หน้าแรกTrade insight > ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจเยอรมันชะลอตัว

ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจเยอรมันชะลอตัว

ใครที่คิดว่าเศรษฐกิจเยอรมันจะกลับมาดีขึ้นต้อนรับฤดูใบไม้ผลิคงจะอกหักกันเป็นแถบ ๆ เพราะถึงแม้ว่าจากแบบสอบถามของ Bloomberg ที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของเยอรมันในไตรมาสที่ 2 จะขยับตัวดีขึ้นบ้าง แต่พอมาดูตัวเลขในปัจจุบันแล้วยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมง จากรายงานการวิจัยฉบับล่าสุดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) เปิดเผยว่า การปรับอัตราดอกเบี้ยแบบก้าวกระโดดของ ECB ไม่เพียงจะทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงเพียงอย่างเดียว แต่ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Euro Zone) ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยนโยบายปรับอัตราดอกเบี้ยนี้น่าจะสามารถกดอัตราเงินเฟ้อปี 2022 ลงได้ 0.5% และคาดการณ์ว่า ผลจากนโยบายดังกล่าวจะทำให้อัตราเงินเฟ้อระหว่างปี 2023 – 2025 ลดลงโดยเฉลี่ย 2% ซึ่งในรายงานวิจัยดังกล่าวของ ECB ได้แสดงผลกระทบทางเศรษฐกิจให้เห็นด้วย ซึ่งคาดการณ์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจระหว่างปี 2022 – 2025 น่าจะลดตัวลง 2%

แม้ว่าในรายงานการวิจัยข้างต้นจะไม่ได้แยกประเทศให้เห็นอย่างชัดเจน แต่แน่นอนที่เยอรมนีน่าจะได้รับผลกระทบจากนโนยายนี้หนักเป็นพิเศษ ซึ่งมีการประเมินกันว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของเยอรมันที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1% ถึงตอนนี้คงเป็นเรื่องที่ยากและเยอรมนีอาจจะต้องเจอกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด เมื่อเรากลับไปดูตัวอย่างในอดีต พอมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นตอนไหน เยอรมนีก็จะเป็นประเทศแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจนทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจถูกชะลอตัวลงแทบทุกครั้ง ซึ่งโดยเฉลี่ยเมื่อมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นผ่านไปสัก 5 ไตรมาส เยอรมนีก็จะเริ่มได้รับผลกระทบดังกล่าวจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งที่ผ่านมา ECB ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2022 จึงหมายความว่า ภาคเศรษฐกิจของเยอรมันจะได้รับผลกระทบอันนี้แบบเต็ม ๆ ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้ โดยข้อบ่งชี้แรกก็เริ่มแสดงตัวให้เห็นในช่วงเริ่มฤดูใบไม้ผลิตามที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนคาดการณ์ไว้ ปัญหาดังกล่าวได้เริ่มแสดงความชัดเจนให้เห็นขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

โดยยอดจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีกในเดือนมีนาคม 2023 ลดลง 2.4% เทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่หากเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาลดลงถึง 8.6% จำนวนการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเดือนเมษายน 2023 ลดลง 4.5% เทียบกับเดือนมีนาคม 2023 ทั้งนี้เป็นเพราะกำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2023 ลดลง 3.4% หรือต่ำสุดเท่ากับอัตราของช่วงฤดูร้อน 2013 ซึ่งไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น ในเวลาเดียวกันยอดการสั่งซื้อสินค้าในเดือนมีนาคมก็ลดลง 10.7% ซึ่งลดลงเท่ากับช่วงเริ่มต้นของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปกติแล้วภาคอุตสาหกรรมจะจัดการกับคำสั่งซื้อแบ่งเป็น 3 ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ 1 จัดการ 1 ใน 3 ในทันที ระยะที่ 2 จัดการ 1 ใน 3 ในไตรมาสถัดไป และสุดท้ายระยะที่ 3 จัดการ 1 ใน 3 ที่เหลือหลังจากนั้น นอกจานี้ จำนวนการอนุญาตก่อสร้างก็ลดตัวลงอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย โดยในเดือนมีนาคม 2023 ลดลงถึง 29.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า หรือเป็นการลดตัวลงสูงสุดในรอบ 16 ปี ในที่สุดความซบเซาทางเศรษฐกิจ (Stagnation) ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานบ้างแล้ว โดยสำนักงานจัดหางานของรัฐบาลกลางเยอรมนี (BA – Bundesagentur für Arbeit) รายงานว่า ในปีนี้ไม่เห็นความชัดเจนของการกลับมาจ้างงานช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิเหมือนช่วงปีก่อน ๆ โดย BA แจ้งว่า ในเดือนเมษายน 2023 มีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 2.586 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 276,000 คนเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

