หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และมีน้ำตาลต่ำในโรมาเนีย มีแนวโน้มเติบโตดีในปี 2566

ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และมีน้ำตาลต่ำในโรมาเนีย มีแนวโน้มเติบโตดีในปี 2566

 ข่าวเด่นประจำสัปดาห์ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ วันที่ 5-9 มิถุนายน 2566
www.thaitradebudapest.hu / Facebook Fanpage: @ThaiTradeBudapest 

ขอขอบคุณภาพประกอบจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบูคาเรสต์

 

ข้อมูลจากบริษัท Euromonitor International รายงานว่า ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Drink หรือ Soft Drink) ในโรมาเนียขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อาทิ ได้แก่ น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำอัดลม หัวน้ำเชื้อ น้ำผลไม้ กาแฟพร้อมดื่ม ชาพร้อมดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มเกลือแร่สำหรับนักกีฬา (Sport Drink) เป็นต้น ส่วนหน่วยงาน Hellenic Federation of Enterprises ประเทศกรีซ วิเคราะห์ว่า มูลค่าการบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (ไม่รวม Food service) ในปี 2566 คาดว่าจะเติบโตที่ 8.1% YoY และมีมูลค่า 1.08 หมื่นล้านเลย์ (ประมาณ 8.12 หมื่นล้านบาท) ในขณะที่ในช่วง 5 ปีข้างหน้า มูลค่าการบริโภคเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.6% โดยในปี 2570 คาดว่าจะมีมูลค่าการบริโภคสูงถึง 1.38 หมื่นล้านเลย์ (ประมาณ 1.04 แสนล้านบาท)

 

ในบรรดาประเภทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ น้ำดื่มบรรจุขวดและน้ำอัดลม ยังคงเป็นตัวเลือกเครื่องดื่มยอดนิยมในโรมาเนีย โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 ช่วงปี 2563 – 2564 นักวิเคราะห์การตลาดหลายฝ่ายคาดว่ายอดขายน้ำดื่มจะกลับมาฟื้นตัวในปี 2566 อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญ คือราคาพลังงานเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนและราคาขายให้กับผู้บริโภค โดยเฉพาะน้ำอัดลมที่มีราคาสูงเริ่มไม่เป็นที่นิยมเช่นเดิม ในขณะที่เครื่องดื่มชูกำลังแบบน้ำตาลน้อย น้ำดื่มผสมวิตามินประเภท Functional Drink เครื่องดื่มเกลือแร่ และน้ำผลไม้ 100% เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคมองว่าหากจะต้องจ่ายมากขึ้่นแล้ว ก็จะเลือกสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน อีกทั้ง ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพและตระหนักถึงผลกระทบของการเลือกบริโภคที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

ผู้เล่นหลักในตลาด

ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในโรมาเนียมีผู้เล่นรายใหญ่จำนวนหนึ่งครองตลาดอยู่ โดยผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดในตลาดประจำปี 2564 คือ Coca-Cola HBC Romania เจ้าของแบรนด์น้ำอัดลมยี่ห้อ Coca-Cola มีส่วนแบ่งการตลาดในการขายสินค้าช่องทาง Off-trade สูงถึง 21.4% ตามด้วยบริษัท Romaqua Group SA เจ้าของแบรนด์น้ำดื่มบรรจุขวด Borsec ที่ครองส่วนแบ่งการตลาด 16.4% และบริษัท Quadrant-Amroq Beverages SA เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำอัดลมยี่ห้อ Pepsi ในโรมาเนีย มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 7%

 

ด้านน้ำผลไม้ แบรนด์ที่เป็นที่นิยมสูงในตลาดโรมาเนีย ได้แก่ Rauch, Agricola, และ Hochland ที่ต่างก็ได้ตระหนักถึงแนวโน้มการบริโภคที่เน้นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ จึงได้ออกไลน์สินค้าเพิ่มเติมเป็นน้ำผักผลไม้ออร์แกนิค และน้ำผักผลไม้เสริมวิตามินและแร่ธาตุจำเป็น (Functional Juice)

