เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีเมืองของจีน 24 เมือง เช่น ชิงต่าว กรุงปักกิ่ง มหานครเทียนจิน มหานครเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น ได้รับเลือกให้เป็น “เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานที่ทันสมัยครบวงจร” ตามประกาศของคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และองค์กรบริหารจัดการระเบียบการตลาด (State Administration for Market Regulation) โดย “เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานที่ทันสมัยครบวงจร” จะต้องเป็นเมืองที่มีการพัฒนาแบบบูรณาการของการไหลเวียนทางเศรษฐกิจเชิงพาณิชย์ มีระบบโลจิสติกส์ มีระบบข้อมูล และมีการไหลเวียนของเงินทุนเชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกได้อย่างครบวงจร ซึ่งการถูกจัดให้เป็น “เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานที่ทันสมัยครบวงจร” ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาตินี้จะทำให้เมืองที่ถูกคัดเลือกได้รับโอกาสในการพัฒนาที่มากขึ้น รวมทั้งเมืองชิงต่าวด้วย
“เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานที่ทันสมัยครบวงจร” จะเน้นความต้องการของประเทศและจุดแข็งของแต่ละเมือง ซึ่งจะก่อให้เกิดรูปแบบของการก่อสร้างและพัฒนาเมืองให้มีการไหลเวียนของสินค้าและองค์ประกอบทรัพยากรที่สำคัญ เสริมสร้างการขับเคลื่อนข้ามพรมแดนและข้ามภูมิภาค ซึ่งจะก่อให้เกิดการไหลเวียนของวงจรคู่ขนานที่ทันสมัยครอบคลุม 31 มณฑล รวมถึงเขตปกครองตนเองและเทศบาลทั่วประเทศ ซึ่งในกลุ่มของเมืองเหล่านี้ จะมีเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเมืองชิงต่าว กรุงปักกิ่ง มหานครเทียนจิน และเมืองอื่นรวมทั้งสิ้น 24 เมืองที่ถูกจัดให้เป็น “เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานที่ทันสมัย”
ชิงต่าวเป็นเมืองชายฝั่งทะเลที่สำคัญของจีน จึงมีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นในการเชื่อมโยงระหว่างภาคตะวันออกและภาคตะวันตกทั้ง ทางบก ทางทะเล และด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งก็สอดคล้องกับการที่ในปี ค.ศ. 2022 มีการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 13 ของเมืองชิงต่าว ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายทั่วไปในการสร้างมหานครที่ทันสมัยของสังคมนิยมในยุคใหม่ ทำให้เมืองชิงต่าวมีเป้าหมายที่จะสร้างเมืองให้แข็งแกร่ง 6 ด้าน โดยเฉพาะด้านการเป็นเมืองศูนย์กลางเกตเวย์ระหว่างประเทศ และเน้นทิศทางการพัฒนาเมืองให้เป็น Hub หรือศูนย์กลางของภูมิภาคอย่างแท้จริง
จุดแข็งของเมืองชิงต่าวคือการมีปัจจัยสนับสนุนการไหลเวียนของเศรษฐกิจการค้าที่ค่อนข้างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ระบบโลจิสติกส์ ระบบการค้า เงินลงทุน เทคโนโลยี และข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งในปี ค.ศ. 2021 เมืองชิงต่าวยังได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน 15 เมืองนำร่องพิเศษสำหรับมาตรฐานการไหลเวียนทางเศรษฐกิจและการค้าโดยกระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้แก่ มาตรฐานส่งเสริมการพัฒนาแบบบูรณาการของการค้าทั้งในและต่างประเทศ และมาตรฐานสนับสนุนการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของการค้าและ
โลจิสติกส์ ที่มีความโดดเด่นและถือเป็นเมืองแรกที่ได้รับการส่งเสริมและนำร่องมาตรฐานทั้งสองดังกล่าว
