หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ท่าทีนโยบายการค้าของว่าที่ ปธน. ทรัมป์และผลกระทบต่อเอเชีย

ท่าทีนโยบายการค้าของว่าที่ ปธน. ทรัมป์และผลกระทบต่อเอเชีย

 

การกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์สู่ทำเนียบขาวมีความแน่นอนแล้ว หลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้งอย่างเด็ดขาด ทำให้นโยบายการปรับขึ้นภาษีศุลกากรใกล้เป็นความจริงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในช่วงหาเสียง ทรัมป์เสนอให้ขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีน 60% ควบคู่กับภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น 10-20%  โดยบรรดานักเศรษฐศาสตร์ มองว่า นโยบายนี้เป็นนโยบายที่จะทำให้เกิดการกีดกันทางการค้ามากเกินไป นักวิเคราะห์วอลล์สตรีท และผู้นำในอุตสาหกรรมต่างรู้สึกกังวัลใจ เนื่องจากหากแผนภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มีผลบังคับใช้ อาจทำให้ต้นทุนการผลิตและราคาผู้บริโภคพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ทั้งที่สหรัฐกำลังเพิ่งจะฟื้นตัวจากภาวะเงินเฟ้อ

ท่าทีการดำเนินนโยบายการค้าของว่าที่ ปธน. ทรัมป์

การดำเนินนโยบายชาตินิยมของทรัมป์อาจส่งผลให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากกรอบความร่วมมือทางการค้าต่าง ๆ ดังที่เกิดขึ้นเมื่อทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยแรก เช่น การถอนตัวออกจากข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TTP) ในปี 2017 โดยทรัมป์ได้ให้คำมั่นว่าจะยุติกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทันทีหากได้รับเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง เพราะทรัมป์มองว่ากรอบเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ทั้งนี้ ทรัมป์กล่าวว่าในฐานะรัฐบาลจะกำหนดภาษีสำหรับสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ (universal tariff) จากเดิมที่กำหนดภาษีสำหรับสินค้านำเข้าประมาณร้อยละ 14 ของการนำเข้าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 380 พันล้านดอลล่ารสหรัฐฯ โดยจะเพิ่มภาษีให้เท่ากับที่ประเทศอื่น ๆ กำหนดต่อสินค้าของสหรัฐฯ และกำหนดภาษีเพิ่มเติมสำหรับประเทศที่พยายามหาทางเลือกอื่นมาแทนที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยทรัมป์เรียกแนวทางการดำเนินนโยบายดังกล่าวว่า “ตาต่อตา ภาษีต่อภาษี”(an eye for an eye, a tariff for a tariff).

ในฐานะประธานาธิบดี ทรัมป์ยังได้เปิดฉากการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) อีกครั้งหนึ่ง เพราะทรัมป์มองว่าเป็นหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่แย่ที่สุดที่เคยมีมา ส่งผลให้เกิดข้อตกลงใหม่ในปี 2018 ได้แก่ ข้อตกลงสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA) ซี่งได้เปิดทางให้สินค้าส่วนใหญ่จากแคนาดาและเม็กซิโกสามารถเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ได้โดยปลอดภาษี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทรัมป์ เสนอให้กำหนดภาษี 100% สำหรับรถยนต์ที่นำเข้าจากเม็กซิโก พร้อมทั้งจะเจรจาข้อตกลงการค้า USMCA อีกครั้งหนึ่งเพื่อแก้ไขข้อกังวลเกี่ยวกับรถยนต์จากจีน

