หน้าแรกTrade insightข้าว > ตลาด Plant-based Milk สหรัฐอเมริกา

ตลาด Plant-based Milk สหรัฐอเมริกา

ประเภทของ Plant-based milk ในตลาดสหรัฐอเมริกา 

 

Plant-based milk คือ เครื่องดื่มประเภท non-dairy beverage ผลิตจากการนำพืชมากลั่นเป็นน้ำสีขาวขุ่นและเข้มข้นเหมือนนม พืชที่นำมาใช้มี 4 ประเภท คือ ธัญญพืช (grain) พืชตระกูลถั่ว (legumes) เมล็ดพันธุ์ (seed) และ ถั่ว (nut) plant-based milk เป็นตลาด plant-based products ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯรองลงมาคือ plant-based meat และ plant-based creamer

 

Plant-based milk ในตลาดสหรัฐ มีหลากหลายประเภท ผลิตจากพืชหลากหลายชนิด ที่สำคัญที่มีการวางตลาดและได้รับความนิยมบริโภคแพร่หลายมี 4 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ almond milk, oat milk, coconut milk และ soy milk

ขนาดและมูลค่าตลาดในปี 2023

ในปี 2023 ยอดขาย plant-based milk คิดเป็นร้อยละ 15 ของยอดขายสินค้ากลุ่มนม (milk) ทุกประเภทรวมทั้งสิ้น หรือประมาณ 2.9 พันล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ดีหน่วยขาย plant-based milk ลดลงร้อยละ 8 เหลือ 744 ล้านหน่วย และคิดเป็นร้อยละ 13 ของปริมาณขายสินค้านมทุกประเภทรวมทั้งสิ้น

 

plant-based milk ที่มียอดขายสูงสุดคือ Almond milk และ Oat milk ข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนธันวาคม 2023 ระบุว่ายอดขาย Plant-based Almond milk และ Oat milk มีส่วนแบ่งในตลาดร้อยละ 55.8 และ 23.6 ตามลำดับ และมียอดขายรวมกันเกือบ 2.3 พันล้านเหรียญฯ

การแข่งขันในตลาดการบริโภค

ตลาดสหรัฐฯมีสินค้าประเภท “นม” วางจำหน่ายเป็นจำนวนมาก  ทำให้ตลาดมีการแข่งขันสูง นอกจากจะเป็นการแข่งขันกับสินค้าต่างประเภท เช่น dairy milk แล้ว ยังแข่งขันกันเองในหมู่ plant-base milk ที่ผลิตจากวัตถุดิบต่างกัน หรือ ที่มาจากต่างแบรนด์

ในการแข่งขันกับสินค้า dairy milk สินค้า plant-based milk มีอำนาจการแข่งขันสูงกว่า เนื่องจาก

1. การบริโภคนม dairy milk แสดงแนวโน้มลดลง การสำรวจของบริษัทวิจัยตลาด Mintel พบว่า ในปี 2023 ผู้ผลิต dairy milk ในสหรัฐฯ ผลิตสินค้าได้ในปริมาณสูงถึง 226.6 พันล้านปอนด์ (26.4 พันล้านแกลลอน) แต่การบริโภคในประเทศกลับลดลงจากปี 2022 ร้อยละ 4 ขณะที่ในระยะเวลาเดียวกันการบริโภค non-dairy milk มีการเติบโตร้อยละ 5

2. plant-based milk ที่มีวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯนำเสนอรสชาติหลากหลายมากกว่า dairy milk ที่ส่วนใหญ่จำกัดอยู่ที่รส sweet, unsweet/plain, vanilla และ chocolate ขณะที่ plant- based milk นอกจาก จะมีกลิ่นและรสชาติและแตกต่างออกไปตามพืชวัตถุดิบที่ถูก
นำมาใช้แล้ว ยังมีการผสมผสานพืชวัตถุดิบต่างๆเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มรสชาติแปลกๆออกสู่ตลาดมากขึ้นต่อเนื่อง เป็นการสร้างความแปลกแยกของสินค้าและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภค ที่กำลังคลี่คลายออกจากการบริโภครสชาติปกติที่คุ้นเคย เข้าสู่การบริโภครสชาติแปลกใหม่ ที่ให้ความตื่นเต้นน่าสนใจในการบริโภคมากกว่าเดิม

 

