หน้าแรกTrade insightเครื่องดื่ม > ชาวเอเชียกลุ่มผู้บริโภคศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ – สคต. ชิคาโก

ชาวเอเชียกลุ่มผู้บริโภคศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ – สคต. ชิคาโก

“ในช่วงระหว่างปี 2563 – 2566 ประชากรชาวเชื้อสายเอเชียในสหรัฐฯ มีอัตราการขยายตัวสูงสุด โดยชาวอินเดียมีสัดส่วนประชากรมากที่สุด”

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันมีจำนวนประชากรมากเกือบ 340 ล้านคน อีกทั้ง ยังเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง แม้ว่าประชากรภายในประเทศกว่าครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 57.8) จะเป็นกลุ่มผิวขาว แต่กลับพบว่าสัดส่วนประชากรกลุ่มดังกล่าวเริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัย ในขณะที่กลุ่มประชากรเชื้อชาติอื่นกลับมีบทบาทและขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดโดยเฉพาะกลุ่มประชากรชาวเอเชียที่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 103 จากเดิมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 18.43 ล้านคนในปี 2563 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 21.1 ล้านคนในปี 2566 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.2 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในสหรัฐฯ

จากรายงานผลการสำรวจสำมะโนประชากรสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดในปี 2563 โดยสำนักสำมะโนประชากร (United States Census Bureau) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ (Department of Commerce) ซึ่งได้จำแนกกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียไว้ทั้งสิ้น 41 กลุ่มพบว่า หากพิจารณาเฉพาะจำนวนประชากรเอเชียที่มีเชื้อสายเดียวไม่มีเชื้อสายอื่นผสม (Alone) กลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียได้ขยับก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มประชากรชาวเอเชียที่มีจำนวนมากที่สุดในสหรัฐฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 4.40 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 54.7 แซงหน้ากลุ่มประชากรจีนที่ตามมาเป็นอันดับสองมีจำนวนทั้งสิ้น 4.13 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 31.6

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจำนวนประชากรเอเชียทั้งหมดซึ่งรวมทั้งกลุ่มประชากรที่มีเชื้อชาติเดียว (Alone) และกลุ่มประชากรที่มีเชื้อชาติผสมกับเชื้อชาติอื่น (In Any Combination) ยังพบว่า กลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายจีนยังคงเป็นกลุ่มประชากรที่มีจำนวนมากที่สุดในสหรัฐฯ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5.21 ล้านคนหรือ คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 37.2 รองลงมาคือกลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดียจำนวนทั้งสิ้น 4.77 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 49.8

โดยผลการสำรวจดังกล่าวยังพบว่า ชาวอเมริกันเชื้อสายเนปาลเป็นกลุ่มที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงที่สุด (ร้อยละ 295.5) ในกลุ่มประชากรเอเชียเชื้อสายเดียวทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ชาวเมียนมาร์ (ร้อยละ 183.9) ชาวภูฏาน (ร้อยละ 158.8) ชาวสิงคโปร์ (ร้อยละ 137.9) ชาวบังคลาเทศ (ร้อยละ 99.2) และชาวมองโกเลีย (ร้อยละ 97.6) ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาประชากรชาวอเมริกันที่ทั้งที่มีเชื้อสายเอเชียเดียวและเชื้อสายเอเชียผสมรวมกันพบว่า ชาวมัลดีฟมีอัตราการขยายตัวสูงสุด (ร้อยละ 477.2) รองลงมา ได้แก่ ชาวเนปาล (ร้อยละ 269) ชาวเมียนมาร์ (ร้อยละ 175.8) ชาวสิงคโปร์ (ร้อยละ 151.8) ชาวภูฏาน (ร้อยละ 137.4) และชาวมองโกเลีย (ร้อยละ 119) ตามลำดับ

ในส่วนของชาวอเมริกันเชื้อสายไทยนั้น พบว่า กลุ่มชาวอเมริกันเชื้อสายไทยเพียงอย่างเดียวมีจำนวนทั้งสิ้น 2.01 แสนคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.90 และหากรวมกลุ่มชาวอเมริกันที่มีทั้งเชื้อชาติไทยเพียงเชื้อชาติเดียวและกลุ่มเชื้อชาติไทยผสมกับเชื้อชาติอื่นด้วยมีจำนวนทั้งสิ้น 3.27 แสนคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.5