 

ด้านน้ำดื่มบรรจุขวด แบรนด์ที่เป็นที่นิยมในตลาดโรมาเนีย ได้แก่ น้ำดื่มยี่ห้อ Dorna, Borsec, Bucovina, Aqua Carpatica, Nestlé Pure Life ทั้งนี้ น้ำดื่มบรรจุขวดประเภทที่เป็นที่นิยมในโรมาเนียอันดับแรก คือ น้ำเปล่า (Still Water) มียอดจำหน่ายทั่วประเทศในปี 2565 ที่ 1,594.6 ล้านลิตร ส่วนน้ำดื่มอัดแก๊ซ (Carbonated Water) ครองอันดับสอง มียอดจำหน่ายทั่วประเทศในปี 2565 ที่ 698.2 ล้านลิตร

 

ช่องทางการจำหน่ายสินค้า

ด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้าแบบ Off-trade หรือ Off-premise (การจําหน่ายเครื่องดื่มแบบให้ผู้บริโภคซื้อกลับไปดื่มที่บ้าน) พบว่า Mass Merchandise Store หรือร้านค้าปลีกที่จำหน่ายสินค้าหลากหลายจำนวนมากที่อยู่ใกล้ย่านชุมชนเป็นช่องทางการจำหน่ายเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่ขายดีที่สุด มีส่วนแบ่งสูงถึง 98.3% ทั้งนี้ ตัวอย่างผู้เล่นหลักในตลาดค้าปลีกโรมาเนีย ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า Auchan, Carrefour, Kaufland, Lidl, Metro, Penny, Profi, Mega Image เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการซื้อขายสินค้าผ่าน E-commerce ในปี 2565 จะมีส่วนแบ่งการตลาดเพียง 1.6% แต่ก็กำลังได้รับความนิยมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคำสั่งซื้อเครื่องดื่มที่มีขนาดใหญ่หรือปริมาณมาก เนื่องจากการขนส่งสินค้าถึงบ้านโดยบริษัทขนส่งเอกชนช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค โดยแพลตฟอร์ม E-commerce ที่มีสินค้าจำหน่ายหลายประเภท ทั้ง Food และ Non-food ที่เป็นที่นิยมสูงสุดในโรมาเนีย ได้แก่ emag.ro และ compari.ro

 

ด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้าแบบ On-trade หรือ On-premise (การจําหน่ายเครื่องดื่มแบบให้ผู้บริโภคนั่งดื่มในร้าน) ได้รับแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดช่วงต้นปี 2565 ทำให้ผู้บริโภคในโรมาเนียเริ่มออกมารับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ทว่ายังมีสัดส่วนการจำหน่ายสินค้าน้อยกว่าช่องทาง Off-trade

 

