จากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤศจิกายน 2567 นายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครแข่งขันจากพรรครีพับลิกัน เป็นฝ่ายคว้าชัยชนะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา โดยนับเป็นการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นสมัยที่ 2 ของทรัมป์ ด้วยคะแนนเสียงกว่า 77[1] ล้านเสียง
การได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความกังวลให้กับหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากท่าทีที่แข็งกร้าวและการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่เข้มงวด โดยเฉพาะ “America First” นับเป็นการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายครั้งสำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งนโยบายดังกล่าวมุ่งเน้นการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจละปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ ครอบคลุมถึงนโยบายการตรวจคนเข้าเมือง การยุติความขัดแย้งในต่างประเทศ สิ่งแวดล้อม การศึกษา และสาธารณสุข ประเด็นที่ทั่วโลกต่างจับตามองเป็นพิเศษ คือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลภายใต้แกนนำของทรัมป์ ตั้งเป้าที่จะฟื้นฟูและส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิตภายในประเทศ อีกทั้งยังจะดำเนินมาตรการลดหย่อนภาษีครั้งใหญ่ ยกเลิกภาษีเงินประกันสังคม ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 15 สร้างแรงจูงใจให้บริษัทย้ายฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ นอกจากนี้ ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ทรัมป์ได้ยกเลิกกฎหมายการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมหลายร้อยฉบับ และทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกที่ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพอากาศ โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงดังกล่าวและมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มต้นทุนและจำกัดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของประเทศ โดยในครั้งนี้ทรัมป์จะดำเนินการลดเงื่อนไขกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงข้อกำหนดและมาตรฐานเชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษ เพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐฯ รวมทั้ง สนับสนุนการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มจำนวนใบอนุญาตบนที่ดินของรัฐบาล และลดระยะเวลาการขอใบอนุญาตขุดเจาะลงครึ่งหนึ่ง เนื่องจากความต้องการเปิดพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นการจ้างงาน ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และลดต้นทุนพลังงานภายในประเทศได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายคุ้มครองทางการค้า และการเก็บภาษีศุลกากรในอัตราร้อยละ 10 – 20 สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากทุกประเทศ และการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนสูงถึงร้อยละ 60 จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก
บทวิเคราะห์/ความเห็นของสคต.
ชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ในครั้งนี้ ไม่เพียงแต่ทำให้ได้ครองทำเนียบขาวเท่านั้น ยังทำให้พรรครีพับลิกันซึ่งครองเสียงข้างมาก ควบคุมวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพิ่มขีดความสามารถของรัฐบาลในการพลักดันนโยบายต่าง ๆ สร้างความท้าทายมหาศาลให้กับสหรัฐอเมริกาและตลาดโลก ปฏิกิริยาของตลาดในสหรัฐฯ ในเบื้องต้นหลังการเลือกตั้งมีแนวโน้มเป็นบวก ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่เพิ่มขึ้น และมูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลที่ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ คาดว่านโยบายของทรัมป์จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยภาคธุรกิจที่จะได้รับผลประโยชน์ อาทิ ธนาคาร เทคโนโลยี ยานยนต์ การป้องกันประเทศ และพลังงาน อย่างไรก็ตาม นโยบายการปรับลดภาษีภายในประเทศและแนวโน้มการใช้จ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นอาจสร้างแรงกดดันต่อการขาดดุลการคลังที่สูงขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้ จากรายงานของ Peterson Institute for international Economics[1] เผยว่า การจัดเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 – 20 จะส่งผลให้ราคาสินค้าในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยชาวอเมริกันอาจต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงปีละ 1,700 – 2,600 เหรียญสหรัฐต่อครัวเรือน
ในขณะที่เศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบเชิงลบจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนในภาพรวมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทจีนที่ต้องการส่งออกสินค้าและบริการไปยังสหรัฐอเมริกาจะได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ความกังวลเกี่ยวกับมาตรการด้านภาษีของสหรัฐฯ อาจนำไปสู่ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนของจีน โดยล่าสุดค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่าลงแล้วร้อยละ 0.8[2] และมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงอีก กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาด ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าการปรับเปลี่ยนนโยบายของสหรัฐฯ ต่อการเก็บภาษีศุลกากรของสินค้าที่มาจากจีนที่ร้อยละ 60 จะทำให้ GDP ของจีนลดลงถึงร้อยละ 2.4[3]
