หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ติดตามแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพของจีน

ติดตามแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพของจีน

นับวันผู้บริโภคต่างหันมาให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพ โดยพยายามลดผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปและผลิตภัณฑ์อาหารทอดด้วยน้ำมัน และหันมาสนใจอาหารที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ เนื้อเทียม เครื่องดื่มประเภทถั่ว ธัญพืชมากขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มจากพืชธรรมชาติที่กำลังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี อาหารเพื่อสุขภาพก็ถือเป็นอาหารประเภทหนึ่ง ที่มีลักษณะเหมือนอาหารทั่วไป แค่เพียงมีความแตกต่างที่มีวัตถุดิบหลักมาจากสัตว์และพืชธรรมชาติ และนำมาผ่านกระบวนการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และมีส่วนผสมที่มีประสิทธิภาพ ที่ช่วยปรับสมดุลการทำงานของร่างกายมนุษย์ ซึ่งในที่นี้อาหารเพื่อสุขภาพยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพสูงและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ด้วย

เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อมของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ พบว่าอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ คือ วัตถุเจือปนอาหาร สินค้าเกษตร เป็นต้น โดยห่วงโซ่ของอุปทานของอาหารเพื่อสุขภาพค่อนข้างยาว เริ่มตั้งแต่การจัดซื้อ การแปรรูป บรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ โดยเฉพาะวัตถุดิบและการแปรรูปที่ต้องมีความพิถีพิถัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของความปลอดภัยด้านอาหาร ทำให้วัตถุดิบต้องถูกคัดเลือกเป็นพิเศษ โดยต้องไม่มีสารพิษ และไม่มีสารเจือปน ขณะที่ในส่วนของการแปรรูปนั้น อาหารต้องได้รับการประกันสุขอนามัย เสริมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยของอาหารให้แก่พนักงาน โดยต้องให้ความรู้ด้านความปลอดภัยของอาหารแก่พนักงาน และต้องเข้มงวดต่อทุกขั้นตอนและทุกกระบวนการในการทำอาหาร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยของอาหารก่อนส่งถึงมือผู้บริโภค

รายงานการวิจัยฉบับหนึ่งพบว่า ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกล้วนมีความต้องการด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นทุกวัน เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นทุกวันเช่นกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงหันมาใส่ใจกับความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคในการผลิตอาหารให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน ก็ได้นำเสนออาหารเพื่อสุขภาพที่มีคุณภาพและวางจำหน่ายในท้องตลาดมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการเพื่อสุขภาพที่นับวันยิ่งขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเช่นเดียวกัน

เมื่อพิจารณาแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพของจีนปี ค.ศ.​ 2023 พบว่าภายใต้การยกระดับการบริโภคยุคใหม่ ส่งผลให้อุตสาหกรรมอาหารของจีนเข้าสู่ยุคของการเน้นสุขภาพและโภชนาการ ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ระดับรายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชากรเน้นการบริโภคเพื่อความอยู่รอด เป็นการบริโภคเพื่อสุขภาพ และทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากไม่เพียงแต่แสวงหาความสมดุลทางโภชนาการ แต่ยังแสวงหาการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดีควบคู่กันไปด้วย โดยความต้องการด้านสุขภาพและความงามของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันได้กระตุ้นให้เกิดอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารว่างและขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพที่มีแคลอรีต่ำ หรือ 0 แคลอรี มีน้ำตาลต่ำ รวมทั้งอาหารที่ปราศจากน้ำตาล ซึ่งทำให้กลุ่มอาหารเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนของความต้องการของผู้บริโภคสำหรับอาหารเพื่อสุขภาพและมีคุณค่าทางโภชนาการยังช่วยส่งเสริมการขับเคลื่อนการเติบโตของตลาดการบริโภคสินค้าเพื่อสุขภาพอย่างก้าวกระโดดอีกด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนในปี ค.ศ. 2025 จะสูงถึง 1.14 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 5.70  ล้านล้านบาท (อัตราแลกเปลี่ยน 1 หยวน เท่ากับ 5 บาท)

เมื่อพิจารณากลุ่มอาหารว่างและขนมขบเคี้ยว จะพบว่าการแข่งขันของแบรนด์อาหารว่างและขนมขบเคี้ยวเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากอาหารที่มีลักษณะเพื่อสุขภาพ และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้เริ่มกลายเป็นแนวโน้มของการบริโภคแบบใหม่ในตลาด จนทำให้ผู้เชี่ยวชาญในวงการอาหารคาดการณ์ว่า ความต้องการด้านสุขภาพของผู้บริโภคจะผลักดันอุตสาหกรรมอาหารว่างและขนมขบเคี้ยวให้พัฒนาได้มากยิ่งขึ้น โดยอุตสาหกรรมอาหารจะให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาขนมขบเคี้ยวให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่มีแคลอรีต่ำ มีไขมันต่ำ และมีน้ำตาลต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการใหม่ในตลาด สำหรับอาหารว่างและขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ ด้วยความใส่ใจต่อคุณค่าทางโภชนาการของอาหารและสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพขยายตัวอย่างรวดเร็วมากขึ้น และนำมาซึ่งแรงขับเคลื่อนใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมของอุตสาหกรรมอาหารในตลาดจีน

จีนถือเป็นประเทศผู้ผลิตและบริโภคอาหารขนาดใหญ่ที่ถูกจับตามองสำหรับตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากการสนับสนุนนโยบายและกลยุทธ์การพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดใหม่และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพของรัฐบาลจีน ทำให้หลายปีที่ผ่านมานี้อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และตลาดขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพที่เฟื่องฟูมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับโครงร่างแผนสุขภาพของจีนปี 2030 หรือ Healthy China 2030 ของจีน ที่คาดการณ์ว่าเมื่อถึงปี ค.ศ. 2030 มูลค่าของตลาดอุตสาหกรรมสุขภาพของจีนจะสูงถึง 16 ล้านล้านหยวน หรือประมาณ 80 ล้านล้านบาท

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

ในช่วงหลายปีมานี้ ผู้บริโภคชาวจีนหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพกันมากขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากจำนวนประชากรผู้สูงอายุและความต้องการในการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กลุ่มผู้บริโภควัยทำงานก็เริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังพบว่าช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก็มีความหลากหลายมากขึ้น รวมทั้ง นโยบายด้านสุขภาพของรัฐบาลจีนที่ผลักดันให้ตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนจะมีมูลค่ากว่าล้านล้านหยวน ดังนั้น ตลาดอาหารเพื่อสุขภาพของจีนจึงถือเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก และมีความสามารถในการผลิตอาหารได้หลากหลายประเภท รวมทั้งสามารถปรับปรุงและพัฒนาสินค้าเกษตรและสมุนไพรให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารว่างและขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดี การนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพเข้าสู่ตลาดจีนมีความจำเป็นต้องมีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพให้มีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนให้มากที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีหลายกลุ่มและมีความต้องการที่หลากหลาย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมการบริโภคและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และโครงการสร้างบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความต้องการในการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนโดยตรง ไม่เพียงเท่านั้น การพิจารณาใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีการผลิตอาหารชั้นสูงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพก็เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของไทยสอดคล้องกับความต้องการในตลาดจีน และได้รับการรับรองความปลอดภัยตามคุณภาพและมาตรฐานสากล อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และสร้างโอกาสในการขยายตลาดผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพของไทยเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

https://www.chinairn.com/news/20230425/104852426.shtml

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login