- อิตาลีเป็นผู้นำด้านการผลิตตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในยุโรป มีการจ้างงานมากกว่า 30,000 คน เชื่อมโยงกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกว่า 3,000 แห่ง และมีการติดตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติในอิตาลีแล้วกว่า 830,000 เครื่อง
- ตามข้อมูลที่เปิดเผยโดยสมาคมการกระจายสินค้าอัตโนมัติอิตาลี (Confida: Associazione Italiana Distribuzione Automatica) ในปี 2565 มูลค่าการจำหน่ายจากตู้ขายอัตโนมัติ เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปี 2564 หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 1.5 พันล้านยูโร สินค้าอาหารและเครื่องดื่มเป็นสินค้าหลักที่จำหน่ายได้ดีที่สุด เนื่องจากจุดประสงค์ของการซื้อผ่านตู้ขายอัตโนมัติคือการบริโภคทันที ไม่ใช่ซื้อกลับบ้าน สินค้าส่วนใหญ่จึงมีขนาดเล็กกว่าสินค้าเดียวกันในซูเปอร์มาร์เก็ต เพราะต้องคำนึงถึงพื้นที่จำกัดของตู้ ที่ต้องวางสินค้าให้ได้ปริมาณและหลากหลายที่สุด สินค้าส่วนใหญ่เป็นอาหารสำเร็จรูปทานง่าย เช่น แซนวิส สลัดผักรวม และขนมขบเคี้ยวทานเล่น ส่วนเครื่องดื่ม นอกจากน้ำเปล่าแล้ว ยังมีน้ำผลไม้ ชา กาแฟ ทั้งแบบขวดพลาสติกและกระป๋อง เป็นต้น
- เครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมสูงสุด แม้จะหาดื่มได้ตามบาร์ที่มีอยู่ทุกหนแห่งก็ตาม ได้แก่ กาแฟในรูปแบบแคปซูลและพ็อด (Pod) ผ่านตู้บริการกาแฟในสำนักงาน (Office coffee service) สะดวกและประหยัดเวลาแก่พนักงานที่เร่งรีบ ไม่ต้องออกไปดื่มกาแฟนอกสำนักงาน ในปี 2565 บริการในส่วนนี้มีมูลค่า 384 ล้านยูโร โดยมีการบริโภคเกือบ 4 พันล้านหน่วย (เพิ่มขึ้น +5% เมื่อเทียบกับปี 2564) สามารถฟื้นฟูการบริโภคที่สูญเสียไปในปีล็อกดาวน์โรคระบาดโควิด-19 (มูลค่าการค้า -16% และ การบริโภค -19.2%) ได้บางส่วน แต่ยังต่ำกว่าระดับการบริโภคของปี 2562
- ในปี 2565 ชาวอิตาลีซื้อกาแฟจากเครื่องขายอัตโนมัติเกือบ 2.3 พันล้านหน่วย (+1.03%) คิดเป็น 57% ของการบริโภคทั้งหมดในภาคส่วนนี้ กาแฟจึงได้รับการยกย่องให้เป็นราชินีแห่งเวลาพัก ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน มหาวิทยาลัย สถานีรถไฟ รถไฟใต้ดิน และในสถานที่อีกหลายๆแห่งที่ติดตั้งเครื่องขายอัตโนมัติ ที่สามารถตอบสนองความต้องการ 24 ชั่วโมง ผู้ประกอบการมีรายได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีพนักงานเฝ้า และในส่วนของเจ้าของสถานที่ก็ไม่ต้องมีภาระดูแลมาก เนื่องจากบริษัทผู้เช่าตู้ฯจะส่งคนมาบริการด้านการบำรุงรักษา ทำความสะอาด เติมสินค้า เก็บขยะ ฯลฯ
- อิตาลีเป็นผู้นำทั้งในด้านการผลิตและการส่งออก (70% ของเครื่องฯที่ผลิต) ไม่เพียงแต่กาแฟแบบดั้งเดิมเท่านั้นที่มีแนวโน้มดี ระหว่างปี 2564-2565 เครื่องดื่มอื่นๆที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น ได้แก่ กาแฟ/ชาโสม (+13%) ซึ่งจูงใจด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ ตามด้วย ชาร้อน (+2.65%) และช็อกโกแลตร้อน (+2.73%) ส่วนที่มีการบริโภคลดลง ได้แก่ กาแฟข้าวบาร์เลย์ ที่ปราศจากคาเฟอีน (-2.11%)
- ในปี 2565 อุณหภูมิของอากาศในฤดูร้อนสูงและยาวนานเป็นประวัติการณ์ ส่งผลให้ยอดขายเครื่องดื่มเย็นเพิ่มขึ้น (+11.9%) เช่น ไอศกรีม (+18.51%) ขนมปังไส้ไอศกรีม (+49%) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องดื่มจากผลไม้ที่สร้างความสดชื่น (+33%) เครื่องดื่มชูกำลัง (+26.5%) และชาเย็น (+18.4%) นอกเหนือจากน้ำดื่มแช่เย็นที่ยังคงเป็นเครื่องดื่มที่มีปริมาณการจำหน่ายสูงสุด (มากกว่า 392 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น +11.8%)
