ตลาดสินค้าน้ำมันพืชในญี่ปุ่น
สตท ณ เมืองฮิโรชิมา
สินค้าน้ำมันพืชเป็นหนึ่งในสินค้าอาหารจำเป็นในตลาดญี่ปุ่น ในตลาดโลกปัจจุบันกำลังประสบปัญหาราคาที่พุ่งขึ้นสูง โดยเฉพาะในตลาดญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากสภาวะดังกล่าว ถึงกระนั้นก็ตาม อุตสาหกรรมน้ำมันพืชของญี่ปุ่นคาดการว่าตลาดจะมีการปรับตัวและยังคงหเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องต่อไป
สินค้าน้ำมันพืชในตลาดญี่ปุ่น
น้ำมันพืชที่มีการบริโภคในญี่ปุ่นมีหลากหลายมาก โดยในปี 2023 มีปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชรวมทั้งสิ้น 2.53 ล้านตัน โดยแยกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
น้ำมันคาโนลา (น้ำมันเรปซีด)
วัตถุดิบ คือ เมล็ดเรปซีด (Rapeseed) ที่ปลูกมากในแคนาดา อินเดียและจีน โดยผลผลิตรวมของสามประเทศนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตของโลก นอกนั้นมีการปลูกในออสเตรเลีย รัสเซีย ยูเครน เยอรมัน ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฯลฯ เนื่องจากเป็นน้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวน้อยที่สุด ในขณะที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวมากเป็นอันดับสองรองจากน้ำมันมะกอก จึงเป็นน้ำมันพืชที่ดีต่อสุขภาพที่สุดเมื่อเทียบกับน้ำมันพืชอื่นๆ และได้รับความนิยมสูงสุดในญี่ปุ่น โดยในปี 2023 มีปริมาณการบริโภค 8.78 แสนตันหรือคิดเป็นร้อยละ 34.8 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชทั้งสิ้นในญี่ปุ่น
น้ำมันปาล์ม
เป็นน้ำมันที่สกัดจากผลปาล์ม มีไขมันอิ่มตัวและกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง เป็นน้ำมันพืชที่มีการผลิตมากที่สุดในโลก นอกจากใช้เป็นน้ำมันปรุงอาหารแล้ว ยังใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตมาการีน ช๊อกโกแลต ฯลฯ ในญี่ปุ่นมีปริมาณการบริโภค 6.69 แสนตัน หรือ ร้อยละ 26.5 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชรวมในญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นไม่มีการปลูกต้นปาล์มในประเทศ จึงนำเข้าในรูปไขและน้ำมัน ส่วนใหญ่นำเข้าจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย
น้ำมันถั่วเหลือง
ในญี่ปุ่นเป็นน้ำมันที่ใช้มากที่สุดในการปรุงอาหาร และมีการผสมกับน้ำมันพืชอื่นใช้ผลิดเป็นน้ำมันที่เรียกกันในญี่ปุ่นว่า Salad Oil (saladayu/サラダ油) และน้ำมันเทมปุระ สำหรับวัตถุดิบถั่วเหลือง นำเข้าส่วนใหญ่จากสหรัฐอเมริกาและบราซิล มีการบริโภคน้ำมันถั่วเหลืองในญี่ปุ่น ปริมาณ 5.03 แสนตัน คิดเป็นร้อยละ 19.9 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชรวมในญี่ปุ่น
น้ำมันรำข้าว
เป็นน้ำมันพืชที่มีการบริโภคในญี่ปุ่นมายาวนาน ปัจจุบันมีการบริโภคคิดเป็นร้อยละ 4.3 ของปริมาณการบริโภคน้ำมันพืชโดยรวม เป็นน้ำมันพืชประเภทเดียวของญี่ปุ่นที่ใช้วัตถุดิบส่วนใหญ่ในประเทศ และมีการนำเข้าบ้างจากบราซิลและประเทศในเอเซีย น้ำมันรำข้าวได้รับความนิยมในกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพ เนื่องจากในรำข้าวมีสารแกมมาออไรซานอล (γ-oryzanol) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์ในร่างกายรวมทั้งช่วยชะลอวัย (Anti-aging) อีกทั้งยังช่วยป้องกันการเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ผิดปกติ ลักษณะพิเศษของน้ำมันรำข้าว คือมีรสชาตินุ่มนวลและเกิดปฎิกิริยาออกซิเดชั่นยาก (Oxidation)จึงเก็บได้ค่อนข้างนานกว่าน้ำมันประเภทอื่น ทำให้ในระยะหลังที่ผ่านมา แสดงแนวโน้มความต้องการที่ขยายตัวเรื่อยมาตามลำดับ นอกจากใช้เป็นน้ำมันปรุงอาหารและใช้เป็นส่วนผสมน้ำสลัด (dressing oil) แล้ว ยังใช้ในการผลิตมายองเนสและขนมขบเคี้ยว น้ำมันสำหรับทอด และในอุตสาหกรรมผลิตอาหารและฟาสต์ฟู้ด เป็นต้น