ในส่วนของภูมิภาคลาตินอเมริกา เงินเหรียญสหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ส่งผลกระทบให้กระแสเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคน้อยลง ทำให้สกุลเงินต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาอ่อนค่าลง และอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น ซึ่งผลกระทบดังกล่าวบ่งชี้ถึงแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวมที่ชะลอตัวลง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ[4] (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคลาตินอเมริกาอาจไม่เกินร้อยละ 3 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ของหลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกากับจีนและสหรัฐฯ มีความซับซ้อน เนื่องจากความแตกต่างด้านอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองของผู้นำในแต่ละประเทศ ประกอบกับแนวทางการทูตที่ไม่แน่นอนของทรัมป์ที่เน้นให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนตัวและอุดมการณ์มากกว่าหลักปฏิบัติเพื่อประโยชน์ทางการเมือง และอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับภูมิภาคในรูปแบบที่คาดไม่ถึง โดยสคต.ฯ เห็นว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภูมิภาคลาตินอเมริกา ได้แก่
- มาตรการตรวจคนเข้าเมืองที่เข้มงวดมากขึ้นและจำกัดจำนวนผู้อพยพ
ข้อมูลจากการสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ (USCB) และ Center for Migration Studies(CMS) ในเดือนกรกฎาคม 2566 พบว่าจำนวนประชากรที่ย้ายถิ่นฐานจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคลาตินอเมริกาเข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ ที่อยู่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (Hispanic Origin) มีจำนวนถึง 62.5 ล้านคน และมีประชากรผู้อพยพจากลาตินอเมริกาที่อยู่อย่างผิดกฎหมายไม่มีเอกสารอีกกว่า 8.6[1] ล้านคน โดยโครงสร้างทางสังคมและครอบครัวของชาวลาตินอเมริกามักจะมีครอบครัวขนาดใหญ่และช่วยเหลือกันในสังคมผู้ใช้ภาษาสแปน ทั้งเรื่องการหางานและที่อยู่อาศัย ผู้อพยพที่มีโอกาสได้ประกอบอาชีพอยู่ในสหรัฐฯ มักจะส่งเงินกลับมาดูแลครอบครัวที่ประเทศของตน โดยนโยบายของทรัมป์ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้อพยพดังกล่าว ได้แก่ (1) การส่งตัวผู้อพยพที่ไร้เอกสารทั้งหมดกลับประเทศต้นทางแล้ว (2) การยุติโครงการได้รับสัญชาติตามสิทธิโดยกำเนิด (DACA)[2] ของเด็กที่เกิดในสหรัฐฯ จากพ่อแม่ที่ไม่มีเอกสาร (3) การยกเลิกสถานะผู้ลี้ภัย (4) การจัดเก็บภาษีเงินโอนระหว่างประเทศในอัตราร้อยละ 10[3] ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของหลายประเทศในลาตินอเมริกา เช่น นิการากัว ซึ่งมีเงินโอนเข้าประเทศคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 26 ของ GDP ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีแนวโน้มสูงที่สุดที่จะได้รับผลกระทบจากเงินโอนเข้าประเทศที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเก็บภาษีเงินโอนและส่งผู้อพยพกลับประเทศจำนวนมาก และสามารถนับได้ว่าเป็นการเนรเทศผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยลดผลกระทบด้านที่อยู่อาศัยและเพิ่มการจ้างงานในสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้อพยพกลับมาถึงประเทศบ้านเกิดอาจประสบปัญหาว่างงาน กระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน และการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ
- มาตรการด้านพลังงาน
จากนโยบายด้านพลังงานและอุตสาหกรรม ที่ผ่อนปรนข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการผลิต การลงทุนและใช้พลังงาน/เชื้อเพลิงฟอสซิลภายในประเทศ ประกอบกับการเพิกเฉยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทรัมป์ อาจลดความต้องการในการนำเข้าน้ำมันของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกน้ำมัน อาทิ บราซิล เอกวาดอร์ เม็กซิโก และเวเนซูเอล่า นอกจากนี้ นโยบายลดการสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานสะอาด ส่งผลให้ความต้องการโลหะที่มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรม เช่น โคบอลต์ ทองแดง ลิเทียม และสังกะสี อาจลดลงด้วย ซึ่งแร่โลหะดังกล่าวเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของหลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา อาทิ อาร์เจนติน่า ชิลี เปรู โบลีเวีย ซึ่งความต้องการและราคาที่ลดลงของแร่โลหะดังกล่าว อาจส่งผลกระทบทางลบต่อการส่งออกและรายได้ของภูมิภาค
- การค้าระหว่างประเทศ
