สุนัขและแมวที่มีการเลี้ยงภายในประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนประมาณ 15.89 ล้านตัว แม้ตัวเลขสัตว์เลี้ยง (สุนัข และ แมว) จะคงที่แต่ตลาดสัตว์เลี้ยงมีมูลค่าขยายตัว ปัจจุบัน ด้วยการพัฒนาด้านการแพทย์ทำให้สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนขึ้น จึงมีสินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพและการพยาบาลสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้น สัตว์เลี้ยงซึ่งเปรียบเสมือน “หนึ่งในสมาชิกครอบครัว” เจ้าของจึงทุ่มเทและใช้เงินเพื่อรักษาสุขภาพของสมาชิก ทำให้ความต้องการเหล่านี้กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจ
ร้านจำหน่ายสินค้าสัตว์เลี้ยง “Earth pet house” สาขาภายในห้างสรรพสินค้าใต้ดินบริเวณสถานีโตเกียวนั้น แต่ละวันมีเจ้าของสัตว์เลี้ยงเข้ามาปรึกษาเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง เช่น สัตว์เลี้ยงที่บ้านไม่ยอมกินอาหาร ฯลฯ โดยทางร้านจะมีพนักงานที่มีประสบการณ์คอยให้คำปรึกษาและแนะนำลูกค้า ร้านจำหน่ายสินค้าสัตว์เลี้ยง “Earth pet house” บริหารโดยบริษัท Earth Pet Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Earth Corporation ร้านเริ่มเปิดให้บริการในเดือนพฤษภาคม ปี 2565 ซึ่งโดยปกติแล้ว ร้านสัตว์เลี้ยงมักตั้งอยู่ริมถนน การตั้งร้านในห้างสรรพสินค้าใต้ดินบริเวณสถานีจึงเป็นเรื่องแปลกใหม่ เพราะจากที่ตั้งร้านแล้ว ทางร้านไม่สามารถจำหน่ายสัตว์เลี้ยงที่มีชีวิตได้ แม้จะเลือกที่ตั้งร้านที่ยากต่อการทำธุรกิจ แต่บริษัทคิดว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จจึงเลือกสถานที่นี้
เนื่องจากร้านนี้ตั้งอยู่ย่านอาคารสำนักงาน ช่วงกลางวันของวันธรรมดาจึงมีพนักงานบริษัทแวะมาที่ร้าน นอกจากนี้ ร้านยังตั้งในที่ที่มีคนผ่านไปมาจำนวนมาก บริษัทจึงใช้โอกาสนี้ในการสร้างการรับรู้สินค้าของบริษัท บริษัทยังได้ตั้งเว็บไซต์เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารกับลูกค้า โดยให้คำปรึกษาต่างๆเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเพื่อสร้างความแข็งแกร่งด้านบริการให้กับลูกค้า โดยประธานบริษัทให้ความเห็นว่า “การให้เจ้าของตระหนักในการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยง จะเป็นการแก้ปัญหาการทิ้งสัตว์เลี้ยง (จากการที่สัตว์ป่วยหรือชราภาพ) และอยากนำเสนอเคล็ดลับต่างๆให้กับลูกค้าได้อยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงอย่างมีความสุข”
จากการรายงานของ Yano Research Institute Ltd. พบว่า มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงในปี 2560 เท่ากับ 1.5193 ล้านล้านเยน (ประมาณ 3.6 แสนล้านบาท) มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องและคาดการณ์มูลค่าตลาดในปี 2567 เท่ากับ 1.8370 ล้านล้านเยน (ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท) และจากการรายงานของ Japan Pet Food Association พบว่า แม้จำนวนสุนัขและแมวที่เป็นสัตว์เลี้ยงจะไม่เพิ่มขึ้น แต่มูลค่าในการใช้จ่ายมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น ในกรณีสุนัข ค่าใช้จ่ายต่อเดือนต่อ 1 ตัว ในปี 2560 เท่ากับ 9,543 เยน (ประมาณ 2,500 บาท) แต่ในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 13,904 เยน (ประมาณ 3,500 บาท) แมวก็เช่นกัน การใช้จ่ายในแต่ละเดือนมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
สาเหตุหนึ่งมาจาก สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนขึ้นเนื่องจากการพัฒนาด้านการแพทย์ อายุเฉลี่ยของสุนัขในปี 2553 เท่ากับ 13.87 ปี ในปี 2565 มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 14.76 ปี ส่วนแมว จากอายุเฉลี่ย 14.36 ปี เป็น 15.62 ปี ไม่ว่าสุนัขหรือแมวก็มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 1 ปี สัตว์ก็มีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นเช่นเดียวกับคน จากการที่สัตว์เลี้ยงมีอายุยืนขึ้น ทำให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์เลี้ยงได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น บริษัทรายใหญ่ก็ให้ความสำคัญและขยายการจำหน่ายกลุ่มสินค้านี้เช่นกัน เช่น อาหารสุขภาพสำหรับแมวยี่ห้อ “All Well” ของบริษัท Unicharm ที่สามารถจำหน่ายได้เกินเป้าที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า เป็นอาหารแมวที่ช่วยลดอาการอ้วกซึ่งเป็นอาการเฉพาะของแมว อาหารแมวซีรีส์นี้มี 15 ประเภท เช่น อาหารแมวที่ผสมสารอาหารที่ช่วยคงสุขภาพไตสำหรับแมวสูงอายุ เป็นต้น ธุรกิจสัตว์เลี้ยงของบริษัท Unicharm มีมูลค่าการจำหน่ายในปี 2560 เท่ากับ 79,800 ล้านเยน (ประมาณ 20,000 ล้านบาท) และมีมูลค่าการจำหน่ายในปี 2565 เท่ากับ 125,300 ล้านเยน (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในระยะเวลา 5 ปี โดยบริษัทให้ความเห็นว่า มีเจ้าของที่ใส่ใจในสุขภาพสัตว์เลี้ยงที่สูงอายุเพิ่มขึ้น และจะพยายามผลิตสินค้าที่ตรงกับความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อขยายตลาดต่อไป”
นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่ให้บริการสัตว์เลี้ยงไม่ต่างจากบริการของผู้สูงอายุ เช่น บริษัท H2O Retailing Corp. ที่มีร้าน สัตว์เลี้ยง “Hankyu Hello! Dog” ซึ่งมีการติดตั้งเครื่อง oxygen capsule สำหรับสัตว์ในร้าน มีการให้ทดลองใช้หรือยืมรถเข็นสำหรับสุนัขสูงอายุ และมีการแนะนำ Supplement เพื่อป้องกันภาวะข้อต่ออักเสบ เป็นต้น
บริษัทอย่าง ROHTO Pharmaceutical Co., Ltd. เป็นบริษัทใหญ่รายใหม่ที่เข้าสู่ธุรกิจตลาดสัตว์เลี้ยง เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัททำความตกลงร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท AHB Inc, ที่มีร้านสัตว์เลี้ยง “Pet Plus” หลายสาขาทั่วประเทศญี่ปุ่น โดยจะนำข้อมูลที่ได้จากบริษัท AHB Inc, มาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เกี่ยวกับสุขภาพสัตว์เลี้ยงต่อไป โดยบริษัทคาดหวังว่า “สังคมปัจจุบัน มีความตระหนักเรื่องสุขภาพสัตว์เลี้ยงสูงขึ้น จึงอยากนำเทคโนโลยีที่บริษัทมีอยู่มาใช้ประโยชน์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค”
สังคมผู้สูงอายุทำให้เกิดตลาดกลุ่มซีเนียร์ซึ่งเป็นตลาดใหม่ขึ้น ตลาดสัตว์เลี้ยงก็เช่นกัน สัตว์เลี้ยงสูงอายุอาจกลายเป็นตลาดสำหรับธุรกิจใหม่ด้วยเช่นกัน
บทวิเคราะห์ (ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย)
ตลาดสัตว์เลี้ยงของประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในตลาดที่มีมูลค่าสูง โดยคาดการณ์มูลค่าตลาดในปี 2567 เท่ากับ 1.8370 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งหนึ่งในสินค้าตลาดสัตว์เลี้ยง ได้แก่ อาหารสัตว์นั้น จากการรายงานของ Japan Pet Food Association พบว่า ในปี 2564 มีการขนส่ง (shipping) อาหารสัตว์เลี้ยงภายในประเทศปริมาณทั้งหมดเท่ากับ 591,667 ตัน มูลค่า 351,799 ล้านเยน (หรือประมาณ 85,000 ล้านบาท) ผลิตในประเทศ 327,731 ตัน และนำเข้า 263,936 ตัน หรือนำเข้าร้อยละ 44.6 คิดเป็นมูลค่า 183,494 ล้านเยน (หรือประมาณ 45,000 ล้านบาท) โดยนำเข้าจากประเทศไทยมากที่สุด ปริมาณเท่ากับ 88,597 ตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.6 ของปริมาณนำเข้าทั้งหมด แบ่งเป็นอาหารสุนัข 16,576 ตัน (นำเข้าเป็นอันดับ 3 รองจากประเทศสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส) อาหารแมว 71,923 ตัน (นำเข้าเป็นดับ 1)
ปัจจุบัน มีเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ให้ความใส่ใจในสุขภาพสัตว์เลี้ยงของตนมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารที่เลือกให้สัตว์เลี้ยงกินโดยคำนึงถึงสุขภาพของสัตว์เลี้ยง ในช่วงปี 2563 ที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้ผู้คนไม่สามารถออกจากบ้านได้อย่างอิสระ เจ้าของมีเวลาอยู่กับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการที่จะให้สิ่งดีๆกับสัตว์เลี้ยงของตน อาหารสัตว์เลี้ยงที่ได้รับความนิยมจึงเป็นกลุ่มอาหารพรีเมียม และความใส่ใจที่มีต่อสุขภาพของสัตว์เลี้ยงของเจ้าของทำให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงผลิตอาหารออกมามากมายหลากหลายประเภทตามความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์ที่แบ่งตามอายุ แบ่งตามสายพันธุ์ ตามขนาดร่างกาย ตามอาการป่วย เป็นต้น หากผู้ส่งออกไทยเข้าใจความต้องการของตลาดญี่ปุ่น ก็จะช่วยให้สามารถรักษาตลาดส่งออกที่มีอยู่ไว้และเพิ่มปริมาณเพื่อขยายการส่งออกต่อไป
————————————–
ฉบับที่ 46 ประจำวันที่ 12 – 18 สิงหาคม 2566
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
————————————–
แปลและเรียบเรียงจาก
หนังสือพิมพ์ Nikkei ฉบับวันที่ 9 สิงหาคม 2566
ภาพประกอบข่าวจากเว็บไซต์ https://jp.unicharmpet.com/ja/allwell/home.html
https://hankyu-hellodog.com/
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)