หน้าแรกTrade insight > ฉลากและ Smart Labelling ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

ฉลากและ Smart Labelling ในสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

  1. รูปแบบฉลากสินค้าและกฎระเบียบ

การระบุข้อมูลขั้นต่ำในฉลากของบรรจุภัณฑ์สินค้าอุปโภค-บริโภค เป็นข้อกำหนดที่มีเหมือนกันทั่วไปในสหภาพยุโรป ตามข้อบังคับ (Official Journal) เลขที่ (EU) 1169/2011[1] ว่าด้วยเรื่อง ข้อบังคับด้านการให้ข้อมูลด้านอาหารแก่ผู้บริโภค ( Ger: LMIV – die europäische Lebensmittel-Informationsverordnung) (Eng: the provision of food information to consumers) ซึ่งข้อกำหนดนี้ มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2014 (ข้อบังคับด้านฉลากโภชนาการตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2016) เป็นต้นมา โดยบังคับใช้เป็นกฎหมายขั้นพื้นฐานในทุกประเทศสมาชิก EU อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิกต่าง ๆ อาจจะสามารถเพิ่มเติมข้อกำหนดที่จะนำไปใช้ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้นได้ สำหรับข้อกำหนดในกฎหมายดังกล่าวได้ระบุข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้

  • ความสามารถในการอ่านข้อมูลที่จำเป็น

การพิมพ์ข้อมูลที่สำคัญ (หรือจำเป็น) จะต้องพิมพ์ให้สามารถอ่านได้ชัดเจนและหากเป็นไปได้ต้องติดข้อมูลนี้ไว้เป็นการถาวร ซึ่งข้อมูลในส่วนนี้ห้ามนำข้อมูลอื่นมาปิดทับ (ปิดบัง) หรือใช้ชิ้นส่วนของบรรจุภัณฑ์ที่ปิดทับหรือทำให้เกิดความไม่ชัดเจนหรือแยกออกจากกันหรือดึงความสนใจ อีกทั้งข้อมูลส่วนนี้ต้องมีขนาดขั้นต่ำ 1.2 มิลลิเมตร โดยใช้ตัว “x” เล็ก เป็นเกณฑ์ในการวัดขนาด สำหรับบรรจุภัณฑ์ที่มีขนาดเล็กกว่า 80 ตารางเซนติเมตร (ขนาดครึ่งหนึ่งของไปรษณียบัตรมาตรฐาน) ตัวอักษรของข้อมูลที่สำคัญ (หรือจำเป็น) จะต้องมีขนาดขั้นต่ำที่ 0.9 มิลลิเมตร

  • การกำหนดประเภทสินค้า

การระบุชื่ออาหาร ประเภท และคุณสมบัติพิเศษของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต้องมีความชัดเจน อย่างไรก็ตามในอาหารบางชนิด เช่น ช็อกโกแลต หรือชีส มีข้อกำหนดพิเศษในข้อบังคับเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รวมไปถึงการกำหนดชื่อพิเศษอื่น ๆ อย่างเช่น Spaetzle จะต้องระบุตามหนังสือว่าด้วยเรื่องอาหารเยอรมัน (das Deutsche Lebensmittelbuch หรืออยู่ใน www.dlmbk.de) แต่หากชื่ออาหารเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย จะต้องระบุชื่ออาหารในลักษณะที่สื่อความหมายอย่างชัดเจนเพื่อให้ทราบว่า ต้องการสื่อถึงอาหารประเภทใดอย่างชัดเจน