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการค้ากับประเทศจีนของทรัมป์ยังเป็นที่น่าจับตามอง โดยประธานาธิบดีไบเดนไม่ได้ดำเนินโยบายการค้าต่อจีนที่แตกต่างจากนโยบายของทรัมป์มากนัก และได้มีการเพิ่มข้อจำกัดทางการค้ากับประเทศจีน เช่น การเพิ่มภาษีสำหรับสินค้านำเข้าจากจีนบางประเภท โดยเพิ่มภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสี่เท่า เพิ่มภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นสามเท่า และเพิ่มภาษีเซมิคอนดักเตอร์เป็นสองเท่า เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศและเสริมสร้างสมดุลทางการค้า เป็นต้น แต่การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของทรัมป์อาจส่งผลให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีนมากยิ่งขึ้น โดยอาจมีการเพิ่มข้อจำกัดทางการค้ากับประเทศจีน ดังในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ทรัมป์ได้กำหนดภาษีสำหรับสินค้าจากประเทศจีนมูลค่ากว่า 360 พันล้านเหรียญ โดยประธานาธิบดีไบเดนได้คงนโยบายดังกล่าวไว้ ทั้งนี้ ทรัมป์กล่าวว่าจะเพิ่มอัตราภาษีต่อสินค้าจากจีนให้สูงมากกว่าเดิม และจะห้ามการลงทุนของภาคเอกชนสหรัฐฯ ในประเทศจีนอย่างสิ้นเชิง และทรัมป์กล่าวว่าจะยกเลิกการนำเข้าการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก และยาที่ผลิตในประเทศจีนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนยกเลิกสิทธิพิเศษที่จีนได้รับเมื่อเข้าร่วมองค์การการค้าโลก (WTO) ในปี 2000 นอกจากนี้แล้ว ปธน. ทรัมป์ยังได้แสดงความเข้มงวดในการดำเนินนโยบายการค้ากับประเทศหรือภูมิภาคอื่น ๆ เช่น ได้เจรจาข้อตกลงการค้าใหม่กับเกาหลีใต้ ถอนตัวจากการเจรจาการค้ากับสหภาพยุโรป (EU) และกำหนดภาษีในวงกว้างสำหรับการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม รวมถึงจากประเทศในสหภาพยุโรปและพันธมิตรอื่น ๆ ในขณะที่

ประธานาธิบดีไบเดนได้ผ่อนปรนข้อจำกัดเหล่านี้หลายประการ

ที่มา: www.visualcapitalist.com

ความกังวลของภาคเอกชนเตรียมขึ้นราคาหากแผนการค้าของทรัมป์มีผลบังคับใช้

เดวิด เฟรนช์ รองประธานอาวุโสฝ่ายความสัมพันธ์กับรัฐบาลของสมาพันธ์ค้าปลีกแห่งชาติสหรัฐ (National Retail Federation) กล่าวกับ CNBC ว่า นโยบายด้านภาษีศุลกากรนี้ ได้ทำให้ผู้ค้าปลีกและธุรกิจต่างๆ ในสหรัฐฯ จำนวนมากตื่นตระหนก นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้บริหารระดับสูงหลายบริษัทเตือนว่าราคาสินค้าอาจต้องเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในระหว่างนี้ บริษัทต่างๆ ได้พยายามวางแนวทางป้องกันผลกระทบจากนโยบายการค้าที่แข็งกร้าวของทรัมป์ ซึ่งรวมถึงการเก็บสต็อกสินค้าในระยะสั้น การเตรียมขึ้นราคาเพื่อให้สามารถส่งต่อต้นทุนภาษีนำเข้าไปยังลูกค้า และการพยายามย้ายการผลิตออกจากจีน

ทิม บอยล์ ซีอีโอของ Columbia Sportswear กล่าวกับนักวิเคราะห์ในการประชุมผลประกอบการประจำเดือนตุลาคมว่า บริษัทมีกังวลมากเกี่ยวกับการกำหนดภาษีศุลกากร แม้ทางบริษัท Columbia จะเชี่ยวชาญในการจัดการภาษีศุลกากร แต่สงครามการค้าไม่ใช่เรื่องดีและไม่ง่ายที่จะหาผู้ชนะ ทิม บอยล์ ยังบอกกับ The Washington Post ในเดือนตุลาคมว่า “บริษัทพร้อมที่จะขึ้นราคา และเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้สินค้ามีราคาที่ชาวอเมริกันรับได้” สำหรับบริษัท Steve Madden ผู้ผลิตสินค้าแฟชั่น ได้ประกาศแผนที่ลดการนำเข้าสินค้าจากจีน โดย Edward Rosenfeld ซีอีโอของบริษัท กล่าวในงานรายงานผลประกอบการว่า บริษัทได้เริ่มดำเนินการดังกล่าวไปแล้ว Steve Madden ให้คำมั่นว่าจะลดการนำเข้าของจีนลง 45% ภายในปีหน้า เพื่อรองรับแผนภาษีศุลกากรของทรัมป์

