หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > ชี้ช่องผู้ประกอบการไทยเป็นซัพพลายเชนให้อิตาลี หลังอิตาลีผลักกฎหมายชุมชนพลังงานหมุนเวียน (Cer) สำเร็จ

ชี้ช่องผู้ประกอบการไทยเป็นซัพพลายเชนให้อิตาลี หลังอิตาลีผลักกฎหมายชุมชนพลังงานหมุนเวียน (Cer) สำเร็จ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ไฟเขียวให้แก่กฎหมาย “ชุมชนพลังงานหมุนเวียน” Comunità energetiche rinnovabili (Cer) ของอิตาลี ซึ่งเสนอโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงด้านพลังงาน (Ministry of the Environment and Energy Security) โดยกฎหมายชุมชนพลังงานหมุนเวียน ว่าด้วยการกระตุ้นให้เกิดการกระจายของการใช้พลังงานที่ผลิตขึ้นเอง จากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในประเทศ โดย Mr. Gilberto Pichetto Fratin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงด้านพลังงาน ได้แสดงความเห็นต่อกฎหมายดังกล่าวว่า อิตาลีกำลังมาถึงจุดเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นช่วงประวัติศาสตร์ใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพลังงาน โดยชุมชนพลังงานหมุนเวียนในอิตาลีจะสามารถสร้างให้กลายเป็นจริงที่แพร่หลายในประเทศได้ โดยการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน ให้กลายเป็นตัวเอกของพลังงานแห่งชาติในอนาคต โดยประชาชนในประเทศแต่ละคน สามารถมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานหมุนเวียน และได้รับประโยชน์จากผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการบริโภคด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าจะไม่มีพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการก่อสร้างโรงงานผลิตพลังงานหมุนเวียนโดยตรงก็ตาม

ชุมชนพลังงาน เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่รวมกันในการเลือกผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งให้ความสำคัญและคำนึงถึงประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมที่อาศัยอยู่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งกลุ่มคนที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชุมชนพลังงานหมุนเวียนได้นั้น คือ ประชาชน สังคมท้องถิ่น สมาคม สหกรณ์ หน่วยงาน/สมาคมทางศาสนา คอนโดมิเนียม และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยต้องเป็นพลังงานเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีหมุนเวียนทั้งหมด เช่น เซลล์แสงอาทิตย์ พลังงานลม ไฟฟ้าพลังน้ำ ชีวภาพ เป็นต้น โดยประโยชน์ของกลุ่มคนที่สร้างชุมชนพลังงานหมุนเวียนจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงานด้วยตนเองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ประชาชนและบริษัทรับสิทธิในการจ่ายราคาพลังงานที่ต่ำในการสร้างชุมชน และการสร้างโอกาสให้แก่เศรษฐกิจในท้องถิ่นของตน
โดยกฎหมาย “ชุมชนพลังงานหมุนเวียน” จะมุ่งเน้นไปที่มาตรการสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ มาตรการแรก อัตราภาษีจูงใจสำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตและแบ่งปันโดยสมาชิกของชุมชนทุกพื้นที่ในอิตาลี โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพลังงานรวมมากถึง 5 กิกะวัตต์ ภายในปี 2570 โดยเงินสนับสนุนในมาตรการดังกล่าวมีมูลค่าถึง 5.7 พันล้านยูโร ซึ่งอัตราภาษีจูงใจจะมีการเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับกำลังของระบบการผลิต (เช่น ระบบการผลิต ต่ำกว่า 200 กิโลวัตต์ ระบบการผลิตระหว่าง 200 – 600 กิโลวัตต์ และระบบผลิต มากกว่า 600 กิโลวัตต์) และ มาตรการที่ 2 การสนับสนุนเงินให้กู้ยืมสำหรับชุมชนพลังงานหมุนเวียน ที่สร้างขึ้นในเขตเทศบาลที่มีประชากรอาศัยอยู่ต่ำกว่า 5,000 คน (อิตาลีมีเขตเทศบาลที่มีประชากรอาศัยอยู่ตำกว่า 5,000 คน มีจำนวน 5,525 เทศบาล คิดเป็นสัดส่วน 69.95% ของจำนวนเทศบาลทั้งหมดในอิตาลี) จะมีการจัดหาให้เงินสมทบมากถึง 40% ของต้นทุนที่เข้าเกณฑ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการลงทุนเพื่อสร้างโรงงานใหม่ หรือเพื่อพัฒนา/ปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่ ซึ่งมาตรการดังกล่าวนี้ได้รับเงินสนับสนุนจำนวน 2.2 พันล้านยูโร จากแผนการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ (The National Recovery and Resilience Plan (NRRP)) โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพลังงานรวมอย่างน้อย 2 กิกะวัตต์
โอกาสและความคิดเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีต่อกฎหมายชุมชนพลังงานหมุนเวียน
Mr. Vito Zongoli ผู้บริหารของบริษัท Senec Italia จำกัด (เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในเยอรมัน ดำเนินธุรกิจในอิตาลีตั้งแต่ปี 2560) โดยดำเนินการพัฒนาและผลิตระบบจัดเก็บข้อมูลอัจฉริยะ รวมถึงการออกแบบและการวิเคราะห์ชุมชนพลังงานหมุนเวียนในกิจกรรมต่างๆ ของบริษัท ซึ่งการนำ Cer ไปใช้นั้นเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อน ซึ่งต้องใช้ความรู้และทักษะด้านเทคโนโลยีและกฎระเบียบโดยเฉพาะ โดยบริษัทมองว่าผู้ประกอบการเอกชนจะมีบทบาทสำคัญในการเริ่มดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ Mr. Zongli มีความเห็นว่า การลงนามในกฎหมายชุมชนพลังงานหมุนเวียน (Comunità energetiche rinnovabili) จะเป็นแรงผลักดันขั้นสุดท้าย ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงในอิตาลี โดยชุมชนพลังงานหมุนเวียน ถือเป็นขั้นตอนพื้นฐานในการส่งเสริมการใช้พลังงานด้วยตนเองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
สำหรับ Mr. Raffaello Magaldi รองประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการด้านเทคนิค บริษัท Magaldi Green Energy จำกัด (บริษัทสตาร์ทอัพ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและการจำหน่ายเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรม สำหรับการผลิตและการจัดเก็บพลังงานทดแทน) กล่าวว่า การจัดเก็บพลังงานถือเป็นภาคส่วนเชิงกลยุทธ์ในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่แหล่งพลังงานหมุนเวียน การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนควรมาพร้อมกับการลงทุนเชิงโครงสร้างในระบบจัดเก็บและจำหน่าย โดยกฎหมายชุมชนพลังงานหมุนเวียนแสดงถึงก้าวสำคัญ เนื่องจากเป็นการส่งเสริมการลงทุนแบบกำหนดเป้าหมาย และสนับสนุนการนำแนวทางที่ใช้ร่วมกันและมีส่วนร่วมมาใช้ ซึ่งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
บริษัท Magaldi Green Energy จำกัด ได้ร่วมมือกับ Enel X (บริษัทผลิตและจำหน่ายพลังงานที่สำคัญในอิตาลี) ในการพัฒนา MGTES (Magaldi Thermal Energy Storage) เทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงานความร้อนสีเขียว ในพื้นที่อุตสาหกรรมเมือง Salerno ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี โดยโครงการนี้เกี่ยวข้องกับการสร้าง “แบตเตอรี่ความร้อน” ของ MGTES สำหรับจุความร้อนสูงสุด 12 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ซึ่งสามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าสีเขียวที่มาจากแหล่งหมุนเวียนที่แตกต่างกันมากที่สุด และสะสมไว้ในทรายฟลูอิไดซ์เบด เพื่อผลิตไอน้ำที่อุณหภูมิประมาณ 200 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ มีการวางแผนการสร้างชุมชนพลังงานหมุนเวียนทางอุตสาหกรรม เพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของพลังงานหมุนเวียน เพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมทั้งหมดที่มีอยู่ในพื้นที่ Salerno และในอนาคตยังสามารถขยายเพื่อให้บริการแก่ชุมชนใกล้เคียง
