หน้าแรกTrade insightอุตสาหกรรมอื่นๆ > ช่องทางปล่อยให้สินค้าจีนทะลักล้นสหรัฐฯ

ช่องทางปล่อยให้สินค้าจีนทะลักล้นสหรัฐฯ

เนื้อหาสาระข่าว: สมาชิกสภาคองเกรสฝั่งอนุรักษ์นิยมกำลังหาทางรับมือกับสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีจากจีนที่กำลังไหลบ่าเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะส่งผลร้ายต่อธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะสินค้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐนั้นสามารถนำเข้าสู่สหรัฐฯได้โดยไม่ต้องเสียภาษีขาเข้าตามกฎ “De Minimis” ในช่วงหลายปีมานี้มีสินค้านำเข้าในลักษณะนี้มีปริมาณพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก โดยมีสินค้าที่นำเข้ามาจากจีนอยู่ถึงร้อยละ 60 จึงมีผู้ที่เกี่ยวข้องวิพากษ์วิจารณ์กันว่ากฎดังกล่าวนี้ เป็นการเปิดช่องให้บริษัทต่างชาติฉกฉวยโอกาสเพื่อเอาเปรียบและอาจเป็นภัยต่อผู้ประกอบการในประเทศ จึงมีความพยายามผลักดันให้ลดเพดานมูลค่าของสินค้าที่จะได้รับการยกเว้นภาษีดังกล่าวลงมาอีกและอาจตั้งข้อจำกัดเพื่อยกเว้นบางประเทศ อาทิ จีนและรัสเซีย คณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คณะใหม่ที่เน้นเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับจีน เห็นว่า Temu และ Shein ที่ส่งของมูลค่าต่ำสู่ผู้บริโภคโดยตรงเพียง 2 รายนี้ ก็มีสัดส่วนถึงร้อยละ 30 ของสินค้าที่เข้าข่ายเป็น De Minimis ทั้งหมดโดยมีการส่งของถึงวันละ 600,000 รายการแล้ว ได้เสนอให้ลดเพดานมูลค่าที่ได้รับการยกเว้นภาษีลง โดยอ้างถึงข้อกังวลในเรื่องการใช้แรงงานบังคับและความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการสหรัฐฯ (ที่นำเข้าในปริมาณมากละต้องเสียภาษีหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) คณะกรรมาธิการดังกล่าวและบรรดาวุฒิสมาชิกได้เสนอร่างกฎหมายที่เล็งเป้าไปยังบางประเทศ เช่น จีนและรัสเซีย เพื่อสกัดกั้นการนำเข้าที่ปลอดภาษีในช่องทางดังกล่าว ขณะนี้กำลังพิจารณาความเหมาะสมของเพดานราคา ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐกันอยู่ และก็มีหลายๆ ท่านที่สนับสนุนให้ลดเพดานลง แต่ก็มีผู้ที่เห็นต่างซึ่งโต้กลับว่าการลดเพดานมูลค่าสินค้าที่ปลอดภาษีนี้ลงมาจะส่งผลให้ผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เองต้องมีต้นทุนสูงขึ้น เพิ่มงานให้กับศุลกากรสหรัฐฯ และผู้บริโภคต้องรับภาระจากราคาที่สูงขึ้น และสุดท้ายอาจส่งผลร้ายต่อระบบห่วงโซ่อุปทานจนต้องสะดุดอีกครั้ง กฎหมายดังกล่าวอาจส่งผลให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นอีกด้วย

โฆษณา Temu บน Facebook ที่ให้ส่วนลดมหาศาลเพื่อดึงดูดให้สมัครสมาชิกพร้อมสิทธิ์ส่งฟรีและคืนสินค้าได้ฟรี