การย้ายฐานการผลิตออกจากจีนถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับบริษัทในสหรัฐฯ หลายแห่ง อย่างไรก็ดี ผลร้ายอาจตกกับธุรกิจขนาดเล็กของสหรัฐที่อาจไม่มีกำลังด้านเงินทุนหรือเครือข่ายในการย้ายฐานการผลิตได้อย่างง่ายนัก Ron Sorini ผู้บริหารบริษัท Sorini, Samet & Associates ซึ่งเป็นบริษัทล็อบบี้ยิสต์ (Lobbying firm) สะท้อนความรู้สึกดังกล่าว โดยระบุว่า เขาต้องรับสายอย่างน้อยวันละ 2-3 สายเพื่อรับฟังข้อกังวลของบริษัทต่างๆ เกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นภาษีศุลกากรที่นายโดนัลด์ ทรัมป์เสนอ โดยอยากจะขอร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาถึงผลกระทบที่จะมีต่อธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักด้วย ซึ่งควรต้องมีการพิจารณาวางแนวทางที่จะช่วยเหลือบริษัทเหล่านี้ Ron Sorini กล่าวกับ CNBC ว่า “เพราะธุรกิจขนาดเล็ก เขาไม่มีสามารถตั้งรับผลกระทบนี้ได้ด้วยตัวเองจริงๆ”

ผลกระทบต่อภูมิภาคเอเซีย

นโยบายการปรับขึ้นภาษีศุลกากรไม่เพียงส่งผลต่อผู้ประกอบการในสหรัฐ แต่กลับเพิ่มความไม่แน่นอนกับแนวทางที่รัฐบาลของทรัมป์จะดำเนินการกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกด้วย ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความเกี่ยวข้องเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างประเทศที่สำคัญสำหรับสหรัฐฯ แม้ว่าการมุ่งเน้นในระยะแรกของทรัมป์จะมุ่งเน้นไปที่การขึ้นภาษีสินค้าจีน แต่ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่าการที่ทรัมป์เน้นย้ำถึงการลดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ อีกครั้ง อาจทำให้เศรษฐกิจในเอเชียหลายแห่งอาจเผชิญกับการขึ้นภาษีศุลกากรอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน

Goldman Sachs เน้นว่าแม้ว่าการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะลดลง โดยการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับจีนลดลงจาก 346 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 เป็น 279 พันล้านดอลลาร์ในปี 2023 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากนโยบายภาษีศุลกากรครั้งก่อน แต่กระนั้น ประเทศผู้ส่งออกในเอเชียรายอื่นๆ กลับมีส่วนเกินดุลกับสหรัฐฯ มากขึ้น เช่น เกาหลีใต้มีดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 4.44 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2023 โดยการส่งออกรถยนต์เป็นหลัก เช่นเดียวกับไต้หวันก็มีตัวเลขการส่งออกของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นถึง 57.9% ในช่วงต้นปี 2024 โดยการส่งออกเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์โสตทัศนูปกรณ์ รวมทั้ง เวียดนามก็ได้รับประโยชน์จากการค้าที่เปลี่ยนเส้นทางจากจีน ทำให้เกิดดุลการค้ากับสหรัฐฯ มูลค่ามหาศาลถึง 9 หมื่นล้านดอลลาร์

จะเห็นว่าที่ผ่านมา แม้ว่าภาษีศุลกากรที่ทรัมป์เรียกเก็บจากจีนจะส่งผลให้การค้ากับจีนโดยตรงลดลงอย่างมาก แต่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกกลับปรับตัวแทนที่จะลดลง สินค้าจำนวนมากยังคงใช้ส่วนประกอบจากจีน แม้ว่าจะประกอบที่ประเทศอื่นก็ตาม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การยืดระยะห่วงโซ่อุปทาน” มารี ปังเกสตู อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการค้าของอินโดนีเซีย เน้นย้ำว่าสินค้ายังคงพึ่งพาส่วนประกอบจากจีน แม้จะมีความพยายามย้ายฐานการผลิตก็ตาม ประเด็นนี้ อาจดึงดูดความสนใจจากรัฐบาลของทรัมป์ในครั้งนี้ ดังนั้น ประเทศต่างๆ เช่น เวียดนามและไต้หวัน ซึ่งกลายเป็นผู้เล่นหลักในห่วงโซ่อุปทานที่ปรับเปลี่ยนนี้ และอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง Barclays คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเอเชียที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่น ไต้หวันและสิงคโปร์ จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด รวมทั้ง เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ อาจเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเช่นกัน เนื่องจากทรัมป์พยายามสร้างสมดุลทางการค้าใหม่ ทั้งนี้ ประเทศในเอเชียใดที่มีแนวโน้มสูงสุดที่จะเผชิญกับภาษีจากสหรัฐฯ ประเทศต่างๆ ได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวียดนาม อินเดีย และญี่ปุ่น ซึ่งมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ อย่างมาก อาจตกเป็นเป้าหมายหลัก