สำหรับจุดแข็งอีกประการหนึ่งด้านระบบห่วงโซ่อุปทาน เมืองชิงต่าวได้ดำเนินการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์แห่งชาติหลายโครงการ โดยล่าสุดนับจนถึงเดือนกรกฎาคม 2023 เมืองชิงต่าวได้รับการอนุมัติให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์แห่งชาติสำหรับบริการการผลิต (ประเภทท่าเรือ) ประเภทบริการเชิงพาณิชย์และการค้า และประเภทสนามบิน นอกจากนี้ เมืองชิงต่าวยังได้รับการอนุมัติให้เป็นฐานการให้บริการโลจิสติกส์ห่วงโซ่ความเย็น (Cold Chain) และอุทยานโลจิสติกส์สาธิตแห่งชาติถึง 2 แห่ง โดยเน้นการทำงานของการเป็นศูนย์กลางเกตเวย์ในเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานโลจิสติกส์แห่งชาติ
สำหรับด้านของระบบตลาด ในปี ค.ศ. 2022 เมืองชิงต่าวได้ประกาศแผนการดำเนินงานสร้างระบบตลาดที่มีมาตรฐานสูงเมืองชิงต่าว โดยการสำรวจและจัดตั้งโครงการนวัตกรรม 51 โครงการ ซึ่งประกอบด้วย 25 โครงการที่ถือเป็นโครงการริเริ่มนวัตกรรมเป็นที่แรกของประเทศ ในขณะที่อีก 9 โครงการ เป็นโครงการนวัตกรรมที่ได้รับคัดเลือกและถูกส่งเสริมให้ใช้ซ้ำทั่วประเทศ นอกจากนี้ ในปี ค.ศ. 2022 เขตการค้าเสรีเมืองชิงต่าวมีการใช้เงินทุนจากต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 3.7 ของมณฑลซานตง และมีการนำเข้าและส่งออกคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของมณฑลซานตง
สำหรับด้านการขนส่ง เมืองชิงต่าวได้เร่งสร้างท่าเรือทางทะเลระดับโลก โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน 2023 พบว่าท่าเรือในเมืองชิงต่าวมีปริมาณการขนส่งสินค้าจำนวน 345.32 ล้านตัน มากเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ มีปริมาณตู้สินค้าจำนวน 13.94 ล้าน TEU มากเป็นอันดับ 3 ของประเทศ นอกจากนี้ ในด้านการขนส่งทางอากาศ ยังมีเส้นทางมากเป็นอันดับ 1 ในภาคเหนือ และดัชนีความสามารถในการแข่งขันในการเป็น Hub การขนส่งระหว่างประเทศยังอยู่ในอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ และนับตั้งแต่เปิดใช้สนามบินนานาชาติเจียวตง สนามบินแห่งใหม่ของเมืองชิงต่าว ซึ่งเป็นสนามบินระดับ 4F แห่งแรกในมณฑลซานตง ก็ได้มีการเปิดเส้นทางโดยสารทั้งภายในและระหว่างประเทศไปแล้ว 208 เส้นทาง ส่งผลให้เมืองชิงต่าวมีข้อได้เปรียบในการเป็นเมืองศูนย์กลางเกตเวย์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก
สำหรับด้านระบบบริการการเงิน เมืองชิงต่าวได้สร้างศูนย์ร่วมทุนเพื่อดึงดูดการรวมตัวของสถาบันวิชาชีพ และล่าสุดจนกระทั่งถึงปลายเดือนมิถุนายน 2023 เมืองชิงต่าวมีผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund Manager) จำนวน 381 แห่ง มีการจัดการกองทุนรวมจำนวน 2,419 กองทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 และมีขนาดเม็ดเงินจำนวน 191,158 ล้านหยวน (955,790 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 1 เท่า เมื่อเทียบกับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
สำหรับการสร้างระบบเครดิตทางสังคม เมืองชิงต่าวได้สร้างแพลตฟอร์มซิ้นอี้ใต้ (信易贷) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลเครดิตสาธารณะ และข้อมูลเครดิตตลาด เพื่อยกระดับการให้บริการ และเป็นการรวบรวมข้อมูลกว่า 35 ล้านรายการจากตลาดมากกว่า 2 ล้านแห่งในเมือง ซึ่งปริมาณข้อมูลสามารถเรียกใช้แบบเรียลไทม์ได้มากกว่า 3,000 ล้านรายการตามที่ได้รับการอนุญาตจากบริษัทที่เกี่ยวข้อง
การถูกเลือกให้เป็น “เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานที่ทันสมัยครบวงจร” ถือเป็นโอกาสใหม่ของเมืองชิงต่าวที่จะสามารถดึงเอาจุดแข็งออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ทำเลที่ตั้งอันเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ข้อได้เปรียบทางด้านอุตสาหกรรม และข้อได้เปรียบในการพัฒนาด้านยุทธศาสตร์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เมืองชิงต่าวสามารถให้บริการส่งออกสินค้าและทรัพยากรข้ามภูมิภาค มีการหมุนเวียนขนาดใหญ่ รวมทั้ง ให้บริการสร้างเครือข่ายการไหลเวียนที่ทันสมัยภายในประเทศเพื่อช่วยเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคตะวันออกกับภูมิภาคตะวันตกของจีน ตลอดจน เชื่อมโยงความร่วมมือเหนือใต้ได้อย่างลงตัว อันจะทำให้การเชื่อมโยงทั้งภายในและภายนอกประเทศของจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการพัฒนาอย่างครบวงจร
