หน้าแรกTrade insight > ตลาดสินค้าอาหาร plant-based ในสหราชอาณาจักร

ตลาดสินค้าอาหาร plant-based ในสหราชอาณาจักร

บริษัท Meatless Farm ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าอาหาร Plant Based รายใหญ่ใน     สหราชอาณาจักรได้ปลดพนักงานจำนวน 50 คน สืบเนื่องจากความต้องการสินค้าอาหาร Plant Based ที่ลดลง ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2564 บริษัทฯ มียอดขายเป็นมูลค่ากว่า 11 ล้านปอนด์ จากการจำหน่ายสินค้าอาหาร Plant Based ประเภทเนื้อสับ   เบอร์เกอร์ และ อกไก่ อย่างไรก็ดี ในปี 2565 บริษัท Meatless Farm มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับคู่แข่งรายใหญ่อย่าง Beyond Meat ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 3.3 ซึ่งบริษัท Meatless Farm ไม่ใช่เพียงบริษัทเดียวที่ได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าอาหาร Plant Based ที่ลดลง โดยบริษัทผู้ผลิตไส้กรอกแบรนด์ Heck ได้ลดการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan จากเดิมที่มีผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan 10 ชนิด เหลือเพียง 2 ชนิด คือ ไส้กรอกชิปโบลาต้า และ เบอร์เกอร์ ทั้งนี้ บริษัท Nestle ยังยกเลิกการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร Vegan ภายใต้   แบรนด์ Garden Gourmet ในสหราชอาณาจักร ภายหลังจากที่เปิดตัวในสหราชอาณาจักรเมื่อปี 2564 อีกด้วย

จากการศึกษาของ Euromonitor พบว่า แม้ว่ายอดขายสินค้าอาหาร Vegan บางประเภท เช่น นมจากพืช ชีส และโยเกิร์ต ยังคงเป็นไปได้ดี แต่ความต้องการเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชได้ชะลอตัวลง เนื่องจากผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ ดังนั้น    ผู้บริโภคจึงหันมาเลือกซื้อสินค้าจากราคา ซึ่งสินค้าอาหาร Plant Based ส่วนใหญ่มีราคาสูงกว่าสินค้าโดยทั่วไป นอกจากนี้ ตลาดสินค้าอาหาร Plant Based ในสหราชอาณาจักรเป็นตลาดที่มีผู้ค้าจำนวนมาก และมีสินค้าอาหาร Plant Based ให้เลือกมากมายทั้งจากแบรนด์ต่างๆ และภายใต้แบรนด์ของห้างซุปเปอร์มาร์เก็ตเอง ทั้งนี้ จากการศึกษาของบริษัท NielsenIQ พบว่าผู้บริโภคลดการใช้ผลิตภัณฑ์ Plant Based ซึ่งได้ส่งผลให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ Plant Based ลดลง 37.3 ล้านปอนด์ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม บริษัท Statista คาดการณ์ว่าตลาดสินค้าที่ใช้ทดแทนเนื้อสัตว์ในสหราชอาณาจักรจะเติบโตร้อยละ 17.5    ต่อปี ภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า

ที่มา: BBC News

ข้อมูลเพิ่มเติม/ความเห็น สคต.

สมาคมมังสวิรัติ (The Vegan Society) เห็นว่าวิกฤตค่าครองชีพในสหราชอาณาจักรมีผล กระทบอย่างมากต่อการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค โดยยอดขายที่ลดลงของผลิตภัณฑ์ Plant Based ไม่ได้เกิดจากความสนใจของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ Plant Based ลดลง แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ต้องการหาสินค้าอาหาร Plant Based ที่มีราคาย่อมเยา หรือสินค้าอื่นที่ใช้ทดแทนเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดย สคต. เห็นว่าสินค้าอาหาร Plant-Based ยังคงมีโอกาสในการขยายตลาดในสหราชอาณาจักรในกลุ่มผลิตภัณฑ์นมจากพืช ชีส โยเกิร์ต หรือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ใช้ทดแทนเนื้อปลา อย่างไรก็ดีราคาสินค้าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเข้ามาทำตลาดในสหราชอาณาจักรในช่วงวิกฤตค่า ครองชีพ

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login