หน้าแรกTrade insightการค้าระหว่างประเทศ > จีนคาดครึ่งปีหลังการบริโภคในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

จีนคาดครึ่งปีหลังการบริโภคในประเทศจะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

เมื่อช่วงบ่ายของวันอังคารที่ 18 กรกฎาคม 2023 สำนักงานสารนิเทศแห่งคณะรัฐมนตรีจีนได้จัดประชุมแถลงข่าวนโยบายประจำของคณะรัฐมนตรี ซึ่งในที่ประชุมนำโดย Mr. Sheng Qiuping รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน ได้กล่าวว่านับตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2023 เป็นต้นมา จากการที่รัฐบาลจีนได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID – 19 อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีมาตรการส่งเสริมการบริโภคเพิ่มขึ้น ก็แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้ดีขึ้น แนวโน้มการบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับข้อมูลเศรษฐกิจที่เปิดเผยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนที่พบว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ จีนมียอดค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภครวม 22.76 ล้านล้านหยวน (113.8 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 (YoY) โดยเติบโตเร็วกว่าช่วงไตรมาสแรกที่ขยายตัวร้อยละ 2.4 นอกจากนี้ ยังมียอดค้าปลีกออนไลน์สูงถึง 7.16 ล้านล้านหยวน (35.8 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1 (YoY) โดยมีจุดเด่นของสถานการณ์เศรษฐกิจ และแนวโน้มใหม่ที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

  1. การบริโภคภาคบริการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แสดงให้เห็นได้จากการบริโภคผ่านช่องทางออฟไลน์ฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และปริมาณการใช้จ่ายรวมของผู้บริโภคยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงครึ่งปีแรกพบว่ารายได้จากอาหารและเครื่องดื่มทั่วประเทศเติบโตขึ้นร้อยละ 4 (YoY) ซึ่งเพิ่มขึ้นเร็วกว่ายอดค้าปลีกที่เติบโตร้อยละ 13.2 (YoY) ขณะที่รายได้จากการขายตั๋วภาพยนต์ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 53 (YoY) รายได้จากธุรกิจการแสดงเพิ่มขึ้นถึง 6.7 เท่า และในช่วงเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างที่ผ่านมา พบว่าจำนวนประชากรที่ท่องเที่ยวภายในประเทศได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.8 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี ค.ศ. 2019 ขณะที่ในปัจจุบันเพิ่งจะเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนได้ไม่นาน อีกทั้งประเทศจีนเพิ่งได้มีการเปิดตัวเทศกาลใช้จ่ายฤดูร้อนแห่งชาติที่นครฉงชิ่ง ทำให้นักท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนยังคงเพิ่มสูงมากขึ้นเรื่อยๆ
  2. ความต้องการบริโภคสินค้าคุณภาพสูงเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากระดับชีวิตความเป็นอยู่และรายได้ของประชาชนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการแสวงหาการบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ สวมใส่เสื้อผ้าตามแฟชั่น และมีความต้องการใช้สินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นตามไปด้วย สอดคล้องกับข้อมูลในช่วงครึ่งปีแรกที่พบว่า ยอดขายปลีกสินค้าประเภททอง เงิน และอัญมณีเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 (YoY) สินค้าประเภทเครื่องสำอางเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 (YoY) ยอดการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 (YoY) และยอดขายสินค้าปลอดภาษีของหมู่เกาะไห่หนานเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.5 (YoY)
  3. การบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การใช้ชีวิตแบบสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Lifestyle) เริ่มเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การขายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกพบว่าจีนมียอดจำหน่ายรถยนต์พลังงานใหม่สูงถึง75 ล้านคัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.1 (YoY) และคิดเป็นสัดส่วนของการขายรถยนต์ใหม่ถึงร้อยละ 28.3 นอกจากนี้ ยอดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ก็เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 67 (YoY)
  4. การบริโภคสินค้าประเภทเทคโนโลยีอัจฉริยะเติบโตอย่างรวดเร็ว สืบเนื่องมาจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ Internet of Things (IoT) เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์อัจฉริยะที่ใช้ในบ้าน เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบสวมใส่ (Wearable device) ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงเทศกาล 618 ที่ผ่านมา พบว่ายอดขายผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฮม ไม่ว่าจะเป็นที่ล็อคประตูอัจฉริยะ ห้องน้ำอัจฉริยะบนแพลตฟอร์มออนไลน์บางแห่งมียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่า
  5. การบริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพเริ่มเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น เนื่องจากในปัจจุบันผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจกับสุขภาพมากขึ้น จึงทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สอดคล้องกับข้อมูลสถิติจากกระทรวงพาณิชย์จีนที่เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลชอปปิงออนไลน์ปีใหม่ (Online Lunar New Year’s Shopping Festival) มียอดขายผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเติบโตมากขึ้นเป็นตัวเลขถึง 2 หลัก อีกทั้งในช่วงเทศกาลชอปปิงออนไลน์ Double Goods ก็พบว่ามียอดขายของกระจกออกกำลังกายอัจฉริยะบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เท่า

