หน้าแรกTrade insightทุเรียน > จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

เมื่อวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567 ในระหว่างการเยือนมาเลเซียครั้งสำคัญของนายกรัฐมนตรีจีน หลี่ เฉียง ทั้งสองประเทศได้จัดการประชุมและมีการแถลงว่าผู้นำของทั้งสองประเทศได้ทำการลงนามในข้อตกลงหลายฉบับ รวมถึงต่ออายุโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2556 ออกไปอีก 5 ปี ไปจนถึงปี 2571 เพื่อขยายความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การผลิต โครงสร้างพื้นฐาน บริการทางการเงิน รวมถึงภาคเกษตรกรรมที่จีนได้ “อนุมัติการนำเข้าทุเรียนสด”จากมาเลเซียแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 หน่วยงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ประกาศพิธีสาร  ว่าด้วย “ข้อกำหนดการตรวจสอบกักกันโรคและศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าทุเรียนจากมาเลเซีย”    ที่ลงนามระหว่างหน่วยงาน GACC และกระทรวงเกษตรและความมั่นคงด้านอาหารของมาเลเซีย โดยระบุว่าจีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากมาเลเซียอย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป โดยอนุญาตให้ผ่านเข้าด่านที่ได้รับอนุญาตนำเข้าผลไม้ของประเทศจีน ทั้งทางบก เรือ และอากาศ

ก่อนหน้านี้ จีนอนุญาตให้มาเลเซียจัดส่งเฉพาะทุเรียนแช่แข็ง (Frozen Durian) และผลิตภัณฑ์แปรรูปไปยังจีนเท่านั้น โดยปีที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกสินค้าชนิดดังกล่าวมีมูลค่าสูงถึง 1.19 พันล้านริงกิต (ประมาณ 9,200 ล้านบาท) ทั้งนี้ จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของมาเลเซียนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โดยในปี 2566 มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 98.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 3.6 ล้านล้านบาท)

ทั้งนี้ มาเลเซียเป็นประเทศที่ 4 ที่ได้รับอนุญาตนำเข้าทุเรียนสดของจีนต่อจากประเทศไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

 การเปรียบเทียบสถานการณ์ทุเรียนในตลาดจีนระหว่าง 4 ประเทศ

ปีที่ผ่านมาจีนนำเข้าทุเรียนสดมีปริมาณมากที่สุด โดยนำเข้าทุเรียนสดจากไทย ปริมาณ 928,948 ตัน มูลค่า 4,569 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 65.15 ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของจีน สำหรับการนำเข้าทุเรียนจากประเทศเวียดนาม มีปริมาณ 493,147 ตัน มูลค่า 2,138 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 34.59 ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมด สำหรับการนำเข้าทุเรียนสดจากประเทศฟิลิปปินส์ มีปริมาณ 3,763 ตัน มูลค่าประมาณ 13 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.26 ของทุเรียนนำเข้าทั้งหมด

  • เวียดนาม

วันที่ 27 กรกฎาคม 2565 GACC ประกาศอนุญาตการนำเข้าทุเรียนจากเวียดนามอย่างเป็นทางการ และวันที่ 19 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ทุเรียนเวียดนามมูลค่า 5.124 แสนหยวนประมาณ 2.5 ล้านบาท น้ำหนัก 18.24 ตัน ได้ผ่านเข้าทางด่านโหย่วอี้กวน เมืองผิงเสียง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง นับเป็นทุเรียนล็อตแรกของเวียดนามที่ได้นำเข้าสู่ประเทศจีนอย่างเป็นทางการ ในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกทุเรียนเข้าสู่ตลาดจีนของเวียดนามมีคิดส่วนคิดเป็นร้อยละ 53 ของไทย

  • ฟิลิปปินส์

วันที่ 7 มกราคม 2566 หน่วยงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ประกาศ “ข้อกำหนดการตรวจสอบกักกันโรคและศัตรูพืชสำหรับการนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์” อนุญาตให้นำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ประกาศเป็นต้นไป หลังจากทุเรียนฟิลิปปินส์เข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการ ฟิลิปปินส์จะเป็นคู่แข่งรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นของไทยในตลาดจีน โดยปัจจุบันทุเรียนฟิลิปปินส์ยังมีจำนวนไม่มากในตลาดจีน และยังไม่ค่อยเป็นนิยมในตลาด