Stephen Nagy นักวิจัยรับเชิญจากสถาบัน Japan Institute for International Affairs บอกกับนิตยสาร TIME ว่าเขาเชื่อว่าจะมีแรงกดดันให้ประเทศในเอเชียต้อง “เปลี่ยนแนวคิดใหม่ใหม่หรือแยกการลงทุนจากจีน” ไม่เช่นนั้นจะต้องเผชิญกับภาษีนำเข้าเช่นกัน ซึ่งอาจหมายความว่าเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือออสเตรเลีย จะพบกับความยากลำบากมากขึ้นในการทำธุรกิจกับจีน เนื่องจากประเทศเหล่านี้ก็จะอาจจะถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเช่นกัน เศรษฐกิจของเอเชียที่ได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าครั้งก่อน หลังจากที่จีนย้ายการผลิตไปยังประเทศเหล่านี้เพื่อหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษีของอเมริกา อาจได้รับผลกระทบในครั้งนี้ เนื่องจากคาดว่าทรัมป์จะไม่พอใจที่กระแสการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนถูกเปลี่ยนเส้นทางผ่านประเทศอื่น

ความร่วมมือทางการค้าพหุภาคีในภูมิภาคก็เผชิญกับความเสี่ยงเช่นกัน ทรัมป์ได้กล่าวว่าหากเขาชนะการเลือกตั้ง เขาจะยกเลิกกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกระหว่างสหรัฐฯ กับอีก 13 ประเทศ ซึ่งหลายประเทศอยู่ในเอเชีย โดยทรัมป์มีความเชื่อว่าสหรัฐฯ สามารถใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและพื้นที่ขนาดใหญ่ของตนได้ดีกว่าการสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี เอเดรียน แอง นักวิจัยของ RSIS กล่าวเสริมว่า “ทรัมป์ไม่ต้องการถูกผูกมัดด้วยข้อตกลงพหุภาคี ในขณะที่ความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะถอนตัวออกจากกลุ่มพหุภาคีอาจทำให้เศรษฐกิจของเอเชียตกอยู่ในความเสี่ยง” กรณีนี้ส่งผลให้ รัฐบาลทั่วโลก “เตรียมพร้อม” และ “ยืดหยุ่น” มากขึ้นในการตั้งรับและปกป้องผลประโยชน์ของชาติมากขึ้น

บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก Oxford Economics รายงานว่าภาษีนำเข้าของทรัมป์จะทำให้ “เอเชียที่ไม่ใช่จีน” จะสูญเสียรายได้สุทธิ โดยคาดว่าการนำเข้าของสหรัฐฯ จากภูมิภาคนี้จะลดลง 3% และการส่งออกไปยังภูมิภาคนี้จะลดลง 8% และสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจประสบกับภาวะที่รุนแรงกว่า โดย เฟรเดอริก ไคลม์ นักวิจัยจาก S. Rajaratnam School of International Studies ในสิงคโปร์ กล่าวกับ DW ว่า “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบในแง่ของ GDP และสัดส่วนการค้าต่อ GDP หากทรัมป์ขึ้นภาษีศุลกากรตามที่ประกาศไว้” ซึ่งเป็นข้อเสนอที่น่าหวั่นเกรงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ อย่างมาก โดยการส่งออกในภาพรวมมีอัตราส่วนการค้าต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงสองเท่า และปัจจุบันสหรัฐฯ ถือว่าเป็นตลาดส่งออกหลักของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศ (ยกเว้นลาว)