ศักยภาพการเติบโตของตลาด
งานวิจัยอัตราเติบโตของยอดขาย plant-based milk ในระหว่างปี 2018 – 2022 ของนักวิชาการที่ Purdue University, College of Agriculture พบว่า การบริโภคนมที่เป็น dairy milk ลดลง ขณะที่การบริโภคเครื่องดื่มที่เป็น plant-based มีการเติบโตอย่างมั่นคง บริษัทวิจัยตลาด Mordor Intelligence คาดการณ์อัตราเติบโตต่อปีของตลาด plant-based สหรัฐฯที่ร้อยละ 11.54 มูลค่าตลาด plant-based milk ของสหรัฐฯในปี 2024 คาดว่าว่าจะประมาณ 4 พันล้านเหรียญฯ และจะพุ่งสูงเป็น 7 พันล้านเหรียญฯในปี 2029 การเติบโตของการบริโภคส่วนใหญ่มาจากการบริโภค almond milk และ oat milk

 

เงื่อนไขหลักที่สนับสนุนการเติบโตของตลาด plant-based milk คือ การเปลี่ยนแปลงของทัศนคติและมุมมองของผู้บริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ที่ได้เข้าไปเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการบริโภคผู้บริโภคสหรัฐฯเข้าสู่แนว eco-friendly และ sustainable ดังนี้

 

1. การเปลี่ยนแปลงลักษณะประชากรและทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตและการบริโภค
1.1 มีความวิตกกังวลและห่วงใยในสวัสดิภาพของสัตว์ และเชื่อว่า การทำปศุสัตว์เป็นการทารุณสัตว์
1.2 มีความห่วงใยต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาวะสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงปศุสัตว์ส่งผลทำให้หน้าดินเสื่อมจากการปลูกหญ้าเลี้ยงวัว ต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก และเป็นการสร้าง greenhouse gas (methane) ปล่อยออกสู่สภาวะอากาศ
1.3 มีความต้องการบริโภคอาหารธรรมชาติ อาหารเพื่อบำรุงรักษาสุขภาพและอนามัยของตนเอง
1.4 ผู้บริโภคสหรัฐฯระหว่าง 30 – 50 ล้านคนแพ้ lactose หรือ milk sugar ในนมวัว
1.5 การเติบโตของความนิยมบริโภคอาหารปลอดเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคจำนวนมาเชื่อว่า โรคต่างๆที่เกิดขึ้นในสัตว์สามารถถ่ายทอดสู่มนุษย์ได้ ผ่านทางการสัมผัสและการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์

2. การเติบโตของเทคโนโลยี่และนวัตกรรมการผลิตสินค้าแปลกใหม่และหลากหลายออกสู่ตลาด

3. การเติบโตของความต้องการของอุตสาหกรรมค้าปลีกเครื่องดื่มต่างๆ เช่น กาแฟ ที่ต้องการ plant-based milk ไปใช้เป็นส่วนผสมแทนที่ dairy milk และครีมที่ใช้เป็นปกติแต่ดั้งเดิม เพื่อเพิ่มกลิ่นและรสชาติใหม่ๆและดึงดูดใจผู้บริโภคกลุ่มที่บริโภค plant-based milk มากขึ้น

 

4. การเติบโตของการนำเอา plant-based milk ไปใช้ในการปรุงแต่งอาหารคาวหวาน

 

เงื่อนไขสำคัญสูงสุดที่มีศักยภาพจะส่งผลทางลบต่อการเติบโตของตลาด plant-based milk คือ ราคา Plant-based milk ในตลาด supermarket สหรัฐฯ มีราคาเฉลี่ยประมาณ 7.27 เหรียญฯต่อแกลลอน เปรียบเทียบกับ dairy milk  ที่มีราคาเฉลี่ยเพียง 4.21 เหรียญฯต่อแกลลอน สภาวะการเติบโตของเงินเฟ้อในสหรัฐฯที่ยังคงดำเนินต่อเนื่อง มีศักยภาพสูงที่จะทำให้สินค้าในตลาดสหรัฐฯ รวมถึง plant-based milk มีราคาเพิ่มขึ้นอีก  จากรายงานที่ระบุว่าในปี 2023 ประมาณร้อยละ 20 ของประชากรสหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 44 ของครัวเรือนสหรัฐฯ หรือมากกว่า 56 ล้านครัวเรือน ซื้อ plant-based milk ซึ่งเป็นจำนวนที่ลดลงจาก 59 ล้านครัวเรือนในปี 2022 มีความเป็นไปได้สูงว่าเป็นผลมาจากสภาวะเงินเฟ้อที่ในปี 2023 เริ่มส่งผลกระทบรุนแรงต่อราคาสินค้าและไปลดการบริโภค plant-based milk

