หน้าแรกTrade insight > ถอดรหัส 10 ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของอิตาลี

ถอดรหัส 10 ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนของอิตาลี

ถอดรหัส 10 ความเป็นเลิศด้านวัตกรรมและความยั่งยืนของอิตาลี
รายงานล่าสุด Italy in 10 selfies ที่นำเสนอโดย Symbola มูลนิธิส่งเสริมคุณภาพอิตาลี ได้สำรวจและรวบรวมความเป็นเลิศของอิตาลีที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและความยั่งยืนตามนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน แม้ว่าจะอยู่ในยุคที่ยากลำบาก ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ภัยพิบัติ เช่น โรคระบาด วิกฤตสภาพอากาศ สงคราม และความไม่เท่าเทียมต่างๆก็ตาม แต่การมองโลกในแง่ดีสำหรับอนาคตมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และยังคงรักษาความเป็นเลิศที่โดดเด่น 10 ประการ ดังนี้
1. ผู้นำในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน
อิตาลีเป็นประเทศในยุโรปที่มีอัตราการรีไซเคิลขยะพิเศษและขยะทั่วไปสูงที่สุด (79.4% ของขยะทั้งหมด) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป (48.6%) และประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี (69.1%) ฝรั่งเศส (66.2%) และสเปน (48.7%) สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปีได้ 23 ล้านตันหรือเทียบเท่าน้ำมันดิบ 63 ล้านตัน และเป็นอัตราการรีไซเคิลในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เท่ากับประมาณ 50% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทกว่า 531,000 ราย ได้ลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว

2. แชมป์เปี้ยนในการแข่งขันผลิตภัณฑ์กรีนที่มีคุณภาพ
อิตาลีเป็นอันดับแรกในยุโรปที่ได้ดัชนีความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร (ตัวบ่งชี้ที่พิจารณาจากการใช้วัตถุดิบ น้ำ พลังงาน และความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการผลิต) ด้วยคะแนน 268 จาก 300 อิตาลีได้รับคะแนนประเมินสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรป (147 คะแนน) และของเยอรมนี (157 คะแนน) ฝรั่งเศส (152 คะแนน) สเปน (142 คะแนน) ในช่วงปี 2551 และ 2562 อิตาลีสามารถลดการใช้วัตถุดิบสำหรับการผลิตในปริมาณเดียวกันลงถึง -44.1% (ค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ทำได้คือ -33%) เนื่องจากมีการลงทุนในเศรษฐกิจสีเขียว หนึ่งในสามของบริษัทในอิตาลีได้ทำการลงทุนเชิงอนุรักษ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทเหล่านี้กลับมีผลประกอบการและการส่งออกเพิ่มขึ้น และมีการจ้างงานสูงขึ้นด้วย

3. ผู้ดำเนินการด้านพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดของโลก
บริษัท Enel เป็นผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่ที่สุดในยุโรปด้านพลังงานหมุนเวียน โดยในปี 2564 มีกำลังการผลิตรวม 53.4 กิกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้าพลังงานลม แสงอาทิตย์ ความร้อนใต้พิภพ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ตั้งอยู่ในยุโรป อเมริกา แอฟริกา เอเชีย และโอเชียเนีย ที่บริษัทฯเป็นผู้ควบคุมธุรกิจพลังงานสีเขียว (Green Power) นำหน้าประเทศอื่นๆในภาคส่วนเดียวกัน เช่น EdF ของฝรั่งเศส (44 กิกะวัตต์) Iberdrola ของเสปน (38 กิกะวัตต์) และ Engie ของฝรั่งเศส (34 กิกะวัตต์) ในปี 2564 Enel มีมูลค่าการค้าถึง 71.6 พันล้านยูโร

4. รายการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของ Unesco มากที่สุด และเป็นผู้นำด้านการออกแบบของโลก
อิตาลีมีสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์กรยูเนสโก 58 แห่ง (จาก 1,154 แห่ง ใน 167 ประเทศทั่วโลก) ตามมาด้วยจีน (56 แห่ง) เยอรมนี (51 แห่ง) ฝรั่งเศสและสเปน (49 แห่ง ทั้งคู่) แสดงถึงความสามารถอันยอดเยี่ยมในการสร้างสรรค์และอนุรักษ์งานศิลปะ ในปี 2564 นิตยสาร Timeout ของอังกฤษยกย่องให้พิพิธภัณฑ์ Galleria degli Uffizi ที่เมืองฟลอเรนซ์ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ดีที่สุดในโลก นำหน้าพิพิธภัณฑ์ Louvre ในปารีส และพิพิธภัณฑ์ Moma ในนิวยอร์ก นอกจากนี้ ยังมีบริษัทด้านการออกแบบมากที่สุดในโลก และส่งออกสิ่งทอ แฟชั่น และเครื่องประดับ ด้วยมูลค่า 66.6 พันล้านยูโร มากที่สุดในสหภาพยุโรป และเป็นอันดับสองรองจากจีน (347 พันล้านยูโร)

5. ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศและเป็นผู้นำในยุโรปในด้านการสังเกตการณ์โลก
อิตาลีเป็นประเทศอันดับสามในโลกด้านเทคโนโลยีอวกาศ (พิจารณาจากสัดส่วนของสิทธิบัตรภาคอวกาศ (2.94%) เมื่อเทียบกับสัดส่วนสิทธิบัตรทั้งหมด) รองจากรัสเซีย (9.07%) และฝรั่งเศส (5.23%) นำหน้าสเปน (2.64%) และอิสราเอล (2.62%) นอกจากนี้ อิตาลีอยู่ในอันดับที่สี่ของโลกในด้านมูลค่าการส่งออกยานอวกาศ (รวมถึงดาวเทียม) และยานอวกาศปล่อย โดยในปี 2562 มีมูลค่า 130 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (177 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564) ตามหลังฝรั่งเศส (985 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) สหรัฐอเมริกา (641 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) และเยอรมนี (565 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ด้วยโปรแกรม COSMO-SkyMed อิตาลีกำลังสร้างระบบสังเกตการณ์โลกด้วยดาวเทียมภาคพื้นดิน ที่เป็นหนึ่งเดียวในโลก เพื่อใช้วัดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ติดตามการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และจัดการกับความเสี่ยงทางธรรมชาติ ได้แก่ การกัดเซาะและมลพิษชายฝั่ง เป็นต้น

6. ความเป็นอันดับหนึ่งด้านสินค้าเกษตรและอาหารที่เชื่อมโยงกับแหล่งผลิต
อิตาลีเป็นประเทศที่ขึ้นทะเบียนคุ้มครองผลิตภัณฑ์เกษตร อาหารและไวน์ มากที่สุดถึง 842 ชนิด แบ่งเป็น DOP (Protected Designation of Origin) 581 ชนิด เป็น IGP (Protected Geographical Indication) 257 ชนิด และเป็น STG (Traditional Specialty Guaranteed) 4 ชนิด ตามมาด้วยฝรั่งเศส (696) สเปน (344) กรีซ (260) และโปรตุเกส (182) ในปี 2564 ผลิตภัณฑ์ DOP และ IGP มีมูลค่าการส่งออกเกือบ 52 พันล้านยูโร (+11%) และเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการผลิตไวน์ (50.2 ล้านเฮกโตลิตร) นำหน้าฝรั่งเศส (37.6 ล้านเฮกโตลิตร) และสเปน (35.3 ล้านเฮกโตลิตร) คุณภาพที่เชื่อมโยงกับความยั่งยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ระหว่างปี 2554 ถึง 2562 การเกษตรอิตาลีใช้ผลิตภัณฑ์ปราบวัชพืชลดลง -32% ยั่งยืนที่สุดในยุโรป ปล่อยมลพิษ (CO2) 30 ล้านตัน น้อยกว่าฝรั่งเศส (76 ล้านตัน) เยอรมนี (66 ล้านตัน) และสเปน (39 ล้านตัน)

7. อันดับสองในยุโรปและอันดับสี่ของโลกในการส่งออกเครื่องจักรกล
อันดับสี่ของโลกสำหรับมูลค่าการส่งออกเครื่องจักรกลสำหรับงานโลหะ ด้วยมูลค่า 2,945 ล้านยูโร การส่งออกของอิตาลีคิดเป็น 8.2% ของการส่งออกทั้งหมดของโลก ในภาคส่วนนี้ (+12.2% เมื่อเทียบกับปี 2563) อิตาลีตามหลังเยอรมนี (6,510 ล้านยูโร) ญี่ปุ่น (6,227 ล้านยูโร) และจีน (4,507 ล้านยูโร) นอกจากนี้ ยังเป็นประเทศแรกในโลกที่มีมูลค่าการส่งออกเครื่องมือและอุปกรณ์ระดับมืออาชีพสำหรับการเตรียมเครื่องดื่มร้อน(กาแฟ) สำหรับปรุงอาหารหรืออุ่นอาหาร อุปกรณ์รังสีอัลตราไวโอเลตหรืออินฟราเรดรายแรกในโลกสำหรับใช้ในทางการแพทย์และศัลยกรรม ภาคส่วนการผลิตเครื่องจักรกลเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ 15,854 ราย ในช่วงปี 2559-2563 มีการลงทุนเพื่อการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เท่ากับ 40.1% ของภาคส่วนทั้งหมด