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ประชากรชาวเอเชียในสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นส่วนหนึ่งมาจากระบบการศึกษาและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ที่พัฒนาอย่างรุดหน้าทำให้ชาวเอเชียที่มีกำลังสนับสนุนนิยมเลือกจะเดินทางไปศึกษา ทำงาน และตั้งรกรากในสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยี (Tech Boom) เขตซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley) ในรัฐแคลิฟอร์เนียช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้สหรัฐฯ มีความต้องการแรงงานเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ประชากรชาวอินเดียและจีนซึ่งส่วนมากมีทักษะและความเชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในระดับสูงขยายตัวเพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ

ที่มา: United States Census Bureau

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ

แม้ว่าปัจจุบันจำนวนประชากรชาวเอเชียในสหรัฐฯ จะยังคงมีสัดส่วนไม่มากนักคิดเป็นเพียงร้อยละ 6.2 ของประชากรชาวอเมริกันทั้งหมดก็ตาม แต่กลุ่มประชากรชาวเอเชียกลับมีความสำคัญต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก เนื่องจากกลุ่มประชากรชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรคุณภาพมีระดับการศึกษาและรายได้สูง โดยชาวเอเชียในสหรัฐฯ มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยประมาณ 97,626 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยรายได้ครัวเรือนสหรัฐฯ ที่ระดับ 69,717 ดอลลาร์สหรัฐถึงร้อยละ 40 ดังนั้น กลุ่มประชากรดังกล่าวจึงถือว่ามีความสำคัญต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจสหรัฐฯ สูง

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงปัจจัยด้านกำลังการซื้อของกลุ่มประชากรชาวเอเชียพบว่า มีมูลค่าสูงถึง 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 หรือคิดเป็นร้อยละ 7.43 ของกำลังการซื้อประชากรทั้งหมดในสหรัฐฯ อีกทั้ง กลุ่มประชากรชาวเอเชียในสหรัฐฯ ยังถือเป็นกลุ่มที่มีกำลังการซื้อขยายตัวสูงและรวดเร็วที่สุดในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาคิดเป็นอัตราร้อยละ 314 อีกด้วย

แนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มประชากรชาวเอเชียในสหรัฐฯ เป็นโอกาสในการเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม เช่น ข้าวหอมมะลิ ผลไม้เมืองร้อน เส้นก๋วยเตี๋ยว ซอสปรุงรส และเครื่องแกง เป็นต้น เนื่องจากประชากรกลุ่มดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มประชากรรุ่นแรก(First Generation) ที่ยังคงมีพฤติกรรมนิยมเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มตามวัฒนธรรมการบริโภคตามเชื้อชาติดั้งเดิมของตน

โดยผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและสนใจเจาะตลาดควรพิจารณาเสนอขายสินค้าอาหารแก่ตัวแทนจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเอเชีย (Asian Food Distributors) ซึ่งมีกระจายตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ในสหรัฐฯ ที่มีชาวเอเชียอาศัยอยู่จำนวนมาก เช่น บริษัท Best Food Service บริษัท Golden Country Oriental Food และบริษัท Truong Enterprises Inc. นครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ เป็นต้น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรที่จะศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมความต้องการสินค้าของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าวโดยเฉพาะเพื่อให้สามารถปรับปรุงพัฒนาสินค้าให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในตลาดซึ่งแตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มอื่นพอสมควร เช่น ความนิยมเลือกซื้อสินค้าที่สะท้อนวัฒนธรรมเดิมของตน ความนิยมเลือกซื้อสินค้าที่แสดงภาษาท้องถิ่นของตนบนฉลาก และความนิยมเลือกซื้อสินค้าบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่สำหรับการบริโภคทั้งครอบครัว เป็นต้น

นอกจากนี้ ในส่วนของเขตพื้นที่ตะวันตกตอนกลาง (Midwest) ของสหรัฐฯ เองยังเป็นแหล่งที่มีประชากรกลุ่มม้งอาศัยอยู่ค่อนข้างมาก เช่น รัฐมินนิโซตา     รัฐวิสคอนซิน รัฐมิชิแกน และรัฐโอกลาโฮมา เป็นต้น

โดยกลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวส่วนใหญ่เคยอาศัยอยู่ในประเทศไทยก่อนที่จะย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ทำให้มีความใกล้ชิดคุ้นเคยกับสินค้าอุปโภคบริโภคไทยและต้องการบริโภคสินค้าไทยต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันและขยายฐานการส่งออกสินค้าไทยในเขตพื้นที่ดังกล่าวด้วย

“ตัวอย่างสินค้าไทยที่วางจำหน่ายในตลาดม้งเมือง St. Paul รัฐมินนิโซตา”

ที่มา:

สำนักข่าว CNBC

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก

: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login