หน้าแรกTrade insight > ‘จุรินทร์’จับมือเอกชนปั้นยอดส่งออกไก่ จ่อบุก27ประเทศช่วยเกษตรกรฝ่าวิกฤตโควิด

‘จุรินทร์’จับมือเอกชนปั้นยอดส่งออกไก่ จ่อบุก27ประเทศช่วยเกษตรกรฝ่าวิกฤตโควิด

'จุรินทร์'จับมือเอกชนปั้นยอดส่งออกไก่ จ่อบุก27ประเทศช่วยเกษตรกรฝ่าวิกฤตโควิด

“จุรินทร์”จับมือเอกชนปั้นยอดส่งออกไก่ไตรมาสแรก+7.21% เตรียมบุกตลาดต่อ27ประเทศ ช่วยเกษตรกรฝ่าวิกฤตโควิด-19

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ที่ห้องประชุมบุรฉัตรไชยากร อาคารสํานักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยปลัดกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหาร ประชุมหารือกับกลุ่มผู้ผลิตไก่สด/แปรรูป นำโดยสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย โดยการการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างภาครัฐ ผู้ผลิตผู้ส่งออก และเกษตรกร เพื่อประเมินสถานการณ์การผลิตและการส่งออก กำหนดแนวทางการบริหารการตลาด และการผลักดันการส่งออกสินค้าไก่ของไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลการบริโภคในประเทศให้เพียงพอ ตลอดจนสนับสนุนการส่งออกให้สอดคล้องกับการผลิต โดยมีผู้เข้าร่วมหารือในวันนี้ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อ สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) บริษัท สหฟาร์ม จำกัด บริษัท Cargil บริษัท GFPT เป็นต้น

หลังการประชุม รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไก่เนื้อทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นในส่วนของผู้ผลิตแปรรูปและผู้ส่งออกตามแนวทางที่กระทรวงพาณิชย์ต้องการที่จะจับมือร่วมกับเกษตรกรและภาคเอกชนในการเดินหน้าร่วมกัน “พลิกโควิดเป็นโอกาส” เพื่อหาลู่ทางในการแก้ไขดูทางปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับภาคส่วนต่างๆและเตรียมการสำหรับอนาคตเมื่อโควิดหมดสิ้นไปเราจะได้จับมือกันเดินเพื่อทำรายได้กับประเทศให้ได้มากที่สุด และผลการผลิตของประเทศไทยรวมกันปีละประมาณ 2,860,000 ตันต่อปี ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับ 8 ของโลกแต่เราสามารถส่งออกได้เป็นลำดับที่ 4 ของโลก สัดส่วนการผลิต 100% นั้น แบ่งเป็นเพื่อการบริโภคในประเทศร้อยละ 60 และเพื่อการส่งออกร้อยละ 40

สำหรับปี 2562 ที่ผ่านมาเราสามารถ เราส่งออกได้ 900,000 ตัน เป็นมูลราคาประมาณ 109,000 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกของปี 2563 สามารถส่งออกได้ 230,000 ตันเป็นมูลราคา 26,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ในช่วงไตรมาสแรกร้อยละ 7.21 ตลาดสำคัญของไทย เช่น ญี่ปุ่น อังกฤษ เกาหลี เป็นต้น และสำหรับทิศทางการส่งออกที่ได้มีการหารือกันในวันนี้ ความเห็นตรงกันว่า ประการที่หนึ่ง เราพยายามที่จะช่วยปรับลดต้นทุนการผลิตไก่เนื้อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งต้องมีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ส่งออกและเกษตรกร รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯร่วมกัน ส่วนคู่แข่งสำคัญคือประเทศบราซิลซึ่งเป็นผู้ที่ครองตลาดลำดับต้นของโลกโดยในตลาดโลกนั้นมีคู่แข่งรายใหม่เพิ่มเติมอีก เช่น ประเทศยูเครน เป็นต้น ซึ่งต้นทุนจะต่ำกว่าเราประมาณ 1ใน3 เพราะต้นทุน(การเลี้ยงไก่)ของเราประมาณ30 แต่ของประเทศเขาประมาณ 20 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ทิศทางที่เราจะเดินไปด้วยกันจะแยกตลาดส่งออกตลาดไก่เนื้อของไทยเป็น 2 ตาราง คือ ตารางที่หนึ่งก็คือตลาดเดิมที่เรามีอยู่เราจะรักษาไว้และขยายตลาดเดิมออกมาให้ได้มากที่สุด ส่วนตลาดเดิมนั้นมีด้วยกัน 8 แห่ง ที่เราส่งออกไปที่สำคัญประกอบด้วย ญี่ปุ่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง แคนาดา เกาหลีใต้ และสิงคโปร์