8. กระเบื้อง Made in Italy มูลค่าการส่งออกสูงสุดในโลก
กระเบื้องเซรามิกอิตาลีมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดในโลก (5.24 พันล้านยูโร) ตามด้วยจีน (3.47 พันล้านยูโร) สเปน (2.90 พันล้านยูโร) อินเดีย (1.30 พันล้านยูโร) และตุรกี (731 ล้านยูโร) คิดเป็น 31% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ในปี 2563 กระเบื้องเซรามิกขายได้ 391 ล้านตารางเมตร (เทียบได้ประมาณพื้นที่กรุงปารีส 3 เท่า) คิดเป็น 7% ของดุลการค้าอิตาลี และเป็นอุตสาหกรรมที่พัฒนาด้านเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพในการประหยัดน้ำและวัสดุ สามารถนำน้ำเสียและวัสดุเหลือทิ้งนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด 100% ทำให้อุตสาหกรรมเซรามิกอิตาลีเป็นหนึ่งในตัวอย่างเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ทันสมัยที่สุดในอิตาลีและในโลก

9. ผู้นำระดับโลกด้านเฟอร์นิเจอร์ไม้อย่างยั่งยืน
อิตาลีอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกสำหรับดุลการค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ ในปี 2563 ได้ดุลการค้ามูลค่า 7.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (8.0 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2564) ตามหลังจีน (99.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) เวียดนาม (12.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) โปแลนด์ (11.8 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และแคนาดา (7.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) ในด้านการส่งออกจัดอยู่ในอันดับสามในยุโรปรองจากเยอรมนีและโปแลนด์ โดยมีมูลค่าการส่งออก 14.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์เชื่อมโยงกับคุณภาพและความยั่งยืน ซึ่งอิตาลีอยู่ในอันดับต้นๆของยุโรปด้วยใบรับรอง FSC (Chain of Custody, CoC) ถึง 605 รายการ สำหรับเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งภายใน รองจากโปแลนด์และเยอรมนี นอกจากนี้ แผงชิปบอร์ดของอิตาลีประมาณ 93% ทำจากไม้รีไซเคิล 100% และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง 60% ใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนแล้ว

10. ผู้นำแว่นตาของโลก
อิตาลีเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าแว่นตาเป็นอันดับสองของโลก (3.93 พันล้านยูโร) รองจากจีน (4.41 พันล้านยูโร) การผลิตกว่า 90% เพื่อการส่งออก ซึ่งในปี 2564 เพิ่มขึ้น +4.5% เมื่อเทียบกับปี 2562 อิตาลีผลิตและการส่งออกแว่นกันแดดและกรอบแว่นไฮเอนด์สูงที่สุดในโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 70% ด้วยความเป็นผู้นำตามด้านคุณภาพ ภาคส่วนนี้มีบริษัทผู้ผลิต 848 แห่ง มีคนทำงานมากกว่า 18,000 คน

ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1. ความเป็นเลิศด้านต่างๆของอิตาลีเป็นตัวอย่างที่น่าศึกษาและนำมาปรับใช้ เพื่อพัฒนาการผลิตของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีการสร้างนวัตกรรมและความยั่งยืนจากพื้นฐานของขนบธรรมเนียมประพณี และความสามัคคีของคนในชุมชนที่มีขนาดเล็ก ที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวให้เข้ากับการแข่งขันได้เร็ว ซึ่งเป็นสังคมที่คล้ายคลึงกับของไทยมาก
2. ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับเรื่องของนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความก้าวหน้าของ BCG (Bio/Circular/Green) เป็นสิ่งสำคัญมากในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เนื่องจากผู้บริโภคในยุโรปหันมาเลือกซื้อสินค้ากรีนกันมากขึ้น และต้องคอยปรับตัวให้ทันท่วงที เพราะกฎระเบียบสหภาพยุโรปมีความเข้มงวดและตั้งข้อจำกัดกีดกันสินค้าที่ไม่ใช่กรีนมากขี้นเรื่อยๆ
3. ควรส่งเสริมภาพลักษณ์และเสริมจุดแข็งให้สินค้าด้วยวิธีต่างๆ เช่น การมีตรารับรองแหล่งผลิต/กำเนิดสินค้า ตรารับรองมาตรฐานสากล การสร้างเรื่องราวเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ การใช้วัตถุดิบที่รีไซเคิลได้ หรือบรรจุภัณฑ์สีเขียว สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าได้เป็นอย่างดี
4. ควรให้ความใส่ใจกับเทคโนโลยีดิจิทัลในทุกกระบวนการ และการค้าสินค้าบนช่องทางออนไลน์ ซึ่งสามารถนำเสนอสินค้าเข้าสู่ตลาดได้ง่ายและรวดเร็ว
————————————————————————————–

www.symbola.net/ricerca/italia-in-10-selfie-2022/
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
16 มิถุนายน 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login