  • รายการส่วนผสม

โดยปกติแล้วก็ต้องระบุทุกส่วนผสมไว้บนบรรจุภัณฑ์ โดยจะเรียงจากสัดส่วน (ร้อยละ) ที่มากไปหาน้อย โดยในรายการส่วนผสมจะต้องระบุสารปรุงแต่งอาหาร และเครื่องปรุง ที่ใช้ไว้อย่างชัดเจน โดยสารปรุงแต่งจะต้องแสดงชื่อประเภทอาหาร และมีรหัสบ่งชี้ประเภท E ไว้ชัดเจนด้วย (E ย่อมาจากยุโรป เป็นรหัสที่ใช้บ่งชี้วัตถุเจือปนอาหารที่ใช้ในสหภาพยุโรป และสวิตเซอร์แลนด์ โดยวัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ต้องผ่านการรับรองจาก EFSA – หน่วยงานความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรป) โดยชื่อส่วนผสมจะต้องมีความชัดเจนว่ามีหน้าที่อะไรในอาหารนั้น เช่น สีผสมอาหาร ในส่วนส่วนผสมทางเคมี หรือ รหัสบ่งชี้ประเภท E จะต้องแสดงให้ชัดเจนว่า เป็นสารประเภทใดอย่างชัดเจน เช่น เคอร์คูมิน หรือ E 100 เช่นกัน

  • การติดฉลากสารก่อภูมิแพ้

จะต้องมีการระบุสารหรือผลิตภัณฑ์ที่สำคัญที่สุด 14 ชนิด ที่สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ หรือแพ้ได้ เช่น ถั่ว หรือถั่วเหลือง อย่างชัดเจน และยังต้องเน้นชัด แสดงให้เห็นถึง สารและผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในรายการส่วนผสมอีกด้วย โดยผ่านรูปแบบต่าง ๆ ในฉลาก เช่น ใช้อักษรอื่นแตกต่างออกไป รูปแบบอักษรต่างออกไป (เช่น ตัวหนา) หรือ สีพื้นหลังแตกต่างออกไป เป็นต้น

  • ปริมาณการบรรจุสุทธิ

การระบุน้ำหนักสุทธิ มีวัตถุประสงค์เพื่อแจ้งผู้บริโภคให้ทราบว่า จะได้รับสินค้าในปริมาณใด เช่น จำนวนชิ้น (ผลไม้) น้ำหนัก (กรัม หรือ กิโลกรัม) ปริมาณ (มิลลิลิตรหรือลิตร) เป็นต้น

  • อายุการเก็บรักษา

การระบุอายุสินค้าถือเป็นเรื่องสำคัญว่า จะสามารถเก็บรักษาสินค้าไว้ในรูปแบบใด และได้นานขนาดไหน และมีคุณสมบัติเฉพาะอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ ในส่วนสินค้าบริโภคที่เน่าเสียงานจะใช้ “ควรบริโภคก่อน” แทน “อายุการเก็บรักษา” ในสินค้าบริโภคจำนวนมาก แม้ว่าจะเกินกำหนดอายุการเก็บรักษาแล้วก็ยังสามารถบริโภคได้ แต่ในส่วนสินค้าบริโภคที่มีการระบุ “ควรบริโภคก่อน” หากเกินวันที่ระบุก็ควรที่จะกำจัดสินค้าเหล่านี้เสีย

  • ที่อยู่บริษัท

บนฉลากสินค้าบริโภคจะต้องมีการระบุ ชื่อ หรือบริษัท ที่รับผิดชอบต่อสินค้าดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน

  • การระบุแหล่งกำเนิด

ข้อบังคับด้านฉลากโภชนาการได้กำหนดว่า จะต้องระบุแหล่งกำเนิดให้ชัดเจน เพื่อผู้บริโภคจะสามารถอ่านหรือเห็นได้ง่าย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ข้อมูลนี้ร่วมในการตัดสินใจได้ง่ายขึ้น สำหรับสินค้าบริโภคนั้น จะบังคับให้ระบุประเทศต้นกำเนิดหรือแหล่งกำเนิดไว้ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดถึงประเทศต้นกำเนิดหรือแหล่งกำเนิด โดยมีการบังคับให้ระบุแหล่งกำเนิดของสินค้าจำพวกหมู แกะ แพะ และสัตว์ปีก ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ สด แช่เย็น หรือ แช่แข็ง โดยเฉพาะอีกด้วย นอกจากนี้ ตั้งแต่ 1 เมษายน 2020 เป็นต้นมา ส่วนผสมหลักของสินค้าบริโภคจะต้องมีการระบุให้ชัดเจน หากสิ่งนี้ไม่ได้สอดคล้องกับประเทศต้นกำเนิดหรือแหล่งกำเนิดสินค้า โดยสามารถดูได้จากรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน กกต. ดำเนินการตามระเบียบ (Commission Implementing Regulation) เลขที่ (EU) 2018/775[2]