น้ำมันพืชประเภทอื่นๆ ที่มีการบริโภคในญี่ปุ่น ได้แก่ น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันทานตะวัน น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ (Flax Seed) เป็นต้น
ปัญหาราคาน้ำมันพืชในญี่ปุ่น
ในประเภทพืชน้ำมันซึ่งเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำมันพืชในญี่ปุ่น พืชน้ำมันที่ญี่ปุ่นมีปริมาณการปลูกค่อนข้างมากได้แก่ ถั่วเหลืองและเรปซีด อย่างไรก็ตาม ปริมาณการปลูกในประเทศยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ การผลิตน้ำมันพืชทุกประเภท(ยกเว้นน้ำมันรำข้าว)ในญี่ปุ่นจึงต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่าง ประเทศ โดยสัดส่วนการพึ่งพาตนเองของญี่ปุ่นสำหรับน้ำมันพืชโดยรวมเป็นเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น สำหรับน้ำมันเรปซีดซึ่งมีการบริโภคมากที่สุดนั้น เมล็ดเรปซีดที่ได้จากการปลูกในประเทศมีเพียงปีละ 4 พันตัน ดังนั้น วัตถุดิบแทบทั้งหมดจึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะแคนาดาและออสเตรเลีย
ตลาดน้ำมันปรุงอาหารในญี่ปุ่นได้มีการเติบโตอย่างมั่นคงเรื่อยมา แต่ในช่วงเดือนเมษายน ถึงธันวาคม ปี 2023 ตลาดมีมูลค่าลดลงร้อยละ 1 ส่วนปริมาณลดลงร้อยละ 5.9 เนื่องจากเมื่อปี 2021 ได้มีการปรับราคาจำหน่ายปลีกของน้ำมันปรุงอาหาร เช่น น้ำมันเรปซีดหรือคาโนล่า ราคาต่อหน่วยโดยเฉลี่ยได้เพิ่มสูงขึ้น กก.ละ 129 เยน อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 ราคาน้ำมันปรุงอาหารได้หยุดการขึ้นราคา ทำให้ตลาดเริ่มฟื้นตัว
การขึ้นราคาของน้ำมันพืชในตลาดญี่ปุ่น มีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุหลัก คือการที่วัตถุดิบนำเข้ามีราคาสูงขึ้น โดยเมล็ดพืชน้ำมันซึ่งนำเข้าจากแหล่งต่างๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนแรงงานซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการเก็บเกี่ยวที่สูงขึ้น ในประเทศพัฒนาแล้วจึงต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติ นอกจากนั้น สภาวะอากาศแปรปรวน ทำให้ผลผลิตพืชน้ำมันลดลง ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงอย่างมากทำให้ต้นทุนวัตถุดิบและค่าขนส่งในการนำเข้าได้เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นวิกฤติสงครามในยูเครนก็มีส่วนทำให้อุปทานของวัตถุดิบเกิดความไม่แน่นอน โดยที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาวัตถุดิบสำหรับน้ำมันพืชจากการนำเข้าแทบทั้งหมด จึงมีความผันผวนด้านราคาไปตามสถานะการของแหล่งวัตถุดิบ
อย่างไรก็ตาม ได้มีการประมาณการตลาดน้ำมันพืชของญี่ปุ่นในปี 2024 ว่ามีมูลค่า 3.84 แสนล้านเยน (ราว 8.83 หมื่นล้านบาท) และคาดการว่าภายในปี 2029 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 5.52 แสนล้านเยน (ราว 1.27 แสนล้านบาท) โดยคาดการว่าในช่วงปี 2024-2029 อัตราการขยายโดยเฉลี่ยร้อยละ 7.47 ต่อปี
การปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมน้ำมันพืชของญี่ปุ่น
