หน้าแรกTrade insightยานยนต์เเละส่วนประกอบ > ตลาดยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อิหร่าน

ตลาดยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อิหร่าน

1. อุตสาหกรรมยานยนต์อิหร่าน
ในทศวรรษ 1960 เนื่องจากอิหร่านขาดความรู้ทางเทคนิคและไม่สามารถผลิตรถยนต์ของตนเองได้ อิหร่านจึงเชิญชวนบริษัทตะวันตกให้มาเริ่มลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ตั้งแต่นั้นมาอิหร่านได้พัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศซึ่งสามารถออกแบบและ
ประกอบรถยนต์ได้ด้วยตัวเองอุตสาหกรรมยานยนต์ของอิหร่านเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจมากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ รองจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ ซึ่งคิดเป็น 10% ของ GDP ของอิหร่าน และ 4% ของการใช้กำลังแรงงาน อิหร่านพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วยการผลิตสูงสุด 200,000 คันต่อปีภายใต้ระบอบการปกครองของ
โมฮัมหมัด เรซา ชาห์ ปาห์ลาวี แต่หลังจากการปฏิวัติอิหร่านในปี 1979 การผลิตลดลงอย่างมากเนื่องจากสงครามอิหร่าน-อิรักและการคว่ำบาตรระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ต่อมาต้นทศวรรษ 2000 การผลิตรถยนต์ในอิหร่านเติบโตขึ้นอย่างมาก การผลิตรถยนต์ของอิหร่านเกิน 1 ล้านคัน ในปี 2550/2551 ซึ่งปัจจุบัน อิหร่านเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับที่ 20 ของโลกและเป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมีการผลิตมากกว่า1.6 ล้านคันต่อปี อิหร่านอยู่ในอันดับที่ 5 ในด้านการเติบโตของการผลิตรถยนต์ รองจากจีน ไต้หวัน โรมาเนีย และอินเดีย

2. การผลิต
สมาคมผู้ผลิตรถยนต์แห่งยุโรปประกาศให้อิหร่านเป็นผู้ผลิตรถยนต์นั่งรายใหญ่อันดับ 10 ของโลกในช่วง 9 เดือนของปี 2565 ซึ่งอิหร่านผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลได้จำนวนสูงคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.9 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดของโลก เทียบกับปริมาณผลผลิตในช่วงเดียวกันของปี 2564 ดังนั้น ผลผลิตในปี2565 จึงคิดเป็นปริมาณการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นสูงถึง ร้อยละ 31.2 ทำให้อับดับของอิหร่านจากเดิมอันดับที่ 13 ในปี 2564 แซงหน้าประเทศผลิต
รถยนต์ที่เป็นคู่แข่ง สำคัญได้ถึง 3 ลำดับ คือ รัสเซีย (11) สาธารณรัฐเช็ก (12) และสโลวาเกีย (13)
ปัจจุบันอิหร่านมีผู้ผลิตรถยนต์ภาครัฐและเอกชนไม่น้อยกว่า 13 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มี2 ราย คือ อิหร่านโคดรู (Iran Khodro) และไซปา (Saipa) คิดเป็น 94% ของการผลิตในประเทศทั้งหมด อิหร่าน Khodro ซึ่งผลิตแบรนด์รถยนต์ที่แพร่หลายที่สุดในประเทศ ได้แก่ Paykan ซึ่งถูกแทนที่โดย Samand ในปี 2548 ครองส่วนแบ่งตลาดคิดเป็นร้อยละ 61ของตลาด ในขณะที่ Saipa มีส่วนแบ่งตลาด 33% ของการผลิตทั้งหมดของอิหร่าน สำหรับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นๆ เช่น Azhitechs, Bahman Group, Rakhsh Khodro, Kerman Motors, Kish Khodro, Raniran, Traktorsazi, Shahab Khodro และอื่นๆ ผลิตรวมกันเพียง 6% ผู้ผลิตรถยนต์เหล่านี้ผลิตรถยนต์หลายประเภท ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้ รถบรรทุกขนาดเล็ก รถบรรทุกขนาดกลาง รถบรรทุกหนัก รถมินิบัส รถโดยสารขนาดใหญ่ และรถยนต์หนักอื่นๆ ที่ใช้ในกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่วนตัวในประเทศ

