สํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
ในที่สุดโดนัลด์ ทรัมป์ก็ทำสำเร็จ เขาได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอีกครั้ง ซึ่งน่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ต่อเยอรมนี เนื่องจากสหรัฐฯ คือพันธมิตรทางการค้าสำคัญและเป็นตลาดส่งออกใหญ่ที่สุดของเยอรมนี โดยในปี 2023 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เกือบ 158 พันล้านยูโร ทรัมป์ถือเป็นผู้สนับสนุนแนวความคิด Protectionism กล่าวคือ การคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศโดยการจัดเก็บภาษีอากรขาเข้าให้สูงสำหรับสินค้าที่เป็นคู่แข่งจากต่างประเทศ (แม้จะแลกมาด้วยความเสียหายของประเทศอื่น ๆ ก็ตาม) ในการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ ทรัมป์ได้ประกาศชุดนโยบาย/มาตรการด้านเศรษฐกิจมากมายระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ได้แก่ การเพิ่มภาษีนำเข้า เช่น สินค้าจากเยอรมนีหรือสหภาพยุโรปร้อยละ 10 – 20 สินค้าจากจีนร้อยละ 60 การลดอัตราภาษีนิติบุคคล หรือแม้แต่การยกเลิกภาษีเงินได้ทั้งหมดและชดเชยส่วนที่ขาดไปด้วยภาษีนำเข้า “เราต้องการใช้เงินหลายแสนล้านดอลลาร์จากภาษีเหล่านี้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองของเราและนำไปใช้ชำระหนี้ของประเทศ” ทรัมป์กล่าวที่งาน Detroit Economic Forum ทั้งนี้ ทรัมป์ตั้งเป้าไปที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของเยอรมนีซึ่งกำลังเผชิญวิกฤตอยู่ในขณะนี้ “บริษัทต่างชาติควรมีส่วนสนับสนุนงบประมาณของสหรัฐฯ ผ่านการขึ้นภาษี หากบริษัทเหล่านั้นไม่ตั้งโรงงานผลิตในสหรัฐฯ” หนึ่งในคำกล่าวสุนทรพจน์ของทรัมป์
Achim Wambach ประธานศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) กล่าวว่า นี่คือการเพิ่มแรงกดดันให้บริษัทในยุโรปต้องย้ายฐานการผลิตของตนไปยังสหรัฐฯ เยอรมนีและสหภาพยุโรปจำเป็นต้องเสริมความแข็งแกร่งในฐานะที่ตั้งธุรกิจอย่างเร่งด่วน เช่น โครงสร้างพื้นฐาน แรงงาน กฎหมายและภาษี ตลาด นโยบายภาครัฐ และคุณภาพชีวิต เป็นต้น มีเพียงตลาดภายในที่มีพลวัตเท่านั้นที่จะรับประกันได้ว่า เยอรมนีและสหภาพยุโรปจะไม่ถูกบดขยี้จากเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและจีน
สมาคมการค้าต่างประเทศ BGA ยังได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์นโยบายขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์อีกด้วย Dirk Jandura ประธาน BGA กล่าวเน้นย้ำว่า โลกต้องการข้อจำกัดทางการค้าที่น้อยลง ไม่ใช่มากขึ้น
ข้อจำกัดทางการค้าใหม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เศรษฐกิจของเยอรมนีกำลังฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ชัยชนะของทรัมป์ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ “(หนึ่งใน)ช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดทางเศรษฐกิจในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี” นอกจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วในขณะนี้ และยังมีความท้าทายด้านนโยบายการค้าต่างประเทศและความมั่นคงอีก ซึ่งเยอรมนียังเตรียมตัวรับมือได้ไม่ดีพอ Moritz Schularick ประธานสถาบันเศรษฐกิจ IfW กล่าว
นอกจากนี้ Carsten Brzeski หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ ING เชื่อว่าเยอรมนีเตรียมตัวได้ไม่ดีเท่ากับตอนที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2016 ในช่วงการดำรงตำแหน่งวาระแรกของทรัมป์นั้น เยอรมนีรับมือได้ดี จนเกิดเป็นคำกล่าวว่า “ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ 2.0” (การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วและน่าทึ่งของเยอรมนี) แต่ตอนนี้ เยอรมนีกลับกลายเป็นคนป่วยของยุโรป
