ชาวอิตาเลียนโอดค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้น เหตุราคาสินค้าบริการปรับสูงขึ้นในช่วงวันหยุดพักร้อน
ปี 2566 คาดว่าจะมีชาวอิตาลีประมาณ 14 ล้านคน เดินทางไปเที่ยวพักผ่อนในสัปดาห์ช่วงวันที่ 15 สิงหาคม 2566 ที่เรียกว่าวัน Ferragosto ซึ่งเป็นวันหยุดราชการสำหรับพักร้อนประจำปีอิตาลี ปีนี้ตรงกับวันอังคาร จึงทำให้คนทำงานจำนวนมากขอลาหยุดงานวันจันทร์ เพื่อให้มีวันหยุดมากวันขึ้น ประกอบกับพยากรณ์อากาศที่แจ้งว่าอากาศจะร้อนจัดและมีแดดดีตลอดสัปดาห์ จึงเป็นสัปดาห์ที่มีการหยุดงานและออกเที่ยวมากที่สุด และคาดว่าจะมีเงินสะพัดจากการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวประมาณ 7 พันล้านยูโร (ต่ำกว่าความคาดหมาย) แต่ปีนี้จำนวนยอดจองห้องพักกลับไม่เต็ม อยู่ในระดับที่ห่างไกลจากยอดการจองในปีที่ผ่านมาสำหรับสัปดาห์กลางเดือนสิงหาคม ซึ่งมีสาเหตุจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ชาวอิตาลี 2 ใน 10 เลือกพักร้อนในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม เนื่องจากราคาถูกกว่าและหลีกเลี่ยงความแออัด และ 1 ใน 10 ตัดสินใจงดการไปพักร้อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายรวมกันแล้วสูงเกินไป และแม้แต่การเฉลิมฉลองวันหยุด Ferragosto ที่บ้านหรือตามสวนสาธารณะ ที่มีธรรมเนียมนิยมการรวมญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงมาร่วมสังสรรค์กันทำอาหารปิ้งย่าง ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายสินค้าอาหารที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 10.7% เมื่อเทียบกับหน้าร้อนปีที่แล้ว เช่น เนื้อสัตว์ (+6.2%) ข้าว (+26.7%) ผักสด (+19.8%) ผลไม้ (+13.8%) ไอศกรีม (+16.2%) น้ำอัดลม (+18.8%) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ (+16.9%) น้ำผลไม้ (+14.9%) น้ำดื่ม (+10.7%) เป็นต้น
สมาคมคุ้มครองผู้บริโภค (Assoutenti) และสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวอิตาลี (Assoturismo) ได้วิเคราะห์ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นและวิพากษ์วิจารณ์การกระทำที่แสวงหากำไรเกินควรของผู้ประกอบการ เช่น ราคาน้ำมันที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุดยาว โดยมีราคาเฉลี่ย 2.015 ยูโรต่อลิตร ในขณะที่ปั๊มน้ำมันบนทางด่วนเดิมราคา 2.014 ยูโรต่อลิตร (เมื่อช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา) ปรับราคาสูงถึง 2.80 ยูโรต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 1.921 ยูโรต่อลิตร (1.917 ยูโรต่อลิตร ในวันศุกร์) ก๊าซ LPG อยู่ที่ 0.842 ยูโรต่อลิตร (0.841 ยูโรต่อลิตร ในวันศุกร์) ก๊าซมีเทนทรงตัวที่ 1.528 ยูโรต่อลิตร รวมถึงร้านอาหารก็ทยอยปรับขึ้นราคา (+5.3%) โรงแรม (+12.8%) และค่าตั๋วเครื่องบินก็ปรับขึ้นราคาเช่นกัน (โดยเฉพาะสายการบิน Low cost)
ชาวอิตาลีส่วนใหญ่นิยมไปพักผ่อนตามชายทะเลในช่วงหน้าร้อนมากที่สุด (เกือบ 50%) และยังนิยมเที่ยวทะเลในอิตาลี รองลงมาคือภูเขา (20%) ส่วนที่เหลือท่องเที่ยวตามโบราณสถาน เมืองศิลปะ ทะเลสาบ และต่างประเทศ จากภาวะเงินเฟ้อที่ยังสูงอยู่ ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง และต้องประสบกับฤดูพักร้อนที่ราคาค่าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นสูง (20% – 30%) ทำให้ครัวเรือนมีค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวรวมกันสูงขึ้น 330 ล้านยูโร จนชาวอิตาลีจำนวนไม่น้อยหาทางเลือกในการท่องเที่ยวที่ประหยัดกว่า โดยจุดหมายปลายทาง
