หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมะนาว Lime Juice ในสหรัฐอเมริกา

ตลาดผลิตภัณฑ์น้ำมะนาว Lime Juice ในสหรัฐอเมริกา

ในปี 2565 ตลาดน้ำมะนาว Lime Juice ทั่วโลกมีมูลค่า 855.53 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 1,226.71 ล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2571 หรือจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 6.19 เปอร์เซ็นต์ในช่วงระยะดังกล่าว

มะนาว หรือ Lime เป็นผลไม้รสเปรี้ยวสีเขียวขนาดเล็กที่สามารถเติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น เราอาจจะคุ้นเคยกับมะนาวว่ามีรสเปรี้ยวจัด แต่จริงแล้วมะนาวมีหลากหลายชนิด ส่งผลให้รสชาติมีความหลากหลายด้วยเช่นกัน ทั้งรสเปรี้ยวและหวานซึ่งขึ้นกับแต่ละชนิด ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริการะบุว่า มะนาว 1 ลูก มีวิตามินซี 19.5 มิลลิกรัม โดยในแต่ละวันร่างกายควรได้รับวิตามินซี 75-90 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมีธาตุเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี 6 ไทอามีน โพแทสเซียม และอื่นๆ อีกมากมาย มะนาวส่วนใหญ่ในร้านขายของชำในสหรัฐฯ เรียกว่า มะนาวเปอร์เซีย (Persian limes)  นำเข้ามาจากเม็กซิโกเป็นหลัก แต่สำหรับมะนาวพันธุ์หวานมักหาซื้อไม่ได้ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากสหรัฐฯ นำเข้ามะนาวเปอร์เซียเป็นส่วนใหญ่

ภาพรวมตลาดน้ำมะนาว Lime Juice

ผลิตภัณฑ์ Lime Juice ในตลาดสหรัฐฯ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบแช่แข็งที่ไม่ผ่านการบวนการปรุงแต่ง (Frozen) และแบบแปรรูป (Preserved) โดยมีทั้งแบบชนิดผสมน้ำตาล (with sugar) และชนิดไม่มีน้ำตาล (without sugar) ส่วนใหญ่นำมาใช้สำหรับปรุงอาหาร ทำน้ำสลัด น้ำหมัก โดยน้ำมะนาวเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐที่มีความคล้ายคลึงกับอาหารเม็กซิกัน อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบสำคญของอาหารละตินอเมริกาและแคริบเบียน นอกจากนี้ ยังนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มค็อกเทล เป็นต้น น้ำมะนาวสามารถนำมาเป็นเครื่องดื่มคล้ายกับน้ำเลมอน (Lemonade) ที่คั้นจากผลเลมอน แต่น้ำมะนาวที่มีรสชาติที่เปรี้ยวจัด ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงมักจะนิยมนำน้ำมะนาวมาปรุงรสก่อนหากต้องการบริโภคเป็นเครื่องดื่ม โดยสามารถผสมกับน้ำและน้ำตาล แม้ว่าชาวอเมริกันจะนิยมบริโภคน้ำเลมอนมากกว่า แต่น้ำมะนาวก็นับเป็นเครื่องดื่มที่เป็นคู่แข่งเบอร์ต้นของน้ำเลมอนเช่นกัน

ปัจจัยผลักดันผลิตภัณฑ์น้ำมะนาว

  1. ในตลาดอเมริกาเหนือ ผลิตภัณฑ์น้ำมะนาวคาดว่าจะเติบโตอย่างมากในช่วงปี 2566-2567 การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาใส่ใจในเรื่องของการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีมากขึ้นเนื่องจากประโยชน์ของน้ำมะนาวที่มีต่อสุขภาพนั้นมีหลายประการ อุดมไปด้วยวิตามินซี รวมทั้งน้ำมะนาวธรรมชาติที่ไม่ผ่านสารปรุงแต่งรสชาติสามารถให้ประโยชน์ทางโภชนาการโดยไม่ลดทอนรสชาติอีกด้วย ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์น้ำมะนาวเป็นหนึ่งในตัวเลือกของผู้บริโภคที่นำมาประกอบอาหารหรือรับประทานเป็นน้ำผลไม้ ซึ่งเหล่านี้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนตลาดที่สำคัญ
  2. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดอเมริกาเหนือ เหล่านี้เป็นตัวผลักดันที่จะสร้างโอกาสในการเติบโตที่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดที่มีบทบาทสำคัญต่อตลาดน้ำมะนาวของโลก การเปลี่ยนแปลงใด ๆ จากสหรัฐอเมริกาอาจส่งผลต่อแนวโน้มการพัฒนาของน้ำมะนาว

ในสหรัฐเมริกา สภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยนับเป็นอุปสรรคต่อการเพาะปลูกมะนาวเป็นอย่างมาก รัฐที่ปลูกมะนาวมากที่สุดในสหรัฐฯ ได้แก่ รัฐแอริโซนา รัฐแคลิฟอร์เนีย รัฐฟลอริดา และรัฐเท็กซัส เป็นต้น โดยประเทศเม็กซิโกถือเป็นซัพพลายเออร์รายใหญ่สุดที่ส่งออกผลิตภัณฑ์มะนาวมายังสหรัฐฯ ซึ่งเม็กซิโกมีความได้เปรียบในการแข่งขันเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กับสหรัฐและมีสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการปลูกมะนาว สำหรับประเทศอื่นๆ ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์มะนาวไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ เปรู บราซิล และโคลอมเบีย เป็นต้น