การเลือกตั้งของทรัมป์ไม่น่าจะมีช่วงเวลาใดที่เลวร้ายไปกว่านี้อีกแล้ว เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์และภาคการผลิตที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ปัจจุบันก็กำลังประสบปัญหาอยู่แล้ว เยอรมนีจำเป็นต้องปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2025 และในปี 2026 เป็นประเด็นที่จะต้องพูดถึงด้วย
การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเยอรมันมากเพียงใดนั้น จากการคำนวณของสถาบันเศรษฐกิจเยอรมัน (IW) คาดการณ์ว่า ความเสียหายจะอยู่ระหว่าง 130 – 180 พันล้านยูโร ในระยะเวลา 4 ปีข้างหน้า ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 4 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจทั้งหมดของเยอรมนี ในขณะที่สถาบัน ifo ในนครมิวนิกคาดว่า การส่งออกของเยอรมนีไปยังสหรัฐฯ อาจลดลงประมาณร้อยละ 15 ทั้งนี้ สหภาพยุโรปอาจโต้กลับด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงเทียบเคียงกันสำหรับสินค้าจากสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อความสัมพันธ์ทางการค้า
Siegfried Russwurm ประธานสหพันธ์อุตสาหกรรมเยอรมัน (BDI) เตือนว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองฟากฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง สถานการณ์จะรุนแรงขึ้น และนโยบายกีดกันการค้าจะดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง ชัยชนะของทรัมป์ครั้งนี้ถือเป็นการเตือนให้เยอรมนีและยุโรปตื่นตัว จะต้องเร่งพัฒนากลยุทธ์ที่มีอยู่เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ความสามารถด้านการป้องกันประเทศ และรับมือกับจีนให้เร็วขึ้นมาก
โจ ไบเดน ได้ดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน ซึ่งไม่เพียงแต่ยังใช้มาตรการภาษีศุลกากร (ของรัฐบาลทรัมป์ 1) ต่อไป แต่ยังเพิ่มมาตรการภาษีศุลกากรในบางกรณีเมื่อไม่นานนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังสั่งห้ามการส่งออกเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า นโยบายกีดกันทางการค้ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นภายใต้การนำของทรัมป์ และต้องเตรียมตัวให้พร้อมจากการลด/ถอนความร่วมมือของสหรัฐฯ
การค้าระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของเยอรมนี สินค้าที่ผลิตในเยอรมนี โดยเฉพาะรถยนต์และเครื่องจักรเป็นที่ต้องการทั่วโลก และเยอรมนีเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในระบบการค้าโลกมาหลายปีแล้ว ในทางกลับกัน เยอรมนีเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบน้อยจึงต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยเฉพาะในด้านพลังงาน ดังนั้น เยอรมนีจึงเป็นหนึ่งในผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในโลกด้วย อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้ว เยอรมนีส่งออกสินค้ามากกว่านำเข้าอย่างมาก (เยอรมนีได้ดุลการค้าทุกปี) ซึ่งมักถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคู่ค้าบางราย ตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของเยอรมนี ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและฝรั่งเศส รวมถึงเนเธอร์แลนด์ จีน และโปแลนด์ โดยในปี 2023 มีมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ 170 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 10 ของการส่งออกทั้งหมด
****************************************************
ที่มา: tagesschau, statista
อ่านข่าวฉบับเต็ม : ชัยชนะของทรัมป์กับผลกระทบทางเศรษฐกิจของเยอรมนี