หน้าแรกTrade insightถั่วเหลือง > ตลาดอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่นภายหลังการระบาดของโควิด 19

ตลาดอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่นภายหลังการระบาดของโควิด 19

ตลาดอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่นภายหลังการระบาดของโรคโควิด 19

ตลาดสินค้าอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่น ยังคงแสดงแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปี 2020 ซึ่งเกิดการระบาดของโรคโควิด 19 การผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่นค่อนข้างทรงตัว หลังจากนั้นเมื่อสถานะการระบาดได้คลี่คลายลง ปรากฏว่า การผลิตได้ขยายตัวทั้งในปี 2021 และ 2022 กล่าวคือ ในปี 2021 การผลิตในประเทศได้ขยายตัวจากปี 2022 ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 4.8 สำหรับปริมาณและมูลค่าตามลำดับ  ส่วนในปี 2022 ตลาดอาหารแช่แข็งในญี่ปุ่นยังคงขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.7 และร้อยละ 4.0  คิดเป็นปริมาณ 1.6 ล้านตัน มูลค่า 7.6 แสนล้านเยน (ประมาณ 1.9 แสนล้านบาท)  และยังเห็นได้ว่าทั้งปริมาณและมูลค่าได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าเมื่อ 10 และ 20 ปีก่อนหน้าด้วย

เมื่อพิจารณาสินค้าอาหารแช่แข็งตามประเภท  สินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งมีปริมาณสูงสุด โดยคิดเป็นร้อยละ 89.9 ของปริมาณการผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งทั้งหมด นอกจากนั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ว่าในปี 2020 ซึ่งเริ่มเกิดการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด 19 ปริมาณการผลิตได้ลดลง กล่าวคือ ลดลงจากปริมาณ 1.42 ล้านตันในปี 2019 เป็น 1.39 ล้านตันในปี 2020 แต่หลังจากนั้น ในปี 2021 การผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.43 ล้านตัน และเป็น 1.44 ล้านตันในปี 2022

แนวโน้มตลาดสินค้าอาหารแปรรูปแช่แข็ง

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งการออกนอกบ้านของประชาชนถูกจำกัด ทำให้ความต้องการสินค้าอาหารแช่แข็งประเภทอาหารสำเร็จรูปมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากความสะดวกสบายและสามารถเก็บรักษาได้นาน  อาหารแปรรูปแช่แข็งที่ได้รับความนิยมแต่เดิมมา เช่น พิช่า กราแต็ง  อาหารประเภทข้าวเช่น ข้าวผัด พิลาฟ (ข้าวอบ) ฯลฯ อาหารแช่แข็งประเภทกับแกล้ม เช่น ขนมจีบ เกี๊ยวซ่า  ต่อมาในช่วงการกักตัวในบ้าน บริษัทผู้ผลิตได้ออกจำหน่ายสินค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้นหลายชนิด เช่น อาหารกล่องแช่แข็ง หรือ Bento  อาหารแช่แข็งประเภทเส้น (เช่น ราเมน ยากิโซบะ ฯลฯ ) และขนมแช่แข็ง ฯลฯ และแม้ว่าการระบาดของโรคโควิดชะลอลง แต่ความต้องการสินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งก็ยังแสดงแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับสินค้าอาหารแช่แข็งอื่นๆ

สินค้าอาหารแช่แข็งประเภทใหม่ๆ ที่ดึงดูดความสนใจและกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคในตลาดญี่ปุ่น ได้แก่