ที่โดดเด่น เช่น สเปน ตูนิเซีย และอียิปต์ หรือแอลเบเนียและมอนเตเนโกร ในขณะที่ตะวันออกไกล ญี่ปุ่นเป็นประเทศเป้าหมาย ด้วยค่าเงินเยนอ่อนค่าและส่วนลดพิเศษของสายการบิน อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวอิตาลีในช่วงกลางเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 70% (ปีที่แล้วอยู่ที่ 87%) ทำให้การจองโรงแรมทั่วอิตาลีลดลง (-15%) บางแห่งลดถึง (-30%) เพราะนักท่องเที่ยวอิตาลีที่เที่ยวในประเทศลดลง (–30%) การจองที่พักลดลงโดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวตามชายทะเล ในทางกลับกัน มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามาถึง 15 ล้านคน (มากกว่าปี 2565 ประมาณล้านคน) และเพิ่มขึ้น +15% เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยมีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน และสหราชอาณาจักร เป็นอันดับต้นๆ และมีการค้างแรมโดยเฉลี่ย 4 คืนต่อคน นักท่องเที่ยวต่างชาติมุ่งการท่องเที่ยวโบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ และชมงานศิลปะเป็นสำคัญ
อีกประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกับอิตาลีและมีชายฝั่งทะเลเหมาะแก่การท่องเที่ยวคือแอลเบเนีย สื่อประเทศดังกล่าวได้เผยแพร่ภาพถ่ายบนโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ฝูงชนชาวอิตาลีหลั่งไหลกันเดินทางมาพักร้อนช่วงวันหยุดฤดูร้อนมากกว่าปีที่ผ่านๆ มา รีสอร์ทริมทะเลที่มีชื่อเสียงของแอลเบเนีย 6 แห่ง กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวชาวอิตาลีจำนวนมาก เนื่องจากอัตราขั้นต่ำของที่พักในอิตาลีมีราคาแพงกว่าที่แอลบาเนียโดยเฉลี่ย +130% และโรงแรมระดับหรูแพงกว่าถึง +248% นอกจากนี้ จากการสำรวจแสดงให้เห็นว่าร้านอาหารในแอลเบเนียก็ราคาถูกกว่าด้วย มื้ออาหารครบเซ็ตที่มีปลาเป็นหลัก ราคาอยู่ระหว่าง 20 – 25 ยูโรต่อคน ในขณะที่ในอิตาลีราคาอยู่ที่ 45 – 65 ยูโรต่อคน สูงกว่าเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ก็ยังต้องประสบปัญหาค่าเดินทางที่สูง ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางโดยเครื่องบิน หรือค่าน้ำมันแพงสำหรับการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว
ความคิดเห็นของ สคต.มิลาน
ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ผู้คนทั่วโลกเดินทางได้ตามปกติ อิตาลี ถือเป็นจุดหมายปลายทางในอันดับต้นๆ ของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ทำให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวอิตาลีกลับมาคึกคักอีกครั้งไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร และบริการสันทนาการต่างๆ ซึ่งธุรกิจร้านอาหารไทยที่มีอยู่ทั่วอิตาลีกว่า 70 ร้าน คาดว่าจะได้รับอานิสงส์นี้ไปด้วย โดยมีการค้นหาและจองโต๊ะร้านอาหารไทยสำหรับทัวร์เป็นหมู่คณะในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ไม่ว่าจะเป็น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ที่มาท่องเที่ยวอิตาลีเพิ่มขึ้น ดังนั้น สคต. มิลาน จะส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ร้านอาหารไทย Thai SELECT ที่ปัจจุบันมีจำนวน 11 ร้าน ในอิตาลี ให้เป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้น และจะผลักดันให้มีจำนวนร้านอาหารไทย Thai SELECT ในอิตาลีให้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
————————————————————————————–
https://amp24.ilsole24ore.com/pagina/AFnUuGZ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองมิลาน
17 สิงหาคม 2566
ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)