เทรนด์สินค้ามาแรงและแนวโน้มที่สำคัญ

  • สินค้าคุณภาพสูงที่ดีต่อสุขภาพ: ผู้บริโภคชาวโรมาเนียนิยมผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ดีต่อสุขภาพ และมีรสชาติที่แปลกใหม่ นำไปสู่การขยายตัวของยอดขายสินค้าเครื่องดื่มแคลอรี่ต่ำ ปราศจากน้ำตาลหรือมีน้ำตาลน้อย และผลิตภัณฑ์ที่เน้นการใช้ส่วนผสมธรรมชาติที่มีประโยชน์เพิ่มเติม เช่น เสริมวิตามินและแร่ธาตุ
  • บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม: เมื่อผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงผลกระทบของพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บริษัทผู้จำหน่ายจึงตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ด้วยการแนะนำตัวเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ภาชนะที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และใช้บรรจุภัณฑ์แบบที่สามารถเก็บกลับมารีไซเคิลได้
  • สินค้า House Brand หรือ Private Label: ผู้บริโภคระดับกลางลงไป โดยเฉพาะผู้บริโภคในเขตชนบท ให้ความสำคัญกับราคาขาย (Price Sensitive) อย่างมาก ฉะนั้นสินค้าที่มีอาจจะไม่ได้มาจากแบรนด์ที่มีชื่อเสียง ทว่ามีคุณภาพใกล้เคียงกันและราคาย่อมเยากว่า จึงเริ่มเป็นที่สนใจมากขึ้น ด้านปัจจัยขับเคลื่อนจากผู้ผลิต ผู้เล่นในตลาดค้าปลีกจำนวนมากหันมาลงทุนผลิตสินค้า House Brand/Private Label มากขึ้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นในราคาที่แข่งขันได้เช่น ในปี 2564 ห้างสรรพสินค้า Auchan เปิดตัวสินค้าใหม่ราว 2,000 รายการในแบรนด์ของตน ทั้งนี้ การทำตลาด House Brand/Private Label ของห้างสรรพสินค้าเองนั้นยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากกำไรส่วนเกิน ซึ่งมักมีจำนวนมากกว่ารายได้หรือส่วนแบ่งที่ได้รับจากการขายสินค้าของผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์แบรนด์อื่น เพราะห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้าที่วางขายนั้นไม่ต้องเสียค่าการตลาดเหมือนแบรนด์ที่ต้องพึ่งการจำหน่ายหน้าร้านผ่านธุรกิจค้าปลีก
  • สินค้าพรีเมี่ยม: ผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไปหันมาให้ความสนใจกับเครื่องดื่มธรรมชาติและออร์แกนิกมากขึ้น แม้จะมีราคาสูงกว่าสินค้าปกติก็ตาม ในปี 2565 บริษัท Aqua Carpatica เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำดื่มบรรจุขวดยี่ห้อ Aqua Carpatica ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาดน้ำดื่มบรรจุขวดในโรมาเนีย เห็นช่องทางโอกาสดังกล่าว จึงเปิดตัวน้ำแร่อัดลมระดับพรีเมี่ยม ยี่ห้อ Aqua Carbo ในกระป๋องอลูมิเนียมขนาด 330 มล. โดยขายความเป็นธรรมชาติ รสชาติดี และประกอบด้วยแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย นอกจากนี้ ด้านแพ็คเกจจิ้ง บริษัทฯ เลือกใช้บรรจุภัณฑ์กระป๋องเครื่องดื่มที่ทำจากโลหะ เนื่องจากอะลูมิเนียมสามารถนำมารีไซเคิลได้ไม่จำกัดครั้ง และรักษาความเย็นของเครื่องดื่มได้อีกด้วย

 

โดยสรุปแล้ว เครื่องดื่มชูกำลังแบบลดน้ำตาล น้ำดื่มบรรจุขวด น้ำแร่ธรรมชาติ เครื่องดื่มเกลือแร่ และน้ำผลไม้ 100% กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในตลาดโรมาเนีย เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนมากต้องการสินค้าที่ช่วยเสริมสุขภาพ และยินดีที่จะจ่ายสินค้าที่มีคุณภาพในราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ย ในขณะที่เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงจะมีราคาสูงขึ้นและเป็นที่นิยมน้อยลง

 

ความท้าทายสำคัญในตลาด

ปัจจัยสำคัญต่อราคาสินค้า ก็หนีไม่พ้นราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือภาวะสงครามในยูเครนที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อราคาอุปทานและห่วงโซ่โลจิสติกส์ของสินค้าสำคัญทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อต้นทุนการผลิตสินค้า

 