  • สินค้าอาหารจานเดียว (one plate) หรือ Bento แช่แข็ง เป็นสินค้าที่กำลังถูกจับตามองอย่างมาก เช่น สินค้าของบริษัท Nippn Cooporation (nippn.co.jp) ภายใต้แบรนด์ Yokubari Plate ซึ่งเป็นเมนูอาหารตะวันตก เช่น นโปลิตัน (Napolitan หรือ สปาเก็ตตี้ซ๊อสมะเขือเทศ) พร้อมแฮมเบอร์เกอร์ (Hamburger Steak) ฯลฯ และแบรนด์ Yokubari Gozen ซึ่งเป็นเมนูอาหารญี่ปุ่นและเอเซีย เช่น ข้าวผัดบ๊วยพร้อมไก่ผัดกระเพรา ฯลฯ สินค้าประเภทนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย เนื่องจากมีความหลากหลายของเมนู และปริมาณที่พอเหมาะกับหนึ่งมื้อ อีกทั้งความสะดวกและการประหยัดเวลาในการเตรียมโดยการอุ่นในไมโครเวฟเท่านั้น ทำให้ยังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะผ่านพ้นช่วงการกักตัวที่บ้านไปแล้วก็ตาม
  • อาหารประเภทเส้นหมี่สไตล์จีน ที่ผ่านมามักเป็นประเภทแช่เย็น (Chilled food) แต่ในปัจจุบันได้มีประเภทแช่แข็งออกจำหน่าย เช่น บะหมี่เย็น หรือ Hiyashi Chuka ของบริษัท Nichirei Foods (nichireifood.co.jp) ซึ่งเริ่มวางจำหน่ายเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2022 และสามารถจำหน่ายได้มากกว่า 2 ล้านกล่องภายในหกเดือน โดยมีจุดเด่น ที่เมื่อนำไปอุ่นโดยใช้ไมโครเวฟเพียง 2 นาที 50 วินาทีจะได้เป็นบะหมี่เย็น แต่ไม่ร้อน เนื่องจากเป็นเส้นบะหมี่ที่เคลือบด้วยเกล็ดน้ำแข็ง หลังจากผ่านความร้อนของไม่โครเวฟ เกล็ดน้ำแข็งจะยังคงเหลืออยู่บนเส้น เมื่อนำออกจากไมโครเวฟและราดด้วยซ็อสถั่วเหลืองและคลุกเคล้ากับเส้นหมี่แล้ว จะได้เป็นบะหมี่เย็น อีกทั้งซ๊อสถั่วเหลืองที่มีบรรจุในซองมีระดับน้ำตาลที่พอเหมาะเพื่อให้ซ๊อสไม่แข็งตัวในขณะที่ก็ไม่ทำให้ซ๊อสหวานเกินไป ส่วนอีกบริษัท คือ  Kenmin Foods Co., Ltd. (www.kenmin.co.jp/) ก็มีสินค้ายอดนิยม ได้แก่ “เส้นหมี่ผัดแช่แข็ง Kenmin 190 กรัม” ซึ่งบรรจุในแพ็คเกจที่มีความหนาเพียง 1.5 ซม. ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการเก็บในช่องแช่แข็งของตู้เย็น และยังเป็นอาหารแคลอรี่ต่ำ จึงเป็นที่ชื่นขอบของผู้ที่ใส่ใจกับสุขภาพที่ทำงานจากบ้าน ซึ่งมักรับประทานมากเกินไป
  • ขนมแช่แข็งก็เป็นสินค้าใหม่ทีได้รับความนิยม เช่น ของบริษัท Nisshinseifun weina (nisshin-seifun-welna.com) ได้วางจำหน่าย Smart Table Mini Churros ซึ่งสามารถอุ่นให้ร้อนได้ด้วยเครื่องปิ้งขนมปัง มักนิยมรับประทานเป็นอาหารเช้าหรือของหวานหลังอาหาร โดยเฉพาะในช่วงที่ต้องกักตัวหรือทำงานที่บ้าน
  • อาหารแช่แข็งประเภทกับข้าว (Side dishes frozen food) ซึ่งเป็นกับข้าวแยกเป็นแต่ละประเภท ไม่ได้เป็น one plate หรือ Bento เหมือนประเภทที่ (1) สินค้าอาหารประเภทนี้มีจำหน่ายมาแต่เดิมแล้ว เช่น ไก่ทอดนักเก็ต ครอแก็ต (Croquette) ฯลฯ ซึ่งแม่บ้านมักจะใช้เป็นของเคียงสำหรับอาหารกล่องหรือ Bento ให้ลูกหรือสามีนำไปรับประทานที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน  ปัจจุบันได้มีการพัฒนาทั้งด้านรสชาติและประเภทที่หลากหลายมากขึ้นเป็นกับข้าวเต็มรูปแบบ อาทิ บริษัท Family Mart ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ได้วางจำหน่ายสินค้ากับข้าวปรุงสำเร็จแช่แข็ง เป็น Private Brand ภายใต้ชื่อ Famimaru KITCHEN” ในร้านกว่า 16,000 สาขา โดยมีเมนูหลากหลาย เช่น กุดช่ายผัดตับ ผัดผักรวมมิตร ฯลฯ  ผู้บริโภคสามารถเลือกประเภทที่ชอบเพื่อรับประทานด้วยกันหลายๆอย่างได้ และจากผลของการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ทำให้อาหารปรุงสำเร็จแช่แข็งเหล่านี้มีรสชาติและกลิ่นหอมไม่ต่างกับอาหารปรุงสด

การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค

ในช่วงการระบาดของโรคโควิด การซื้ออาหารมารับประทานที่บ้านเป็นความจำเป็นที่เกิดจากการต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งอาหารแช่แข็งโดยเฉพาะอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งที่ไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียม เพียงอุ่นให้ร้อนก็รับประทานได้ทันที และยังสามารถซื้อมาเก็บไว้ได้นาน จึงเป็นที่นิยมของผู้บริโภคอย่างมาก แม้ว่าเมื่อสถานะการโรคโควิดดีขึ้น ความต้องการของผู้บริโภคก็มิได้ลดลง แต่กลับเพิ่มมากขึ้นด้วย อีกทั้งยังมีปัจจัยเสริมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตร์ของผู้บริโภค กล่าวคือ จากผลสำรวจของ Ministry of Internal Affairs พบว่า รายได้รายเดือนโดยเฉลี่ยของคู่สมรสแสดงการเพิ่มขึ้นเรื่อยมาตามลำดับ คือจาก 58,000 เยน ณ สิงหาคม 2017 เป็น 83,000 เยน ณ สิงหาคม 2021 และเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 เยน ณ สิงหาคม 2022 ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าสู่ตลาดแรงงานของผู้หญิงในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น สามีภรรยาที่ทำงานด้วยกันทั้งคู่กลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน ดังนั้น การประหยัดเวลาเตรียมอาหารจึงเป็นสิ่งกระตุ้นความต้องการสินค้าอาหารแช่แข็งประเภทปรุงสำเร็จให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และการที่มีสินค้าหลากหลายประเภทมากขึ้นก็ยังทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องยุ่งยากกับการคิดเมนูอาหารในแต่ละวัน ยิ่งไปกว่านั้นด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่พัฒนาขึ้นอย่างมาก ทำให้แม้จะเป็นอาหารแช่แข็งก็มีรสชาติอร่อย เหมือนกับอาหารที่รับประทานที่ร้าน เปลี่ยนความคิดเดิมๆของผู้บริโภคที่มักเข้าใจว่าอาหารแช่แข็งไม่อร่อย

นอกจากนั้น ไม่เพียงแต่การบริโภคในบ้าน สินค้าอาหารแช่แข็งยังเริ่มได้รับความนิยมในกลุ่มนักแคมป์ปิ้งอีกด้วย เนื่องจากความสะดวกในการจัดเตรียมอาหาร และที่สำคัญคือมีความสด รสชาติและกลิ่นหอมมากกว่าสินค้าอาหารประเภท Freeze dry (อาหารที่ทำให้แห้งด้วยวิธีแช่เยือกแข็ง) โดยแทบจะไม่แตกต่างกับอาหารปรุงสด และปรากฏว่าสถานที่แคมป์ปิ้งหลายแห่งเริ่มวางตู้จำหน่ายอัตโนมัติสำหรับสินค้าอาหารประเภทแช่แข็ง

การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การจำหน่ายของผู้ประกอบการค้าปลีก

กระแสความนิยมสินค้าอาหารแปรรูปแช่แข็งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสทางธุรกิจที่กำลังขยายตัว จึงต่างปรับกลยุทธ์การจำหน่ายให้ตอบสนองต่อแนวโน้มดังกล่าว เช่น

บริษัท AEON Retail ซุปเปอร์มาร์เกตแนวหน้าของญี่ปุ่น ได้เปิดร้าน @FROZEN (https://aeonshop.com/pages/atfrozen)  ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายสินค้าอาหารแช่แข็งโดยเฉพาะ โดยมีสินค้าวางจำหน่ายกว่า 1,500 รายการ ราคาสินค้าในร้าน @FROZEN มีราคาสูงกว่าสินค้าในร้านทั่วไปประมาณร้อยละ 20 โดยตั้งเป้าจับกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าคุณภาพและมีมูลค่าเพิ่มสูง  บริษัทฯ ยังได้วางแผนที่จะขยายพื้นที่จำหน่ายสินค้าอาหารแช่แข็งในร้านซุปเปอร์มาร์เกตปกติภายใน 3-4 ปีข้างหน้าอีกด้วย