  • คำแนะนำสำหรับการใช้งาน

หากการใช้งานสินค้าทำได้ยากก็ต้องมีคำแนะนำในการใช้งานที่ชัดเจนระบุไปด้วย อย่างเช่น ในซุปกึ่งสำเร็จรูป หรือ ส่วนผสมสำหรับทำขนมอบ เป็นต้น ซึ่งจะต้องระบุให้ทราบว่า ควรใช้งานสินค้านี้อย่างไร

  • ส่วนผสมแอลกอฮอล์

ในเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เกิน 1.2% อาทิเช่น ไวน์ เบียร์ เหล้า หรือไวน์ผลไม้ จะต้องระบุร้อยละความเข็มข้น (% vol.) ไว้ด้วย

  • การแสดงค่าโภชนาการ (Big 7)

ตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2016 สินค้าบริโภคที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์จะต้องมีการแจ้งค่าโภชนาการไว้บนฉลากสินค้าด้วย โดยปกติแล้ว จะจัดแสดงในรูปแบบตาราง และเพื่อที่จะสามารถเข้าใจง่ายค่าโภชนาการเหล่านี้จะต้องเทียบกับอัตรา 100 กรัม หรือ 100 มิลลิลิตร อย่างไรก็ตาม สามารถเพิ่มเติมข้อมูลเชิงบรรจุ หรือปริมาณการบริโภคต่อครั้ง (ชิ้น หรือ แผ่น) ได้เช่นกัน

โดยตารางค่าโภชนาการจะต้องมี 7 หัวข้อสำคัญ (Big 7) ได้แก่ (1) อัตราการเผาผลาญ (2) ไขมัน (3) ไขมันอิ่มตัว (4) คาร์โบไฮเดรต (5) น้ำตาล (6) โปรตีน และ (7) เกลือ สำหรับปริมาณวิตามินหรือสารอาหารอื่น ๆ (เส้นใย) จะต้องแสดงให้ชัดเจนด้วยหากมีการกล่าวบนบรรจุภัณฑ์ โดยในส่วน Big 7 นั้นจะระบุเป็นค่าร้อยละเที่ยบกับอัตรา 100 กรัม หรือ 100 มิลลิลิตร เป็นต้น หากต้องการที่จะแจ้งค่าเหล่านี้เชิงพลังงาน หรือเชิงปริมาณของ ไขมัน ไขมันอิ่มตัว น้ำตาล หรือ เกลือ อีกครั้งด้านหน้าบรรจุภัณฑ์ ข้อมูลเหล่านี้จะต้องเป็นการแสดงเปรียบเทียบกับปริมาณการบริโภค และเทียบกับอัตรา 100 กรัม หรือ 100 มิลลิลิตรเท่านั้น

  • อาหารเลียนแบบ

เพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคและป้องกันการหลอกลวง อาหารเลียนแบบ (อาทิ ไขมันจากพืชในรูปแบบชีสบนพิซซ่า) จะต้องแจ้งให้ทราบเป็นพิเศษ โดยหากมีการใช้อาหารเลียนแบบในการผลิตสินค้า จะต้องแจ้งถึงวัตถุที่ใช้อย่างชัดเจนติด ๆ กับชื่อสินค้า

  • น้ำมันพืชและไขมันที่ผ่านการกลั่นแล้ว

สำหรับน้ำมันพืชและไขมันที่ผ่านการกลั่นแล้ว จะต้องแจ้งแหล่งที่มาของวัตถุดิบให้ทราบ (น้ำมันปาล์ม หรือ ไขมันมะพร้าว) โดยหากมีการระบุในรายการส่วนผสมว่า “น้ำมันพืช” หรือ “ไขมันที่ผ่านการกลั่นแล้ว” ก็จะต้องแจ้งแหล่งที่มาของพืชดังกล่าวติดต่อกันด้วย (น้ำมันปาล์ม น้ำมันถัวเหลือง) หลังจากนั้นก็สามารถดำเนินการตามสัดส่วนปริมาณรายการส่วนผสมต่อได้