- ขนมขบเคี้ยวจำหน่ายได้ดีช่วงโรงเรียนเปิด โดยได้รับแรงหนุนจากขนมขบเคี้ยวชนิดเค็ม (+22.3%) และขนมขบเคี้ยวรสช็อกโกแลต (+22.27%) ขนมขบเคี้ยวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ มันฝรั่งทอดกรอบ (+26.17%) และขนมปังกรอบแผ่น (+24.75%) ส่วนผู้ที่ชื่นชอบรสหวาน ก็สามารถเลือกคุ๊กกี้ (+25.6%) หรือ ช็อกโกแลตแท่ง (+23%) ผู้ที่ใส่ใจอาหารเพื่อสุขภาพ ก็มีซีเรียลบาร์ (+15.8%) ซึ่งผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างมาก ร่วมกับผลไม้แห้งและอบแห้ง (+16.6%) และในบรรดาผลิตภัณฑ์สด ขนมขบเคี้ยวผสมเนยแข็ง (+14.12%) ก็ได้ความนิยมไม่น้อยเช่นกัน และที่ขาดไม่ได้คือขนมหวาน (+21.5%) แม้ว่าขนมหวานจะยังเป็นส่วนเล็กของภาคส่วนนี้ แต่ในปี 2565 ลูกกวาดกลับจำหน่ายเพิ่มขึ้นสองเท่า (+35%) และที่จำหน่ายได้ดีไม่แพ้กันคือหมากฝรั่ง (+17%)
- นอกจากสินค้าอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในช่องทางการจำหน่ายผ่านตู้ขายอัตโนมัติแล้ว ยังมีสินค้าอื่นๆที่มีแนวโน้มดีเช่นกัน ได้แก่ บุหรี่ และยารักษาโรคทั่วไป (ที่ไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์) ในกรณีหลังมักเป็นการติดตั้งตู้จำหน่ายอัตโนมัตินอกร้านขายยา สำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น ยามวิกาล เป็นต้น ส่วนสินค้าอื่นๆที่ไม่ประสบความสำเร็จจากการขายช่องทางนี้ ได้แก่ หนังสือ เครื่องใช้ในบ้าน เป็นต้น
- ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤตโรคระบาด และสมาคมฯยังมุ่งมั่นการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ RiVending ด้วยการกู้คืนและการรีไซเคิลถ้วยและขวดพลาสติกที่ตู้จำหน่ายอัตโนมัติ และพร้อมจะให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเพื่อดำเนินตามแนวทางของกฎระเบียบสหภาพยุโรปฉบับใหม่เกี่ยวกับข้อกำหนดด้านวัสดุของบรรจุภัณฑ์และการกำจัดบรรจุภัณฑ์ (PPWR: Packaging and Packaging Waste Regulation) ซึ่งอิตาลีจัดเป็นอันดับแรกในยุโรปสำหรับการรีไซเคิลต่อหัว เมื่อเทียบกับเป้าหมายปัจจุบันของยุโรปที่ตั้งไว้ในปี 2568 กำหนดไว้ที่ 65% แต่อิตาลีสามารถรีไซเคิลวัสดุเหลือทิ้งได้เกือบ 74% ซึ่งเกินเป้าหมายแล้ว
ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
1. ตลาดเครื่องดื่มร้อน/เย็นจากเครื่องขายอัตโนมัติยังจะมีการขยายตัวดีและต่อเนื่อง เนื่องจากความสะดวกรวดเร็ว ประหยัดทั้งเวลาในการเตรียม และค่าใช้จ่ายที่ราคาถูกกว่าไปหาดื่มตามบาร์ แต่ผู้บริโภคก็เรียกร้องผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกเหนือจากกาแฟเอสเปรสโซแบบคลาสสิกหรือน้ำเปล่าทั่วๆไป ทางเลือกของความหลายหลากและความใส่ใจในด้านสุขภาพมีความโดดเด่น เป็นแนวโน้มที่ผู้ประกอบการไทยสามารถนำมาศึกษาเพื่อพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ เช่น เครื่องดื่มชาเขียว ชาสมุนไพร ชากลิ่นผลไม้แปลกๆ ชาลดไขมัน เครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น ซึ่งขนาดบรรจุ(ขวด/กระป๋อง)ต้องมีขนาดเล็ก หรือเป็นแคปซูลมาตรฐานสากลที่นำไปใช้ได้เลย
2. จากการที่ สคต.มิลาน ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้า TUTTOFOOD 2023 ระหว่างวันที่ 8-11 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์แสดงสินค้าเมืองมิลาน มีผู้ประกอบการอิตาลีและต่างประเทศจำนวนมาก ในธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ ได้สอบถามถึงเครื่องดื่มรสผลไม้ยี่ห้อ Mogu และชาโออิชิ รวมถึงเครื่องดื่มเพิ่มความสดชื่นรสผลไม้และสมุนไพรอื่นๆ เพื่อนำเข้าและกระจายสินค้าด้วยการวางจำหน่ายในตู้ขายอัตโนมัติ ซึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถเชื่อมโยงกับธุรกิจแฟรนไชส์ดังกล่าวได้ จะทำให้การส่งออกขยายตัวและมีความต่อเนื่อง
3. ผู้ประกอบการไทยสามารถเจาะตลาดสินค้าอาหารบางประเภท เช่น อาหารว่างและขนมขบเคี้ยว ที่มีอายุการเก็บนานและขนาดกะทัดรัด การนำเสนอสิ่งแปลกใหม่ที่มีรสชาติสากล ผู้บริโภคปัจจุบันเปิดกว้างและยอมรับได้ง่ายขึ้น เช่น แท่งธัญพืชสมุนไพร ขนมปังกรอบรสมะพร้าว มันฝรั่งรสชาติใหม่ๆ กล้วยฉาบน้ำตาล ผลไม้แห้งหรืออบแห้ง เป็นต้น
————————————————————————————–
ที่มา: www.ilsole24ore.com/art/distributori-automatici-cibi-e-bevande-crescita-10percento-ma-sotto-16percento-pre-covid-AENU1eWD
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
7 มิถุนายน 2566