หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ตลาดสินค้ากาแฟในเกาหลีใต้

ตลาดสินค้ากาแฟในเกาหลีใต้

ภาพรวมตลาด

สินค้ากาแฟ สามารถแบ่งได้เป็น กาแฟคั่ว (Roasted Coffee) กาแฟผงสำเร็จรูป(Instant Coffee) กาแฟสกัด (Brewed Coffee) และกาแฟชนิดน้ำ (Liquid Coffee) ซื่งรวมถึงการแปรรูปเมล็ดกาแฟ หรือการเติมผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ หรือสารเติมแต่งลงไป โดยกาแฟคั่วจะเป็นกาแฟที่ผลิตจากเมล็ดกาแฟบด ในขณะที่กาแฟผงสำเร็จรูปจะเป็นสารสกัดจากเมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วซึ่งสามารถละลายน้ำได้ ส่วนกาแฟชนิดน้ำจะเป็นของเหลวและสามารถนำไปผสมกับผลิตภัณฑ์จากนมได้ สำหรับกาแฟสกัดนั้นไม่มีคำจำกัดความแยกต่างหาก แต่สอดคล้องกับสินค้ากาแฟสำเร็จรูปที่มีสารเติมแต่ง เช่น น้ำตาลและครีม

กาแฟถือเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเกาหลีเป็นอย่างมาก โดยบางรายเริ่มจากการดื่มเพื่อเพิ่มพลังงานจนกลายเป็นเครื่องดื่มที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งกลุ่มของผู้บริโภคกาแฟก็มีความหลากหลาย เช่น กลุ่มผู้บริโภคที่เลือกชนิดและแหล่งผลิตของเมล็ดกาแฟ กลุ่มผู้บริโภคที่เลือกรสชาติ กลุ่มผู้บริโภคที่เลือกบรรยากาศของร้าน กลุ่มผู้บริโภคที่เลือกราคา กลุ่มผู้บริโภคสนใจจะลองสินค้าใหม่ๆ เป็นต้น ซึ่งทำให้ตลาดสินค้ากาแฟในเกาหลีเปิดตัวสินค้าใหม่อยู่ตลอดเวลา

สัดส่วนในตลาดกาแฟของเกาหลีใต้

  • ยอดจำหน่ายกาแฟภายในประเทศปี 2564 อยู่ที่ 12 ล้านล้านวอน โดยระหว่างปี 2561 ถึง 2564 มีอัตราการเติบโตต่อเนื่องและในปี 2564 มีอัตราเติบโตแบบก้าวกระโดดอยู่ที่ 14.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
  • ขนาดตลาดของกาแฟผงสำเร็จรูปและกาแฟสกัดปี 2564 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2563 ในขณะที่กาแฟคั่วและกาแฟชนิดน้ำเพิ่มขึ้น 3% และ 6.7% ตามลำดับ
  • สัดส่วนของกาแฟคั่วคิดเป็น 3% ของตลาดสินค้ากาแฟทั้งหมด โดยยอดขายและส่วนแบ่งตลาดได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ของ COVID-19 ที่ทำให้กระแสโฮมคาเฟ่ (Home Café) หรือการชงกาแฟรับประทานเองที่บ้านยังคงได้รับความนิยมต่อไป และคาดว่าความต้องการต่ออุปกรณ์สำหรับโฮม คาเฟ่ เช่น เครื่องชงกาแฟและถ้วยกาแฟจะเพิ่มขึ้น รวมถึง ยอดขายเมล็ดกาแฟจะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
  • เนื่องจากผู้บริโภคมีรสนิยมในการดื่มกาแฟที่หลากหลายขึ้น และราคาตามร้านกาแฟที่ปรับสูงขึ้นจากต้นทุนที่สูงขึ้น จึงส่งผลต่อการเติบโตของสัดส่วนการบริโภคกาแฟคั่ว อย่างไรก็ดี ปริมาณร้านคาเฟ่ที่เปิดเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงมีการเปิดแฟรนไชส์คาเฟ่ใหม่ๆ ทำให้ความต้องการกาแฟคั่วมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

