หน้าแรกTrade insightธุรกิจ Logistics > ท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม (แทนซาเนีย) มีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ท่าเรือมอมบาซา (เคนยา) มีปริมาณการขนส่งสินค้าในระดับต่ำสุดในรอบ ๕ ปี

ท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม (แทนซาเนีย) มีปริมาณการขนส่งสินค้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ ท่าเรือมอมบาซา (เคนยา) มีปริมาณการขนส่งสินค้าในระดับต่ำสุดในรอบ ๕ ปี

หนังสือพิมพ์ The East African ได้รายงานว่า ปริมาณสินค้าที่จัดการโดย ท่าเรือมอมบาซา ในประเทศเคนยาได้ลดปริมาณลงเป็นครั้งแรกในรอบ ๕ ปี โดยสาเหตุหนึ่ง คือ การแข่งขันที่สูงขึ้นจาก ท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม ของประเทศแทนซาเนีย ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติเคนยา ระบุว่า ประมาณการขนส่งสินค้าทั้งหมดที่ท่าเรือลดลงเหลือ ๓๓.๗๔ ล้านเมตริกตันเมื่อปีที่ผ่านมา จากเดิม ๓๔.๗๖ ล้านเมตริกตัน ลดลงคิดเป็นร้อยละ -๒.๙๓ เมื่อเทียบกับปี 2565

การที่ปริมาณเรือสินค้าเข้าเทียบท่าเรือมอมบาซาลดลงนั้น เกิดจากค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น การเรียกเก็บค่าผ่านทางบก  ค่าธรรมเนียมข้ามผ่านชายแดน รวมถึงการจราจรที่หนาแน่น และสภาพถนนเป็นตัวขับเคลื่อนต้นทุนต่างให้เพิ่มขึ้น ของการใช้บริการเส้นทางขนส่งทางตอนเหนือ หรือ Northern Corridor ทำให้มีผู้ใช้บริการส่วนหนึ่ง หันมาให้ความสนใจกับการใช้บริการเส้นทางขนส่งทางตอนกลาง หรือ Central Corridor ที่ผ่านเข้ามาทางท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม ของประเทศแทนซาเนีย นั่นเอง

เส้นทางขนส่งทางตอนเหนือ หรือ Northern Corridor เป็นระยะทางยาวประมาณ ๑,๗๐๐ กิโลเมตร จากท่าเรือมอมบาซา ผ่านประเทศ เคนยา ยูกันดา รวันดา บุรุนดี และ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก (DRC) ในขณะที่เส้นทางขนส่งทางตอนกลาง หรือ Central Corridor มีระยะทางประมาณ ๑,๓๐๐ กิโลเมตร โดยเริ่มต้นที่ ท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม ผ่าน แทนซาเนีย ไปยัง รวันดา บุรุนดี ยูกันดา และภาคตะวันออกของ DRC

ทางด้านสภาผู้ส่งสินค้าแห่งแอฟริกาตะวันออก (SCEA) ในฐานะองค์กรผู้แทนของผู้ส่งออก และนำเข้าสินค้าได้กล่าวว่า ผู้ค้าในประเทศยูกันดา และรวันดา ได้หันมาให้ความสนใจที่จะขนส่งสินค้าผ่าน Central Corridor ผ่านทางท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ท่าเรือมอมบาซามีส่วนแบ่งทางการตลาดลดลงคิดเป็นร้อยละ ๖๓ ในขณะที่ท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณร้อยละ ๓๗ ของปริมาณสินค้าในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกในปัจจุบัน บ่งชี้ว่าท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในแอฟริกาตะวันออกอย่างท่าเรือมอมบาซาได้ถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ ความตึงเครียดทางการเมืองที่ยืดเยื้อในเคนยา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้ปริมาณการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือมอมบาซาลดลงในปีนี้ ดังที่ นาย ไรลา โอดินกา ผู้นำฝ่ายค้านของเคนยาได้ขู่ว่า จะกลับไปลงถนนประท้วงอีกหลังเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์สิ้นสุดลง นั่นยิ่งส่งเสริมให้ท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม ในแทนซาเนีย ได้รับความนิยมมากขึ้นพร้อมกับรายได้ที่คาดว่าจะเข้าประเทศแทนซาเนียที่มากขึ้นไปด้วย

ความเห็นของ สคต.