นอกจากนี้ การบังคับใช้ภาษีน้ำตาลก็เป็นอีกความท้าทายสำคัญสำหรับตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ในโรมาเนีย กล่าวคือ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลโรมาเนียปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับกลุ่มธุรกิจ HoReCa เช่น โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ และธุรกิจจัดเลี้ยง จาก 5% เป็น 9% ส่งผลให้เครื่องดื่มที่มีรสหวานที่จำหน่ายโดยผู้ประกอบการธุรกิจ HoReCa ก็จะมีราคาสูงขึ้น ปัจจัยข้างต้นเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการหันไปผลิตเครื่องดื่มประเภทอื่นๆ เช่น เครื่องดื่มน้ำตาลต่ำหรือปราศจากน้ำตาล เครื่องดื่มเสริมเกลือแร่ เครื่องดื่มชูกำลัง มากขึ้น นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่ม ต้องเก็บค่าธรรมเนียมมัดจำขวดเครื่องดื่มพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และกระป๋องเครื่องดื่มที่ทำจากอะลูมิเนียม ในอัตรา 0.50 เลย์ (ประมาณ 0.1 ยูโร หรือ 3.75 บาท) ต่อเครื่องดื่ม 1 ขวดหรือ 1 ใบ ซึ่งจะกระทบต่อราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 0.5 เลย์ต่อสินค้าเครื่องดื่ม 1 รายการ

 

บทวิเคราะห์/ข้อคิดเห็นของ สคต.

สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ จึงเห็นว่าเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์ที่มีน้ำตาลต่ำ เสริมแร่ธาตุ และใช้บรรจุภัณฑ์ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นในโรมาเนีย นอกจากนี้ ลักษณะอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่มในโรมาเนียที่มีการแบ่งส่วนตลาดเฉพาะทางสูง (Highly Fragmented Industry) เปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการ หรือขยายกิจการของตนในโรมาเนียได้ง่าย จึงเป็นโอกาสทางการค้าที่น่าสนใจสำหรับสินค้าไทย ประเภทเครื่องดื่มสมุนไพร น้ำชา น้ำผลไม้พร้อมดื่มและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ในการทดลองเข้าตลาดโรมาเนีย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องก่อนพิจารณาส่งออกมายังโรมาเนีย อาทิ

  • ระเบียบทั่วไปว่าด้วยอาหาร (General Food Law) ของสหภาพยุโรป (Regulation (EC) No 178/2002 of 28 January 2002)
  • ระเบียบว่าด้วยฉลากสินค้าอาหาร (Regulation (EC) No. 1169/2011)
  • ระเบียบว่าด้วยบรรจุภัณฑ์ และของเสียที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ (Directive 94/62/EC)
  • ระเบียบว่าด้วยสุขอนามัยอาหาร ในส่วนที่เกี่ยวข้องการจัดการอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ (Commission Regulation (EU) 2021/382) เป็นต้น
  • ด้านอัตราภาษี ผู้ประกอบการจะต้องตรวจสอบว่าสินค้าของตนอยู่ภายใต้พิกัดศุลกากร (Harmonized Code) ประเภทใด แล้วนำข้อมูลดังกล่าวไปตรวจสอบอัตราศุลกากรในเว็บไซต์สำนักงานศุลกากรของสหภาพยุโรป ทั้งนี้ โรมาเนียเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป จึงจะใช้อัตราอากรเหมือนกันกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ในสหภาพยุโรป ทว่าจะมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ประเทศโรมาเนียกำหนด VAT สินค้าเครื่องดื่มทื่มีน้ำตาลเป็น 19% ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้น
  • ด้านเอกสารรับรองที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากสินค้าเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์มิใช่สินค้าที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร ผู้ประกอบการจะต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกําเนิดสินค้า (Certificate of Origin) จากกรมการค้าต่างประเทศ เพื่อใช้ในการรับรองสินค้าของผู้ส่งออกว่าส่งออกมาจากประเทศใด และปฏิบัติได้ถูกต้องตามกฎที่ว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า รวมถึงขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์ (Certificate of Free Sale) และใบอนุญาตการผลิตและจำหน่ายสินค้าเครื่องดื่มจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
  • ด้านคุณภาพสินค้า ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาการใช้สารกันบูดหรือวัตถุเจือปนอาหาร โดยศึกษาข้อมูลได้จากระเบียบสหภาพยุโรป เช่น Regulation (EC) No 178/2022 ว่าด้วยความปลอดภัยของอาหารและการใช้สารกันเสีย (Preservative) ในผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้นำเข้า ในตลาดสหภาพยุโรปจำนวนหนึ่ง สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ได้รับข้อมูลว่าสินค้าไทยที่ส่งออกมาตลาดสหภาพยุโรปควรมีอายุอย่างน้อย 1-1.5 ปี เนื่องจากต้องเผื่อเวลาสำหรับการขนส่งทางเรือ และการเก็บสินค้าในโกดังด้วย ส่วนช่วงเวลาทองของการขายเครื่องดื่มพร้อมดื่ม คือช่วงฤดูร้อน (เดือนพฤษภาคม-เดือนสิงหาคม) ผู้ประกอบการจึงควรใช้ข้อมูลดังกล่าวในการวางแผนการขนส่งสินค้าและสต็อกสินค้า