เมืองชิงต่าวถือเป็นผู้นำของมณฑลซานตงในการสร้างพื้นที่สีเขียว การพัฒนาไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เป็นสะพานออกสู่ภายนอกตามลุ่มน้ำเหลือง เป็นประตูแห่งเศรษฐกิจการส่งออก และเมืองชิงต่าวกำลังอยู่ระหว่างดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาประสานความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างเข้มข้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการขยายการเปิดประตูสู่ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำเหลือง และแบ่งปันโอกาสใหม่ๆ ระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การได้รับคัดเลือกให้เป็น “เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานที่ทันสมัยครบวงจร” จึงไม่เพียงแต่ต้องปรับปรุงความสามารถขององค์กรที่เกี่ยวข้อง แต่ยังต้องเร่งสร้างระบบอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ปรับปรุงระดับการใช้พลังงานและระดับการให้บริการ และบรรลุความก้าวหน้าในหลายมิติ เช่น ความสามารถในการเจาะตลาดโลก ความสามารถในการเชื่อมโยง และความสามารถในการให้บริการ เป็นต้น
ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย
เมืองชิงต่าวถือเป็นเมืองหลักทางเศรษฐกิจของมณฑลซานตง ที่แม้จะไม่ใช่เมืองหลวง แต่ก็เป็นเมืองที่มีเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง มีทำเลทองในด้านการทำธุรกิจ เป็นประตูของภาคตะวันออก มีท่าเรือที่ให้บริการในอันดับต้นๆ ของประเทศ มีการคมนาคมที่สะดวก เป็นเมืองอุตสาหกรรมที่มีความแข็งแกร่ง และประชากรมีความสามารถในการจับจ่าย จึงทำให้เป็นเมืองที่มักจะได้รับการคัดเลือกให้เป็นจุดยุทธศาสตร์ และเป็นเมืองนำร่องทางเศรษฐกิจที่สำคัญระดับประเทศ เช่น เขตเสรีการค้า เมืองที่มีการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงความร่วมมือ RCEP ในระดับสูง และล่าสุดได้รับคัดเลือกเป็น “เมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจวงจรคู่ขนานที่ทันสมัยครบวงจร” ซึ่งทำให้เมืองชิงต่าวได้รับโอกาสในการพัฒนาใหม่ๆ อยู่เสมอ ดังนั้น เมืองชิงต่าวจึงเป็นอีกเมืองที่ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญในการติดตามสถานการณ์ด้านการค้าการลงทุน และเร่งใช้ประโยชน์จากนโยบายส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ร่วมกับพันธมิตรคู่ค้าเมืองชิงต่าว รวมทั้ง แสวงหาโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวเมืองชิงต่าว เพื่อแย่งชิงโอกาสในการเจาะตลาดเมืองชิงต่าวในขณะที่เมืองชิงต่าวยังคงเป็น Blue Ocean ในตลาดจีน โดยผู้ประกอบการไทยสามารถติดตามข่าวสารและพฤติกรรมการบริโภคของเมืองชิงต่าว และมณฑลซานตงได้ทางเว็บไซต์ www.ditp.go.th รวมทั้ง หากท่านต้องการข้อมูลทางการตลาดใดๆ เพิ่มเติมท่านสามารถติดต่อสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าวได้ตามช่องทางที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ DITP และเฟซบุ๊กเพจ Insight CHINA : โอกาสสู่ตลาดจีน by สคต.ชิงต่าว เพื่อจะได้เตรียมการและปรับปรุงกลยุทธ์ในการเจาะตลาดส่งออกสินค้าและบริการไทยเข้าสู่เมืองชิงต่าวได้อย่างทันท่วงที
https://news.qingdaonews.com/qingdao/2023-09/04/content_23486399.htm
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)