บริษัท Iran Khodro (อิหร่าน โคดรู) (ในอดีตเรียกว่า Iran National) เป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกกลาง ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 29 สิงหาคม 1962 เน้นผลิตรถขายกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยยี่ห้อรถยนต์ที่ผลิตได้แก่

1) Paykan ซึ่งเป็นรถยนต์ประจำชาติอิหร่าน ซึ่งได้เซ็นสัญญาซื้อลิขสิทธิ์การผลิตมาจากรถยนต์ Hillman Hunter รุ่นปี 1966 ของค่าย Rootes ในเครือ Chrysler Europe มาผลิต (ซึ่งต่อมา กลุ่ม Rootes ก็ล้มละลายจนโดน Peugeot เข้าควบรวมกิจการไปในปี 1978)
ตั้งแต่ในปี 1967 ซึ่งเป็นการนำชิ้นส่วนเข้าผลิตในรูปแบบCKD ต่อมาในช่วงกลางยุค 70 จึงเริ่มประกอบขายในอิหร่านมาจนถึงปี 2005 และในปี 2015 สำหรับรุ่นกระบะ โดยมีทั้งรุ่นที่ใช้เครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร 1.7ลิตร และ 1.8 ลิตร รถยนต์รุ่นนี้ได้เลิกการผลิตไปแล้วเมื่อ 15 พฤษภาคม 2005

2. Peugeot 405 /Peugeot Pars / Peugeot 206 / Peugeot 207
Peugeot 405 (เปอโยต์ 405) ออกมาตั้งแต่ปลายยุค 80 และเลิกจำหน่ายในตลาดโลกไปนานแล้ว แต่อิหร่าน โดยบริษัท Iran Khodro ได้นำมาผลิตขายโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากเปอร์โย 405 ต่อมาได้ถูกนำมาพัฒนาปรับปรุง รูปโฉมใหม่ ทั้งภายนอกและภายในโดยใช้แพลตฟอร์มของรถยนต์Peugeot 405 ซึ่งเป็นรถยนต์ยุโรปที่ดีที่สุดแห่งปีในปี 1988 พร้อมกับแตกชื่อรุ่นออกไปเป็น Peugeot Pars/ Peugeot 206 และ Peugeot
207 มีให้เลือกทั้งเครื่องยนต์ขนาด 1.6 ลิตร 1.8 ลิตร และ 1.9 ลิตร (เครื่อง 1.9 ลิตร ปัจจุบันเลิกผลิตไปแล้ว) ปัจจุบัน Peugeot 405 / Peugeot 206 / Peugeot 207 ได้เลิกการผลิตไปแล้ว ทั้งนี้ รถยนต์Peugeot Pars มีแผนจะยกเลิกการผลิตภายในปลายปีงบประมาณอิหร่านปัจจุบัน (มีนาคม 2567) รถยนต์ที่ติดป้ายเปอร์โยในอิหร่าน ทางบริษัทต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้กับบริษัทเปอร์โยคันละ 80 ยูโร

3. DANA / RUNNA / TARA /SAMAND
IKCO หรือ Iran Khodro ได้ตัดสินใจผลิตรถออกมาขายในแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งมีการปรับรูปโฉมตัวรถใหม่หมดทั้งคัน ได้แก่ ยี่ห้อ DANA/ SAMAND /RANA/ TARA แต่ยังคงใช้พื้นฐานของ Peugeot 405 อยู่เช่นเดิมใช้แบรนด์ของบริษัท Iran Khodro ซึ่งเป็นตราคล้ายหัวม้าติดแทนป้ายเปอร์โย และมีการส่งออกไปจำหน่ายในบางประเทศ อาทิ จีน ยูเครน อาเซอร์ไบจาน เซเนกัล ซีเรีย หรือ เวเนซุเอลา เป็นต้น เครื่องยนต์ของรถรุ่นนี้ ยังคงมีทั้งแบบของ PSA Peugeot ขนาด 1.6 ลิตร และ 1.8 ลิตร และเครื่องยนต์ขนาด 1.7 ลิตร ที่ทาง IKCO ผลิตขึ้นมาเอง