แนวทางที่สอง นอกจากรักษาและขยายตลาดเดิมแล้วจะเร่งดำเนินการเปิดตลาดใหม่ที่เรายังมีสัดส่วนการตลาดหรือมาร์เก็ตแชร์ต่ำอยู่ และประเทศเรานำเข้ามาจากประเทศอื่นในสัดส่วนที่สูงกว่าเรามากตลาดใหม่ที่เราอยากทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนมีรายการ 19 ประเทศมประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา เบลเยียม เดนมาร์ก ออสเตรีย สวีเดน อังกฤษ เยอรมัน ฮ่องกง ซาอุดิอาระเบีย จีนฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ UAE ฟิลิปินส์ และไต้หวัน เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับสถานการณ์ที่ภาคเอกชนขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยดำเนินการในช่วงระยะเวลาปัจจุบันและใกล้ๆนี้ คือ ต้องการเห็นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปและอังกฤษเกิดขึ้นเร็ว ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ในการดำเนินการอยู่และเริ่มมีการเจรจามาโดยลำดับ

รายงานสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปริมาณไก่และผลิตภัณฑ์เพียงพอสำหรับคนไทย และช่วงนี้ยังเป็นโอกาสเร่งทำตลาดส่งออกเพื่อชิงส่วนแบ่งจากคู่แข่งในภาวะวิกฤติโดยไม่กระทบต่อการบริโภคในประเทศ โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตไก่เนื้ออันดับที่ 8 ของโลก มีการผลิตประมาณปีละ 3.3 ล้านตัน และมีปริมาณส่วนเกินเพื่อส่งออกได้เกือบ 1 ล้านตันต่อปี ขณะนี้คู่แข่งสำคัญของไทย คือ บราซิล กำลังประสบปัญหาจากการรับมือโรคโควิด ทำให้การส่งออกชะลอไป ในขณะที่ไทยสามารถดูแลการผลิตอุตสาหกรรมอาหารได้อย่างดี จึงมั่นใจว่า ประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤติโควิดให้เป็นโอกาสการส่งออกได้ โดยกระทรวงพาณิชย์จะชูโรงภาพลักษณ์ มาตรฐาน และความเป็นเลิศด้านอาหารของไทย ผ่านเครือข่ายทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการอาหารในยามฉุกเฉิน และหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่บางประเทศคู่ค้าอาจประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ

“ขณะที่วิกฤติไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการส่งออกไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูปไม่มากนัก และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัญหาเฉพาะหน้าจะเป็นเรื่องของการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่อาจจะติดขัดในบางจุด หรือมีต้นทุนสูงขึ้นจากมาตรการดูแลความปลอดภัย ซึ่งนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จะหาแนวทางดูแลช่วยเหลือและปลดล็อคให้ผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคทุกประเทศเพิ่มการให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางอาหารและมาตรฐานความปลอดภัยสุขอนามัยมากขึ้น เป็นแต้มต่อกับการส่งออกไทยที่มีชื่อเสียงเป็นครัวโลกมายาวนาน อีกทั้งสินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดี ผ่านการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นที่ยอมรับระดับสากล ทำให้ลูกค้ามั่นใจถึงความปลอดภัยในทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ฟาร์มถึงโรงงาน และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้สินค้าไก่ไทยชิงส่วนแบ่งในตลาดโลกในช่วงนี้ได้ โดยได้สั่งการเครือข่ายทูตพาณิชย์ทั่วโลกให้ทำหน้าที่เซลล์แมน หาช่องทางการตลาดเพิ่มเติมและรายงานต่อกระทรวงเป็นระยะ เพื่อผลักดันการส่งออกอย่างเป็นรูปธรรม” นายจุรินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รายงานจากคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า มุมมองนายจุรินทร์นั้นเห็นว่าอุตสาหกรรมไก่ไม่ได้มีแต่ผู้ส่งออกรายใหญ่เท่านั้น แต่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เนื้อมากกว่า 32,000 ราย หรือประมาณ 5,700 ครัวเรือนทั่วประเทศ กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ เช่น ลพบุรี นครราชสีมา ชลบุรี กาญจนบุรี และสระบุรี เป็นต้น ซึ่งนอกจากไก่เนื้อแล้ว ก็ยังมีเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่อีกมากกว่า 130,000 ราย มีครัวเรือนในส่วนของไก่ไข่ 4,400 ครัวเรือนในหลายจังหวัด เช่น ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี นครปฐม อยุธยา เป็นต้น ผลิตไข่ได้ประมาณปีละประมาณ 16,000 ล้านฟอง จึงถือว่า ไก่เป็นอุตสาหกรรมที่มีเกษตรกรต้นน้ำจำนวนมาก หากสามารถทั้งขยายการส่งออก และการบริโภคในประเทศได้ ก็จะเป็นการสนับสนุนเกษตรกรฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน

บทความที่เกี่ยวข้อง

Login