  • เนื้อสัตว์บกและสัตว์น้ำอัดก้อน

เนื้อสัตว์ที่จำหน่ายบางชนิดมองดูผิวเผินเหมือนกับเป็นเนื้อสัตว์แบบเป็นชิ้นใหญ่ ๆ แต่จริง ๆ แล้วเป็นการนำเนื้อชิ้นเล็ก ๆ จำนวนมากมาอัดรวมกันเป็นก้อน ซึ่งหากสินค้านี้มีวัตถุดิบดังกล่าวจะต้องแสดงให้ทราบอย่างชัดเจนว่าเป็น “เนื้อสัตว์บกและสัตว์น้ำอัดก้อน” ด้วย

  • วันที่แช่แข็ง

สำหรับเนื้อแช่แข็ง เนื้อแช่แข็งที่แปรรูปแล้ว และผลิตภัณฑ์ประมงที่ยังไม่แปรรูปแช่แข็ง จะต้องระบุวันที่แช่แข็ง ทำได้โดยการระบุ “แช่แข็งเมื่อ…” ตามด้วยวันที่แช่แข็งครั้งแรก

  • อาหารที่มีส่วนผสมคาเฟอีน

เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนในระดับสูงอย่าง เครื่องดื่มชูกำลัง จะต้องแสดงอย่างชัดเจนบนฉลากว่าไม่เหมาะสำหรับ เด็ก เยาวชน ผู้ตั้งครรภ์ และ ผู้ที่กำลังให้นมเด็ก ในส่วนสินค้าที่มีคำว่า กาแฟ หรือ ชา อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องติดป้ายเตือนข้างต้น ในส่วนสินค้าบริโภคที่ไม่ใช่เครื่องดื่ม แต่มีส่วนผสมของคาเฟอีน ก็ต้องมีคำเตือนเช่นกัน อีกทั้งยังต้องแจ้งปริมาณคาเฟอีนในสินค้าอีกด้วย

  • การติดฉลากสินค้าที่มีวัสดุนาโน

ส่วนผสมทั้งหมดที่มีอยู่ในอาหารที่ถูกผลิตขึ้นในรูปของวัสดุนาโนจะต้องระบุไว้อย่างชัดเจนในรายการส่วนผสม โดยการระบุส่วนผสมดังกล่าวต้องตามด้วยคำว่า “นาโน” ในวงเล็บ

  • การซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต

ในกรณีของอาหารบรรจุสำเร็จรูปที่จำหน่ายทางอินเทอร์เน็ต ข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมด รวมไปถึง“ควรบริโภคก่อน” แทน “อายุการเก็บรักษา” ให้ชัดเจนก่อนที่ผู้บริโภคจะเสร็จสินการสั่งซื้อสินค้า โดยจะต้องปรากฏบนเว็บไซต์ หรือจัดทำโดยวิธีอื่นใดที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นอย่างชัดเจน โดยผู้ผลิตสินค้าบริโภคจะต้องไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมใด ๆ จากผู้บริโภคสำหรับสิ่งนี้ อีกทั้งข้อมูลที่จำเป็นทั้งหมดจะต้องแสดงให้เห็นในช่วงเวลาที่จัดส่งสินค้าเรียบร้อยแล้วด้วย

  • ช่วงเวลาที่ละลาย

ในกรณีของอาหารที่แช่แข็งก่อนขาจำหน่าย และถูกนำมาละลายเพื่อจำหน่าย คำว่า “ถูกละลายแล้ว” จะถูกต้องเพิ่มเข้าไปในฉลากของอาหารก่อนบรรจุหีบห่อ

ข้อกำหนดนี้ใช้ไม่ได้กับ : (1) ส่วนผสมแช่แข็งที่ใช้ในการแปรรูปอาหารและรวมอยู่ในผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย (2) อาหารที่แช่แข็งมีขั้นตอนที่จำเป็นทางเทคโนโลยีในกระบวนการผลิต และ (3) อาหารที่ละลายแล้วไม่ส่งผลเสียต่อความปลอดภัยหรือคุณภาพของอาหาร