บริษัท Saipa (ชื่อบริษัทย่อมาจากภาษาฝรั่งเศส Société Anonyme Iranienne de Production des Automobiles Citroën) ก่อตั้งขึ้นในปี 1965 จัดเป็นบริษัทคู่แข่งที่สำคัญของ Iran Khodro เพราะเน้นผลิตรถเจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเช่นกัน และรับจ้างผลิต
รถยนต์ให้กับหลายๆ แบรนด์ด้วยเช่นกัน อาทิ Nissan, Renault, KIA, Changan และ Dongfeng สำหรับรถยอดนิยมของผู้ผลิตค่ายนี้ ก็มีอยู่หลากหลายรุ่น เช่น Saipa 111, 131, 132, Ario, Quick หรือ Tiba รวมไปถึงรถกระบะโบราณของ Nissan Junior ที่ยังมีผลิตมา
จนถึงทุกวันนี้อย่าง Z24

ปัจจุบันอิหร่านผลิตยานพาหนะที่แตกต่างกัน 6 ประเภท ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ขับเคลื่อน 4 ล้อ รถบรรทุก รถโดยสาร รถมินิบัส และรถปิกอัพ โดยมีการจ้างงานประมาณ 500,000 คน (ประมาณ 2.3% ของกำลังแรงงาน) และอีกจำนวนมากในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง การผลิตรถยนต์ 75% เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโดยรถกระบะเป็นประเภทรองลงมา คิดเป็นประมาณ 15% แม้ว่าผู้ผลิตรถยนต์จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แต่รัฐบาลอิหร่านยังคงถือหุ้นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของทั้งสองบริษัท โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2553 รัฐบาลขายหุ้นอีก 18% ในอิหร่านโคโดรและไซปาเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้การมีส่วนร่วมในทั้งสองบริษัทลดลงเหลือประมาณ 20%

4 เดือนแรกของปี 1402 ตามปีปฏิทินอิหร่าน (21 มีนาคม – 20 กรกฎาคม 2566) อิหร่านผลิตรถยนต์ 443,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 363,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 รถบรรทุกประเภทต่างๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 รถตู้ประมาณ 990 คัน เติบโตร้อยละ 60 มีการผลิตรถมินิบัสและรถโดยสารเกือบ 715 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ปีที่ผ่านมา ปี1401 ตามปฏิทินอิหร่าน (สิ้นสุดวันที่ 20 มีนาคม 2566) การผลิตรถยนต์ในอิหร่านเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 ใน เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ของอิหร่านผลิตรถยนต์ได้1,347,394 คัน โดยผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจำนวน 1,182,078 คันในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 รถตู้มียอดการผลิตรถตู้125,507 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 รถบรรทุก 34,136 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 150 การผลิตรถโดยสารอยู่ที่ 1,391 คัน และรถโดยสารขนาดเล็กและรถโดยสารขนาดกลาง 1,118 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 88 และ 11 ตามลำดับ

3. ชิ้นส่วนยานยนต์
Sapco และ Sazeh Gostar เป็นกลุ่มจัดซื้อชิ้นส่วนของอิหร่าน Khodro และ Saipa (ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดของอิหร่าน 2 ราย) อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ของอิหร่านประกอบด้วยบริษัทประมาณ 1,200 แห่ง (โรงงาน 15,000 แห่ง) ซึ่งรวมถึงบริษัทในเครือของผู้ผลิตรถยนต์และบริษัทอิสระด้วย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ประกอบด้วยสองภาคส่วนหลัก: ซัพพลายเออร์การผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม (Original Equipment Manufacturing :OEM) ซึ่งผลิตชิ้นส่วนสำหรับผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนหลังการขาย (After-Market Part : AMPM) ซึ่งผลิตชิ้นส่วนทดแทนสำหรับยานพาหนะ ทั้งนี้ชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ 60% ในตลาดอิหร่านนำเข้าจากต่างประเทศสำหรับชิ้นส่วนการนำเข้าที่สำคัญ ตั้งแต่ลูกสูบ หัวสูบ วาล์ว สตาร์ตเตอร์อัลเทอร์เนเตอร์ถุงลมนิรภัยไปจนถึงชิปคอมพิวเตอร์ (รวมถึงชุดควบคุมเครื่องยนต์และเซ็นเซอร์)