(ตัวเลขจาก GACC จีน)

จากตัวเลขการนำเข้าแสดงว่า หลังจากประเทศเวียดนามและฟิลิปปินส์ได้ส่งออกทุเรียนสดเข้าสู่ประเทศจีน ตลาดทุเรียนของจีนมีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่งเสริมให้ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะทุเรียนของเวียดนาม

จากข่าวประชาสัมพันธ์ของมาเลเซีย คาดการณ์ว่าทุเรียนสดมาเลเซียล็อดแรกที่จะส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนจะอยู่ในเดือนกันยายนของปี 2567 โดยขนส่งผ่านทางอากาศ ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง หลังจากมาเลเซียได้ส่งออกทุเรียนสดเข้าสู่ตลาดจีนอย่างเป็นทางการ จะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคจีนในการสั่งซื้อทุเรียนสดมากอีกช่องทาง อันจะเป็นคู่แข่งอีกรายที่เพิ่มขึ้นของทุเรียนไทยในตลาดจีน

ความเห็น สคต. ณ เมืองหนานหนิง : หลังจาก GACC ประกาศอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดอย่างเป็นทางการ ข่าวนี้ทำให้ผู้บริโภคจีนจำนวนมากตื่นเด้นและให้ความเห็นผ่านสื่อโซเชียลมีเดียว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่ง หวังว่าจะมีโอกาสรับประทานทุเรียนสดของมาเลเซียในราคาที่ไม่สูงและสามารถจับต้องได้ (ที่ผ่านมาราคาจำหน่ายทุเรียนแช่แข็งของมาเลเซียในตลาดจีนค่อนข้างสูง ราคาอยู่ที่ประมาณ 300-500 หยวนต่อลูก)

ทั้งนี้ คู่แข่งที่มีศักยภาพของทุเรียนไทยในตลาดจีนจะเพิ่มเป็น 2 ราย จากเวียดนาม และมาเลเซีย  สำหรับทุเรียนเวียดนามมีความได้เปรียบในเรื่องการขนส่ง เนื่องจากระยะทางใกล้กว่า ทำให้ต้นทุนในการขนส่งต่ำกว่า และคุณภาพของทุเรียนที่สดใหม่กว่า ปัจจุบันทุเรียนเวียดนามอยู่ในช่วงเริ่มส่งเข้ามายังจีน และการส่งออกเข้าตลาดจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ราคาจำหน่ายใกล้เคียงกับทุเรียนไทยในตลาด แต่ทุเรียนไทยได้รับความนิยม และมีชื่อเสียงมากกว่า โดยที่ทุเรียนไทยนั้นมีจุดแข็งที่รสชาติอร่อย เนื้อละเอียด หวานมัน มีคุณภาพมาตรฐาน มั่นใจได้ว่าทุเรียนไทยมีคุณภาพและผ่านข้อบังคับ กฎระเบียบต่างๆ ของจีน และที่ผ่านมานายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มีแผนการบริหารจัดการเรื่องทุเรียนตั้งแต่ต้นฤดูก่อนการเก็บเกี่ยว โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมคุณภาพ ป้องกันสารตกค้าง และระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวทุเรียนอย่างเข้มงวด สำหรับทุเรียนมาเลเซียอาจต้องรอผลตอบรับจากผู้บริโภคชาวจีนหลังจากได้นำเข้าและมาจำหน่ายต่อไป ทั้งในเรื่องรสชาติและคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ตลาดจีนเป็นตลาดที่มีความต้องการบริโภคทุเรียนปริมาณมหาศาล ผู้ประกอบการไทยต้องรักษาคุณภาพ และมาตรฐานของทุเรียนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่ดีของทุเรียนไทยในตลาดจีน เพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภคชาวจีนและครองส่วนแบ่งทางการตลาดจากประเทศคู่แข่งต่อไป

———————————————————————————————–

แหล่งที่มา

http://www.customs.gov.cn/customs/302249/2480148/5953340/index.html

https://mp.weixin.qq.com/s/cOEQeybgbewh2_J-a7jeYg

https://mp.weixin.qq.com/s/0kMsPbr10-mh0ofmQ1pZQA

http://stats.customs.gov.cn/

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง

อ่านข่าวฉบับเต็ม : จีนอนุญาตให้นำเข้าทุเรียนสดจากมาเลเซียอย่างเป็นทางการ

Login