หน้าแรกTrade insightเกษตรอื่นๆ > ตลาดผลไม้อบแห้งในอิหร่าน

ตลาดผลไม้อบแห้งในอิหร่าน

ข้อมูลทั่วไป

ชาวอิหร่านให้ความสำคัญและใส่ใจต่อสุขภาพ และคำนึงถึงคุณค่าทางโภขนาการก่อนเสมอ เนื่องจากวัฒนธรรมอิหร่านได้ให้ความสำคัญต่อการประกอบอาหารที่ปราณีตเพื่อรับรองแขกที่มาเยือนและเพื่อบริโภค ในชีวิตประจำวัน ก่อนจะรับประทานอาหารชนิดใดๆ พวกเขาจะต้องทราบถึงที่มาที่ไปและวิธีการปรุงแต่งอาหารก่อน ด้วยเหตุนี้เองชาวอิหร่านจึงไม่ค่อยนิยมรับประทานขนบขบเคี้ยว หรืออาหารทานเล่นที่ไม่มีประโยชน์ สินค้าขนมขบเคี้ยวที่วางขายในห้างสรรพสินค้าโดยทั่วไปจึงไม่ค่อยมีความหลากหลายมากเท่าใดนัก

อิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสี่ฤดูกาล เนื่องจากมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยและมีประวัติศาสตร์การปลูกผลไม้มายาวนานถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของผลผลิตทางการเกษตรมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง อิหร่านจึงมีผลไม้ทางการเกษตรหลากหลายชนิดไว้บริโภคตามฤดูกาล สามารถผลิตเป็นอุตสาหกรรมแบบครัวเรือนขนาดเล็กและในรูปอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และส่งออกไปต่างประเทศสร้างรายได้ในกลุ่มสินค้า (Non oil Products) ให้กับประเทศมากที่สุด

ผลไม้อบแห้งในอิหร่านมีความหลากหลายสูงมาก เป็นของว่างเพื่อสุขภาพหรือขนมขบเคี้ยวที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ และได้ชื่อว่าเป็นของว่างที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุดชนิดหนึ่งในอิหร่าน ซึ่งผลไม้อบแห้งในอิหร่านจะครอบคลุมผลิตภัณฑ์ถั่วอบแห้ง เมล็ดกระจี้และเมล็ดแตงต่างๆ ด้วย ประชาชนชาวอิหร่านนิยมรับประทานผลไม้อบแห้งผสมและผลิตภัฑณ์ถั่วเป็นอาหารว่าง ความต้องการบริโภคขนมขบเคี้ยวที่มีคุณค่าทางโภชนาการตามธรรมชาติประเภทนี้จึงมีอยู่ตลอดทั้งปี ถือเป็นทางเลือกที่สะดวกและมีประโยชน์ต่อสุขภาพและน่าสนใจสำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพ และสามารถทดแทนของว่างที่ไม่ดีต่อสุขภาพได้ อาทิเช่น มันฝรั่งทอด เค้ก ชนมหวาน ขนมขบเคี้ยวต่างๆ และช็อคโกแลต เป็นต้น

การผลิตผลไม้อบแห้งในอิหร่าน

ปัจจุบันอิหร่านผลิตผลไม้อบแห้งหลากหลายชนิด ที่มีคุณภาพและรสชาติที่ยอดเยี่ยมและจําหน่ายในตลาดโลก ผลไม้อบแห้งที่อิหร่านส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้แก่ ลูกพีช กีวี แอปเปิ้ล ส้ม สตรอเบอร์รี่ ลูกพลัม มะม่วงแห้ง อินทผลัม มะพร้าวแห้ง ลูกเกด ผลิตภัณฑ์ถั่วต่างๆ อาทิ ถั่วพิชตาชิโอ ส่วนใหญ่การผลิตผลไม้แห้งในประเทศอิหร่านเป็นการผลิตแบบดั้งเดิม ไม่มีมาตรฐานรับรอง และส่วนใหญ่ทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน
ปัญหาการผลิตผลไม้อบแห้งของอิหร่าน ได้แก่

