1 กุมภาพันธ์ 2568 ประธานาธิบดีทรัมป์มีคำสั่งให้เรียกเก็บภาษี 25% สินค้าที่นำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา รวมทั้งภาษี 10% สินค้านำเข้าจากจีน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568
3 มีนาคม 2568 ทรัมป์ได้เพิ่มอัตราภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนเพิ่มอีก 10% เป็น 20% และประกาศเพิ่มภาษี 25% สำหรับสินค้าที่นำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโก โดยการเพิ่มภาษีครั้งนี้อ้างอิงจากพระราชบัญญัติอำนาจเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศ (IEEPA)
โดยพระราชบัญญัติอำนาจเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศปี 1977 หรือ IEEPA ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีสหรัฐในการควบคุมธุรกรรมทางการเงินต่างๆ เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติ ตามกฎหมายนี้ ประธานาธิบดีสามารถดำเนินการทางเศรษฐกิจหลากหลายรูปแบบ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่ไม่ปกติและร้ายแรง ซึ่งมีแหล่งที่มาจากภายนอกสหรัฐฯ ทั้งหมดหรือเป็นส่วนสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ นโยบายต่างประเทศ หรือเศรษฐกิจ ของประเทศ
การตอบโต้จากประเทศจีน
กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศจีนได้แสดงท่าทีอย่างรวดเร็ว จากการประกาศเพิ่มภาษีจากสหรัฐ โดยประณามการใช้เครื่องมือภาษีของสหรัฐฯ อย่างไม่เหมาะสม ซึ่งทำลายกฎระเบียบการค้าแบบพหุภาคี และได้ประกาศมาตรการตอบโต้ที่เท่าเทียม
- จีนปฏิเสธข้อกล่าวหายาเสพติดฟินทานิล ซึ่งจีนเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายห้ามยาเสพติดที่เข้มงวดที่สุดในโลก และความร่วมมือในการปราบปรามยาเสพติดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ มีผลสำเร็จอย่างมาก การโยนความผิดให้จีนของสหรัฐฯ นอกจากเป็นการไม่สนใจข้อเท็จจริง และมิได้มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหา ยังจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความร่วมมือระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในการควบคุมยาเสพติด
- ภาษีขาเข้าของสหรัฐฯ ขัดต่อกฎขององค์กรการค้าโลก (WTO) และทำให้เสถียรภาพของห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั่วโลกเสียหาย โดยจีนมีการตอบโต้ด้วยการเพิ่มภาษีสินค้าที่มาจากสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม เป็นต้นไป ดังนี้
- จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 15% จากเนื้อไก่ ข้าวสาลี ข้าวโพด และฝ้าย
- จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม 10% จากถั่วเหลือง เนื้อหมู เนื้อวัว ผลิตภัณฑ์จากทะเล ผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์นม
- การเก็บภาษีเพิ่มเติมจากสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ตามรายการในภาคผนวก โดยจะเก็บภาษีเพิ่มเติมตามอัตราภาษีที่ใช้ในปัจจุบัน นโยบายการเพิ่มภาษีและการลดภาษีที่มีในปัจจุบันจะยังคงเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และภาษีที่เพิ่มขึ้นครั้งนี้จะไม่ได้รับการลดหย่อน
- สินค้าที่ได้ออกจากแหล่งขนส่งก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2025 และนำเข้าระหว่างวันที่ 10 มีนาคม 2025 ถึง 12 เมษายน 2025 จะไม่ถูกเก็บภาษีเพิ่มเติมตามที่ระบุในประกาศนี้
ที่มา : กระทรวงการคลัง สาธารณรัฐประชาชนจีน
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน
ผู้ส่งออกของจีนเผชิญกับแรงกดดันจากการเข้าถึงตลาดสหรัฐฯที่ลดลง อุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะภาคการผลิตต้องเผชิญกับความต้องการสินค้าที่ลดลง สถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การผลิต และความพยายามในการขยายตลาดใหม่ที่อยู่นอกสหรัฐฯ
ภาคเกษตรกรรมของจีนก็ต้องปรับตัวเช่นกัน เนื่องจากภาษีศุลกากรส่งผลให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าจากสหรัฐฯ น้อยลง ซึ่งอาจกระตุ้นการเติบโตของภาคการเกษตรภายในประเทศ