< สัดส่วนของตลาดสินค้ากาแฟในเกาหลี >

(หน่วย: ล้านล้านวอน)

สถานะการนำเข้ากาแฟมายังเกาหลีใต้

ในปี 2565 การนำเข้ากาแฟ (เมล็ดกาแฟดิบและเมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่ว) มีมูลค่า 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 42.4% จากปี 2564 และการนำเข้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 200,000 ตัน

เกาหลีใต้นำเข้ากาแฟมากที่สุดจากประเทศบราซิล เวียดนาม และโคลอมเบีย ตามลำดับ ซึ่งมีการนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบและเมล็ดกาแฟชนิดปลอดคาเฟอีนมากขึ้นเป็นผลมาจากความสนใจในเรื่องสุขภาพ โดยได้นำเข้าเมล็ดกาแฟดิบปลอดคาเฟอีน 6,000 ตัน เพิ่มขึ้น 53.2% จากปีก่อน และเมล็ดกาแฟปลอดคาเฟอีน 1,000 ตัน เพิ่มขึ้น 21.0% จากปีก่อน

มูลค่าการนำเข้ากาแฟมายังเกาหลี

ปริมาณการนำเข้ากาแฟมายังเกาหลีแบ่งตามประเทศและประเภทต่างๆ

  • ตามประเทศ

  • ตามประเภท

1.เมล็ดกาแฟดิบที่มีคาเฟอีน (HSK 0901.11.0000)

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ, %)

2. เมล็ดกาแฟดิบไร้คาเฟอีน (HSK 0901.12.0000)

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ, %)

3. เมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วมีคาเฟอีน (HSK 0901.21.0000)

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ, %)

4. เมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วไร้คาเฟอีน (HSK 0901.22.0000)

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ, %)

5. กาแฟผงสำเร็จรูป (HSK 2101.11.1000)

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ, %)

6. สารสกัดกาแฟอื่นๆ (HSK 2101.11.9000)

(หน่วย: ล้านเหรียญสหรัฐ, %)

พฤติกรรมของผู้บริโภค

  • ตั้งแต่ปี 2561 จนถึง 2564 ยอดจำหน่ายกาแฟได้เพิ่มขึ้น 6.6% และสถานการณ์ของCOVID-19 ยิ่งทำให้ผู้บริโภคหันมาซื้อเครื่องชงกาแฟและเครื่องดื่มกาแฟแคปซูลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้การนำเข้ากาแฟที่เพิ่มขึ้น และการนำเข้าเครื่องทำกาแฟในบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน
  • กลุ่มผู้บริโภคกาแฟ จากการแบ่งตามช่วงอายุ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มดื่มกาแฟมากถึง 67% และผู้หญิงจำนวน 58% ดื่มกาแฟมากกว่าผู้ชายจำนวน 42%
  • การบริโภคเครื่องดื่มกาแฟแบ่งตามช่องทางการกระจายสินค้า

  • ชนิดเครื่องดื่มแบ่งตามสัดส่วนการบริโภค

  • สัดส่วนการบริโภคกาแฟต่อวัน

  • อัตราการบริโภคกาแฟจากเครื่องชงกาแฟที่สามารถทำได้ที่บ้าน เพิ่มขึ้นถึงจาก 35.3% ในปี 2557 เป็น 57.7% ในปี 2565
  • นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจกับสุขภาพ การบริโภคกาแฟสำเร็จรูปที่มีส่วนผสมของสารเติมแต่ง เช่น น้ำตาล ลดลง และส่งผลให้สัดส่วนของกาแฟผงสำเร็จรูปลดลง ในขณะที่สัดส่วนของกาแฟคั่วเพิ่มขึ้น เนื่องจากการชงกาแฟรับประทานเอง สามารถกำหนดปริมาณสารเติมแต่งได้

