1. การค้าระหว่างไทยและคาซัคสถาน
สาธารณรัฐคาซัคสถาน หรือ คาซัคสถาน มีประชากรประมาณ 19 ล้านคน โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว (GDP per capita) ประมาณ 11,494.3 เหรียญสหรัฐ (ปี 2565)[1] โดยในปี 2565 คาซัคสถานเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศเครือรัฐเอกราช (CIS) และเป็นประเทศคู่ค้าสําคัญของไทยในลําดับที่ 95 และเป็นตลาดส่งออกของไทยลำดับที่ 101 นอกจากนี้ คาซัคสถานยังนับเป็นคู่ค้าที่มีศักยภาพในเอเชียกลาง โดยในปี 2565 การค้าระหว่างไทย-คาซัคสถาน มีมูลค่า 136 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 61.79 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการนำเข้า 74.21 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยไปยังคาซัคสถาน เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ รวมถึง สินค้าส่งออก ที่มีอัตราการขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับปี 2564 เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น ในส่วนสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากคาซัคสถาน เช่น สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์สิ่งทอ เป็นต้น[2]
2. เส้นทางการขนส่งสินค้าไทย-คาซัคสถาน
คาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล เส้นทางการขนส่งสินค้าทางเรือจากไทยไปยังคาซัคสถานจึงไม่สามารถทำได้โดยตรง แต่ต้องอาศัยการผ่านประเทศที่สาม เช่น จีน หรือ รัสเซีย แล้วขนส่งทางราง/ทางบก ต่อเข้าไปยังคาซัคสถาน ส่วนการขนส่งทางอากาศจากไทยไปยังคาซัคสถานสามารถทำได้โดยตรง ซึ่งสะดวก รวดเร็ว แต่มีราคาสูง
ผ่านจีน: เมื่อสินค้าไทยมาถึงท่าเรือใดท่าเรือหนึ่งในประเทศจีน สินค้าจะถูกลำเลียงจากเรือขึ้นรถไฟจากจีน ผ่านเข้าไปถึงนครอัลมาตีของคาซัคสถาน
ผ่านรัสเซีย: เมื่อสินค้าไทยมาถึงท่าเรือเมืองวลาดิวอสตอคของรัสเซีย สินค้าจะถูกส่งผ่านเส้นทาง ทรานไซบีเรีย และส่งต่อทางราง/ทางบก เพื่อกระจายเข้าไปยังคาซัคสถาน อนึ่ง ที่ผ่านมา สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังคาซัคสถานจำนวนมากเคยถูกส่งเข้าไปที่ท่าเรือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย และส่งต่อทางรางไปยังคาซัคสถาน แต่ปัจจุบันโดยที่ชาติตะวันตกคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้การขนส่งสินค้าเข้าท่าเรือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (ต้องผ่านภูมิภาคยุโรป) ไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ
ตรงจากไทย: ปัจจุบัน สายการบิน Astana Air ให้บริการบินตรง กรุงเทพฯ – เมืองอัลมาตี คาซัคสถาน และ ภูเก็ต – เมืองอัลมาตี คาซัคสถาน
3. สินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดคาซัคสถาน
กลุ่มสินค้าไทยที่มีศักยภาพในตลาดคาซัคสถาน ได้แก่ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเครื่องสำอาง (รวมถึง เครื่องสำอางที่สกัดจากสมุนไพร) กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ และอุปกรณ์ประดับยนต์ และ กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ กลุ่มสินค้าที่ยังเป็นที่ต้องการในตลาดคาซัคสถาน และไทยมีโอกาส ได้แก่ กลุ่มเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น
4. ปัญหา/อุปสรรคในการนำเข้า-ส่งออกสินค้าไทย
ปัญหาผู้นำเข้าคาซัคสถานต้องการนำสินค้าเข้าปริมาณน้อย: โดยที่ประชากรคาซัคสถานมีจำนวนน้อย (ประมาณ 19 ล้านคน) ทำให้ความต้องการสินค้าอุปโภค/บริโภคมีจำนวนปริมาณไม่มากหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น การนำเข้าสินค้าจากไทย (ในเชิงปริมาณ) สำหรับบางรายการสินค้าจึงไม่ได้ต้องการนำเข้ามาครั้งละจำนวนมาก ทั้งนี้ ในการนำเข้าแต่ละครั้งอาจมีจำนวนเพียง 1 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือในกรณีทีน้อยกว่า 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ผู้นำเข้าคาซัคสถานก็จะมีการรวบรวมสินค้าจากผู้ส่งออกไทยหลายราย เพื่อให้ได้ปริมาณมากเพียงพอสำหรับ 1 ตู้คอนเทนเนอร์และนำเข้ามายังคาซัคสถาน
ปัญหาการขนส่งและโลจิสติกส์: แม้ปัจจุบันจะมีเส้นทางการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังคาซัคสถาน แต่ยังคงมีปัญหา/อุปสรรคบางประการ ดังนี้
5. แนวทางการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยและคาซัคสถาน
โดยที่คาซัคสถานยังนับเป็นตลาดใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย ดังนั้น การขยายตลาดสินค้าไทยไปยังคาซัคสถาน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงอาจต้องมีดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในหลายๆ ด้าน เช่น การจัด Webinar ให้ความรู้ผู้ประกอบการ/ผู้ส่งออกไทยเกี่ยวกับตลาดคาซัคสถานและโอกาสของสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ / การจัด Podcast เพื่อเผยแพร่ข้อมูลการค้าไทย-คาซัคสถานในรูปแบบบันทึกเสียงออนไลน์ / การเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Online Business Matching: OBM) ในสินค้าเป้าหมาย / การจัดคณะผู้แทนการค้าไทย (Trade Mission) เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในคาซัคสถาน ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลังของปี 2566 คาซัคสถานมีการจัดแสดงงานแสดงสินค้านานาชาติที่น่าสนใจ เช่น
นอกจากนี้ ควรมีการสนับสนุนผู้ประกอบการและผู้นำเข้าของคาซัคสถานให้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในไทย เช่น STYLE Bangkok / TAPA (Thailand International Auto Parts & Accessories Show) / THAIFEX-ANUGA ASIA / Bangkok Gem & Jewelry Fair ตลอดทั้งสนับสนุนธุรกิจบริการอาหารไทยในคาซัคสถาน เช่น การมอบตราสัญลักษณ์เครื่องหมาย Thai SELECT และ/หรือต่ออายุร้านอาหารไทยที่ได้รับตราฯ เพื่อให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อันจะนำไปสู่ความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารไทย
6. ข้อสังเกตอื่นๆ
คาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล จึงทำให้การขนส่งสินค้าไทยไปยังคาซัคสถานโดยตรงจำต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศ ซึ่งการขนส่งทางอากาศมีต้นทุนค่าขนส่ง ที่สูงกว่าการขนส่งในรูปแบบอื่นๆ ส่งผลทำให้ต้นทุนด้านราคาของสินค้าไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อลดต้นทุนการขนส่งสินค้าไปยังคาซัคสถาน ผู้ส่งออกไทยอาจพิจารณาส่งสินค้า (ยกเว้นผักและผลไม้สดที่เน่าเสียง่าย) ไปยังคาซัคสถาน ผ่านทางจีน หรือรัสเซีย ซึ่งจะมีความคุ้มค่าและประหยัดต้นทุนมากกว่าการขนส่งทางอากาศ ทั้งนี้ การจะเลือกขนส่งผ่านจีน หรือรัสเซีย คงต้องพิจารณาความต้องการของผู้ส่งออกไทยด้วยว่า ต้องการขยายตลาดในจีน หรือ รัสเซีย โดยหากผู้ส่งออกต้องการขยายตลาดในประเทศใด (จีน หรือ รัสเซีย) ก็ควรเลือกใช้การขนส่งผ่านประเทศนั้น ซึ่งการดำเนินการในลักษณะนี้จะทำให้ผู้ส่งออกไทยไม่ต้องจำกัดการขยายตลาดไปเฉพาะในตลาดคาซัคสถานเท่านั้น แต่ยังทำตลาดในจีน หรือรัสเซีย ได้ด้วย
นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าปัจจุบันมีเส้นทางการขนส่งสินค้าที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา และอาจเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าจากไทยไปยังคาซัคสถานในอนาคต คือ เส้นทางขนส่ง International North–South Transport Corridor (INSTC) ซึ่งเป็นการขนส่งทางทะเลจากอินเดีย เข้าสู่อิหร่าน และจากอิหร่าน ผ่านทะเลแคสเปียนไปยังประเทศต่างๆ รอบทะเลแคสเปียน รวมถึง ท่าเรืออัคเทา ของคาซัคสถาน นอกจากนี้ เส้นทาง INSTC ยังสามารถถูกใช้เป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าไทยเข้ารัสเซีย (ซึ่งเป็นประเทศรอบทะเลแคสเปียน) ได้ด้วย ซึ่งประธานาธิบดีปูตินแห่งรัสเซียได้เคยกล่าวให้ความสำคัญกับการพัฒนาเส้นทางขนส่ง INSTC ต่อที่ประชุมสหพันธรัฐ (Federal Assembly) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ หากเส้นทางขนส่ง INSTC ได้รับการพัฒนาและมีการใช้เต็มรูปแบบในอนาคตก็อาจทำให้คาซัคสถานมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นในฐานะประเทศที่สามารถเชื่อมต่อการขนส่งสินค้ากับประเทศรอบทะเลแคสเปียน เช่น อิหร่าน รัสเซีย อาเซอร์ไบจาน และเชื่อมต่อการขนส่งไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียกลาง ได้แก่ อุซเบกิสถาน เติร์กเมนิสถาน คีร์กิซสถาน และทาจิกิสถาน ได้ด้วย
—————————————-
[1] https://www.worldbank.org/en/country/kazakhstan/overview
[2] ข้อมูลจากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากร
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)