คู่แข่งในตลาดโลกที่สำคัญ ได้แก่

บริษัทยักษ์ใหญ่ TOP 5 ในตลาดโลก ได้แก่ 1) บริษัท Keurig Dr Pepper 2) บริษัท Polenghi 3) บริษัท Concord Foods 4) บริษัท Nielsen Citrus 5) บริษัท Nellie and Joe’s โดยครองส่วนแบ่งร้อยละ 52 และประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด โดยมีส่วนแบ่งร้อยละ 41 รองลงมาคือตลาดเอเชียแปซิฟิกและตลาดสหภาพยุโรป

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทอื่นๆ อีก อาทิ 1) บริษัท Polenghi 2)บริษัท Nielsen Citrus 3) บริษัท Concord Foods 4) บริษัท Keurig Dr Pepper 5) บริษัท Natalie Orchid Island Juice 6) บริษัท Lakewood 7) บริษัท Santa Cruz Organic 8) บริษัท Nellie and Joe’s 9) บริษัท Ingrilli Citrus 10) บริษัท Lemon Fresh 11) บริษัท Sunita 12) บริษัท Kudo Foods 13) บริษัท Keeling Juices 14) บริษัท Voila Juices 15) บริษัท Lucy’s 16) บริษัท Pompeii Products 17) บริษัท Limm

ช่องทางจำหน่าย

ช่องทางการจัดจำหน่าย แบ่งออกเป็นตลาดอีคอมเมิร์ซ ไฮเปอร์มาร์เก็ต/ซุปเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ โดยไฮเปอร์มาร์เก็ต/ซูเปอร์มาร์เก็ตนั้นครองตลาดมากที่สุด เนื่องจากเป็นช่องทางการขายที่มีความพร้อมในการนำเสนอสินค้าที่หลากหลายประเภทมากที่สุด ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบสินค้า ก่อนเลือกซื้อสินค้านั้นๆ มอบความสะดวกสบายและประหยัดเวลาให้แก่ลูกค้า

รูปแบบบรรจุภัณฑ์

รูปแบบประเภทบรรจุภัณฑ์ แบ่งเป็นแบบขวดแก้ว (glass bottle) กระป๋อง (canned bottle) ขวดพลาสติก (Plastic bottle) และแบบถุง (Pouch) โดยบรรจุภัณฑ์แบบขวดพลาสติกจะเป็นประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุด รองลงมาคือ บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ก่อนหน้านี้ในทศวรรษที่ 90 ขวดแก้วถูกใช้จำนวนมากเพื่อบรรจุน้ำมะนาวและน้ำอัดลม แต่ตอนนี้ได้ถูกแทนที่ด้วยขวดพลาสติกเนื่องจากคุณสมบัติที่คุ้มค่ากว่า โดยขนาดของบรรจุภัณฑ์ เริ่มต้นที่ 2.5oz – 1 แกลอน ตามลำดับ

การนำเข้ามะนาว (Lime) จากทั่วโลก (HS 080550)

ในปี 2565 สหรัฐอเมริกานำเข้ามะนาว (Lime) จากทั่วโลกเป็นมูลค่า 388.2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยนำเข้าจากประเทศเม็กซิโกอันดับที่ 1 มูลค่าการนำเข้า 341.1 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากประเทศโคลัมเบียเป็นลำดับที่ 2 มูลค่าการนำเข้า 29.9 ล้านเหรียญสหรัฐ นำเข้าจากประเทศเปรูเป็นลำดับที่ 3 มูลค่าการนำเข้า 12.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ นำเข้าจากประเทศอาร์เจนตินาเป็นลำดับที่ 4 มูลค่าการนำเข้า 1.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และนำเข้าจากประเทศฮอนดูรัสเป็นลำดับที่ 5 มูลค่าการนำเข้า 661,230 เหรียญสหรัฐฯ และเมื่อปี 2564 นำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 24 มีมูลค่า 4,614 เหรียญสหรัฐฯ

 ความคิดเห็นของสคต. นิวยอร์ก

สินค้าน้ำมะนาวของไทย ทั้งในรูปแบบเครื่องดื่ม หรือนำมาใช้ในการปรุงรสอาหาร/ค็อกเทล เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่มียังมีโอกาสและมีลู่ทางในการเจาะขยายตลาดได้ นอกจากนี้แล้ว สินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ในกลุ่มสินค้าน้ำผลไม้และน้ำผัก ทั้งกลุ่มสินค้าออร์แกร์นิก สินค้าเพื่อสุขภาพ หากใช้ช่องทางและเครื่องมือทางการตลาดที่เหมาะสมเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายแล้ว เชื่อว่าตลาดสหรัฐฯ ยังมีโอกาสสำหรับสินค้าแบรนด์น้องใหม่เสมอ แต่ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการศึกษาเรื่องกฎระเบียบและเอกสารการส่งออกของ USFDA เพื่อจัดเตรียมเอกสารและข้อมูลที่ถูกต้องก่อนส่งออกมายังตลาดสหรัฐฯ

ข้อมูลอ้างอิงจาก:

สคต. นิวยอร์ก

กรกฎาคม 2566

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login