เทรนด์ตลาดสินค้ากาแฟในเกาหลีใต้

1. การเติบโตของตลาดกาแฟไร้คาเฟอีน

  • ความนิยมของกาแฟไร้คาเฟอีนกำลังเป็นที่พูดถึง เนื่องจากกระแสการดูแลสุขภาพ โฮมคาเฟ่และ COVID-19
  • ร้านกาแฟหลายแห่งในเกาหลี ได้เปิดตัวสินค้าและเมนูรูปแบบใหม่ และอุตสาหกรรมเครื่องดื่มก็กำลังปล่อยผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม Ready to Drink ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค
  • ในปี 2565 การนำเข้าเมล็ดกาแฟชนิดไร้คาเฟอีนคิดเป็น 3.46% ของการนำเข้าเมล็ดกาแฟทั้งหมด ซึ่งเติบโตเกือบ 5 เท่าของเมล็ดกาแฟปกติ เมื่อเทียบกับปี 2564

2. ผู้บริโภคซื้อกาแฟที่ร้านสะดวกซื้อมากขึ้น

  • ในปัจจุบัน ราคาสินค้าอาหารทั่วไป รวมถึงกาแฟจากร้านกาแฟแฟรนไชส์เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากหันมาเลือกซื้อกาแฟจากร้านสะดวกซื้อแทน เนื่องจากมีราคาย่อมเยา โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นอยู่ที่ 1,000 วอน ซึ่งมีราคาถูกกว่าถึง 1/3 ของราคากาแฟที่ร้านกาแฟทั่วไป ทำให้กาแฟกลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่ขายดีที่สุดของร้านสะดวกซื้อตั้งแต่ปี 2561
  • กลยุทธ์ในการแข่งขันที่สำคัญคือ การปรับปรุงคุณภาพของกาแฟ เช่น การคัดเลือกเมล็ดกาแฟที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับพัฒนารสชาติ ซึ่งจะทำให้ดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคได้ดี

3. ผลิตภัณฑ์กาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

  • ในปี 2565 กฎหมายห้ามใช้แก้วพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวและการห้ามใช้หลอดพลาสติกและแท่งไม้ในร้านค้าถูกบังคับใช้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงผลต่อสิ่งแวดล้อมและเริ่มนำแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG Management) มาใช้ในการพัฒนาสินค้า
  • ร้านสะดวกซื้อต่างๆ ก็ได้เปิดตัวสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมออกมา เช่น เมล็ดกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และทดแทนถ้วย หลอด ฝาปิดด้วยวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

4. สินค้ากาแฟรูปแบบใหม่ เช่น กาแฟวีแกนและกาแฟทางเลือก

  • ตลาดกาแฟในปัจจุบัน มีการเปิดตัวสินค้ากาแฟหลากหลายชนิด เช่น กาแฟไร้คาเฟอีน กาแฟวีแกนที่ไม่มีไขมันนมผสม และผลิตภัณฑ์กาแฟทางเลือกที่มีรสชาติคล้ายกาแฟ เช่น ข้าวบาร์เลย์ดำและถั่วเขียวแทนเมล็ดกาแฟ ก็ถูกปล่อยออกมาเช่นกัน เพื่อตอบสนองผู้บริโภคหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม MZ ที่มีความใส่ใจในโลกและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

กฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้ากาแฟมาเกาหลีใต้

  • ผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบภายในประเทศสำหรับสินค้านำเข้า โดยผลิตภัณฑ์อาหารทุกชนิดต้องผ่านการตรวจสอบความปลอดภัยด้านอาหาร จากกระทรวงความปลอดภัยอาหารและยา ก่อนการนำเข้า
  • กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าจะเป็นไปตามพระราชบัญญัติพิเศษว่าด้วยการควบคุมความปลอดภัยของอาหารนำเข้าและพระราชบัญญัติส่งเสริมการประหยัดและรีไซเคิลทรัพยากร
  • ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการประหยัดและรีไซเคิลทรัพยากรนั้น ผู้นำเข้าทุกรายต้อวรายงานตัวต่อ Korea Environment Corporation เพื่อชำระค่าธรรมเนียม
  • อัตราภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์กาแฟคือ 0% ผ่านการใช้ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างเกาหลีและอาเซียน (ASEAN – Korea Free Trade Agreement: AKFTA)