ซาคารี อาบูซา ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยสงครามแห่งชาติในวอชิงตัน บอกกับ DW ว่าชัยชนะของทรัมป์ “อาจจะส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่มากเท่ากับภูมิภาคยุโรปหรือเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการต่อสู้ในยูเครน ที่จะต้องเผชิญกับความกดดันอย่างมาก โดยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าในส่วนอื่นๆ ของโลก นอกจากนี้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็น่าจะได้รับประโยชน์ที่ดีบางประการเช่นกัน ซึ่งจากที่รัฐบาลทรัมป์ชุดแรกเริ่มกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในปี 2561 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ โดยเฉพาะเวียดนามและมาเลเซีย เป็นกลุ่มประเทศที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการที่จีนถอนการลงทุนออกไปก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ชี้ว่า หากกล่าวถึงประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่น่ากังวลที่สุด ก็คือ เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคไปยังสหรัฐฯ และเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด รองจากสิงคโปร์ ซึ่งในช่วงที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งในวาระแรก ทรัมป์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเวียดนามในช่วงแรก อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์เริ่มย่ำแย่ลงในปี 2562 เนื่องจากทรัมป์เริ่มรู้สึกหงุดหงิดกับประเทศต่างๆ ที่ได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากขึ้น ในปีนั้น ทรัมป์เรียกเวียดนามว่าเป็น “ประเทศที่ละเมิด” การค้าของสหรัฐฯ มากที่สุดในโลก แย่กว่าจีนเสียอีก และในช่วงสุดท้ายของทรัมป์ก็ได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเพื่อลงโทษเวียดนามในข้อกล่าวหาว่ามีการปั่นค่าเงิน แม้ว่ารัฐบาลของไบเดนจะยกเลิกการดำเนินการดังกล่าวก็ตาม แต่ดุลการค้าของเวียดนามกับสหรัฐฯ พุ่งสูงไปอีกเมื่อปีที่แล้ว ส่งผลให้เวียดนามเริ่มมีความกังวลเช่นกัน

ความเห็นของ สคต. นิวยอร์ก

  1. การได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์เป็นสมัยที่สองอาจส่งผลให้สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายการค้าที่เข้มงวดมากกว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดน เช่น การกำหนดอัตราภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น นอกจากนี้ การแข่งขันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น
  2. นโยบายการปรับขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์ อาจส่งผลกระทบต่อการค้าของประเทศไทยทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ โดยการขึ้นภาษีสินค้าจีนของทรัมป์เปิดโอกาสให้สินค้าไทยสามารถเข้ามาทดแทนสินค้าจีนในหลายกลุ่มตลาดในสหรัฐฯ รวมถึงอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain shift) โดยผู้ผลิตจากประเทศจีนที่อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยเพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นภาษี อย่างไรก็ตาม การย้ายฐานการผลิตดังกล่าว อาจส่งผลให้สหรัฐฯ เข้มงวดต่อการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทยมากขึ้น
  3. ประเทศไทยมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญเป็นมูลค่ากว่า 4 พันล้านเหรียญ ควบคู่กับนโยบายกำหนดภาษีสินค้านำเข้าต่อสินค้าส่วนใหญ่ (universal tariff) ของทรัมป์ อาจทำให้สินค้าจากไทยมีราคาสูงขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินค้าของไทยในสหรัฐฯ ลดลง ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวโดยการลดต้นทุนการผลิต หรือหาตลาดใหม่ในภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ
  4. ผู้ประกอบธุรกิจไทยควรเฝ้าระวังผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานและภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ ควรติดตามนโยบายการค้าของรัฐบาลทรัมป์ว่าจะมีการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าต่อสินค้าไทยมากขึ้นหรือไม่ เพื่อให้สามารถปรับกลยุทธ์ทางการค้าให้สอดรับกับนโยบายได้อย่างทันถ่วงที และลดความเสี่ยงและผลกระทบจากข้อจำกัดทางการค้าของรัฐบาลทรัมป์

******************************

ข้อมูลอ้างอิง Businessinsider, Cnbc,

Dw.com, Economictimes, Time.com

 

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ท่าทีนโยบายการค้าของว่าที่ ปธน. ทรัมป์และผลกระทบต่อเอเชีย

Login