 

เมื่อพิจารณาข้อมูลสถิติการค้าระหว่างประเทศ พบว่าในปี 2564 มีการส่งออกสินค้าจากไทยไปโรมาเนียภายใต้พิกัด 2202 (น้ำ รวมถึงน้ำแร่และน้ำอัดลมที่เติมน้ำตาลหรือสารที่ทำให้หวานอื่นๆ หรือที่ปรุงกลิ่นรส และเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ แต่ไม่รวมถึงน้ำผลไม้หรือน้ำพืชผัก ตามประเภทที่ 20.09 (น้ำผลไม้หรือน้ำพืชผัก) เป็นมูลค่า 388,915 บาท ส่วนในปี 2565 พบว่า สินค้าภายใต้พิกัดศุลกากร 2009 (น้ำผลไม้ (รวมถึงเกรปมัสต์) และน้ำพืชผักที่ไม่ได้หมักและไม่เติมสุรา จะเติมน้ำตาลหรือสารที่ทำให้หวานอื่นๆ หรือไม่ก็ตาม) มีมูลค่าการส่งออกจากไทยไปโรมาเนีย 20,165,435 บาท ทั้งนี้ สคต. ตั้งข้อสังเกตว่าสินค้าไทยส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในโรมาเนียนั้น นำเข้ามาจากประเทศอื่นในสหภาพยุโรปอีกต่อหนึ่ง ทำให้ยอดส่งออกจากไทยมาโรมาเนียโดยตรงนั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

 

นอกจากนี้ จากการสำรวจตลาดกรุงบูคาเรสต์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศโรมาเนีย เมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 พบว่า ร้านขายสินค้าเอเชียในกรุงบูคาเรสต์ มีการจำหน่ายเครื่องดื่มน้ำผลไม้พร้อมดื่มบรรจุกระป๋องยี่ห้อ FOCO และมีร้านขายเครื่องดื่มประเภทน้ำหวานชงและชานมไข่มุก 2 ร้านที่บริหารโดยผู้ประกอบการไทยที่อาศัยอยู่ในกรุงบูคาเรสต์ ได้แก่ ร้าน Zebra Cat และร้าน Dolly Bubble Cha Thai ทั้งนี้ จากการสอบถามผู้ประกอบการไทย สคต. ได้ทราบว่าชาไทยและน้ำหวานชงที่ใช้สินค้าแบรนด์ไทย เช่น Hell’s Blue Boy เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวโรมาเนีย ทว่าผู้ประกอบการอาจจะต้องปรับลดปริมาณความหวาน เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวโรมาเนียมากขึ้น

 


 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยในโรมาเนีย สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ ขอแนะนำงานแสดงสินค้าด้านอาหารและเครื่องดื่มที่น่าสนใจจำนวน 2 งาน ที่มีกำหนดจัด ณ ศูนย์ประชุม ROMEXPO กรุงบูคาเรสต์ในปี 2566 ได้แก่

  1. Indagra Food 2023 ระหว่างวันที่ 25-29 ตุลาคม 2566
  2. Foodservice & Hospitality Expo 2023 ระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน 2566

หากผู้ประกอบการไทยรายใดสนใจไปแสดงสินค้า/บริการในงาน สามารถติดต่อ สคต. ณ กรุงบูดาเปสต์ เพื่อประสานงานกับผู้จัดงานต่อไป

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login