 

ช่องทางจำหน่าย
ช่องทางจำหน่ายหลักคือตลาดค้าปลีกประเภท off-trade channel ที่ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไปไม่ได้บริโภคสินค้าโดยทันที ซ่องทางนี้ที่สำคัญได้แก่ supermarket และ grocery store อย่างไรก็ดี การขายในช่องทาง on-trade channel ที่ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจะบริโภคสินค้าโดยทันที เช่น การขายในร้านอาหาร หรือ ร้านกาแฟ  กำลังมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2024 การขายในช่องทาง on-trade channel นี้ จะเติบโตจากปี 2021 ร้อยละ 21.2  ผู้ค้าในช่องทางนี้จะนำ plant-based milk ไปใช้เป็นส่วนผสมในการปรุงแต่งเครื่องดื่มหลายหลายชนิดให้บริการลูกค้า เช่น การนำไปผลิตเป็น cocktails, smoothies, เป็นส่วนผสมในกาแฟ และ espresso เป็นต้น

 

บริษัทผู้ผลิต plant-based milk
สหรัฐฯมีบริษัทผู้ผลิต และแบรนด์ plant-based milk จำนวนมาก แบรนด์สำคัญในตลาดสหรัฐฯ    คือ Blue Diamond Growers, Califia Farms LLC., Danone SA, Oatly Group AB และ Walmart Inc.

 

ผู้บริโภคและการบริโภค
ประมาณการณ์ว่าร้อยละ 47 ของคนอเมริกันบริโภค plant-based milk อย่างสม่ำเสมอ ข้อมูลของ Statista ในปี 2024 ระบุอัตราการบริโภค plant-based milk ในสหรัฐฯในปี 2024 ที่ 2.88 กิโลกรัมต่อคน คาดการณ์ว่าในระหว่างปี 2024 – 2029 อัตราการบริโภคต่อคนต่อปีจะเติบโตต่อเนื่อง จนถึง 3.77 กิโลกรัมต่อคนต่อปี

อย่างไรก็ดี งานวิจัยของ Modor Intelligence ในปีเดียวกัน ระบุอัตราการบริโภคที่สูงกว่าคือ 5.36 กิโลกรัมในปี 2024 และจะบรรลุ 8.05 กิโลกรัมในปี 2029

ผู้บริโภคที่มีแนวโน้มว่าจะบริโภค plant-based milk คือ
1. กลุ่มคนหนุ่มสาวสหรัฐฯ ซึ่งปกติแล้ว มีพฤติกรรมให้ความสำคัญต่อสุขภาพร่างกาย ให้ความสำคัญต่อการจำกัดและ/หรือลดการบริโภคอาหารกลุ่ม dairy และ ให้ความสำคัญต่อการรักษาสภาวะสิ่งแวดล้อม งานวิจัยตลาดของหลายองค์กรพบว่า กลุ่มคนอเมริกันที่นิยมบริโภค plant-based milk มากที่สุด เมื่อคิดเป็นสัดส่วนร้อยละของประชากรในกลุ่ม เรียงตามลำดับคือ Gen Z (ร้อยละ 40) millennials (ร้อยละ 38) Gen X (ร้อยละ 34) Baby Boomer และกลุ่ม Senior (ร้อยละ 21)

 

2. กลุ่มผู้บริโภครายได้สูง มีการศึกษาสูง เนื่องจากสินค้า plant-based milk เป็นสินค้าราคาสูงกว่าสินค้านมปกติทั่วไป

สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการจากสินค้า plant-based milk

1. สินค้า plant-based milk ที่เป็นสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีรสชาติแปลกใหม่ แต่ยังคงให้ความรู้สึกเสมือนว่ายังคง “กำลังดื่มนมวัว” ที่ผู้บริโภคคุ้นชินว่าคือ เครื่องดื่มสีขาวขุ่น มีความเข้มข้นคล้ายครีม มีรสชาติกลมกล่อมและรสชาติของพืชที่นำมาใช้ไม่โดนเด่นเหมือนรสชาติของ “น้ำผลไม้” และไม่มีกลิ่นที่รุนแรงเหมือนกลิ่นน้ำผลไม้

 

2. ราคาสินค้าที่ไม่แพงมากจนเกินไป   

 

ลักษณะสินค้าและบรรจุภัณฑ์ plant-base milk ที่ได้รับความนิยมบริโภค คือ

1.  non-organic

 