โอกาสสำหรับผู้ส่งออกไทยในตลาดสินค้ากาแฟเกาหลีใต้

  • การส่งออกกาแฟของไทยยังมีสัดส่วนที่น้อยในตลาดเกาหลี แต่เมื่อพิจารณาถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารของไทย และขยายของตลาดเกาหลีที่เติบโตต่อเนื่อง ถือว่ามีโอกาสในการขยายตลาดในเกาหลีเพิ่มขึ้น
  • เนื่องจากยอดจำหน่ายกาแฟในร้านสะดวกซื้อที่เพิ่มขึ้น และการบริโภคเครื่องดื่มกาแฟที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับสินค้าไทยในตลาดเกาหลี โดยเฉพาะสินค้า เช่น กาแฟชนิดน้ำ (Liquid Coffee) และ Liquid coffee preparations ซึ่งสะดวกในการรับประทานและเหมาะกับความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่
  • จากสถิติการนำเข้ากาแฟมายังเกาหลี การนำเข้าทั้งเมล็ดกาแฟดิบและเมล็ดกาแฟที่ผ่านการคั่วกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกาแฟของไทย เช่น สินค้ากาแฟจากเชียงใหม่ แม้จะไม่เป็นที่คุ้นเคยในตลาดสินค้าอาหารของเกาหลี แต่ก็มีชาวเกาหลีที่รู้จักและสนใจในกาแฟเชียงใหม่อยู่ โดยเฉพาะชาวเกาหลีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปที่คุ้นเคยกับกาแฟผงสำเร็จรูปของเกาหลี เมื่อเดินทางมาประเทศไทย มักจะซื้อผลิตภัณฑ์กาแฟของไทย เพื่อการบริโภคส่วนตัวและมีแนวโน้มที่ชื่นชอบกาแฟของไทย
  • ผู้บริโภคเกาหลีมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องราวของสินค้าที่มากับตัวสินค้า ดังนั้น ในการแนะนำสินค้าผลิตภัณฑ์กาแฟของไทย ผู้ส่งออกไทยอาจจะแนะนำเรื่องราวของการผลิตสินค้า เช่น การผลิตสินค้าควบคู่ไปกับการพัฒนาคน การแก้ไขปัญหาความยากจนของเกษตรกร การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เนื่องจากชาวเกาหลี โดยเฉพาะกลุ่ม MZ ใส่ใจกับประเด็นดังกล่าว

สินค้ากาแฟไทยบนช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ของเกาหลี

สินค้ากาแฟไทยบนช่องทางออนไลน์ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวเกาหลี อาทิ

ความเห็นสำนักงานฯ โดยรวมแล้ว อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของเกาหลีใต้ยังมีการพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม รวมถึงตลาดสินค้ากาแฟเช่นกัน ที่ถือเป็นเครื่องดื่มที่ชาวเกาหลีบริโภคกันเป็นประจำ ส่งผลให้มีมูลค่าการนำเข้าสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้ง การที่ผู้บริโภคหันมาชงกาแฟที่บ้าน ทำให้การบริโภคกาแฟคั่วเพิ่มมากขึ้นตาม นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวสินค้าให้เข้ากับกระแส เช่น กาแฟเพื่อสุขภาพ กาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และกาแฟจากเมล็ดกาแฟคุณภาพสูงในรูปแบบพร้อมดื่ม เป็นต้น

โอกาสของสินค้ากาแฟไทยในเกาหลีใต้นั้น แม้จะยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่ก็มีศักยภาพที่จะขยายตลาดได้ดี เนื่องจากมีคุณภาพที่ดีและมีรูปแบบที่หลากหลาย โดยอาจเน้นรสชาติที่อร่อยและราคาที่เหมาะสม และอาจเพิ่มความพิเศษ เช่น ความเป็นออร์แกนิก การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เช่น Plant-based coffee เป็นต้น รวมถึงอาจใช้การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์ หรือ Influencer ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเกาหลี เป็นต้น

******************************

สำนักงานผู้แทนการค้า ณ เมืองปูซาน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโซล

27 เมษายน 2566

(1) Food Production in Korea, 2022.08.04, Food Information Statistics System, www.atfis.or.kr

(2) Food Trends 2023, Food Bizlab, Seoul University, 2022.11.17.

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login