ทุกประเทศที่เป็นคู่ค้ากับสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากนโยบายการเก็บภาษีศุลกากรที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี นโยบายลดภาษีรายได้นิติบุคคล เพื่อจูงใจและย้ายแหล่งการผลิตของบริษัทต่าง ๆ ให้กลับสู่สหรัฐฯ ในทางปฏิบัติอาจไม่ได้ผลมากนักและอาจต้องใช้เวลานับปีในการเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน เพราะฐานการผลิตนอกสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับแหล่งวัตุดิบหรือทรัพยากรในประเทศนั้น ๆ นอกจากนี้ ประเด็นต้นทุนการผลิตและค่าแรงนอกสหรัฐฯ ที่ต่ำกว่ายังคงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ในระยะยาวของสินค้าแต่ละชนิดที่อาจแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นจะถูกเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ในอัตราเท่าใด สคต.ฯ คาดว่าในระยะสั้น – กลาง สหรัฐฯ อาจเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อทดแทนสินค้าจากจีน ในขณะที่จีนเองก็อาจพยายามหาช่องทางการส่งออกสินค้าผ่านภูมิภาคลาตินอเมริกาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกผ่านเม็กซิโก เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้า โดยมีความเป็นไปได้ที่ธุรกิจจีนจะย้ายฐานการลงทุนหรือโรงงานผลิตมายังภูมิภาคลาตินอเมริกาแทน แต่ก็ควรพึงระวังถึงการถูกตรวจสอบถิ่นกำเนิดของสินค้าหรือบริษัทเจ้าของสินค้าว่าเข้าข่ายเป็นบริษัทจีนหรือเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของจีนด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ การที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอาจทำให้เศรษฐกิจในภาคการผลิตและส่งออกของจีนชะลอตัว ทำให้ความต้องการวัตถุดิบจากลาตินอเมริกาลดลงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของภูมิภาค ในขณะที่สินค้าจากจีนที่ไม่สามารถส่งไปยังสหรัฐฯ ได้และอาจไหลเข้ามาสู่ตลาดลาตินอเมริกาแทน เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นกับสินค้าท้องถิ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร เหล็ก และยานยนต์
ในส่วนของการนำเข้า สหรัฐฯ ตั้งเป้าที่จะลดการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อลดการขาดดุลทางการค้า ส่งผลให่ให้ประเทศที่มีภาวะเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ติดต่อกันอาจได้รับการเพ่งเล็งและอาจถูกตอบโต้โดยการลดการนำเข้าและขึ้นอัตราภาษี ทั้งนี้ ในปี 2566 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากทั่วโลกคิดเป็นมูลค่ากว่า 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และในจำนวนนี้ มีสัดส่วนการนำเข้าจากประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริการวมกันคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 20 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนการค้าของประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาที่มีมูลค่าการค้ารวม (Total trade) กับสหรัฐฯ สูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1) เม็กซิโก เม็กซิโกแซงหน้าจีนขึ้นเป็นคู่ค้าทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งบ่งชี้ถึงความสำคัญอย่างมหาศาลของการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ โดยในปี 2567 (มกราคม – กันยายน เม็กซิโกมีสัดส่วนการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 1 กว่าร้อยละ 65.5 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 4.7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) เติบโตขึ้นร้อยละ 3.1 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเด็นอื่นที่น่าสนใจของเม็กซิโก ที่ผ่านมามารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ช่วยร่างข้อตกลงทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา (USMCA) ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นประโยชน์ต่อเม็กซิโก อย่างไรก็ตาม ทรัมป์อาจเรียกเก็บภาษีจากเม็กซิโกเพิ่มขึ้น เนื่องจากเม็กซิโกกำลังเผชิญข้อกล่าวหาว่าทำหน้าที่เป็นช่องทางสำหรับสินค้าจีนเข้าไปยังสหรัฐฯ นอกจากนี้ ทรัมป์มีแผนปรับปรุงนโยบายการอพยพระหว่างประเทศให้เข้มงวดยิ่งขึ้น
2) บราซิล ในปี 2567 (มกราคม – กันยายน บราซิลมี สัดส่วนการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยมีสัดส่วนการค้ารวมร้อยละ 13.3 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 6.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) เติบโตขึ้นร้อยละ 7.7 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเด็นอื่นที่น่าสนใจของบราซิล รัฐบาลบราซิลแสดงความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งของทรัมป์ โดยผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีแนวโน้มที่จะเกิดความตึงเครียดในระดับทวิภาคีมากขึ้นทั้งในด้านนโยบายด้านสภาพอากาศและภาคเทคโนโลยี ทั้งนี้ บราซิลเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมสภาพอากาศของสหประชาชาติในปี 2568 ณ เมืองเบเลง เงินสนับสนุนจำนวน 500 ล้านเหรียญสหรัฐที่สหรัฐฯ ให้สัญญาไว้กับกองทุนอเมซอนอาจล้มเหลวภายใต้การบริหารของทรัมป์
3) โคลอมเบีย ในปี 2567 (มกราคม – กันยายน โคลอมเบียมีสัดส่วนการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 1 โดยมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 27.3 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) เติบโตขึ้นร้อยละ 5.4 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเด็นอื่นที่น่าสนใจของโคลอมเบีย ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ในสมัยแรก ทรัมป์มีความสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตประธานาธิบดีฝ่ายขวาของโคลอมเบีย (นายอีวาน ดูเก) อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน โคลอมเบียอยู่ภายใต้การนำของนายกุสตาโว เปโตร ผู้นำฝ่ายซ้าย ซึ่งมีสัมพันธภาพที่ไม่สู้ดีกับรัฐบาลของนายไบเดน และสหรัฐฯ ได้ระงับการช่วยเหลือทางการเงินให้แก่โคลอมเบียเมื่อไม่นานนี้ โดยสถานการณ์อาจเลวร้ายลงได้อีก อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ยังคงต้องการความร่วมมือจากโคลอมเบียในด้านความปลอดภัย และปราบปรามการค้ายาเสพติด