2.  สินค้าที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ผู้บริโภคมีความเห็นว่า บรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กมักจะมีราคาสูงกว่าสินค้าในบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่

 

3. มีรสชาติ (flavor) ปกติ (plain)

 

4. ถ้าเป็น soy milk ควรมีการเพิ่มรสหวาน (sweetened)

 

ประเภทของ plant-based milk ที่ได้รับความนิยมในตลาดสหรัฐฯ
งานวิจัยอัตราเติบโตของยอดขาย plant-based milk ในระหว่างปี 2018 – ปี 2022 ของนักวิชาการที่ Purdue University, College of Agriculture พบว่า Plant-base milk ที่ได้รับความนิยมบริโภคมากที่สุดในตลาดสหรัฐฯ คือ almond milk ในระยะ 5 ปี (2018 – 2022) มีส่วนแบ่งในยอดขาย plant-based milk รวมทั้งสิ้นร้อยละ 68.1 รองลงมาคือ oat milk มีส่วนแบ่งในยอดขายร้อยละ 12.2 coconut milk ร้อยละ 10.6 และ soy milk ร้อยละ 9

 

Almond milk เป็น plant-based milk ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีรสชาติแหลม หวาน และสามารถแทนนมวัวปกติในการปรุงอาหารหลายรายการหรือการดื่มสดๆได้เป็นอย่างดี ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งคือ เป็นหนึ่งใน plant-based ที่มีราคาต่ำที่สุด Almond milk มียอดขายสูงสุดในหมู่ plant-based milk ที่วางจำหน่ายในช่องทางค้าปลีก off-trade ที่เป็น supermarket มูลค่าตลาดประมาณ 1.6 พันล้านเหรียญฯ แม้ว่าจะมียอดขายสูงสุดในหมู่ plant-based milk แต่มีอัตราการเติบโตในระหว่างปี 2018    2022 ในอันดับที่สามรองจาก Oat Milk และ Coconut Milk  แบรนด์ที่ครองตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่าร้อยละ 40 คือ Blue Diamond รองลงมาคือแบรนด์ Silk

 

Oat Milk เป็น plant-based milk มีรสชาติเป็นกลางๆ และมีลักษณะของน้ำนมคล้ายนมวัว ได้รับความนิยมมากเป็นอันดับที่สองรองจาก Almond milk ทั้งนี้ oat milk มีมูลค่าตลาดประมาณ 600 ล้านเหรียญฯ ช่องทางค้าปลีกที่ oat milk จะขายดีที่สุดคือ on-tradeที่เป็น specialty coffee shops ที่ต้องการนำ oak milk ไปใช้เป็นส่วนผสมในกาแฟ อัตราการบริโภค oat milk เติบโตในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 167.4 ต่อปี oak milk เป็น plant-based milk ที่มีอัตราเติบโตของยอดขายสูงสุด คือเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.7 ในปี 2018 เป็นร้อยละ 21.0 ในปี 2022 แบรด์ที่ครองตลาดสหรัฐฯ คือ Planet ที่ในปี 2022/23 มียอดขายสูงถึงประมาณ 190 ล้านเหรียญฯ รองลงมาคือแบรนด์ Oatly, Chobani และ Silk

 

Coconut Milk ในระหว่างปี 2018 – 2022 coconut milk มีส่วนแบ่งในตลาด plant-based market ประมาณร้อยละ 10.6 ในระหว่างปี 2018 – 2022 มียอดขายสูงเป็นอันดับที่สองรองจาก Oat milk แม้ว่าความต้องการบริโภคแสดงแนวโน้มเติบโต แต่ Coconut milk มีข้อเสียเปรียบที่ชัดเจน คือ เป็นสินค้ามีปริมาณ saturated fat สูงกว่า plant-base milk อื่นๆ แต่มีโปรตีนในระดับต่ำกว่านมวัวหรือเกือบจะไม่มีโปรตีนเลย มีกลิ่นและรสค่อนข้างแรง และมีราคาต่อหน่วยสูงกว่า plant-based milk อื่นๆ

 

Soy Milk เป็น plant-based milk ที่มีราคาโดยเฉลี่ยต่ำเป็นอันดับที่สองรองจาก Almond milk ความนิยมบริโภค soy milk เริ่มตกต่ำในปี 2020 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยอดขาย soy milk ลดลงในอัตราร้อยละ 15.1 สาเหตุมาจากราคาที่เพิ่มสูงขึ้นและการแข่งขันของ oat milk ที่เป็นสินค้าใหม่ที่เข้าตลาดหลังจาก soy milk

