หน้าแรกTrade insight > ทิศทางนโยบายต่างประเทศอิหร่าน

ทิศทางนโยบายต่างประเทศอิหร่าน

ผู้นำการปฏิวัติอิสลามอายาตุลลอฮ์ ไซเอ็ด อาลี คาเมเนอี ยกย่องรัฐบาลประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี ด้านการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยในระหว่างการประชุมกับประธานาธิบดี เอบราฮิม ไรซี และสมาชิกคณะรัฐมนตรีเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (30 สิงหาคม 2566) ผู้นำการปฏิวัติอิสลามได้ชื่นชมความสำเร็จด้านนโยบายต่างประเทศของฝ่ายบริหาร รวมถึงนโยบายการมีส่วนร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน

อายาตุลลอฮ์ ไซเอ็ด อาลี คาเมเนอี เน้นย้ำถึงความสำคัญของการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับประเทศ เพื่อนบ้าน และเปลี่ยนความขัดแย้งที่มีอยู่ให้เป็นความร่วมมือ นอกจากนี้เขายังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเป็นสมาชิกของอิหร่านในองค์กรระหว่างประเทศ โดยกล่าวว่า “สิ่งนี้บ่งชี้ว่าผู้ก่อตั้งองค์กรเหล่านี้เต็มใจและบางครั้งก็ยืนกรานที่จะมีส่วนร่วมกับอิหร่าน จากการพิจารณาความเป็นจริงของอิหร่าน องค์กรระหว่งประเทศเห็นความจำเป็นในการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอิหร่าน”

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีซีริล รามาโฟซาแห่งแอฟริกาใต้ประกาศในวันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดกลุ่ม BRICS ว่าอิหร่านเป็นหนึ่งในหกประเทศที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมกลุ่มนี้โดยสมบูรณ์ ในเดือนมกราคม ปี 2024 โดย BRICS ซึ่งประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และ แอฟริกาใต้ ปัจจุบันคิดเป็น 40% ของประชากรโลก และหนึ่งในสี่ของ GDP โลก อิหร่านยังได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกคนที่ 9 ขององค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (the Shanghai Cooperation Organization: SCO) ในปีนี้

ผู้นำสูงสุดยังมองว่าวัตถุประสงค์หลักของการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกนั้นส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอิหร่านและการจับพวกเขาเป็นตัวประกัน โดยเขากล่าวว่า “การเจรจาและการดำเนินการเพื่อยุติการคว่ำบาตรอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่ในขณะเดียวกันควรมีความพยายามในการหามาตรการบรรเทาผลกระทบของการคว่ำบาตร โดยประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การลดอัตราเงินเฟ้อ”

อีกส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการใช้ประโยชน์จากโอกาสในการสื่อสารกับประเทศต่างๆ และใช้ประโยชน์ให้ตรงเวลา โดยอ้างถึงเอกสารความร่วมมือระยะยาวจำนวนมากระหว่างรัฐบาลอิหร่านและประเทศอื่น ๆ ผู้นำเห็นว่าจำเป็นต้องดำเนินการและปฏิบัติตามข้อตกลงเหล่านี้ โดยระบุว่าข้อตกลงไม่ควรคงอยู่เพียงบนกระดาษเท่านั้น ในช่วงสองปีที่ผ่านมารัฐบาลอิหร่านได้ลงนามในเอกสารความร่วมมือหลายฉบับในด้านเศรษฐกิจ การเมือง การท่องเที่ยว วัฒนธรรม ฯลฯ กับประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา และยุโรป บางส่วนของประเทศเหล่านั้น ได้แก่ ซิมบับเว เคนยา ยูกันดา เวเนซุเอลา นิการากัว คิวบา จีน รัสเซีย ทาจิกิสถาน เติร์กเมนิสถาน คาซัคสถาน และปากีสถาน

ผู้นำสูงสุดได้วิพากษ์วิจารณ์การรับรู้ของนักการเมืองบางคนที่จำกัดปฏิสัมพันธ์กับโลก และถือว่าความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่คู่ควร “มุมมองนี้เข้าใจผิด ถดถอย และเป็นของเมื่อ 100 ปีที่แล้ว เมื่อมีประเทศในยุโรปไม่กี่ประเทศครองโลก ปัจจุบัน เราต้องละทิ้งมุมมองที่ล้าสมัยและถดถอย และเข้าใจว่าการมีส่วนร่วมกับโลกหมายถึงการเชื่อมต่อกับแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชีย ซึ่งมีทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติมากมาย นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องคำนึงถึงผลประโยชน์และศักดิ์ศรีของชาติ และในความสัมพันธ์เหล่านี้ ไม่ควรจะมีฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่าหรือยอมจำนน”

ท่านผู้นำสูงสุดแสดงความผิดหวังที่การดำเนินการเชิงบวกของรัฐบาลถูกบดบังด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะค่าที่อยู่อาศัยและค่าเช่าที่สูงขึ้น ผู้นำยังแนะนำให้เจ้าหน้าที่พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของการตัดสินใจทางเศรษฐกิจต่อปัจจัยต่างๆ เช่น การจัดการกับความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่ง การรักษาเสถียรภาพของตลาด การจัดการอัตราแลกเปลี่ยน และการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ยังกล่าวอีกว่า เขาได้สนับสนุนฝ่ายบริหารด้วยอุดมการณ์ต่างๆ มานานกว่าสามทศวรรษ และนอกเหนือจากการสนับสนุนฝ่ายบริหารในปัจจุบันแล้ว เขายังต้องการชมเชยความพยายามของฝ่ายบริหารอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เขาแสดงความกังวลว่าฝ่ายบริหารชุดปัจจุบันไม่สามารถสื่อสารความสำเร็จของตนต่อสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิผล “สิ่งที่ผมต้องการเน้นย้ำคือตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจมหภาคจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงการเติบโตและความก้าวหน้า” ผู้นำสูงสุดขอให้ฝ่ายบริหารคำนึงถึงสื่อมากขึ้นและพยายามแจ้งให้ประชาชนอิหร่านทราบถึงความเคลื่อนไหวและความสำเร็จของรัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่มา : https://www.tehrantimes.com/news/488545/Leader-lauds-Raisi-administration-for-foreign- policies
ความเห็นสำนักงาน
ข้อเท็จจริงตามที่ผู้นำสูงสุดอิหร่านได้เปิดเผย สอดคล้องกับข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของอิหร่านจะขยายตัว โดยในปี 2566 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 2.5 และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคตข้างหน้า และนโยบายต่างของรัฐบาลโดยเฉพาะด้านการต่างประเทศช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเริ่มฟื้นตัวได้

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login