บริษัท Itoyokado (www.itoyokado.co.jp/)  ก็ได้ขยายพื้นที่จำหน่ายอาหารแช่แข็งในซุปเปอร์มาร์เกตของตน พร้อมทั้งเริ่มจำหน่ายสินค้า Private Brand (PB) ภายใต้ชื่อ Ease Up[ และใช้วลีโฆษณากำกับว่า “ง่ายและอร่อย” เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง โดยได้พัฒนารสชาติให้ผู้บริโภคสามารถ“สัมผัสรสชาติอาหารของร้านอาหารได้ที่บ้าน”  อีกทั้งมีเมนูหลากหลายทั้งอาหารญี่ปุ่นและต่างประเทศ  ในราคาจำหน่ายที่ไม่ต่างกับข้าวกล่องปรุงสด แต่สามารถซื้อเก็บในตู้เย็นไว้รับประทานยามต้องการได้เสมอ

บริษัทสหกรณ์ผู้บริโภค Co-op Deli Consumers’ Co-operative Union (www.coopnet.jp/) ซึ่งประกอบธุรกิจ Food delivery ไปยังร้านอาหาร โรงเรียน บริษัทและตามบ้าน ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าอาหารแช่แข็งรายใหญ่ Nichirei Foods พัฒนาสินค้าในแบรนด์ของบริษัทเอง โดยมีเมนูหลากหลาย ได้รับความนิยมสูงในหมู่ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน

บริษัท Lawson (www.lawson.co.jp/) ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ได้พัฒนาสินค้าอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็ง ที่เป็น Private Brand(PB) มากมายหลายประเภท ทั้งอาหารจานเดียว  กับแกล้ม-เครื่องเคียง และขนมแช่แข็ง โดยมีระดับราคาประมาณ 150 – 500 เยน อีกทั้งได้ขยายพื้นที่วางจำหน่ายสินค้าอาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง โดยเริ่มใช้ตู้แช่แข็งแบบ Flat display เพื่อให้ง่ายสำหรับผู้ซื้อในการเลือกหยิบสินค้า

บทสรุปและคำแนะนำสำหรับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทย

สถานะการระบาดของโรคโควิดซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้บริโภคญี่ปุ่นที่ต้องกักตัวในบ้าน กลับช่วยให้ตลาดสินค้าอาหารแช่แข็งของญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัวแม้จะผ่านพ้นช่วงการระบาดมาแล้ว  ความนิยมต่อสินค้าอาหารแช่แข็งเนื่องจากความสะดวกและการเก็บรักษาได้นาน ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ทำให้สินค้าอาหารแช่แข็งมีรสชาติอร่อยไม่ต่างจากอาหารปรุงสด เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นความนิยมของผู้บริโภค กล่าวได้ว่าเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มที่ดีประเภทหนึ่งในตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะสินค้าอาหารแช่แข็งประเภทอาหารปรุงสำเร็จซึ่งมีเมนูที่หลากหลายอย่างมาก ทั้งอาหารญี่ปุ่นและอาหารต่างประเทศ จะเห็นได้ว่าเมนูอาหารไทย ได้แก่ ข้าวกะเพราไก่ก็ติดอันดับเมนูยอดนิยมของอาหารปรุงสำเร็จแช่แข็งนี้ด้วย จึงนับว่าเป็นโอกาสในการบุกเบิกตลาดอาหารแช่แข็งของไทยไปยังญี่ปุ่น โดยผู้ผลิตผู้ส่งออกไทยควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมนูและรสชาติอาหาร ปริมาณบรรจุ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ และควรใช้ความได้เปรียบของเมนูอาหารไทยซึ่งเป็นที่นิยมของผู้บริโภคญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง พัฒนาสินค้าเมนูอาหารไทยแช่แข็งรวมไปถึงเครื่องเคียงและขนมไทย นอกจากนั้นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้สินค้าอาหารที่ผลิตมีรสชาติอร่อย ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยตัดสินใจสำคัญประการหนึ่งของผู้บริโภคญี่ปุ่น

                                                                               สำนักงานตัวแทนส่งเสริมการค้า ณ เมืองฮิโรชิมา                                                                                                                                          

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login