    •  ปัญหาในด้านการผลิต: ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานสําหรับการสร้างโรงงานและห้องเย็น
    • ความผันผวนของสภาพอากาศ: สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดความผันผวนในราคาผลไม้ กอปรกับในแต่ละฤดูจะมีผลไม้ที่ไม่เหมาะสำหรับฤดูนั้นๆ
    • การรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์: การใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมในกระบวนการอบแห้งตลอดจนการใช้เครื่องอบแห้งคุณภาพต่ำอาจทําให้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ลดลง
    • การตลาด: การขยายและการพัฒนาเพื่อเพิ่มยอดขายต้องพึ่งการตลาดที่ดี ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ผลิตยังไม่มีการวางแผนดังกล่าว
    • อุปสรรคในด้านคมนาคมขนส่ง: ปัญหาการขนส่งอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และเพิ่มต้นทุน

จากการวิเคราะห์ผ่านเว็บไซต์ Statista และ FAO ในช่วงปี 2021 – 2022 ในด้านการผลิตผลไม้อบแห้งทั่วโลกอิหร่านจัดอยู่ในหนึ่งผู้ผลิตสำคัญในตลาดโลก ตามรายงานพบว่าอิหร่านมีส่วนแบ่งของตลาดผลไม้อบแห้งในตลาดโลกร้อยละ 12 ทั้งนี้สหรัฐอเมริกามีส่วนแบ่งร้อยละ 15 ตุรกีร้อยละ 15 ซาอุดีอาระเบียร้อยละ 7 และจีนมีส่วนแบ่งร้อยละ 6

ผลไม้อบแห้งหลากหลายชนิดซึ่งเป็นที่นิยมและมีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย เป็นผลไม้ที่อิหร่านผลิตได้ในประเทศ อาทิเช่น

    1.  อินทผาลัม (Dates) เป็นผลไม้แห้งที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอิหร่านและภูมิภาคนี้มีชื่อเสียงในด้านอินทผาลัมคุณภาพสูง มีหลากหลายพันธ์ เช่น  Peyarem, Mazafati, Zahedi เป็นที่นิยมมากในหมู่ชาวอิหร่านเนื่องจากมีรสชาติที่ดีและมีคุณค่าทางโภชนาการสูง อิหร่านเป็นผู้ผลิตและส่งออกอินทผลัมรายใหญ่ของโลกรายหนึ่ง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในด้านคุณภาพและรสชาติที่ยอดเยี่ยม
    2. มะเดื่อ (Figs) เป็นที่นิยมในอิหร่านโดยนิยมรับประทานเป็นของว่างหรือใช้ในอาหารและของหวานต่างๆ
    3. ลูกเกด (Raisins) ซึ่งเป็นองุ่นแห้งมีจำหน่ายทั่วไป มีหลากหลายสายพันธุ์ แบบไร้เมล็ดและมีเมล็ด และสีสรรที่แตกต่าง  มักใช้ในการอบขนม ทำอาหารและของว่าง
    4. แอปริคอต (Apricots) เป็นอีกหนึ่งผลไม้แห้งที่พบได้ทั่วไปในประเทศ มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อยและมีสีเหลืองส้มสดใส นิยมทำเป็นน้ำดื่มผลไม้
    5. ลูกพรุน (Prunes) มีรสหวาน ฝาดเล็กน้อย และมักนิยมรับประทานเป็นของว่างหรือใช้ในการปรุงอาหาร
    6. แอปเปิ้ล โดยทั่วไปแล้วมีรสหวานและเคี้ยวง่าย เป็นของว่างที่สะดวกและดีต่อสุขภาพ
    7. สับปะรดอบแห้งนิยมใช้ทำขนมหรือผสมโยเกิร์ตผลไม้
    8. Barberry อบแห้ง ผลเบอร์รี่ที่มีรสเปรี้ยว มักใช้ในการเตรียมอาหารอิหร่าน เช่น ซุป หรือใช้เป็นเครื่องดื่ม หรือโรยใส่ในข้าวเพื่อให้มีสีสันที่พิเศษ

ช่องทางการจำหน่าย

ผลไม้อบแห้งที่วางจำหน่ายในตลาดอิหร่านสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