บทวิเคราะห์: สำหรับคนในวงการที่ซื้อขายข้ามประเทศในมูลค่าต่อชิ้นที่ไม่สูงมากอยู่ประจำคงทราบถึงเรื่องกฎ De Minimis นี่กันดีอยู่แล้ว สำหรับผู้ที่ไม่เคยรู้จัก ก็ขอแนะนำเบื้องต้นสำหรับคำๆ นี้ว่า มีรากศัพท์มาจากภาษาลาติน แปลว่า “สิ่งของเล็กน้อย” หรือ “สิ่งของที่ไม่สำคัญ” สำหรับเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่ต้องตรวจตราสินค้านำเข้าจำนวนมหาศาลที่นำเข้ามาเป็นตู้ๆ มีกฎระเบียบมากมายคุ้มครองป้องกันที่ต้องมาตรวจตรามากมาย ดังนั้นจึงมีการตั้งเพดานมูลค่าสินค้าเอาไว้ ว่าหากสินค้าเล็กๆ น้อยๆ มีมูลค่าไม่ถึงราคาที่กำหนดเป็นเพดานสำหรับแต่ละประเทศนั้น ศุลกากรจะขอไม่ยุ่ง แล้วจะปล่อยให้ผ่านไปโดยไม่มีการเรียกเก็บอากรนำเข้า ซึ่งเพดานดังกล่าวนี้ แต่ละประเทศก็จะกำหนดแตกต่างกันไป แต่ในสหรัฐฯ นั้นกำหนดเอาไว้ว่าจะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าตามอัตราที่กำหนดไว้สำหรับสินค้าแต่ละชนิดที่มีมูลค่าขั้นต่ำ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบดูคร่าวๆ ก็น่าจะเป็นเพดานที่สูงที่สุดในโลกแล้ว ส่วนราคาเพดานตามกฎ De Minimis ของแต่ละประเทศนั้น หากท่านใดสนใจสามารถคลิกตามลิ้งก์ใด ลิ้งก์หนึ่งในวงเล็บนี้ได้ (docs.zonos.com และ Global Express Association) และกฎ De Mimimis นี่เองที่เป็นคำตอบว่าทำไมกันทั้งๆ ที่สหรัฐฯ ก็กำลังรังเกียจรังงอนจีน กีดกันสินค้าสารพัด แต่สินค้าจีนกลับยังทะลักเข้ามาอย่างถล่มทะลาย และขณะนี้ แฟนประจำของทั้ง YouTube และ Facebook ในสหรัฐฯ คงไม่มีใครที่ไม่รู้จัก Temu (App ค้าปลีกออนไลน์ที่เมื่อเห็นราคารองเท้าสุดหรูลดราคาร้อยละ 90 เหลือเพียงคู่ละ 1-3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในโฆษณาบน Social Media Platform ทั้งสองดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง) แม้จะถูกจนหลายๆ คนอาจระแวงไม่กล้าติดตั้ง เพราะกลัวจะมีการแอบปล่อย App ขโมยข้อมูลส่วนบุคคลหรือ App อันไม่พึงประสงค์อื่นๆ แต่คนอเมริกันส่วนใหญ่คงจะตะครุบ App ดังกล่าวแล้วติดตั้งจนซื้อของกันไปถึงไหนๆ แล้ว ยอดจำนวนการจัดส่งวันละกว่า 600,000 ชิ้นจึงเกิดขึ้นจนบรรดานักการเมืองต้องถึงกับผวากันเช่นนี้ กลายเป็นสถิติที่ส่งให้ยอดค้าปลีกออนไลน์เร่งแซงค้าปลีกในร้านค้าไปไกล

ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ: จากบทความในสัปดาห์ก่อน สคต. ไมอามีเคยแนะนำให้พยายามนำสื่อสังคมออนไลน์เหล่านี้มาใช้งานในการศึกษาตลาดเป้าหมาย ทำการตลาด ประชาสัมพันธ์ได้อย่างมืออาชีพ ซึ่งสื่อเหล่านี้ ได้กลายเป็นเวทีแข่งขันกันทางการตลาดกระแสหลักไปแล้ว ซึ่งทั้งบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็สามารถเข้าถึงได้ไม่แตกต่างกัน แม้กำลังทรัพย์อาจแตกต่าง แต่ความสำเร็จจากความคิดสร้างสรรค์อาจแรงกว่าการทุ่มงบประมาณก็เป็นไปได้ เรื่องกฎ De Minimis นี่ก็เช่นกัน หากนำมาประกอบกับกลยุทธทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ผ่านระบบออนไลน์ ใครๆ ก็มีโอกาสขายของไปทั่วโลกได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ แทปเลตหรือสมาร์ทโฟนของตนได้เลย ไม่ต้องบินมาลงทุนในตลาดเป้าหมายก่อน เหมือนในอดีต และเชื่อว่าผู้ประกอบการหลายๆ รายที่ชอบลองของใหม่ คงรับรู้รับทราบช่องทางต่างๆ มากกว่าคนอื่น ผู้ที่เคยผ่านการขายของออนไลน์แบบ Drop Shipping มาก่อนก็น่าจะเคยรับรู้รับทราบเรื่องนี้กันมาบ้างแล้ว และสุดท้าย ประเด็นเรื่องการส่งของ หากมีช่องทางที่สามารถส่งของจำนวนน้อยในราคาถูกได้ ความสำเร็จก็ไม่ไกลแล้ว ในแต่ละประเทศโอกาสก็มากน้อยแตกต่างกันไป แต่ตราบเท่าที่เพดานราคาตามกฎ De Minimis ของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ โอกาสก็ยังมีอยู่หลากหลายมากมาย

*********************************************************

ที่มา :

The San Diego Union-Tribune เรื่อง: “Packages from China are surging into the United States. Some say $800 duty-free limit was a mistake” โดย: KEVIN FREKING | ASSOCIATED PRESS

สคต. ไมอามี /วันที่ 26 มิถุนายน 2566

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login