อุตสาหกรรมเทคโนโลยีของจีนประสบความท้าทายในการจำหน่ายสินค้าไปยังสหรัฐฯ ทำให้ต้องมุ่งพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบสนองตลาดโลกอื่นๆ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้อาจส่งผลต่อผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่วางจำหน่ายในแต่ละภูมิภาค
ผลกระทบต่อสหรัฐฯ
- ธุรกิจและผู้บริโภคในสหรัฐฯ อาจต้องแบกรับภาระต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น และกดดันให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น
– สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ Peterson Institute for International Economics ระบุว่า 90% ของต้นทุนจากการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน ถูกแบกรับโดยบริษัทและผู้บริโภคในสหรัฐฯ ขณะที่ต้นทุนการจัดซื้อวัตถุดิบสำหรับภาคการผลิตในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น 13%
– บริษัทสหรัฐฯ ที่พึ่งพาห่วงโซ่อุปทานจากจีน เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเฟอร์นิเจอร์ อาจจำเป็นต้องขึ้นราคาสินค้าหรือเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งจะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น
- ระบบการค้าทั่วโลก คลื่นลูกใหม่ของกระแสปกป้องการค้า
– แคนาดาและเม็กซิโกได้ประกาศมาตรการภาษีตอบโต้สหรัฐฯแล้ว โดยครอบคลุมสินค้ามูลค่ากว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่สหภาพยุโรปและอินเดียอาจดำเนินมาตรการลักษณะเดียวกัน
– การดำเนินมาตรการขึ้นภาษีฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ทำให้กลไกการค้าพหุภาคีอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการปรับโครงสร้างใหม่ของห่วงโซ่อุปทานโลก
ความเคลื่อนไหวของแบรนด์จากการเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน
วัตถุประสงค์ของการขึ้นภาษีของทรัมป์คือการทำให้ ภาคการผลิตกลับคืนสู่สหรัฐฯ ดังนั้น ผู้ส่งออกและบริษัทอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนบางรายจึงมีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับแนวทางของทรัมป์ เพื่อรับมือกับวิกฤติภาษีครั้งนี้ ตัวอย่างเช่น Casetify ผู้ผลิตเคสโทรศัพท์มือถือจากฮ่องกง ได้เริ่มตั้งโรงงานพิมพ์และผลิตในสหรัฐฯ ตั้งแต่ปีที่2024 แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเปิดเผยว่า หลังจากที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษี Casetify ได้ดำเนินการอย่างรวดเร็วโดยการขนส่งเคสโทรศัพท์เปล่าไปยังสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก แล้วจึงดำเนินกระบวนการพิมพ์และผลิต ที่สหรัฐฯ
นอกจากนี้ ปัจจุบันโรงงานในจีนผลิตของเล่นเพื่อจำหน่ายในสหรัฐฯ ถึง 77% ตามข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมของเล่น (Toy Association) ทำให้บริษัทต่างๆ เช่น Mattel ผู้ผลิตตุ๊กตาบาร์บี้ ต้องพิจารณาขึ้นราคาเพื่อชดเชยภาษีสะสม 20% ที่เรียกเก็บจากสินค้าจีน Mattel ยังมีแผนลดการพึ่งพาฐานการผลิตในภูมิภาคใดภูมิภาคหนึ่ง และวางแผนปิดโรงงานในจีนให้เหลือเพียงแห่งเดียวภายในสิ้นปี 2025
อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของสำนักข่าวออนไลน์ egainnews (蓝海亿观网) เนื่องจากทรัมป์ไม่ได้ขึ้นภาษีเฉพาะกับจีนเท่านั้น แต่ยังเพิ่มภาษีกับแคนาดาและเม็กซิโกด้วย ดังนั้นจึงไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเมื่อใดประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะถูกขึ้นภาษีเช่นกัน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลของทรัมป์ก็เริ่มเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้านำเข้า หากพบว่ามีพฤติกรรมการนำเข้าที่มีการล้างแหล่งกำเนิดสินค้า หรือนำเข้าโดยอ้อมผ่านประเทศที่สาม อาจมีบทลงโทษที่รุนแรงตามมา นอกจากนี้ ผู้ส่งออกบางรายกำลังพิจารณาย้ายฐานการผลิตไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และภูมิภาคอื่นๆ แล้วส่งออกไปยังสหรัฐฯ