Mr.Sheng Qiuping รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์จีน สรุปว่าจากการที่รัฐบาลจีนได้ดำเนินนโยบายและใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อขยายอุปสงค์ภายในประเทศ และส่งเสริมการบริโภคอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ แนวโน้มการบริโภคภายในประเทศจีนจะกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทำให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถพัฒนาไปได้อย่างมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประเทศไทย และแนวทางการปรับตัวของภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการไทย

จากข้อมูลสถิติการบริโภคของจีนในช่วงครึ่งปีแรกของปี ค.ศ. 2023 แสดงให้เห็นถึงสัญญาณที่ดีที่การบริโภคภายในประเทศจีนจะกลับมาฟื้นตัวและเติบโตได้อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง ดังนั้นจึงถือว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจจะขยายตลาดส่งออกเข้ามาสู่ตลาดประเทศจีน โดยเฉพาะสินค้าประเภทสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ และสินค้าประเภทอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และผลิตภัณฑ์เกษตรออร์แกนิกที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะที่กำลังเป็นที่ต้องการ รวมทั้งสินค้าและบริการที่มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ และสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่รักสุขภาพ และการใช้ชีวิตแบบสังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Lifestyle) ในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้นเนื่องจากผู้บริโภคชาวจีนมีระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีความต้องการที่จะแสวงหาสินค้าที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้า และมาตรฐานในการผลิตต่างๆ อย่างเคร่งครัดและสอดคล้องกับมาตรฐานการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าประเภทต่างๆ ในตลาดจีน เพื่อให้สินค้าไทยสามารถส่งออกเข้าสู่ตลาดจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับความเชื่อมั่น และมีโอกาสในการขยายตลาดสินค้าไทยเข้าสู่เมืองเศรษฐกิจใหม่ และเมืองรองที่มีศักยภาพใหม่ๆ ในตลาดจีนได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี แม้ว่าแนวโน้มการบริโภคของผู้บริโภคชาวจีนจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ผู้ประกอบการไทยก็ยังคงต้องเฝ้าติดตามพฤติกรรมการบริโภค การเปลี่ยนแปลงของนโยบายของรัฐบาล และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถวางแผนและปรับกลยุทธ์ด้านการตลาดให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวจีนให้มากที่สุด อันจะนำมาซึ่งโอกาสในการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดจีน และสามารถเจาะตลาดส่งออกสินค้านำเข้าจากต่างประเทศในจีนได้อย่างง่ายดายมากยิ่งขึ้น

https://finance.sina.com.cn/roll/2023-07-18/doc-imzcazmv5485981.shtml

แปลข่าวโดย นางสาวธมนวรรณ มีสุวรรณ นักศึกษาฝึกงานโครงการ From Gen Z to be CEO

เรียบเรียงและวิเคราะห์โดย สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว

ที่มา : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (สค.)

Login