 

กลยุทธ์การตลาด
เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูงมาก การวางกลยุทธ์การตลาดที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากที่ต้องพิจารณา ที่อาจรวมถึง

 

1. การออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เด่นสะดุดตา ทั้งในด้านรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์และฉลากสินค้า

 

2. การบรรยายสรรพคุณบนฉลากที่ดึงดูดความสนใจ ที่แสดงให้เห็นชัดเจนถึงคุณค่าอาหารหรือวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ที่เป็นความแตกต่างจากนมปกติและจาก plant-based milk คู่แข่ง

 

3. การผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆในเรื่องกลิ่น รสชาติ คุณภาพสินค้า โภชนาการ และอายุสินค้า เป็นต้น

 

ข้อกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม plant-based milk ในอนาคต
ในระยะไม่กี่ปีมานี้ สภาอุตสาหกรรมผู้ผลิต dairy milk หรือ National Milk Producers Federation – NMPF ได้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมาย/กฎระเบียบที่เช้มงวดและชัดเจนมากยิ่งขึ้น ของการใช้คำว่า “milk” โดยให้มีกำหนดคำจำกัดตามกฎหมายของคำว่า “milk” ว่าเป็นสินค้านมที่ผลิตจากสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัว เท่านั้น

 

ที่ผานมาจนถึงปัจจุบัน Dietary Guideline for Americans กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ จัดสินค้า fortified soy beverage เข้าไว้ในกลุ่ม dairy group เพราะมีธาตุอาหารหลักที่คล้ายคลึงกับที่พบใน dairy milk ดังนั้น ในขณะนี้การใช้คำว่า soy milk จึงสามารถทำได้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่ครอบคลุมถึง plant-based milk จากวัตถุดิบที่เป็นพืชอื่นๆ

 

ในปี 2024 FDA ได้ประกาศแนวทาง (guidance) สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตอาหารที่มาจากพืช ที่เรียกว่าGuidance for Industry: Foods Derived from Plants Produced Using Genome Editing สำหรับภาคอุตสาหกรรมใช้เป็นแนวปฏิบัติ ทั้งนี้ guidance นี้ไม่ใช่กฎหมายหรือกฎระเบียบ สรุปแนวทางนี้ได้ว่า USFDA ยอมให้ใช้คำว่า “milk” บนฉลากสินค้า plant-based beverage/milk ได้ ถ้ามีการระบุเพิ่มเติมไว้อย่างชัดเจนถึงแหล่งที่มาของพืชที่เป็นวัตถุดิบ และแนะนำให้มีการประกาศข้อความปฏิเสธ (disclaimer) ไว้บนฉลากสินค้าด้วยว่า สินค้า plant-based milk ดังกล่าว ไม่มีคุณค่าทางอาหารเหมือน dairy milk

 

การห้ามสินค้าที่ผลิตจากพืชใช้คำว่า “milk” เกิดเป็นข้อถกเถียงกันมานานจนถึงปัจจุบันที่ยังไม่มีข้อยุติ และ NMPF ยังคงดำเนินความพยายามที่ผลักดันให้รัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมาย Dairy Pride Act ซึ่งจะไปปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย Federal Food, Drug, and Cosmetic Act – FD&C Act ให้มีการระบุห้ามใช้คำที่ถูกกำหนดเงื่อนไขไว้แล้วว่าเป็นเฉฑาะสำหรับ dairy product ไปใช้กับสินค้าที่เป็น non-dairy products ทุกชนิด

 

การใช้คำใดๆในการเรียกชื่อสินค้าและระบุชื่อไว้บนฉลากสินค้า เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในทางกฎหมายต่อการวางตลาดสินค้าในสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำฉลากสินค้า การทำการตลาด และการโฆษณาส่งเสริมสินค้า ดังนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเฝ้าติดตามผลการทำความพยายามของ NMPF ในการบังคับใช้คำว่า Milk กับนมที่มาจากสัตว์เท่านั้น

 

ปัจจุบันบริษัท MALK Organics LLC ในรัฐเท๊กซัส ผู้ผลิตสินค้า plant-base milk ได้นำข้อขัดแย้งในเรื่องนี้มาเป็นกลยุทธ์ทางการตลาด สร้างความแปลกใหม่และจุดเด่นให้กับสินค้าของตน ด้วยการเรียกสินค้าของตนว่า MALK แทนคำว่า Milk วางตำแหน่งสินค้าของตนเป็นระดับ premium วางตลาดในร้านค้าปลีกระดับ premium เช่น Wholefood, Sprouts, Publix, Natural Grocers และ Erewhon เป็นต้น