    1. ผลไม้อบแห้งที่ผลิตได้ในประเทศอิหร่านเอง มีให้เลือกหลากหลายชนิด อาทิเช่น อินทผลัม สตอเบอรี่ ลูกพีท แอพริคอต ลูกเกด ลูกพรุน มะเดื่อแห้ง เป็นต้น
    2. ผลไม้อบแห้งนำเข้าจากต่างประเทศ นับเป็นผลไม้อบแห้งสุดหรูตามทัศนะคติของผู้บริโภคชาวอิหร่าน อาทิ เช่น มะม่วงอบแห้ง สับปะรดอบแห้ง กล้วยอบแห้ง มะพร้าวอบแห้ง เกร็ดมะพร้าวใช้โรยหน้าขนม ผลไม้เมืองร้อน (Tropic fruit) อบแห้งชนิดรวม มะละกออบแห้ง ส้มโออบแห้ง ขิงอบแห้ง เป็นต้น

ผลไม้อบแห้งในอิหร่านจะวางจำหน่าย

1) ในร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ถั่วอบแห้ง ร้านขายขนมหวานและเบเกอรี่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าในปั๊มน้ำมัน ร้านขายของชำในแหล่งชุมชนต่างๆ  เป็นช่องทางหลัก มีทั้งการตักขายตามน้ำหนักและชนิดตามความต้องการของลูกค้า สามารถเลือกซื้อได้แบบแยกชนิดและแบบรวมหลายชนิด ทั้งนี้การจำหน่ายในซุเปอร์มาร์เกตจัดให้มีมุมผลไม้อบแห้ง และผลิตภัณฑ์ถั่วอบแห้งเป็นส่วนเฉพาะ ลูกค้าสามารถเดินเลือกซื้อหาสินค้าได้ตามอัธยาศัย โดยกรุงเตหะรานจะเป็นตลาดขายส่งผลไม้อบแห้งและผลิตภัณฑ์ถั่วอบแห้งที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน แหล่งย่านการค้าและตลาดขายส่งผลไม้อบแห้งชื่อดังในกรุงเตหะราน ได้แก่

    1. ตลาด Grand Baazar
    2. Molavi Baazar
    3. Tajrish Baazar

(2) ช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์  เวปไซต์อินเตอร์เนตและอีคอมเมิร์ซ ก็มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมาเช่นกัน

เมื่อสำรวจแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ และแอพพลิเคชั่นต่างๆ ภายในประเทศ อาทิ เช่น Torob /Digi kala/ Snapp Food ฯลฯ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มภายในประเทศอิหร่านและใช้ภาษาฟาร์ซีในการสื่อสารที่มีชื่อเสียงและลูกค้าให้ความนิยม สามารถสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์และได้รับการตอบรับจากลูกค้ามากที่สุด

นอกจากผลไม้อบแห้งมีจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ต ไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าขายถั่วและขนมหวาน ยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการความสะดวกในการซื้อผลไม้อบแห้ง และสามารถเข้าถึงฐานลูกค้าได้กว้างขึ้น

โดยทั่วไปแล้วในประเทศอิหร่าน สินค้าจะถูกจำหน่ายจากบริษัทผู้ผลิต สู่ร้านค้าส่ง และส่งต่อไปยังร้านค้าปลีก ก่อนจะถึงมือผู้บริโภค ดังที่แสดงในรูปแบบ A สินค้าบางชนิดอาจจำหน่ายผ่านร้านค้าส่งสองเจ้าดังที่แสดงในรูปแบบ B หรือมีอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา นั่นคือผู้ผลิตส่งสินค้าให้ร้านค้าปลีกโดยตรงดังที่แสดงใน รูปแบบ C ผู้ประกอบการจำเป็นต้องทราบว่ายังมีรูปแบบการกระจายสินค้ารูปแบบอื่นอีก เช่น ร้านค้าส่งเป็น  ผู้ส่ง สินค้าแก่ผู้ใช้งานภาคอุตสาหกรรม และหลังจากแปรรูปเรียบร้อยแล้วสินค้าจึงถึงมือผู้บริโภค เป็นต้น

