เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม – 2 พฤศจิกายน 2566 ประเทศสิงคโปร์ได้จัดสัปดาห์ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี ภายใต้ชื่อ Singapore Week of Innovation & Technology 2023 หรือ SWITCH 2023 โดยในช่วงสัปดาห์ดังกล่าวมีการจัดหลากหลายกิจกรรมน่าสนใจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น SLINGSHOT เวทีการแข่งขันดีพเทคสตาร์ทอัพ SWITCH Global เวทีกลางสำหรับการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ และอีก 13 เวทีอุตสาหกรรมจากกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงานพันธมิตร ซึ่งครอบคลุมหัวข้อเทคโนโลยีเชิงลึกตั้งแต่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยดิจิทัล (Digital Trust) ความยั่งยืน เทคโนโลยีการค้าปลีก ไปจนถึงนวัตกรรมที่ด้านการดูแลสุขภาพและเมืองอัจฉริยะ เป็นต้น
หนึ่งในหน่วยงานพันธมิตรของ SWITCH 2023 ได้แก่ TechInnovation by IPI Singapore ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้า หรือ Showcase เพื่อจับคู่ธุรกิจและนวัตกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย เชื่อมโยงผู้นำในอุตสาหกรรม นักสร้างสรรค์นวัตกรรม
ผู้แสวงหาเทคโนโลยี และผู้ให้บริการ ให้ค้นพบเทคโนโลยีใหม่ ๆ สำรวจการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และทำงานร่วมกันภายในระบบนิเวศนวัตกรรมระดับโลก
ซึ่งในงาน TechInnovation นี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำโดย ดร.วิไลพร เจตนจันทร์ กรรมการบริหาร บพข. คุณจันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ ประธานคณะอนุกรรมการ IDE และ รศ.ดร. ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการด้านกลยุทธ์วิจัย ได้นำ 22 ดีพเทคสตาร์ทอัพไทย มาร่วมแสดงศักยภาพผลิตภัณฑ์วิจัยเชิงลึก ปูทางสู่นักลงทุนต่างประเทศ รวมถึง สร้างเครือข่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรม อาทิ อาหารมูลค่าสูง อุปกรณ์นวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ
ดีพเทคสตาร์ทอัพไทยที่มาร่วมงานนี้ ล้วนได้รับการพัฒนาจากแพลตฟอร์มเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก จาก บพข. และจากการบ่มเพาะของ 11 หน่วยงานเร่งรัดงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงลึก หรือ 11 Accelerator Platforms
ดีพเทคสตาร์ทอัพไทย ทั้ง 22 ราย ได้รับความสนใจจาก
ผู้เข้าชมงานอย่างมาก ทั้งในกลุ่มนักลงทุน และหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ ทั้งในสิงคโปร์และนานาชาติ
ผลิตภัณฑ์ของดีพเทคสตาร์ทอัพไทย ทั้ง 22 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพ
– เครื่องย้อมสไลด์สเมียรเ์ลือดอัตโนมัติ ช่วยลดการทำงาน ควบคุมปริมาณน้ำยา และยังคงคุณภาพการอ่านผลเลือด
– การตรวจจุลินทรีย์ในลําไส้ เพื่อการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล
– ชุดตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนบนวัสดุการแพทย์
– ผลิตภัณฑ์ชุดทดสอบการติดเชื้อฉี่หนูชนิดรวดเร็ว
– ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมฟิล์มเคลือบเต้านมโคจากธรรมชาติ
– ผลิตภัณฑ์ฟื้นฟูลูกสุกร
– ชุดตรวจวัดไนโตรฟูแรนในสัตว์น้ำแช่แข็ง
– แผ่นพื้นรองเท้าอิเล็กทรอนิกส์และ เครื่องพิมพ์เท้าแบบดิจิตอล
– สเปรย์นาโนเทคโนโลยีป้องกันความเสี่ยงการบาดเจ็บข้อต่อสําหรับนักกีฬาฟุตบอล
– ต้นแบบชุดตรวจแอนติบอดีต่อโปรตีน Orf8 ของไวรัสก่อโรค
โควิด-19 ด้วยหลักการ immunochromatography
– ระบบฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วย Brain-Computer Interface
– ผลตรวจ DNA เพื่อการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคลจากน้ำลายที่ให้ผลเทียบเท่ากับการตรวจเลือด
– แพลตฟอร์มตรวจวัดการได้ยิน
– mouth spray ผลิตจากสารสกัดธรรมชาติประสิทธิภาพสูงสามารถยับยั้งเชื้อไวรัสก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ
ผลิตภัณฑ์อาหารมูลค่าสูง
– การผลิตแมงกะพรุนกรอบพร้อมบริโภคด้วย Freeze drying
– แพลตฟอร์มออกแบบเนื้อสัมผัสอาหาร
– เทคโนโลยีการผลิตผงโปรตีนจากแมลงคุณภาพสูงระดับอุตสาหกรรม
– ผลิตภัณฑ์ล้างผักและผลไม้ กําจัดสารเคมีตกค้างและจุลินทรีย์ก่อโรค จากสารสกัดธรรมชาติ
– อาหารโฮลมีลเพียวเร่นุ่มพร้อมทาน สําหรับผู้ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ
– ผลิตภัณฑ์ไข่เทียมจากโปรตีนรำข้าวจากเทคโนโลยี precision hydrolysis
– ผลิตภัณฑ์เต้าหู้ก้อนจากไข่ขาวโปรตีนสูงในรูปแบบ hard tofu
เทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทสำคัญต่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัจจุบัน เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมให้สามารถพัฒนาและต่อยอดผลงานจากการวิจัย สู่ภาคการผลิต การค้า และการบริการ ซึ่งหากภาครัฐสามารถผลักดันต่อเนื่องให้สตาร์ทอัพไทยพัฒนาตนเองเข้าสู่การค้าในระดับสากลได้ ย่อมจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาและมีรายได้สูงได้ตามยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต
ทั้งนี้ ประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2565 (GII 2022) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) เป็นอันดับที่ 43 (ปี 2021 อันดับ 43) จัดเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ซึ่งอยู่อันดับ 7 และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับ 36
www.facebook.com/pmuc.researchfunding
www.techinnovation.com.sg
www.switchsg.org
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)