บริษัท Nisshin Oillio Co., Ltd. (https://www.nisshin-oillio.com/english/) ได้ตระหนักถึงปัญหาราคาน้ำมันพืชที่จำต้องปรับราคาสูงขึ้น จึงได้วางกลยุทธ์การตลาดโดยมุ่งเน้นไปยังสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ซึ่งเป็นน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ หรือใช้ปริมาณน้อยลงในการปรุงอาหารแต่ไม่สูญเสียคุณลักษณะและรสชาติ โดยบริษัทฯมีสินค้าประเภทดังกล่าว ได้แก่ น้ำมันปรุงอาหารแบรนด์ Nisshin Healthy Off ซึ่งเป็นน้ำมันพืชที่ไม่มีคอเรสเตอรอล และสามารถลดการดูดซึมของน้ำมันได้ดีกว่าน้ำมันพืชธรรมดาร้อยละ 20 ดังนั้นเมื่อใช้ปรุงอาหารประเภททอดจะไม่อมน้ำมัน ทำให้ยอดจำหน่ายน้ำมันดังกล่าวในปี 2019 ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึง 1.3 เท่า และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2023 ก็เพิ่มขึ้นร้อยละ 103 นอกจากนั้น ยังพัฒนาสินค้าใหม่ประเภทน้ำมันสำหรับราดบนอาหาร เช่น น้ำมันงา ซึ่งนอกจากจะทำให้มีกลิ่นหอมของงายิ่งขึ้นแล้ว ภาชนะบรรจุก็ปรับปรุงให้สามารถเก็บได้นานโดยน้ำมันไม่หื่น นอกจากนั้นยังมีน้ำมันเพิ่มรสชาติ ภายใต้แบรนด์ Yamitsuki Oil เช่น น้ำมันผสมเนยและกระเทียมใช้ราดขนมปังหรืออาหารประเภทไข่ น้ำมันผักชีที่ให้รสชาติและกลิ่นหอมของผักชี น้ำปลาและมะนาว น้ำมันพริกสำหรับราดกุ้ง น้ำมันผสมเมล็ดยี่หร่าให้รสชาติแกงกะหรี่ญี่ปุ่น
ในปี 2021 บริษัทฯ ได้ออกวางจำหน่าย Nisshin MCT Oil ซึ่งเป็นหนึ่งในน้ำมันเพื่อสุขภาพ และจัดเป็น Foods with Functional Claims โดยน้ำมัน MCT นี้มีคุณสมบัติสำคัญคือ ช่วยเพิ่มอัตราการหลั่งฮอร์โมน Peptide YY และฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนช่วยควบคุมความรู้สึกหิวในร่างกาย ทำให้รู้สึกอิ่ม ลดการกินลงและอิ่มนานขึ้น ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีในขณะที่ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลดี จึงส่งผลต่อการลดความเสี่ยงในของโรคหลอดเลือดหรือโรคหัวใจได้ นอกจากนั้นใน MCT Oil มีกรดคาไพรลิก ซึ่ง
ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งพลังงาน และเป็นกรดไขมันสายที่สั้นที่สุด ทำให้กลายเป็นคีโตน ให้ร่างกายนำไปใช้เป็นพลังงานได้ทันที และเนื่องจากสามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ตับโดยตรง ไม่ต้องพึ่งน้ำดีในการย่อยก่อน ทำให้ดูดซึมได้ง่าย ร่างกายจึงสามารถนำไขมันนี้ไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่สะสมทำให้เกิดไขมันส่วนเกิน อีกทั้งยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและยีสต์ด้วยกรดในน้ำมัน จึงจัดว่าเป็นน้ำมันที่ดีอย่างยิ่งต่อสุขภาพ ปัจจุบันเป็นที่นิยมของผู้บริโภคที่ใส่ใจด้านสุขภาพโดยเฉพาะสุภาพสตรีที่ต้องการควบคุมน้ำหนักในขณะที่ไม่ต้องลดการบริโภคอาหารที่ใช้น้ำมัน
บริษัท Showa Sangyou Co., Ltd. (https://www.showa-sangyo.co.jp/en/) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอาหารหลากประเภทตั้งแต่แป้งที่ทำจากธัญญพืช น้ำมันปรุงอาหาร เส้นพาสตา ไปจนถึงอาหารเพื่อสุขภาพ เมื่อปลายปี 2022 ได้พัฒนาออกจำหน่ายสินค้าใหม่ คือ แป้งใช้ทำเทมปุระโดยไม่ต้องทอด เนื่องจากมีผู้บริโภคไม่น้อยที่ไม่ชอบความยุ่งยากในการใช้น้ำมันทอดอาหาร และปัจจุบันมีความนิยมใช้หม้อทอดไร้น้ำมัน หรือในซุปเปอร์มาเกตก็มีจำหน่ายอาหารเทมปุระปรุงสำเร็จ ด้วยเหตุเหล่านี้ พบว่าในระยะ 30 ปีที่ผ่านมาตลาดแป้งเทมปุระได้หดตัวลงเรื่อยมา เนื่องจากผู้บริโภคที่ทำเทมปุระในครัวเรือนลดน้อยลง บริษัทฯ จึงได้พัฒนาสินค้าตัวใหม่นี้ โดยเป็นผงแป้งทำเทมปุระแบบไม่ต้องทอด แต่ใช้น้ำมันปรุงอาหารเพียง 3 ช้อนโต๊ะผัดกับวัตถุดิบเทมปุระที่คลุกผงแป้งดังกล่าว ปรากฎว่าหลังจากออก