พฤติกรรมการบริโภค

ผลไม้อบแห้งในอิหร่านส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นชิ้นผลไม้แห้งในรูปแบบของแผ่นอบกรอบ หรือคงรูปแบบผลไม้แห้งทั้งผล หรือเป็นแบบผลไม้ผ่าครึ่งซีกแห้ง โดยจะมีลักษณะเป็นแบบหั่นรูปลูกเต๋าน้อยที่สุด มักผลิตโดยไม่เติมน้ำตาล หรือทอดในน้ำมันหรือเติมแต่งรสชาติ สีสรร หรือเพิ่มสารกันบูดใดๆ เป็นรสธรรมชาติ 100 % สามารถเก็บไว้บริโภคได้เป็นเวลานานโดยไม่ต้องเก็บไว้ในตู้เย็น และใช้วิธีอบแห้งตามธรรมชาติหรือใช้ความร้อน การบริโภคผลไม้อบแห้งจึงเป็นการรับประทานอาหารว่างเพื่อสุขภาพที่มีประโยชน์ ในขณะที่ผลไม้อบแห้งนำเข้าจากต่างประเทศส่วนใหญ่จะขายในรูปแบบของฝัก ลูกเต๋าหั่นเล็กๆ แม้ว่าความแตกต่างทางด้านรูปทรงจะไม่สร้างความแตกต่างในการบริโภค แต่อย่างไรก็ตามชาวอิหร่านส่วนใหญ่จะรับประทานผลไม้อบแห้งแบบลูกเต๋าควบคู่กับการจิบเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น ชาหรือชาสมุนไพร ชาวอิหร่านนิยมผลไม้ที่มีรสชาติเปรี้ยว หวานอมเปรี้ยว เป็นหลัก

ทั้งนี้ ผลไม้อบแห้งที่ผลิตได้ในครัวเรือน หรือที่มีขายตามร้านค้าปลีกโดยทั่วไปจะเป็นรสชาติแบบดั้งเดิม หรือมีการแต่งรสชาติหวานเล็กน้อย ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ ที่ผลิตได้จากโรงงานมีการปนแต่งสีสรร และเพิ่มรสชาติ เช่น ผสมรสช็อกโกแลต วางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าทั่วไป

เป็นที่สังเกตว่า ประชาชนชาวอิหร่านไม่นิยมมะขามหวาน 3 รส แบบที่คนไทยนิยมที่มีการเติมรสชาติด้วยน้ำตาล เกลือและพริก ส่วนใหญ่ประชาชนอิหร่านจะนิยมมะขามหวานแบบรสชาติ หวานอมเปรี้ยว หรือเปรี้ยวจี้ดในแบบที่คนไทยเอามาทำเป็นแกง

พฤติกรรมการบริโภคผลไม้อบแห้งสรุปได้ดังนี้

    • ใช้ผลไม้อบแห้งเป็นของว่างเสริฟพร้อมถั่วต่างๆ ใช้แทนน้ำตาลก้อนรับประทานกับน้ำชา
    • ใช้เป็นอาหารว่างทานเพื่อเสริมสุขภาพและบำรุงกำลังที่มีประโยชน์ ส่วนใหญ่ประชาชนชาวอิหร่านจะมีพกติดตัวไว้รับประทานเสมอ
    • ใช้จัดเป็นชุดของขวัญมอบในโอกาสพิเศษต่างๆ โดยเฉพาะเทศกาลปีใหม่อิหร่านตรงกับวันที่ 21 มีนาคมของทุกปี และเทศกาลยัลดาห์ (ค่ำคืนที่ยาวนานที่สุดของปี)ตรงกับประมาณวันที่ 20 ธันวาคม ของทุกปี นิยมใช้ผลไม้อบแห้งเป็นของขวัญสำหรับเทศกาลและโอกาสพิเศษ มีความต้องการซื้อสูงในช่วงเทศกาลต่างๆ
    • ใช้ในการทำขนมหวาน ของว่าง และเบเกอรี่ โดยใช้ผลไม้แห้งเป็นส่วนผสมในการทำเค้กและขนมหวานต่างๆ
    • ใช้ตกแต่งและโรยหน้าแพนเค้ก ขนมปัง มัฟฟิน ขนมหวาน และอื่นๆเป็นต้น
    • รับประทานเป็นอาหารเช้าในรูปของซีเรียล
    •  ใช้เป็นชาผลไม้  ซึ่งเป็นชาผลไม้ที่ปราศจากคาเฟอีน บำรุงสุขภาพและสามารถเป็นยาสมุนไพรได้ด้วย

กลุ่มผู้บริโภคผลิตภัณฑ์ผลไม้แห้ง

คือ ประชาชนทุกเพศ ทุกวัยทั่วประเทศ ทั้งวัยรุ่นสตรี นักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย พนักงานออฟฟิศ แม่บ้าน และเด็ก