 

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครลอสแอนเจลิส มีความเห็นว่า Rice milk เป็น plant-based milk ที่อาจมีศักยภาพมากที่สุดสำหรับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากประเทศไทยมีวัตถุดิบข้าว เป็นจำนวนมาก การนำข้าวมาผลิตเป็น Rice milk เป็นการเพิ่มช่องทางในการสร้างมูลค่าให้แก่ข้าวไทย

 

แม้ว่า Rice milk จะมีส่วนแบ่งในตลาด plant-based milk สหรัฐฯ ในระดับต่ำ แต่การบริโภคแสดงแนวโน้มเติบโต บริษัทวิจัยตลาด Cognitive Market Research ประเมินมูลค่าตลาด rice milk ของสหรัฐฯ (รวมทั้งที่เป็น fluid และที่เป็น powder) ในปี 2024 ไว้ที่ 225.72 ล้านเหรียญฯ และคาดการณ์อัตราเติบโตที่ร้อยละ 4.2 ต่อปี ดังนั้น เมื่อถึงปี 2032 คาดการณ์ว่ายอดขายจะเท่ากับ 157.2 ล้านเหรียญฯ

 

เงื่อนไขที่สนับสนุนการเติบโตของตลาด Rice milk สหรัฐฯคือ การเติบโตของความต้องการบริโภคของผู้บริโภคกลุ่ม lactose-intolerant และกลุ่มที่มีอาการแพ้อาหารกลุ่มถั่ว เนื่องจากข้าวไม่มีสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ ผู้บริโภคมีความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในเรื่องโภชนาการทางอาหารของข้าว Rice milk สามารถนำไปเป็นส่วนผสมในการปรุงแต่งอาหารทั้งคาวหวานได้หลายรายการ และการปลูกข้าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำกว่าพืชกลุ่มอื่นที่ถูกนำมาใช้ผลิต plant-based milk

 

ตลาดสหรัฐฯมี Rice milk วางจำหน่ายหลากหลายแบรนด์และประเภทสินค้า ทั้งที่เป็นน้ำและที่เป็นผ่ง ทั้งที่ไม่มีการปรุงแต่งรส และที่ปรุงแต่งรสเป็น vanilla, horchata (นมที่ผลิตจากข้าวหรืออัลมอนด์บด ที่มีการปรุงแต่งให้มีรสหวาน) ทั้งที่เป็น non-GMO และ certified organic

 

ปัจจุบันเกษตรกรปลูกข้าวในสหรัฐฯบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Texas หนึ่งในแหล่งผลิตข้าวสำคัญของสหรัฐฯ ได้หันมาผลิต rice milk ออกวางตลาดแล้ว

 

ที่มา:
1. Purdue University, College of Agriculture: “An Analysis of U.S. Dairy and Non-Dairy Milk Demand”, by Miyeon Son และ Jayson Lusk, June 29, 2023
2. Statista: “U.S. plant-based milks – statistics & facts”, August 26, 2024
3. Good Food Institute: “U.S. retail market insights for the plant-based industry”

4. Innova Market Insights: “Plant-based Milk Trends in the US and Canada”, February 16, 2024
5. Statista: “Per-capita consumption of milk substitutes in the U.S. 2019-2029”, by Nils-Gerrit Wunsch, June 21, 2024
6. The Food Institute: “Plant-based Milk Brands Take Aim at Coffee Category”, by Virginia Lee, April 23, 2024

7. The Food Institute: “Innovation and Inflation: Dual Forces Shaping the Plant-Based Milk Market”, by Pat Mulhern, June 18, 2024
8. Davis Wright Tremaine LLP: “Making Sense of FDA’s Draft Guidance on Plant-Based Milk Alternatives”, by Kimberly Bousquet และ Allison B. Condra, March 13, 2023
9. Mordor Intelligence: “United States Non-Dairy Milk Market Size & Share Analysis-Growth Trends & Forecasts up to 2029”
10. FMI (Future Market Insights Inc.): “Rice Milk Market Outlook (2023 to 033)
11. Market Research Futdure: “US rice Milk Market”, December 2023
12. Cognitive Market Research: “North America Rice Milk Market Report 2024”, August

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ตลาด Plant-based Milk สหรัฐอเมริกา

Login