วางตลาดเพียง 1 ปีครึ่งสามารถจำหน่ายได้ถึง 1.5 ล้านชิ้น และยังคงจำหน่ายได้ดีจนถึงปัจจุบัน ทะลุยอดเป้าหมายที่ตั้งไว้สองเท่า จะเห็นได้ว่าแม้ว่าบริษัทฯผลิตน้ำมันปรุงอาหารด้วย แต่กลับคิดนอกกรอบหันไปพัฒนาสินค้าที่ใช้น้ำมันปรุงอาหารน้อยลง โดยศึกษาติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคซึ่งมีแนวโน้มใส่ใจกับสุขภาพกันมากขึ้น จึงได้พัฒนาสินค้าใหม่สำหรับกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าว
บทสรุปและข้อคิดเห็น
สินค้าน้ำมันพืชเป็นสินค้าที่มีตลาดและความต้องการในทุกยุค เนื่องจากเป็นสินค้าอาหารที่จำเป็นประเภทหนึ่ง แต่ตลาดญี่ปุ่นค่อนข้างมีความผันผวนเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นต้องพึ่งพาการนำเข้าพืชน้ำมัน ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบ และโดยเหตุที่การนำเข้ามีปัจจัยภายนอกหลายอย่างที่ส่งผลต่อระดับราคาต้นทุน ทำให้เกิดความผันผวนของความต้องการเมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตพืชน้ำมันในญี่ปุ่นก็ได้พยายามปรับตัวให้รับกับการผันผวนดัง กล่าวโดยการพัฒนาสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อกระตุ้นความต้องการใหม่ๆ แม้ว่าปัจจุบันไทยยังมีการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นน้อยมาก ได้แก่ประเภทน้ำมันรำข้าวซึ่งมีปริมาณส่งออกไปญี่ปุ่นไม่มาก แต่ไทยมีศักยภาพเนื่องจากการที่มีวัตถุดิบในประเทศ ดังนั้นน่าจะเป็นโอกาสสำหรับผู้ผลิตผู้ส่งออกไทย แต่อาจต้องสร้างเสริมความสามารถในการแข่งขันด้านราคาและคุณภาพ นอกจากนั้น การศึกษาวิจัยพัฒนาสินค้าพืชน้ำมันใหม่ๆที่มีมูลค่าเพิ่ม โดยมุ่งจับกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสุขภาพ หรือ ผู้บริโภคที่รู้จักและนิยมอาหารไทย ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตญี่ปุ่นเองก็เห็นโอกาส เช่น การนำผักชีไปใช้เป็นส่วนผสมสำหรับน้ำมันราดอาหาร เป็นต้น
สิงหาคม 2567
ที่มาข้อมูล
- Japan Oilseed Processors Association (https://www.oil.or.jp/en/ )
- รายงานเรื่อง “ The current situation on price surge of vegetable oil and its background” (植物油の最近の動向 価格高騰の現状とその背景について) https://www.jofiea.gr.jp/main/wp-content/uploads/2024/01/Booklet_Recent-trends-in-vegetable-oil-in-Japan-2023.pdf
- รายงานเรื่อง食用油市場、市場成長は踊り場へ 付加価値の高いオイルの提案が急務 ในเวปไซต์ DMenu โดย NTT Docomo 22 มีค. 2024 https://topics.smt.docomo.ne.jp/article/diamondrm/business/diamondrm-481161
- รายงานการสัมภาษณ์กรรมการผู้จัดการบริษัท Nissin Ollio นาย Hisano เกี่ยวกับการคงมาตรการราคาที่สูงขึ้นและการขยายตัวของตลาดน้ำมันปรุงอาหาร (日清オイリオ久野社長 食用油市場の成長拡大へ 価値向上施策を継続 ) ในเวปไซต์ Shokuhin Shinbun Newspaper วันที่ 1 ธค. 2023 (https://shokuhin.net/88065/2023/12/01/kakou/yushi/)
- รายงานเรื่อง “The first in the world “No-fried Tempura” got an unprecedented hit” (世界初の“揚げない天ぷら”が異例のヒット) จากเวปไซต์ eltha โดยบริษัท oricon ME https://beauty.oricon.co.jp/special/102439/ )
- รายงานเรื่อง Report on Rice Bran Oil 2023 (こめ油特集2023 ) โดย Nihon Shokuryo Shinbun Online (https://news.nissyoku.co.jp/news/muraoka20230725115922606)
- ข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันพืช ในเวปไซต์ของบริษัท J-Oil Mills Inc. (https://www.j-oil.com/oil/type/vegeoil/ )
- รายงานเรื่อง “Vision on Vegetable Oil with regard to food security” (植物油の視点・食料安全保障について) (https://www.maff.go.jp/j/zyukyu/anpo/attach/pdf/kentoukai-pdf)
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ตลาดสินค้าน้ำมันพืชในญี่ปุ่น