ถึงแม้ว่าอิหร่านจะเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ในภูมิภาคแต่สำหรับตลาดชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์แล้วอิหร่านยังมีความจำเป็นที่จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่มีราคาแพงและไร้คุณภาพ โดยเฉพาะชิ้นส่วนอะไหล่ที่จำเป็นสำหรับรถยนต์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ พร้อมกันนี้ ยังพบว่าตลาดยังมีความต้องการสินค้าประดับยนต์ ยางรถยนต์ และแบตเตอร์รี่ ที่นำเข้าจากต่างประเทศอีกด้วย เพราะผู้บริโภคให้การยอมแม้จะมีราคาสูงกว่าที่ผลิตในประเทศก็ตามตั้งแต่ปี 2020 อิหร่านยังผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เช่น ระบบป้องกันการโจรกรรมยานยนต์ ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ เซ็นเซอร์ออกซิเจน เบาะไฟฟ้า พวงมาลัยไฟฟ้า เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด วัสดุโพลีเมอร์ โมดูเลเตอร์หัวฉีด ถุงลมนิรภัย มัลติมีเดีย มอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง (DC) เซ็นเซอร์ไฟฟ้าทุกชนิดและแอมป์หน้าดิจิตอล

ยางล้อรถยนต์
อุตสาหกรรมยางรถยนต์ของอิหร่านมีประวัติมายาวนานถึง 60 ปี โดยปัจจุบัน มีบริษัทผู้ผลิตยางล้อรถยนต์ 11 แห่ง อยู่ทั่วประเทศ โดยมีกำลังการผลิต 240,000 ตันต่อปี สามารถตอบสนองความต้องการยางล้อในประเทศได้ถึงร้อยละ 70 (11 ล้านเส้นต่อปี) ผลิตยางล้อสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถบรรทุก รถโดยสาร รถตู้ รถยนต์สำหรับการก่อสร้างถนน และเครื่องจักรกลการเกษตร ตลอดจนจักรยานและรถจักรยานยนต์นอกเหนือจากยางประเภทอื่นๆ มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 15,000 คน และอีกกว่า 250,000 คนมีส่วนร่วมทางอ้อมในห่วงโซ่อุตสาหกรรมนี้ อุตสาหกรรมยางล้อของอิหร่าน แม้จะมีมาตรการคว่ำบาตรและสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนข้อจำกัดภายในประเทศบางประการ แต่ก็ผ่านพ้นจนเฟื่องฟูและประสบความสำเร็จในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

นอกจากความสำเร็จในแง่ของปริมาณการผลิตแล้ว ผู้ผลิตยางล้อของอิหร่านยังได้ขยายการผลิตล้อรถยนต์ประเภทใหม่ ซึ่งรวมถึงการผลิตยางล้อฐานกว้างและยางล้อสำหรับรถ SUV ยางฐานกว้าง ซึ่งเป็นยางล้อสำหรับยานพาหนะขนาดใหญ่รุ่นใหม่ ได้รับการผลิตเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันตกโดยผู้ผลิตชาวอิหร่านไตรมาสที่ 1 (21 มีนาคม-21 มิถุนายน 2566) ตาม
ปีปฏิทินของอิหร่าน (ปี 1402) อิหร่านได้ผลิตยางล้อสำหรับรถยนต์จำนวน 65,353 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเที่ยบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า โดยมีการผลิตยางล้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล 19,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 63 ของการผลิตทั้งหมดในช่วง 3 เดือนแรก ผลิตยางล้อรถบรรทุก 5,925 ตัน ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ขณะที่การผลิตยางล้อรถยนต์เพื่อ
การเกษตรลดลงร้อยละ 8 มาอยู่ที่ 4,436 ตัน ส่วนการผลิตยางล้อรถยนต์สำหรับรถยนต์เพื่อการอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 47 เป็น 1,319 ตัน

4. กฎระเบียบ ขั้นตอนการนำเข้า ภาษีนำเข้า
4.1 กฎระเบียบ ขั้นตอนการนำเข้า
ปัจจุบันอิหร่านเพิ่งเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านอะไหล่รถยนต์การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งใหม่และใช้แล้วผ่านศุลกากรของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านต้องมีกฎและเงื่อนไขการนำเข้าบางประการที่จำเป็นสำหรับการผ่านพิธีการชิ้นส่วนรถยนต์จากศุลกากรอิหร่าน

