ที่มา : สำนักข่าว FHM
GlobalData บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลและที่ปรึกษาคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ของสินค้าอาหารเด็กและเด็กเล็กจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 3 พันล้านริงกิตภายในปี 2571 โดยสินค้าประเภทนมผงสำหรับทารก ด้วยธัญพืช อาหารเปียก และของว่างทานเล่น เป็นสินค้าที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ตัวเลขที่จากรายงานของ GlobalData ยังแสดงให้เห็นว่าค่าใช้จ่ายต่อหัว (PCE) สำหรับอาหารเด็กและเด็กเล็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นจาก 1,559 ริงกิตในปี 2560 เป็น 2,070 ริงกิตในปี 2565
Baebis World ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทารกในมาเลเซีย ระบุว่าความเติบโตขึ้นของตลาดอาหารสำหรับเด็กเล็กเป็นผลมาจากรายได้และค่าครองชีพที่ถูกลง ผู้คนสามารถเลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพ สูงขึ้น มีราคาแพงขึ้นและยังซื้อในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นาง Oo Yi Qian นักโภชนาการกล่าวว่าอาหารสำหรับเด็กเล็กบางชนิด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศและเป็นสินค้าออร์แกนิกที่เสริมด้วยสารอาหารที่คัดสรร เช่น DHA หรือโปรไบโอติก ทำให้รู้สึกว่ามีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าอาหารเด็กที่ปรุงเองและต้องการเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็กทั้งในด้านร่างกายและสติปัญญาให้สมบูรณ์มากที่สุดผ่านการซื้อสินค้าอาหารและสินค้าที่เสริมสร้างพัฒนาการของเด็ก รวมไปถึงของเล่นเด็กและสินค้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
ความคิดเห็น สคต.
ตลาดอาหารเด็กและเด็กเล็กในมาเลเซียมีอัตราการเติบโตสวนทางกับอัตราการเกิดของประเทศจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและค่าครองชีพที่ถูกลงส่งผลให้พ่อแม่ในประเทศมาเลเซียมีกำลังซื้อสินค้ากลุ่มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้ง ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสร้างเสริมพัฒนาการของเด็กก็ยังเติบโตขึ้นไปพร้อมๆ กับสินค้ากลุ่มนี้เนื่องจากในปัจจุบันพ่อแม่มีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงลูกให้มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ จึงเลือกซื้ออาหารที่มีคุณภาพและสินค้าที่เสริมสร้างสติปัญญา เช่น ของเล่น เพื่อให้ลูกของพวกเขาสามารถมีพัฒนาการทั้งในด้านร่างกายและสติปัญญาไปพร้อมๆ กัน
การเติบโตขึ้นของสินค้าสำหรับเด็กในตลาดมาเลเซียถือเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจในกลุ่มสินค้าดังกล่าวสามารถนำสินค้าของตนเข้ามาทำตลาดในประเทศมาเลเซีย เนื่องจากผู้ซื้อชาวมาเลเซียมีความนิยมในสินค้านำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะสินค้าที่เป็นสินค้าออร์แกนิก สำนักงานฯ ขอแนะนำให้ผู้ประกอบการชาวไทยที่สนใจตลาดมาเลเซียศึกษากฎระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ของสินค้าดังกล่าวเพื่อให้การเข้ามาทำตลาดมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)