Mr. Valerio Natalizia ผู้บริหารของ บริษัท SMA Italia จำกัด (เป็นบริษัทสัญชาติอิตาลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม SMA Solar Technology AG ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำของโลกในด้านอินเวอร์เตอร์ไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ระบบพลังงานแบบบูรณาการ และระบบจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้อง) เปิดเผยว่า นอกเหนือจากแรงจูงใจของแผน NRRP สำหรับเทศบาลที่มีประชากรน้อยกว่า 5,000 คนแล้ว ยังพบว่ามีข้อดีที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ด้วยต้นทุนพลังงานที่ต่ำกว่าและรูปแบบการผลิตด้วยตนเองจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบในการขับเคลื่อน ทำให้เกิดกลไกที่จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่างๆ ในระดับท้องถิ่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่น อาทิ สมาคม คอนโดมิเนียม สหกรณ์ เป็นต้น
ความคิดเห็นของ สคต. มิลาน
1. ปฎิเสธไม่ได้ว่าพลังงานหมุนเวียนกำลังได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการผลิตพลังงานของหลายประเทศทั่วโลก โดยสหภาพยุโรปได้มีการกำหนดเป้าหมายใหม่ของกฎหมาย “Fit for 55” ในการเน้นใช้ “พลังงานหมุนเวียน” (Renewable Energy) ให้เป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาด 42.5% ของพลังงานที่ผลิตได้ทั้งหมดในแต่ละประเทศ ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) จากเดิมที่เคยประกาศไว้ที่ 32% ซึ่งสมาชิกสหภาพยุโรปกำลังพยายามอย่างหนักในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคเศรษฐกิจของตนเอง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวในยุโรป เพื่อหลีกเลี่ยงการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศมากจนเกินไป
2. อิตาลีถือเป็นประเทศผู้นำในการผลิตพลังงานหมุนเวียน อันดับ 3 ในยุโรป (เป็นทางเลือกแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล) ถือเป็นส่วนสำคัญของการผลิตพลังงานของประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยปี 2566 อิตาลีสามารถผลิตพลังงานหมุนเวียนมีปริมาณมากกว่า 100 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ซึ่งมีสัดส่วนครอบคลุมถึง 38.4% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานน้ำ มีสัดส่วนครอบคลุม 11.9% พลังงานแสงอาทิตย์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.6% มีสัดส่วนครอบคลุม 11.1% พลังงานลม ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.1% มีสัดส่วนครอบคลุม 6.9% พลังงานชีวภาพ มีสัดส่วนครอบคลุม 5.3% 1.7% และพลังงานความร้อนใต้พิภพ มีสัดส่วนครอบคลุมเพียง 1.7% การที่รัฐบาลอิตาลีได้เล็งเห็นความสำคัญในการผลิตพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี โดยการออกกฎหมายชุมชุนพลังงานหมุนเวียน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้ผลิตพลังงานในอิตาลี หันมาให้ความสำคัญในการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ความต้องการวัสดุ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลิตพลังงานหมุนเวียนในอิตาลี มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้น ถือเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจ/อุตสาหกรรมดังกล่าว มีโอกาสในการขยายการส่งออก รวมถึงโอกาสในการเจรจาหาความร่วมมือ know-how ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมกับอิตาลีต่อไปในอนาคต
——————————————————————-
ที่มา: https://www.ilsole24ore.com/art/comunita-energetiche-e-incentivi-2024-sara-l-anno-nuova-normativa-AF3kwZDC?refresh_ce&nof, Energia: via libera di Bruxelles all’incentivo per le Comunità Energetiche Rinnovabili | Ministero dell’Ambiente e della Sicurezza Energetica (mase.gov.it)

อ่านข่าวฉบับเต็ม : ชี้ช่องผู้ประกอบการไทยเป็นซัพพลายเชนให้อิตาลี หลังอิตาลีผลักกฎหมายชุมชนพลังงานหมุนเวียน (Cer) สำเร็จ

Login