หน่วยงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเวียนนาผุดกลยุทธ์ใหม่เน้นดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนที่มีกำลังซื้อสูง พร้อมชูจุดเด่นด้านวัฒนธรรมชั้นสูงและสินค้าหรูหราของเมือง
ช่วงก่อนวิกฤตการณ์โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวในกรุงเวียนนา ซึ่งในปี 2562 มีจำนวนพักแรมในกรุงเวียนนารวม 524,000 คืน คิดเป็นรายได้จากที่พักอย่างเดียวราว 33.5 ล้านยูโร ชาวจีนส่วนใหญ่มีเป้าหมายคือการได้ชื่นชมวัฒนธรรมชั้นสูงของกรุงเวียนนา ไม่ว่าจะเป็นปราสาทราชวังและอาคารบ้านเรือนที่วิจิตรตระการตา ทรัพย์สมบัติและศิลปะล้ำค่าที่ถูกเก็บรักษาและจัดแสดงไว้ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ตลอดจนการช็อปปิ้งสินค้าหรูหราซึ่งมีให้เลือกซื้ออย่างไม่จำกัด หรือแม้แต่การมาใช้กรุงเวียนนาเป็นสถานที่จัดงานแต่งงาน อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้รวมถึงนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยังคงมีจำนวนไม่มากเท่าเดิม
เพื่อฟื้นฟูรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวเอเชียตะวันออกอีกครั้ง สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวกรุงเวียนนาได้กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ซึ่งมุ่งเน้นการดึงดูดนักท่องเที่ยวระดับบนผู้มีกำลังซื้อสูงมากโดยเฉพาะ โดยมีแม่เหล็กดึงดูดที่หลากหลาย อาทิ ภาพวาด The Kiss ของ Gustav Klimt ซึ่งถูกจัดแสดงที่พระราชวังเบลเวแดร์ (Belvedere palace) นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนพฤษภาคมของปีนี้มีนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเข้าชมแล้วกว่า 5,000 คน ยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 (7,400 คน) เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ศิลปะ (KHM) และพิพิธภัณฑ์อัลแบร์ทีน่า (Albertina) ซึ่งเป็นศูนย์รวมสมบัติ งานศิลปะ และภาพวาดชั้นนำของโลก และถือเป็นความเลอค่าสำหรับชาวจีนในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวชาวจีนส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนมาชมงานศิลปะชิ้นใดชิ้นหนึ่งอย่างเจาะจง แต่ต้องการประสบการณ์พิเศษโดยรวมคือการได้ชมผลงานชิ้นเอกในอาคารที่สวยงามอลังการ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์มีการเตรียมความพร้อมให้บริการทั้งการนำชมแบบส่วนตัวในช่วงเช้าหรือช่วงค่ำ และการให้บริการเครื่อง Audioguide ภาษาจีน ยิ่งไปกว่านั้น พิพิธภัณฑ์ Albertina ยังมีการจัดแพคเกจนำชมแบบเอกซ์คลูซีฟสนนราคา 1,600 ยูโรต่อครั้ง ซึ่งเข้าชมพร้อมกันได้ไม่เกิน 10 คน
นอกเหนือจากสิ่งดึงดูดทางวัฒนธรรมแล้วกรุงเวียนนายังเป็นแหล่งช็อปปิ้งแบรนด์เนมชั้นนำ ซึ่งรวบรวมแฟลกชิปสโตร์แบรนด์เนมชื่อดังของโลกไว้มากมาย อีกทั้งยังมีภัตตาคารระดับมิชลินสตาร์หลายแห่งและสูงสุดถึงสามดาว ยิ่งไปกว่านั้น กรุงเวียนนายังเป็นแหล่งกำเนิดของสินค้าหรูระดับโลก อาทิ โคมระย้าแก้วคริสตัล เครื่องแก้วคริสตัล และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารยี่ห้อโลบมายเออร์ (Lobmeyr) ซึ่งเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน และกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นจากลูกค้าชาวจีน เช่นเดียวกับเครื่องกระเบื้องเคลือบ (porcelain) ฝีมือชั้นสูงของอาวการ์เท่น (Augarten) ซึ่งลูกค้าชาวจีนนิยมสินค้าแบบคลาสสิก อาทิ ถ้วยกาแฟ และแจกันสีขาวหรือพาสเทลที่มีลวดลายดอกไม้ซึ่งวาดด้วยมือ และหากมีสีทองประกอบด้วยจะยิ่งชื่นชอบเป็นพิเศษ