ปริมาณการบริโภคและความต้องการของตลาด

ตลาดผลไม้อบแห้งที่ผลิตได้ในอิหร่านเป็นตลาดที่ทำกันมาแบบดั้งเดิม ในรูปของอุตสาหกรรมแบบครัวเรือน มีการเติบโตของตลาดสูงพอสมควร แม้ว่าผลไม้อบแห้งจะไม่ได้จัดให้เป็นสินค้าที่อยู่ในหมวดสินค้าจำเป็นพื้นฐานอย่างเช่น ข้าว และธัญพืชต่างๆ ก็ตาม แต่เนื่องจากวัฒนธรรมและนิสัยความเป็นอยู่ที่ประชาชนชาวอิหร่าน ที่ได้ให้ความสนใจเรื่องสุขภาพพลานามัยเป็นพิเศษ กอปรกับความนิยมบริโภคผลไม้แห้งในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการโฆษณาสินค้าดังกล่าวให้เห็นได้บ่อยนัก ทุกครัวเรือนจะมีผลไม้อบแห้งติดไว้ในครัวเรือนของตนเสมอ โดยปริมาณการบริโภคจะขึ้นอยู่กับอำนาจการซื้อของแต่ละครัวเรือน รวมทั้งขึ้นอยู่กับความสนใจ รสนิยม และความใส่ใจในสุขภาพของแต่ละครัวเรือนเป็นหลัก ลูกค้าชาวอิหร่านเรียกผลไม้อบแห้งนำเข้าติดปากกันว่า “ผลไม้อบแห้งเมืองร้อน” หรือ “ผลไม้อบแห้งไทย” เนื่องจากคุณภาพและคุณสมบัติซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคชาวอิหร่าน

การบรรจุภัณฑ์

การจำหน่ายแบบขายส่ง

ส่วนใหญ่จะบรรจุในถุงพลาสติกใสขนาด 20 กิโลกรัม กระสอบผ้า กระสอบพลาสติก

การจำหน่ายแบบขายปลีก

บรรจุใส่ถุงพลาสติก (plastic pouch) ถุงกระดาษ ถุงฟอยล์(foil bag) หรือถุงพลาสติกแบบซิปล้อค (reclosable) หรือกล่องและตระกร้าของขวัญที่มีลายให้เลือกสวยงาม โดยมีขนาดบรรจุระหว่าง 50 กรัมถึง 1 กิโลกรัม แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ถุงพลาสติกบรรจุผลไม้แห้งทั่วๆ ไป หากเป็นถุงพลาสติกแบบซิปล้อค (reclosable)  โดยทั่วไปจะมีการออกแบบกันเองตามสไตล์ของแต่ละร้านค้า

บรรจุภัณฑ์ที่ผนึกจากโรงงาน บรรจุผลไม้รวมชนิดต่างๆ  ผลิตภัณฑ์ถั่วต่างๆ บรรจุในหลายขนาด ผ่านมาตราฐานและได้รับตรารับรองต่างๆ อย่างเป็นทางการ

การนำเข้า

ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อและมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักในตลาดอิหร่านเรื่องคุณภาพ และความหลากหลายของผลไม้อบแห้ง อิหร่านนำเข้าผลไม้อบแห้งจากประเทศไทย แอฟริกา จีน เวียดนาม เป็นการลักลอบนำเข้า โดยนำเข้าในรูปของ bulk และ นำมารีแพคใหม่อีกครั้ง หรือตักขายตามน้ำหนักและความต้องการของผู้บริโภค  ไม่ได้นำเข้าในรูปแบบสินค้าสำเร็จรูป ด้วยเหตุนี้ผู้บริโภคไม่สามารถทราบได้เลยว่าสินค้าชนิดนี้นำเข้ามาจากประเทศใด เพียงแต่ทราบว่าเป็นผลไม้อบแห้งนำเข้าเนื่องจากผลไม้ดังกล่าวเป็นผลไม้เมืองร้อนที่ไม่สามารถปลูกได้ในประเทศอิหร่าน

การส่งออก

เป็นประเทศผู้ส่งออกผลไม้อบแห้งที่สำคัญประเทศหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง มีส่วนแบ่งร้อยละ 12 ของตลาดโลก ในปีที่ผ่านมา 2023 อิหร่านส่งออกผลไม้อบแห้งและผลิตภัณถั่วอบแห้งมูลค่า 40,985,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ปริมาณ 18,421 ตัน

