หน้าแรกTrade insightเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า > ดัชนีค้าปลีกเดือนเมษายนพุ่งสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์

ดัชนีค้าปลีกเดือนเมษายนพุ่งสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์

ข่าวประจำสัปดาห์ สคต. ณ เมืองฮ่องกง ระหว่าง 29 พฤษภาคม – 4 มิถุนายน 2566

จากข้อมูลของ Census and Statistics Department พบว่า ดัชนียอดค้าปลีกของฮ่องกงในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ตัวเลข 13.8ส่งผลให้มูลค่ารวมของการค้าปลีกในเดือนเมษายนมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 34.7 พันล้านเหรียญดอลล่าร์ฮ่องกง ซึ่งถือเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ของปีนี้ เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและปริมาณจำนวนของนักท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงสี่เดือนแรกของปีนี้ มูลค่ารวมของการค้าปลีกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 19.9 ซึ่งจากผลประกอบการของเดือนเมษายนของปีนี้พบว่าได้รับแรงหนุนจากยอดขายของสินค้าในหมวด เครื่องประดับ นาฬิกา และของขวัญมีค่า ซึ่งมีตัวเลขยอดขายที่กระโดดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75.2 จากปีก่อนหน้า ตามมาด้วยเสื้อผ้าสำเร็จรูปร้อยละ 38.6  ยาและเครื่องสำอางร้อยละ 34.8 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว

ในทางตรงกันข้าม การค้าออนไลน์ลดลงร้อยละ 11.9 จากปีที่แล้วเหลือเพียงแค่ 2.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์ฮ่องกงในเดือนเมษายน ทำให้ยอดการค้าออนไลน์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ลดลงร้อยละ 6.9

การฟื้นตัวในส่วนของภาคการท่องเที่ยวขาเข้า และการบริโภคของคนในท้องถิ่นมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจค้าปลีกในฮ่องกง อีกทั้งนโยบายการแจกบัตรกำนัล Consumption Voucher ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติมยิ่งขึ้น ซึ่งก่อนที่จะมีการประกาศข้อมูลตัวเลขธุรกิจค้าปลีก ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกงนาย John Lee Ka-chiu ได้กล่าวในการประชุมสุดยอดที่มีขึ้นว่าเศรษฐกิจมีระดับการฟื้นตัวที่ดี และจะยังคงพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ประธานสมาคมการบริหารจัดการการค้าปลีกฮ่องกง (Hong Kong Retail Management Association) คุณ Annie Tse Yau On-yee กล่าวเตือนว่า การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีกในเขตบริหารพิเศษ SAR (Special Administrative Region) จะยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ ซึ่งรวมถึงความไม่แน่นอนจากสภาพแวดล้อมภายนอก อาทิ ค่าเช่าที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น และการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ

ขณะเดียวกัน จากการสำรวจโดย HKRMA ซึ่งได้สัมภาษณ์ร้านค้าปลีกกว่า 3,700 แห่งที่มีพนักงานกว่า 61,000 คน ได้แสดงให้เห็นว่าผู้ค้าปลีกต่างคาดว่าจะเห็นการเติบโตของยอดขายจากตัวเลขเลขหลักเดียวไปจนถึงตัวเลขสองหลักในอีกสามเดือนข้างหน้า

นาย Billy Mak รองศาสตราจารย์ภาควิชาการบัญชี เศรษฐศาสตร์ และการเงินของมหาวิทยาลัย Hong Kong Baptist University เชื่อว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกมีแนวโน้มชะลอตัวลง และอาจจะยังไม่กลับไปสู่ระดับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาดในเร็ว ๆ นี้

ข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นจาก สคต.

หากดูจากตัวเลขดัชนีค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์เดิมที่ตัวเลข 13.8 และสินค้าที่ทางสคต. ณ เมืองฮ่องกงเล็งเห็นว่าเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจที่มียอดการบริโภคสูงขึ้นอีกทั้งยังเป็นสินค้าควรเร่งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องของไทยคือ สินค้าในหมวดเครื่องประดับ เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นจำนวนมาก อันมีปัจจัยแรงหนุนจากตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น เฉพาะในเดือนมีนาคม 2566 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในฮ่องกงจำนวนกว่า 2,454,093 คน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 1,967,602 คน ที่เหลือเป็นนักท่องเที่ยวจากชาติอื่น ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมซื้อเครื่องประดับที่มีราคา ตรงนี้น่าจะเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในส่วนเครื่องประดับ ดังนั้นทางสคต. ณ เมืองฮ่องกงจึงถือโอกาสนี้ขอประชาสัมพันธ์งานแสดงสินค้าเครื่องประดับของฮ่องกงที่จะมีขึ้นอีกครั้ง

1) งานแสดงสินค้า Jewellery & Gem World Hong Kong จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 18 – 22 กันยายน 2566

2) งานแสดงสินค้า Hong Kong International Jewellery Show จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 29 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2567

นอกจากนี้ จะสังเกตุได้ว่า หมวดสินค้าที่เกี่ยวกับความงามเป็นหมวดที่ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องสำอางค์ เสื้อผ้า ดังนั้น หมวดสินค้าอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความงามก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจด้วย เช่น เครื่องดื่มเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความงาม เครื่องประดับอื่น ๆ

ผู้ประกอบการท่านใดที่มีสินค้าแปลกใหม่ และประสงค์จะนำเข้ามาในตลาดฮ่องกง สามารถรับคำปรึกษาได้ที่สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง หรือสามารถติดต่อได้ที่อีเมล์thaicomm@netvigator.com

แหล่งข้อมูล : -หนังสือพิมพ์ The Standard  ฉบับวันที่  มิถุนายน 2566

– ข้อมูลนักท่องเที่ยว

 

 

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login