา เพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าในขณะรอการขนส่งหรือตอนจัดการขนส่งที่ท่าเรือ การมีปลั๊กไฟสำหรับตู้เย็นในจำนวนมากนี้ทำให้ท่าเรืออัลเจซีรัสสามารถรองรับการขนส่งสินค้าที่ต้องการการควบคุมอุณหภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้สินค้าคงคุณภาพดีและปลอดภัยตลอดกระบวนการขนส่ง

 

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของท่าเรือ คือ เทคโนโลยีและแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อตอบสนองแนวโน้มกฎระเบียบใหม่ของโลก โดยมีแผนปฏิบัติการที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างครบถ้วน กลยุทธ์นวัตกรรมของท่าเรือเน้นการใช้ข้อมูลอย่างชาญฉลาดด้วยการดำเนินงานแบบ Synchromodal แนวคิดในการจัดการโลจิสติกส์ที่มีความยืดหยุ่นและประสิทธิภาพสูง เน้นการผสานรวมการขนส่งหลายรูปแบบ เช่น ทางรถไฟ, รถบรรทุก, เรือ หรือเครื่องบิน เข้าด้วยกันอย่างไร้รอยต่อ โดยมีการเลือกใช้วิธีการขนส่งที่เหมาะสมที่สุดแบบเรียลไทม์ตามความต้องการของสินค้า ระยะทาง ความเร็วที่ต้องการ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และการใช้พลังงานสีเขียว เพื่อเปลี่ยนแปลงท่าเรือ Algeciras ให้เป็นท่าเรือแห่งอนาคตที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้ ยังได้รับการรับรองเป็นท่าเรือฮาลาลตั้งแต่ปี 2561 ในการประชุมครั้งนี้ ผอ.สคต. และ ผู้ช่วยฯ ได้แลกเปลี่ยนแนวทางการขยายความร่วมมือกับประเทศไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าสองทาง และสอบถามถึงการดำเนินงานในช่วงวิกฤตการขนส่งทางทะเล ซึ่งพบว่าท่าเรือ Algeciras มีบทบาทช่วยรองรับสายเรือและเป็นจุดพักหรือถ่ายลำต่อไปยังยุโรปอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2568 สคต. จะได้เชิญเข้าร่วมเยี่ยมชมหรือจัดเวทีสัมมนาให้ข้อมูลในงาน TILOG Logistics ณ กรุงเทพมหานคร อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2566 สินค้าสำคัญที่นำเข้าจากประเทศไทย ได้แก่ กรดคาร์บอกซิลิก ยางรถยนต์ใหม่ ข้าว เส้นใยแก้ว ฯลฯ ขณะที่สินค้าส่งออกจากอัลเจซีรัสไปยังประเทศไทยได้แก่ กระดาษหรือกระดาษแข็งสำหรับการรีไซเคิล เศษอะลูมิเนียม และผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น สินค้าที่ท่าเรือ Algeciras มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เสื้อผ้าและผ้าผืน เคมีภัณฑ์ อาหาร เป็นต้น

 

ข้อคิดเห็นของ สคต.

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2567 สคต. ณ กรุงมาดริดได้เข้าพบหารือนาย Aike Escobar Alpañez ผู้บริหารท่าเรือสายการตลาด รวมทั้งเยี่ยมชมพื้นที่ให้บริการส่วนต่างๆ เพื่อสำรวจศักยภาพในการขยายการค้าระหว่างประเทศของไทยผ่านท่าเรือแห่งนี้ ในการประชุม สคต. ได้รับฟังข้อมูลและสอบถามถึงการดำเนินงานซึ่งพบว่าท่าเรือ Algeciras มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการดี มีแผนในอนาคตที่น่าสนใจ ปัจจุบันยังมีสินค้าไทยเข้าทางนี้ไม่มากนัก จึงเหมาะจะเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยด้วยข้อเด่นด้านตำแหน่งที่ตั้ง นโยบายในอนาคต โครงสร้างพื้นที่ที่จะเข้ามารองรับและเชื่อมโยงทางบกเพื่อเจาะเข้าสู่ตลาดยุโรปกลาง ไม่ว่าจะทางรถหรือราง (โครงการ TEN T) นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตการขนส่งทางทะเล (Red Sea crisis) ท่าเรือยังมีบทบาทสำคัญรองรับสายเรือและเป็นจุดพักหรือถ่ายลำต่อไปยังยุโรปอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสานสัมพันธ์กับท่าเรือแห่งนี้จึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางบริหารความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกไทย

 

ในปี 2568 สคต. วางแผนจะเชิญเครือข่ายด้านโลจิสติกส์จากท่าเรืออัลเฆซิราสเข้าร่วมเยี่ยมชมหรือจัดเวทีสัมมนาให้ข้อมูลในงาน TILOG Logistics ณ กรุงเทพมหานคร เพื่อขยายความร่วมมือและขยายมูลค่าการค้าระหว่างกันต่อไป อนึ่ง ในปี พ.ศ. 2566 สินค้าสำคัญที่นำเข้าจากประเทศไทย ได้แก่ กรดคาร์บอกซิลิก ยางรถยนต์ใหม่ ข้าว เส้นใยแก้ว ฯลฯ ขณะที่สินค้าส่งออกจากอัลเจซีรัสไปยังประเทศไทยได้แก่ กระดาษหรือกระดาษแข็งสำหรับการรีไซเคิล เศษอะลูมิเนียม และผลิตภัณฑ์อาหาร เป็นต้น สินค้าที่ท่าเรือ Algeciras มีความเชี่ยวชาญ ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เสื้อผ้าและผ้าผืน เคมีภัณฑ์ อาหาร เป็นต้น

 

 

ที่มา: Port of Algeciras, World Bank

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ท่าเรืออัลเฆซิราส ครองที่ 1 ประสิทธิภาพสูงสุดในยุโรป ทางเลือกโลจิสติกส์ไทยสู่อียูและแอฟริกา

Login