สคต. มีความเห็นว่า การที่ ท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม มีความสำคัญในการขนส่งสินค้ามายังแอฟริกาตะวันออกมากขึ้น นั้น เป็นการดีสำหรับการค้าของภูมิภาคแอฟริกาตะวันออกโดยรวม เพราะจะทำให้เกิดการแข่งขันที่มากขึ้น ระหว่างเคนยา กับ แทนซาเนีย ในอันที่จะปรับปรุงการบริการ และโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น และรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งลดลง หรือ มีความเป็นธรรมมากขึ้น

ทั้งนี้ การพัฒนาการขนส่งระบบราง (ระบบรางรถไฟ SGR ที่ลงทุนโดยจีนมูลค่ากว่า 15,000 ล้าน USD ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางราง เส้นทางในเคนยา และแทนซาเนีย เช่น Mombasa-Nairobi, Dar Es Sallam – Dodoma  นั้น จะเพิ่มโอกาสในการทำการค้าในแอฟริกาตะวันออกในอนาคตอันใกล้ ให้มีโอกาสมากขึ้น ในต้นทุนที่ลดลง ระยะเวลาที่น้อยลง ซึ่งหากแผนงานที่จีนวางไว้แล้วเสร็จตามแผนในปี 2027 ก็จะทำให้ต้นทุนการขนส่งในแอฟริกาตะวันออก ที่มีประเทศ เคนยา แทนซาเนีย ยูกานดา เป็นประเทศสำคัญในระยะแรกนั้น จะมีต้นทุนลดลงถึงร้อยละ 40 ในปัจจุบัน

ซึ่งหากพิจารณาทางกายภาพแล้ว เส้นทางการขนส่งผ่าน ท่าเรือดาร์ เอส ซาลาม  และCentral Corridor ของแทนซาเนีย สามารถครอบคลุมการขนส่งได้มากกว่า และน่าจะมีระยะเวลาที่น้อยกว่า เป็นความได้เปรียบของแทนซาเนีย ที่จะแย่งตลาดการค้าจากเคนยาได้มากกว่าในอนาคต อย่างไรก็ดี ต้นทุนโดนรวมของท่าเรือ Mombasa ของเคนยายังมีอัตราที่ถูกกว่าในปัจจุบัน ทำให้ยังเป็นทีนิยมมากกว่า

สคต. มีความเห็นว่า ผู้ส่งออกไทยควรให้ความสนใจในการเลือกใช้วิธีการขนส่งให้เหมาะกับตลาดหรือประเทศที่ตนเองจะส่งสินค้าไป เพราะจะทำให้สินค้ามีราคาที่เหมาะสมมากกว่า และนั่นจะทำให้สินค้าไทยสามารถส่งออกได้อย่างตรงเป้าได้มากขึ้น นอกจากนั้น ตลาดแอฟริกาตะวันออกยังมีแนวโน้มขยายตัวด้านการค้าและเศรษฐกิจอีกมากในอนาคต ท่านจึงควรติดตามสถานการณ์การค้าและการพัฒนาของประเทศต่างๆ เพื่อให้ไม่ตกขบวนการค้าที่จะทวีความรุนแรงในการแข่งขันมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ต่อไป

นักธุรกิจหรือผู้ส่งออกที่มีความสนใจจะทำการส่งออกสินค้าหรือเข้ามาลงทุนในตลาดเคนยาหรือแอฟริกาตะวันออก สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้กับ สคต. ณ กรุงไนโรบี ที่ email. info@ocanairobi.co.ke

ที่มา : ฃ

The East African
https://www.theeastafrican.co.ke/tea/business/dar-reaps-as-mombasa-cargo-volumes-hit-5-year-low–4202144

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login