  1. กฎหมาย กฎ ระเบียบ และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายเพิ่มเติมของประเทศเยอรมนี

LMIV ถูกเพิ่มเติมในกฎหมายเยอรมนี ผ่าน “ข้อบังคับการดำเนินงานด้านข้อมูลอาหารแห่งชาติ (LMIDV – die nationale Lebensmittelinformations-Durchführungsverordnung)” ด้วย LMIDV จะใช้อำนาจกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย และอำนาจต่าง ๆ ของประเทศสมาชิก โดย

  • LMIDV กำหนดว่า อาหารที่จำหน่ายในเยอรมนีจะต้องมีฉลากเป็นภาษาเยอรมันเสมอ
  • ยังคงรักษาสถานภาพทางกฎหมายที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 1994 เกี่ยวกับเบียร์ต่อไป ซึ่งเบียร์ที่จำหน่ายในเยอรมนีจะต้องระบุรายการส่วนผสมให้ชัดเจน (ตามกฎข้อบังคับของยุโรป ไม่บังคับว่าจะต้องแจ้งรายการส่วนผสมสำหรับเครื่องดื่มที่มีปริมาณแอลกอฮอล์มากกว่า 1.2 เปอร์เซ็นต์โดยปริมาตร)
  • สำหรับอาหารที่บรรจุหีบห่อล่วงหน้าเพื่อจำหน่าย และอาหารในรูปแบบใช้งานบริการตนเอง องค์ประกอบการติดฉลากบางอย่างยังมีความจำเป็นแก่ผู้บริโภคขั้นสุดท้ายต่อไป
  • มีการควบคุมวิธีการติดฉลากสารก่อภูมิแพ้สำหรับอาหารที่ไม่ได้บรรจุหีบห่อล่วงหน้า (Lose Ware)
  • LMIDV ยังกำหนดบทลงโทษทางกฎหมายหากมีการละเมิด ตามข้อกำหนดของ LMIV และตามข้อบังคับ (Official Journal) เลขที่ (EU) 1337/2013
  • กฎหมาย (กฎหมายการติดฉลากอาหาร, กฎหมายการติดฉลากคุณค่าทางโภชนาการ และ VorlLMIEV) ที่เกินความจำเป็นได้ถูกยกเลิกเมื่อ LMIDV มีผลบังคับใช้ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2017 เป็นต้นมา
  • นอกเหนือจากตารางคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังสามารถแสดงอัตราการเผาผลาญ และปริมาณสารอาหารในรูปแบบอื่นตามข้อ 35 ย่อหน้าที่ 1 ของ LMIV ได้ โดยรูปแบบการนำเสนอนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการตามข้อกำหนดบางประการ โดยการใช้รูปแบบการติดฉลากดังกล่าวนี้เป็นไปโดยสมัครใจและสามารถได้รับการแนะนำจากประเทศสมาชิกได้

การเพิ่มเติมของฉลากโภชนาการสำหรับอาหารแปรรูปและอาหารบรรจุหีบห่อได้รับความเห็นชอบในสัญญาเพื่อการจัดตั้งรัฐบาล (Koalitionsvertrag) ฉบับที่ 19 ของรัฐสภาเยอรมัน ซึ่งรูปแบบที่เหมาะสมสำหรับการติดฉลากโภชนาการเพิ่มเติมนี้ ได้ถูกพัฒนาผ่านความร่วมมือกับ สมาคมอาหาร และผู้บริโภค อีกทั้งยังคำนึงถึงผลประโยชน์พิเศษของบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางแล้ว สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ Extended Nutrition Labelling: Nutri-Score[3] (ภาษาเยอรมัน)