เหตุผลที่อัตราการว่างงานไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาคเอกชนส่วนหนึ่งกลัวการปรับตัวด้านประชากรศาสตร์จนทำให้ต้องรักษาแรงงานไว้ก่อน จากแบบสอบถามทำให้ทราบว่า แม้ว่าจะมีวิกฤติ ภาคเอกชนก็จะพยายามรักษาแรงงานไว้ให้ได้นานที่สุด เพราะกลัวว่าจะหาแรงงานมาทดแทนไม่ได้และเมื่อวิกฤติสิ้นสุดลง อย่างไรก็ดี เมื่อภาคเอกชนเริ่มลดความเชื่อถือในประเทศเยอรมนีว่า เป็นศูนย์กลางการผลิตเมื่อไหร่ และมีราคาพลังงานสูงขึ้นจนจัดการไม่ได้ แน่นอนที่พวกเขาจะต้องตัดสินใจว่า จะรักษาศูนย์กลางการผลิตในเยอรมนีไว้หรือไม่ และจะย้ายฐานการผลิตเมื่อไหร่เท่านั้น ซึ่งหากเวลาดังกล่าวมาถึง ก็จะมีการลดการจ้างงานเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างอุตสาหกรรมเคมีที่ตั้งใจจะมีความเป็นกลางด้านสภาวะอากาศภายในปี 2050 นั้น หมายความว่าพลังงานไฟฟ้ากว่า 500 พันล้านเทราวัตต์ชั่วโมง จะต้องเป็นไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่เยอรมนีทั้งประเทศสามารถผลิตไฟฟ้าได้ใน 1 ปี ที่ส่วนใหญ่มากจากแหล่งพลังงานฟอสซิล ซึ่งนี้เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างอุตสาหกรรมเท่านั้น สำหรับภาคอุตสาหกรรมรถยนต์เยอรมันในฐานะศูนย์กลางการผลิตแล้วก็น่าเป็นห่วงยิ่ง และไม่ชัดเจนว่าพวกเขาจะสามารถปรับตัวกลับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวงนี้ได้ขนาดไหน

นอกจากปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมจะต้องจัดการทั้ง 2 ปัญหาแล้ว ไม่ว่า การปรับการผลิตให้มีความเป็นกลางของสภาวะอากาศ หรือผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ในเวลานี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่า ฤดูหนาวที่จะถึงนี้ปัญหาแก๊สในประเทศเยอรมนีจะหนักขนาดไหน แม้ว่าในถังสำรองของประเทศจะมีแก๊สสูงถึง 70% แล้วก็ตามแต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำนายอุณหภูมิของเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ในแต่ละปี ซึ่งนาง Veronika Grimm ประธานคณะที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของประเทศ (Wirtschaftsweise) กล่าวว่า “ฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้อาจเป็นเรื่องท้าทายอีกครั้งสำหรับเยอรมนี โดยราคาน้ำมันอาจจะปรับตัวสูงขึ้นหรือประสบปัญหาคอขวดได้”

จาก Handelsblatt 9 มิถุนายน 2566

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเบอร์ลิน (Thanit Hirungitrungsri)

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login