4) ชิลี ในปี 2567 (มกราคม – กันยายน ชิลีมีสัดส่วนการค้ากับสหรัฐฯ มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน โดยมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 17.7 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) หดตัวลงร้อยละ -5.7 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเด็นอื่นที่น่าสนใจของชิลี ชิลีเป็นผู้ส่งออกทองแดงและลิเทียมที่อัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาจสูญเสียผลประโยชน์จากนโยบายลดการสนับสนุนพลังงานสะอาดของทรัมป์ซึ่งจะกระทบภาคอุตสาหกรรมการทำเหมืองแร่เพื่อการส่งออก ซึ่งอุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นแหล่งรายได้หลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศกว่าร้อยละ 53.7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ อุดมการณ์ที่ไม่ตรงกันของทรัมป์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแบบดั้งเดิม กับประธานาธิบดีกาเบรียล บอริก ฝ่ายเสรีนิยม อาจทำให้การเจรจาต่าง ๆ เกิดอุปสรรค ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาบริษัทจีนได้หลั่งไหลเข้ามาลงทุนในชิลี โดยเฉพาะในเหมืองลิเทียมของชิลี ในขณะที่สหรัฐฯ ก็เสริมสร้างความร่วมมือด้านแร่ธาตุที่สำคัญภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีกับชิลี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่กว้างขึ้นของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามอาจมีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เนื่องจากชิลีจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ในช่วงปลายปี 2568
5) คอสตาริกา ในปี 2567 (มกราคม – กันยายน) สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าของคอสตาริกาเป็นลำดับที่ 1 โดยมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 42 มูลค่าการค้ารวมกว่า 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวร้อยละ 8.7 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเด็นอื่นที่น่าสนใจของคอสตาริกา คอสตาริกาปกครองโดยรัฐบาลสายกลาง และได้พัฒนาความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นด้านอุตสาหกรรมและมีจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการป้องกันประเทศกับสหรัฐฯ และมีแนวโน้มความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างมั่นคง
ในส่วนของประเทศไทย ในปี 2567 (มกราคม – กันยายน) สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าของไทยเป็นลำดับที่ 2 รองจากจีน โดยมีสัดส่วนการค้าร้อยละ 13.3 มูลค่าการค้ารวมกว่า 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ อัตราการขยายตัวร้อยละ 10.9 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยไทยการนำเข้าจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และส่งออกไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 4.1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น เครื่องจักรและส่วนประกอบ เครื่องจักร และอุปกรณ์ไฟฟ้า ยาง และรถบรรทุก เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและประเด็นอื่นที่น่าสนใจของไทย ไทยให้ความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์อย่างสมดุลระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน โดยไทยมีความสัมพันธ์ทางด้านการค้าการลงุทนและการฑูตที่ดีมาอย่างยาวนานกับทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม สคต.ฯ คาดว่าสินค้าส่งออกของไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะถูกมาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ เนื่องจากในปี 2566 ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 12 ในบรรดาคู่ค้าทั้งหมด
_____________________________________
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงซันติอาโก
พฤศจิกายน 2567
[1] https://cmsny.org/us-undocumented-population-increased-in-july-2023-warren-090624/
[2] https://www.usa.gov/daca
[3] https://www.reuters.com/markets/whats-stake-global-markets-trump-presidency-2024-11-06/
[1] https://www.piie.com/
[2] https://economictimes.indiatimes.com/markets/stocks/news/china-stocks-yuan-slip-as-us-election-counting-progresses/articleshow/115005088.cms?from=mdr
[3] https://finance.yahoo.com/news/china-stocks-fall-after-trumps-win-as-tariff-promises-loom-155355684.html
[4] https://www.americasquarterly.org/article/reaction-what-trumps-victory-means-for-latin-america/
[1] https://edition.cnn.com/election/2024/results/president?election-data-id=2024-PG&election-painting-mode=projection-with-lead&filter-key-races=false&filter-flipped=false&filter-remaining=false
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ชัยชนะของทรัมป์ส่งผลต่อลาตินอเมริกาอย่างไร