ประการแรก คือ การได้รับใบอนุญาตนำเข้า การนำเข้าผลิตภัณฑ์ใดๆ จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตดังนั้นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงในการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์คือการตรวจสอบใบอนุญาตที่จำเป็นสำหรับการนำเข้าและนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น ในการนำเข้าส่วนประกอบและชิ้นส่วนเฉพาะของถุงลมนิรภัย จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตทางเทคนิค (ขององค์กรพัฒนาการค้า) และใบอนุญาตเงินตราต่างประเทศ (สำนักงานอุตสาหกรรมยานยนต์- การจัดสรรสกุลเงิน)

ข้อกำหนดอื่น ๆ สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์คือการชำระค่าธรรมเนียมการนำเข้า รวมถึงภาษีศุลกากรและภาษีค่าธรรมเนียมประกันภัย ค่าขนส่ง ค่าธรรมเนียมการลงทะเบียนคำสั่งซื้อ และค่าธรรมเนียมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า

พิธีการศุลกากร ผู้นำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์หรือตัวแทนทางกฎหมายของนิติบุคคลนั้นได้รับอนุญาตให้นำอะไหล่ออกจากศุลกากรได้กระบวนการนี้เรียกว่าพิธีการทางศุลกากร โดยชิ้นส่วนดังกล่าวต้องได้รับใบอนุญาตจากองค์กรมาตรฐานของอิหร่าน โดยปัจจุยันบริษัทชิ้นส่วนที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การมาตรฐานอิหร่าน ได้แก่ มอเตอร์ของเกาหลีใต้เรอโนล์ฝรั่งเศส เปอโยต์ฝรั่งเศส นิคนามัน เยอรมันนีโอแพลน สเปนซานตาซ ฮุนได วอลโว่สวีเดน ฯลฯ

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการเคลียร์อะไหล่จากศุลกากรอิหร่าน ได้แก่ เอกสารการชำระบัญชีกับบริษัทขนส่ง ใบขนส่งสินค้าซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งรวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับชิ้นส่วนตลอดจนประเทศที่นำเข้าชิ้นส่วน ใบแจ้งหนี้ที่ออกโดยผู้ขาย ใบอนุญาตที่กระทรวงพาณิชย์อิหร่านออกให้สำหรับการนำเข้าชิ้นส่วน รายการบรรจุภัณฑ์ซึ่งแสดงการจัดเรียงชิ้นส่วน ใบรับรองการตรวจสอบซึ่งบริษัทตรวจสอบจะลงทะเบียนใบรับรองนี้หลังจากการตรวจสอบที่จำเป็นซึ่งแสดงว่าผลิตภัณฑ์ที่ลงทะเบียนเหมือนกับสินค้านำเข้า

4.2 ภาษีนำเข้า
ชิ้นส่วนรถยนต์แต่ละชิ้นมีอัตราภาษีสำหรับการนำเข้าเป็นของตัวเอง และเป็นไปไม่ได้ที่จะพิจารณารหัสภาษีเดียวกันสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมด ตัวอย่างเช่น แม้ว่าหัวเทียนและเซ็นเซอร์ออกซิเจนจะมีทั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์แต่อัตราภาษีศุลกากรของแต่ละแบบจะแตกต่างกัน โดยทั่วไป อัตราภาษีศุลกากรสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์จะอยู่ในส่วนที่สิบเจ็ด บทที่ 87 แถว 8708 ของหนังสือกฎระเบียบการส่งออกและนำเข้า ทั้งนี้ในภาพรวมรัฐบาลอิหร่านกำลังพิจารณาเพิ่มภาษีนำเข้าเป็น 70% จากที่สูงอยู่แล้ว 40% เพื่อสนับสนุนการผลิตในประเทศ

5. การขนส่ง / การชำระเงิน
ภาพรวมการขนส่งสินค้าชิ้นส่วนยานยนต์จะมาทางเรือโดยสินค้ามาลงที่ท่าเรือดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ และขนถ่ายลงเรือเล็กมายังท่าเรือประเทศอิหร่าน โดยการชำระเงินจะให้บริษัทสาขา/ตัวแทน ที่อยู่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ตุรกี มาเลเซีย ประเทศแถบเพื่อนบ้าน เป็นผู้ชำระเงินแทน

6. งานแสดงสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อิหร่าน
งานแสดงสินค้ายานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อิหร่าน ได้แก่ International Auto Part Exhibition : IAPEX) ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำในเดือนสิงหาคมของทุกปี ณ Tehran
International Permanent Fairground กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เป็นงานแสดงสินค้า
ที่รวบรวมนักธุรกิจในแวดวงมาร่วมจัดแสดงและเจรจาธุรกิจเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็น
ช่องทางและโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการขยายตลาดชิ้นส่วนยานยนต์มายังประเทศอิหร่าน

7. ทิศทางตลาดยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์อิหร่าน
• ขนาดตลาดยานยนต์ของอิหร่านคาดว่าจะเติบโตจาก 34.63 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 เป็น 54.70 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2571 ทั้งนี้ ในช่วงโควิด-19 ตลาดยานยนต์ลดลงอย่างต่อเนื่องในอิหร่านหลังจากที่ห่วงโซ่อุปทาน การนำเข้าและส่งออกซบเซาท่ามกลางการแพร่กระจายของไวรัส นอกจากนี้ การผลิตภาคยานยนต์ทั้งหมดได้หยุดชะงักลง ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ลดลงอย่างมาก
• รัฐบาลอิหร่านได้ดำเนินโครงการเชิงกลยุทธ์ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน นอกจากนี้ โครงการเหล่านี้มีแนวโน้มอย่างมากในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ OEM และซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนรถยนต์ในอิหร่าน เพื่อรักษาโครงสร้างของอุตสาหกรรมยานยนต์และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตจนถึงสิ้นปี 2568 เมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ และนโยบายของรัฐบาลในการยกระดับการพัฒนาภาคยานยนต์ของอิหร่าน คาดว่ายอดขายรถยนต์จะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง
• การคว่ำบาตรต่อรัฐบาลอิหร่านได้ช่วยให้บริษัทในประเทศ เช่น IKCO และ SAIPA ปรากฏตัวในตลาดซึ่งมีส่วนแบ่งหลักในการขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลอิหร่านและ OEM คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่มรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของอิหร่านต่อไป ตัวอย่างเช่น ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565 อิหร่าน ตุรกี และรัสเซียได้มีข้อตกลงร่วมกันภายใต้การออกแบบและผลิตรถยนต์ร่วมกัน ความร่วมมือไตรภาคีนี้จะพัฒนาวิสัยทัศน์การเติบโตร่วมกันสำหรับ 3 ประเทศ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับการผลิตรถยนต์ในประเทศ
• บริษัทผลิตรถยนต์จีนเริ่มเข้ามามีบทบาทในตลาดอิหร่านครั้งแรกเมื่อประมาณ 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในตอนแรกไม่ได้รับการตอบรับและไม่ได้รับการสนใจจากผู้บริโภคอิหร่าน โดยบริษัท Kerman Motor Co. เป็นบริษัทผู้บุกเบิกตลาดรถยนต์จีนในอิหร่าน รถยนต์ของจีนที่เข้ามาในตลาดอิหร่านครั้งแรกได้แก่ MVM ปัจจุบันรถยนต์จีนได้รับการตอบสนองมากกว่ารถยนต์เปอร์โย เนื่องจากจีนได้ผลิตรถยนต์และใช้เทคโนโลยี และรูปแบบรถยนต์ที่ทันสมัยกว่า ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดอิหร่าน โดยรถยนต์จีนที่มีขายในอิหร่านเป็นรถยนต์ที่ประกอบชิ้นส่วนในรูปของ CKD และ SKD

ข้อมูลอ้างอิง
1. เว็บไซต์ https://th.carro.co/blog/popular-cars-in-iran-from-iranian/
2. เว็บไซต์ https://salamgomrok.com/
3. เว็บไซต์ https://pspexpress.com/fa/mag/importing-car-parts-from-china/
4. เว็บไซต์ https://donyarahnavard.ir
5. เว็บไซต์ http://mehvarneshan.com/
6. เว็บไซต์ https://asantrading.com/import-car-parts
7. เว็บไซต์ https://en.wikipedia.org/wiki/Automotive_industry_in_Iran
8. เว็บไซต์ https://www.mordorintelligence.com/industry-reports/analysis-of-automobile-industryin-iran

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login