ที่น่าสนใจอย่างยิ่งอีกอย่างคือนักท่องเที่ยวชาวจีนรู้จักและต้องการซื้อเครื่องประดับเพชรรูปดวงดาว ซึ่งเป็นแบบเดียวกับที่จักรพรรดินีเอลิซาเบธ (Elisabeth) หรือ “ซิซี่ (Sisi)“ ผู้โด่งดังใช้ประดับผมถึง 27 ดวง และในปัจจุบันสามารถหาซื้อได้ที่ร้านเครื่องเพชร Alexander Emanuel Köchert ผู้เป็นเจ้าของผลงานดั้งเดิมและเป็นช่างเครื่องประดับอัญมณีให้กับราชสำนักในอดีต ซึ่งเชื่อว่าดวงดาวของซิซี่จะเป็นประตูสำคัญอีกบานที่เปิดรับนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักเข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายในกรุงเวียนนา
ข้อเสนอแนะและความคิดเห็นสำนักงานฯ
ในปี 2562 (ก่อนช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19) ประเทศออสเตรียซึ่งมีประชากรไม่ถึง 10 ล้านคน มีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 46.2 ล้านคน (เฉพาะกรุงเวียนนามีผู้มาเยือน 8 ล้านคน) และมีจำนวนการพักแรมทั่วประเทศรวม 152.7 ล้านคืน (เฉพาะกรุงเวียนนาราว 17.6 ล้านคืน แบ่งเป็นโรงแรม 5 ดาว 1,666,548 คืน 4 ดาว 7,405,244 คืน และ 3 ดาว 4,744,396 คืน) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนัก ท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง (รายได้เฉลี่ย 2,291 ยูโร หรือราว 90,000 บาท) นอกจากความเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง ศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว กรุงเวียนนายังเป็นที่ตั้งขององค์การสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศอีกมากมาย อาทิ OSCE และ OPEC และหน่วยงานด้านความร่วมมือทางวิชาการต่างๆ จึงเป็นปลายทางที่สำคัญของนักวิชาการ นักการทูต เจ้าหน้าที่ระดับสูง และผู้บริหาร ซึ่งมาร่วมประชุมสัมมนาระดับนานาชาติและกิจกรรมต่างๆ อย่างไม่ขาดสาย ประกอบกับภาพลักษณ์ความหรูหราจึงสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูงมาเยือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
ล่าสุดกรุงเวียนนาสามารถดึงดูดให้กลุ่มเซ็นทรัลของไทยเข้ามาลงทุนสร้างห้างสรรพสินค้า (LAMAAR) และโรงแรมหรู ซึ่งจะเปิดดำเนินการในปี 2567 กรุงเวียนนาและประเทศออสเตรียจึงเหมาะสำหรับการเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด การสร้างการรับรู้เครื่องหมายรับรองคุณภาพต่างๆ และการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านต่างๆ เนื่องจากสามารถคาดหวังผลสัมฤทธิ์นอกเหนือจากประชากรในพื้นที่ได้อีกจำนวนมากและกว้างขวางไปทั่วโลก อีกทั้งการปรากฏชื่อของประเทศไทยในกรุงเวียนนาจะยิ่งเป็นที่สะดุดตา รวมถึงกระพือความตื่นเต้นและความประหลาดใจเพิ่มขึ้นแก่ชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากทั่วโลกที่ได้พบเห็น ซึ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ประเทศไทยได้อย่างทวีคูณ จากประสบการณ์ของ สคต. เวียนนาที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น โครงการนำนักออกแบบแฟชั่นเข้าร่วมงานเวียนนาแฟชั่นวีค พบว่าการมาร่วมงานดังกล่าวส่งผลให้นักออกแบบได้รับการยอมรับและประสบความสำเร็จทางการค้ามากขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะจีน และตะวันออกกลาง ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการไปโชว์ตัวที่ประเทศเหล่านั้นโดยตรง
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเวียนนา
กรกฎาคม 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)