  1. ทิศทางและแนวโน้มการจัดการฉลากอัจฉริยะในเยอรมนี

การติดฉลากทุกอย่างได้ถูกระบุ และกำหนดไว้ใน LMIV และ LMIDV แล้ว ซึ่งหากจะมีการใช้งานฉลากอัจฉริยะเพิ่มเติมก็สามารถปฏิบัติได้ตาม ตามข้อ 35 ย่อหน้าที่ 1 ของ LMIV ได้ โดยรูปแบบการนำเสนอนี้จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อดำเนินการตามข้อกำหนดบางประการ ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องทราบถึงข้อกำหนดบางประการนี้ให้ชัดเจน โดยฉลากอัจฉริยะในเยอรมนีในเวลานี้ ยังเป็นเพียงเรื่องสมัครใจและสามารถได้รับการแนะนำจากประเทศสมาชิกได้

  1. แนวทางการใช้ฉลากอัจฉริยะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดในเยอรมนี

โดยการติดฉลากอัจฉริยะได้รับการออกแบบให้มีความใกล้ชิดกับลักษณะทางกายภาพของผลิตภัณฑ์ แน่นอนที่ฉลากอัจฉริยะจะสามารถให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้ซื้อออนไลน์ และออฟไลน์ การติดฉลากอัจฉริยะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ด้วยตนเอง ณ จุดขายผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์แสดงผลแบบโต้ตอบ โดยหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดในด้านนี้ในปัจจุบันก็คือ (1) QR code ซึ่งพบเห็นการใช้งานบนบรรจุภัณฑ์ของผลิตภัณฑ์บางประเภท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในไวน์และสุรา เพื่อวัตถุประสงค์ทางการตลาดเป็นหลัก รหัส QR code จะถูกพิมพ์อยู่บนบรรจุภัณฑ์ซึ่งผู้ซื้อในร้านขายของจะสามารถสแกน QR code โดยใช้แอพสแกนผ่านสมาร์ทโฟน รหัสนี้จะนำผู้ใช้ไปยังหน้าเว็บหรือหน้าจอแอปที่มี Smart Label ของผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีอีกเทคโนโลยีหนึ่ง และอาจมีแนวโน้มที่ดีกว่าคือ  (2) Near Field Communication (NFC) โดยการแตะสมาร์ทโฟนง่าย ๆ บนผลิตภัณฑ์ที่มีการฝัง RFID ซึ่งโดยปกติจะอยู่ที่ระยะห่าง 10 ซม. หรือน้อยกว่า จะทริกเกอร์การเข้าถึงฉลากอัจฉริยะบนหน้าจอ โซลูชันนี้มีแนวโน้มที่จะกำหนดข้อจำกัดในการออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือความน่าสนใจของชั้นวางน้อยกว่ารหัส QR เนื่องจากสามารถซ่อนการเข้ารหัส NFC ไว้ภายในบรรจุภัณฑ์ได้ เทคโนโลยีนี้มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในระดับการผลิตแล้ว แต่ยังไม่มีมากในการกระจายไปยังผู้ใช้ปลายทางมากนัก

โดยในตลาดเยอรมนีแทบจะไม่มีทั้ง 2 เทคโนโลยีให้ใช้งานมากนักเพราะผู้บริโภคยังคงความอนุรักษ์นิยมไว้มาก อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับข้อมูลส่วนบุคคลสูง และไม่ทำการสแกนหรือรับทริกเกอร์อะไรง่าย ๆ อีกทั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ตในประเทศเยอรมันยังเรียกได้ว่าล้าหลังอยู่ ในบางห้างร้านค้าที่อยู่ในชั้นล่างหรือชั้นใต้ดินก็จะไม่สามารถรับสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งกว่าจะมีความนิยมใช้ฉลากอัจฉริยะอย่างแพร่หลายในประเทศเยอรมนีก็น่าจะต้องใช้เวลาอีกสักระยะ จึงจะสามารใช้ได้จริงในอนาคต

[1] https://eur-lex.europa.eu/legal-content/DE/TXT/?uri=celex%3A32011R1169

[2] https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/?uri=CELEX%3A32018R0775&qid=1671288694977

[3] https://www.bmel.de/DE/themen/ernaehrung/lebensmittel-kennzeichnung/freiwillige-angaben-und-label/nutri-score/naehrwertkennzeichnungs-modelle-nutriscore.html

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login