นอกจากสหภาพยุโรปแล้ว มาตรการของทรัมป์คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศอย่างอินเดีย เวียดนาม และไทย ซึ่งมีอัตราภาษีที่ค่อนข้างสูงและพึ่งพาสหรัฐฯ ในฐานะตลาดส่งออกสำคัญ
ทรัมป์ลงนามในบันทึกข้อตกลงก่อนการประชุมกับนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ของอินเดีย ซึ่งได้ดำเนินการลดภาษีสินค้าสำคัญบางรายการไปแล้ว เช่น รถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ทรัมป์เคยหยิบยกขึ้นมาพูดถึงในสมัยแรกของเขา อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังคงยืนยันที่จะเรียกเก็บภาษีตอบโต้กับสินค้านำเข้าจากอินเดีย ส่วนไทยและเวียดนามก็ออกมาระบุว่ากำลังทบทวนแนวทางการค้ากับสหรัฐฯ เช่นกัน
ในอนาคตคาดว่าจะเกิดการย้ายฐานผลิตจากจีนไปสู่ประเทศอื่นๆ
การเลือกตั้งของทรัมป์กระตุ้นให้โรงงานย้ายฐานการผลิตไปไทย เวียดนาม และมาเลเซีย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีสหรัฐฯ ที่กำลังจะมาถึง บริษัทต่างๆ กำลังเร่งย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากคาดการณ์ว่ารัฐบาลของโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจากเดิม 7.5-25% เป็น 60% ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อศักยภาพการส่งออกของจีน ขณะที่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากสถานการณ์นี้
รายงานจากสำนักข่าว Thai Times ระบุว่า ผู้พัฒนาเขตอุตสาหกรรม เช่น WHA Group ของไทยกล่าวว่าความต้องการจากธุรกิจจีนที่วางแผนย้ายฐานการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก จรีพร จารุกรสกุล ซีอีโอของ WHA ระบุว่า มีความสนใจและการเตรียมการรองรับโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ทั้งในไทยและเวียดนามเพิ่มขึ้น ส่วน Amata Corp ซึ่งเป็นผู้พัฒนาเขตอุตสาหกรรมรายใหญ่อีกราย เปิดเผยว่า ในปีนี้โรงงานใหม่ 90 แห่งที่เปิดตัวในเขตอุตสาหกรรมของบริษัท สองในสามเป็นโรงงานที่ย้ายมาจากจีน
ประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ชั้นนำ ดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนถึง 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขณะที่มาเลเซียและเวียดนามก็กำลังเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยผู้ผลิตในมาเลเซียมุ่งขยายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ส่วนเวียดนามกำลังเตรียมรับมือกับความผันผวนทางการค้าภายใต้นโยบายของทรัมป์
ความเห็นสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน: มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ส่งผลให้จีนต้องเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจและต้องเร่งปรับตัว ขณะที่ไทยมีโอกาสจากการย้ายฐานการผลิต แต่ต้องเฝ้าระวังความเป็นไปได้ของมาตรการภาษีจากสหรัฐฯ ในอนาคต ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ความร่วมมือทางการค้ากับตลาดอื่นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ
https://mp.weixin.qq.com/s/_FERS0GyBMWbH5YcCee-BQ
https://mp.weixin.qq.com/s/WSclxs0KM1CYu2qOBFBSBw
https://www.bbc.com/news/articles/c360lle165ro
https://thaitimes.com/firms-relocating-manufacturing-from-china-to-southeast-asia-in-response-to-trump-s-tariff-threat
https://www.usnews.com/news/top-news/articles/2025-03-13/exclusive-major-us-toymaker-speeds-up-plan-to-move-manufacturing-out-of-china
https://gss.mof.gov.cn/gzdt/zhengcefabu/202503/t20250304_3959228.htm
https://www.globaltimes.cn/page/202502/1329256.shtml
เรียบเรียงโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ เมืองเซี่ยเหมิน
14 มีนาคม 2568
อ่านข่าวฉบับเต็ม : จีนโต้กลับขึ้นภาษีสหรัฐ โรงงานในจีนเตรียมย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น