อิหร่านส่งออกผลไม้อบแห้งไปยังประเทศตุรกี อิรัก สหรัฐฯอาหรับเอมิเรตส์ กลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย รัสเซีย กลุ่มประเทศยุโรป อังฤษ กลุ่มประเทศ CIS เป็นต้น

การส่งออกของไทย

ผลไม้แห้งที่ไทยส่งออกไปอิหร่าน ผ่านประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาทิเช่น  สับปะรดอบแห้ง  มะละกออบแห้ง กีวีอบแห้ง มะม่วงอบแห้ง  กล้วยอบแห้ง เกร็ดมะพร้าวอบแห้ง และส้มอบแห้ง เป็นต้น

สินค้านำเข้าผลไม้อบแห้ง 1 มี.ค. 2566 ถึง 19 มี.ค. 2567

เลขที่ นำเข้าจากประเทศ สินค้า มูลค่า (US$)
1 ไทย เกร็ดมะพร้าว/มะพร้าวบดแห้ง 34,911
2 ศรีลังกา เกร็ดมะพร้าว/มะพร้าวบดแห้ง 5,331,765
3 เวียดนาม เกร็ดมะพร้าว/มะพร้าวบดแห้ง 1,996,694
4 อินเดีย มะม่วงหิมพานต์ 187,200
5 อาหรับเอมิเรต มะม่วงหิมพานต์ 2,011,975
6 ปากีสถาน มะม่วงอบแห้ง 29,323,676
7 อินเดีย มะม่วงอบแห้ง 7,322
8 อาหรับเอมิเรต สับปะรดอบแห้ง 49,164
9 มาเลเซีย สับปะรดอบแห้ง 15,426
10 ฟิลิปปินส์ สับปะรดอบแห้ง 8,846,221
11 อินเดีย สับปะรดอบแห้ง 10,774

แนวโน้มตลาด

ความหลากหลายของการเลือกซื้อผลไม้อบแห้งทั้งชนิดแบบดั้งเดิมและรูปแบบแปลกใหม่ ผู้นำเข้าและห้างค้าปลีก ได้เพิ่มความหลากหลายของกลุ่มสินค้าผลไม้อบแห้งเพิ่มมากขึ้น เช่น เบอร์รี่อบแห้ง ผลไม้หายากอบแห้งต่างๆ ซึ่งความหลากหลายเหล่านี้เป็นปัจจัยการดึงดูดความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งความต้องการของตลาดสินค้านี้มีตลอดทั้งปีและต่อเนื่อง

ราคาสินค้า

สินค้า ราคา (เรียล/1 กิโลกรัม)
มะพร้าวแห้ง 4,500,000
มะม่วง 16,900,000
กล้วย 7,300,000
สับปะรด 14,500,000

คู่แข่ง

มีการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่สามารถผลิตผลไม้เมืองร้อนที่เป็นที่นิยมของชาวอิหร่าน เช่น เกร็ดมะพร้าวประเทศคู่แข่งของไทย ได้แก่ ศรีลังกา อินเดีย ในด้านผลไม้สับประรดแห้งประเทศคู่แข่งไทยได้แก่ จีน ฟิลิปปินส์ ในด้านผลไม้อบแห้งมะม่วงคู่แข่งไทยจะเป็นประเทศ อินเดีย และจีนเป็นต้น

ปัญหาและอุปสรรค

    1. ปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงิน เนื่องจากอิหร่านโดนคว่ำบาตร ไม่สามารถเปิดการชำระเงินในรูปของ LC ได้นักธุรกิจอิหร่านต้องชำระเงินผ่าน Exchange ประเทศที่สาม เช่น ตุรกี เอมิเรตส์ จีน
    2. นักธุรกิจอิหร่านนิยมชำระเงินแบบให้เครดิตในระยะยาว เช่น 60 วัน หรือ180 วัน ซึ่งส่วนใหญ่นักธุรกิจอิหร่านจะทำการค้าในรูปนี้กับประเทศจีน หรือ อินเดีย
    3. ทำธุรกิจแบบแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน (Brader Trade ) อาทิเช่น อิหร่านส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์เหล็กกล้า และไทยส่งสินค้าผลไม้อบแห้งเป็นการแลกเปลี่ยน เป็นต้น

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ตลาดผลไม้อบแห้งในอิหร่าน

Login